เรียนรู้วิธีลดคอรัปชั่นจากฮ่องกง : 2. บทบาทด้านการศึกษา


ภาวะผู้นำที่สำคัญยิ่งต่อความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของประเทศ คือภาวะผู้นำในการต่อต้านและป้องกันคอรัปชั่น หรือผู้นำด้านคุณธรรมจริยธรรมนั่นเอง ทักษะด้านคุณธรรมจริยธรรม เป็นทักษะเพื่อภาวะผู้นำในศตวรรษที่ ๒๑ จะเป็นอาวุธต่อสู้ป้องกันความชั่วร้ายทำลายชาติ โดยคอรัปชั่น

เรียนรู้วิธีลดคอรัปชั่นจากฮ่องกง : 2. บทบาทด้านการศึกษา

ตอนที่ ๑

ICAC ระบุไว้ใน เว็บไซต์ ว่าตนมีบทบาทด้านการศึกษาเพื่อต่อต้านคอรัปชั่น ดังต่อไปนี้   จะเห็นว่า หน่วย CRD (Community Relations Department) ทำหน้าที่นี้   และทำหน้าที่ในแนว customer-based

ผมอยากจะรู้ว่า แล้วสถาบันการศึกษา   และกระทรวงศึกษาธิการทำอะไรบ้าง    จึงกูเกิ้ลด้วยคำว่า “anti corruption activities of educational institutions in Hong Kong”   พบเอกสารของ UNDP ชื่อ Institutional Arrangement to Combat Corruption. A Comparative Study  ตีพิมพ์ในปี 2005   ศึกษาเปรียบเทียบใน ๑๔ ประเทศ รวมทั้งฮ่องกงและไทยด้วย  เอกสารชิ้นนี้ จัดทำโดย UNDP Regional Center ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพนี่เอง

ในเอกสารนี้หน้า ๒๑ บอกว่า ICAC ของฮ่องกงมีเจ้าหน้าที่ ๑,๓๐๐ คน เทียบจำนวนพลเมือง ๖.๘ ล้านคน   ส่วน ปปช. ของไทยมีเจ้าหน้าที่ ๕๐๐ คน พลเมือง ๖๕ ล้านคน  

เอกสารในส่วนฮ่องกง ระบุหน่วยงาน HKEDC (Hong Kong Ethics Develipment Centre) ซึ่งก็อยู่ใต้ ICAC นั่นเอง

ในเอกสารส่วนฮ่องกง ระบุว่าในปี 2005 ฮ่องกงมีอันดับใน Corruption Perception Index ลำดับที่ ๑๕ ใน ๑๕๙ ประเทศ    โดยระบุว่า เริ่มมี ICAC ปี 1974 พอถึงปี 1977 ก็พบว่าคอรัปชั่นแบบมีการจัดตั้งอย่างเป็นระบบได้ถูกกวาดล้างไปหมดสิ้น   และข้อมูลคอรัปชั่นในปี 2003 บอกว่า แหล่งใหญ่ที่สุดอยู่ในภาคเอกชน คือร้อยละ ๕๗.๔  อยู่ในหน่วยงานภาครัฐร้อยละ ๒๓.๔   ในวงการตำรวจร้อยละ ๑๒.๓ และหน่วยงานสาธารณะอื่นๆ ร้อยละ ๖.๙

ปัจจัยความสำเร็จของฮ่องกงมี ๙ ประการ ในหน้า ๔๗ ของเอกสาร   อันดับแรกคือ political will    ทำให้เราเห็นว่าการปราบปรามและป้องกันคอรัปชั่นในประเทศไทยเลียนแบบสิงคโปร์ไม่ได้ เพราะของเราการเมืองเป็นสาเหตุสำคัญที่สุด   ตามที่มีผู้ให้ความเห็นในบันทึกเรื่องนี้ตอนแรกที่นี่    แต่เราก็ได้ข้อสรุปจากกรณีฮ่องกงว่า การป้องกันสำคัญที่สุด   ของไทยเราต้องหาวิธีป้องกันแบบที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศเรา

อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างของประเทศที่ถูกกัดกร่อนด้วยคอรัปชั่นในสมัย ปธน. ซูฮาร์โต   แม้เวลาจะผ่านไป ๑๖ ปี สถานการร์ด้านคอรัปชั่นก็ยังไม่ดีขึ้นมากนัก   ชี้ให้เห็นว่า เมื่อคอรัปชั่นหยั่งรากลึก   การเยียวยาแก้ไขยากมาก    

ประเทศที่ระบุใช้การศึกษาเป็นกลไกป้องกันคอรัปชั่นอย่างชัดเจนคือ ลิธัวเนีย หน้า ๕๘  โดยระบุสั้นๆ ว่าการศึกษาเป็นกลไกหลัก ๑ ใน ๓ ของกลไกป้องกันคอรัปชั่น   โดยจัดให้มีการเรียนการสอนต่อต้านคอรัปชั่นในหลักสูตรชั้นมัธยม และอุดมศึกษา

ประเทศที่แย่ที่สุดในรายงานนี้คือ ไนจีเรีย   อันดับที่ ๑๕๒ ใน ๑๕๙ ประเทศ ของ Corruption Perception Index 2005  เป็นประเทศที่มีคอรัปชั่นอยู่ในระบบ และทำกันอย่างมีสถาบันดำเนินการ   และผมเดาว่าอยู่ในสันดานคนด้วย   แม้จะมีคนไนจีเรียที่ผมรู้จักหลายคนเป็นคนในระดับ “ประเสริฐ”    ผมกล่าวว่า อยู่ในสันดานคน เพื่อจะบอกว่า การศึกษามีความสำคัญยิ่งต่อการต่อต้านป้องกันคอรัปชั่น

ในหน้า ๖๙ ระบุว่า ไนจีเรียต่อต้านคอรัปชั่นด้วย ๓ กลไกหลัก คือ สอบสวน ป้องกัน และให้การศึกษาต่อสาธารณะชน  แต่จะเห็นว่า เอกสารไร้ความหมายหากไม่ทำจริง    ไนจีเรียเป็นตัวอย่างประเทศที่ล้มเหลวในการขจัดคอรัปชั่น   เขาบอกว่าส่วนสำคัญเป็นเพราะประชาชนไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้   ประเทศนี้ล้มเหลวเพราะคอรัปชั่นมาก   และที่ขจัดคอรัปชั่นไม่ได้ เพราะประชาชนไม่สนใจ    น่าจะเป็นบทเรียนสำหรับคนไทย

เกาหลีใต้ Corruption Perception Index 2005 อันดับที่ ๔๐ จาก ๑๕๙ ประเทศ   เป็นประเทศที่ภาคประชาสังคมมีบทบาทสูงมากในการต่อต้านคอรัปชั่น (หน้า ๗๗)

ประเทศไทย (หน้า ๘๗) ดูจะมีหน่วยงาน และกฎหมายต่อต้านป้องกันคอรัปชั่นมากที่สุด   เราอยู่อันดับที่ ๕๙ ใน ๑๕๙ ประเทศ ใน Corruption Perception Index 2005  และอันดับที่ ๘๘ ใน ๑๗๔ ประเทศ ใน Corruption Perception Index 2012)  แค่นี้ก็บอกแล้วว่าการมีหน่วยงานมาก กฎหมายมาก   ไม่นำไปสู่ผลงานที่ดีเสมอไป    

เอกสารระบุผู้ตรวจการแผ่นดิน สตง. ฯลฯ เป็นกลไกของการต่อต้านคอรัปชั่น    จะเห็นว่าประเทศไทยมีกลไกเหล่านี้มาเป็นเวลานาน   แต่ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมา คอรัปชั่นในประเทศไทยกลับรุนแรงยิ่งขึ้น   ผมตีความเองว่าเพราะพรรคการเมือง และนักการเมือง ที่มีอำนาจ จงใจทำลายกลไกเหล่านี้เพื่ออำนาจของตนเอง    และเวลานี้ คอรัปชั่นในประเทศไทยเป็นทั้งคอรัปชั่นทางนโยบาย   และคอรัปชั่นแบบโจ่งแจ้งโดยนักการเมืองและพวก    อ่านเรื่องราวได้ที่นี่

ข้อมูลประเทศไทยในเอกสารนี้เก่ากว่า ๑๐ ปี   จึงไม่สะท้อนภาพใน ๑๐ ปีหลัง   แต่ก็บอกเราว่า ประเทศไทย ไม่มีแนวความคิดให้กระบวนการศึกษาเป็นกลไกสำคัญในการต่อต้านคอรัปชั่น

แทนซาเนีย เคยมีชื่อเสียง ในสมัยปกครองในระบอบโซเชียลลิสม์ ว่าเป็นประเทศยากจน ที่ปลอดคอรัปชั่น  แต่เวลานี้อยู่ที่อันดับ ๘๘ ใน ๑๕๙ ประเทศ ใน Corruption Perception Index 2005  เป็นกรณีศึกษาที่สรุปว่า ผู้นำประเทศมีความสำคัญยิ่งในการต่อต้านป้องกันคอรัปชั่น

ค้นคว้าศึกษามาถึงตอนนี้   ผมยังไม่พบว่ามีระบบการศึกษาของประเทศใด ที่ทำตัวเป็นผู้นำในการต่อต้านและป้องกันคอรัปชั่น   ทั้งๆ ที่หลักการสำคัญของ 21st Century Education คือการสร้างผู้นำ หรือสร้างภาวะผู้นำขึ้นภายในตัวคนทุกคน   และผมขอเสนอว่า ภาวะผู้นำที่สำคัญยิ่งต่อความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนของประเทศ คือภาวะผู้นำในการต่อต้านและป้องกันคอรัปชั่น   หรือผู้นำด้านคุณธรรมจริยธรรมนั่นเอง

ทักษะด้านคุณธรรมจริยธรรม เป็นทักษะเพื่อภาวะผู้นำในศตวรรษที่ ๒๑   จะเป็นอาวุธต่อสู้ป้องกันความชั่วร้ายทำลายชาติ โดยคอรัปชั่น    

วิจารณ์ พานิช

๒๐ ต.ค. ๕๖

โรงแรมนานาบุรี จังหวัดชุมพร

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 551471เขียนเมื่อ 22 ตุลาคม 2013 09:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 ตุลาคม 2013 09:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท