จะให้ “เขียน”หรือ “เขี่ย” ก็บอกมาให้ชัด


 

จะให้ “เขียน”หรือ “เขี่ย” ก็บอกมาให้ชัด

ครูสอนชั้นป. 1 ท่านหนึ่ง จูงมือผมเข้าไปเยี่ยมชมชั้นเรียนซึ่งเป็นชั่วโมงเรียนแท็บเล็ต(Tablet) ผมนึกในใจว่า เขาคงภูมิใจนำเสนอผลงานเด็กจากการเรียนด้วยแท็บเล็ต เพราะมีผลงานวิจัยหลายชิ้นสรุปว่าเด็กเรียนรู้ดีขึ้นเมื่อใช้สื่อแท็บเล็ต(ซึ่งเท่าที่ผมอ่านงานวิจัยนวัตกรรมมา ก็ยังไม่เคยปรากฏมีงานวิจัยชิ้นใดบอกว่าใช้สื่อแล้วเด็กเรียนรู้ลดลง) ชั้นเรียนป.1 ในชั่วโมงเรียนแท็บเล็ตไม่ว่าที่ไหนก็มีสภาพคล้ายๆกัน เด็กทั้งชั้นมีสมาธิอยู่กับหน้าจอแท็บเล็ต นิ้วชี้น้อยๆของทุกคนเพลิดเพลินอยู่กับการเขี่ยหน้าจอ ค้นหาสิ่งที่อยากรู้อยากเห็น จากการดูและการฟังเสียง ครูที่เข้าใจก็ให้เด็กเข้าไปศึกษาเป็นเรื่องๆ แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นสมุดบันทึกกับดินสอวางอยู่ข้างๆ (สำหรับโรงเรียนนี้มี)  คุณครูเดินไปหอบสมุดแบบฝึกหัดของเด็ก กับสมุดคัดลายมือกองใหญ่มาวางตรงหน้าผม แล้วบอกว่า “นี่คือลายมือเด็กปีนี้ อยากให้ท่านดูมานานแล้ว หนูไม่รู้จะแก้ปัญหายังไง ”

ผมสุ่มเปิดสมุดงานเด็กดูหลายเล่ม ก็พบข้อสังเกตว่า  ผลงานเด็กส่วนใหญ่สะอาด เป็นระเบียบ แต่มีลักษณะเร่งรีบ มีคำตกหล่นปรากฏอยู่มากบ้างน้อยบ้าง ข้อสำคัญลายมือเด็กแย่ลงกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับเด็กรุ่นก่อนๆ  และจะไม่แปลกใจเลยถ้าโรงเรียนนี้ใม่ใช่โรงเรียนที่เด็กได้รับรางวัลคัดลายมืออยู่บ่อยๆ จนแทบจะเป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียนได้ แล้วโรงเรียนอื่นๆ ที่ไม่เน้นคัดลายมือ เขียนตามคำบอก ใยจะรอดพ้น “ลายมือไก่เขี่ย”

“คุณครู...กำลังจะบอกผมว่า แท็บเล็ตมีผลต่อทักษะการเขียนของเด็กใช่ไหม?”

“ใช่แน่นอนค่ะ นี่ขนาดหนูให้เด็กคัดคำ ข้อความสั้นๆ ที่มีในแท็บเล็ตด้วยนะคะ”

“ถ้าเป็นอย่างที่คุณครู...ว่า ก็มีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ หนึ่งยกเลิกแท็บเล็ต สองหาวิธีสร้างแรงจูงใจให้เด็กรักการเขียนมากขึ้น”

“มีโอกาสให้เลือกได้ด้วยเหรอ” คุณครูทำตาโต

“อันที่จริงเราไม่มีโอกาสเลือกหรอก เมื่อรัฐได้ลงทุนในเรื่องนี้ไปมากมายก็ต้องใช้ประโยชน์ให้คุ้ม มีแท็บแล็บเราก็สอนให้เด็กใช้อย่างมีวินัยและคุณธรรม เมื่อเห็นว่าเด็กชอบเล่นก็ไม่ควรนำมาใช้เก็บเด็กอย่างพร่ำเพรื่อ(คำว่า เก็บเด็ก เป็นศัพท์เทคนิคของครู หมายถึง การจัดระเบียบเด็กก่อนสอน) ส่วนเรื่องการเขียน เราก็หาวิธีสอนให้เขาสนุกกับการเขียน สร้างโอกาสให้เขาได้ใช้สามนิ้วเพื่อ “เขียน”ให้มากกว่าใช้หนึ่งนิ้วเพื่อ”เขี่ย”....”

...................................

ช่างเหมาะเจาะดีแท้ หลังจากเปลี่ยนรัฐมนตรีได้ไม่นาน เราได้รับข่าวลือว่า กระทรวงศึกษาธิการกำลังจะยกเลิกแท็บเล็ตเด็กชั้น ป.2 แล้วจ่ายเงินชดเชยให้เครื่องละ 3000 บาท ซึ่งทำท่าว่าจะเป็นจริง เพราะแท็บเล็ตเด็กป.2 ผ่านมา 1 ภาคเรียนแล้ว ยังมาไม่ถึงโรงเรียน

 ....ขณะบันทึกนี้...ได้ข่าวว่า แท็บเล็ต ป.2 กำลังเดินทางมาให้ทันใช้ในวันเปิดเรียนภาคเรียนที่ 2 ...ก็เตรียมรับกันไป...อย่างไรก็ตาม ในส่วนลึกของหัวใจ ผมก็ยังอดคิดต่อไม่ได้ว่า ปรากฏการณ์ที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ เหมือนจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า ปีหน้าเราจะไร้ซึ่งแท็บเล็ต ถ้าเด็กไทยยังชอบ “เขี่ย” มากกว่าชอบ “เขียน” อยู่แบบนี้ 

 

หมายเลขบันทึก: 551279เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2013 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 ตุลาคม 2013 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เข้าใจหัวอกครูเลยนะคะเมื่ออ่านบันทึกนี้ แต่พี่กลับมองเห็นว่านี่เป็นโอกาสที่ดีที่ท้าทาย

ที่ครูจะให้เด็กๆได้อ่านความรู้จากแท๊ป แทนการอ่านบนกระดาน

และให้เด็กๆได้จดบันึกความรู้จากแท๊ป

หลังจากได้ทำความเข้าใจได้ทบทวนความรู้คู่กันไป

และได้ฝึกคัดลายมือ แม้การนำกิจกรรมเขียนตามคำบอกมาใช้ในชั้นเรียน

ก็สามารถทำร่วมกับการให้เด็กๆได้สืบค้นตรวจสอบคำเขียนที่ถูกต้องผ่านพจนานุกรมแท๊ป

หลังกิจกรรมเขียนตามคำบอก และยังสามารถให้เด็กฝึกหัดคัดลายมือคำที่เขียนผิดลงในสมุดได้อีก

และมันอาจเป็นนวัตกรรมของการใช้งานระหว่างครู นักเรียน และแท๊ป อย่างมีคุณภาพนะคะ

เป็นกำลังใจให้คุณครูนะคะ

ลายมือเด็ก ป.1 - ป.3 คือเสาเข็มของ ป.ปลาย  หาก...เขี่ย...กันตั้งแต่เด็กเริ่มจับดินสอ

เป็นซะอย่างนี้แล้ว....ป.ปลาย จะเหลืออะไรจ๊ะ จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกแท็บเล็ต..ไม่ใช่เรื่อง

ใหญ่...แต่เรื่องใหญ่มันอยู่ที่...การบริหารจัดการ...งานวิชาการ...ในโรงเรียนมากกว่า หาก

โรงเรียนมีการบริหารจัดการที่ดี  มีระบบระเบียบที่ให้ครูปฏิบัติถูกต้องและต่อเนื่องรับช่วงต่อ

กัน...แท็บเล็ต...ก็เป็นเพียง ... สื่อ...ชิ้นหนึ่ง ที่ไม่มีอิทธิพลเหนือ..ครู...ไปได้หรอก

เห็นด้วยกับคุณมะเดื่อค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท