พระบุคลิกภาพของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก-ตอนที่ ๑


"....ฉันรู้สึกว่าย่อมเป็นการดีกว่าสำหรับฉันที่จะต้องลาออก เพื่อทางราชการจะได้บรรจุบุคคลอื่น ที่เหมาะสมแทนในตำแหน่งนี้ และเป็นผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องรับเงินเดือนจากรัฐบาล”

พระบุคลิกภาพของสมเด็จฯ พระบรมราชชนก *

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงมีพระบุคลิกลักษณะที่พึงเห็นได้ดังนี้

๑. คตินิยมประชาธิปไตย

               พระองค์ไม่ทรงถือพระอิสริยยศ อันสูงส่งของพระองค์ ทั้งนี้มิใช่แต่เพียงขณะเมื่อประทับอยู่ในต่างประเทศที่ไม่โปรดจะแสดงพระองค์ว่าทรงมีพระอิสริยยศ เหนือบุคคลอื่น จึงทรงใช้ Mr. Mahidol Songkla เหมือนบุคคลสามัญ, แต่มีกรณีต่างๆ เกี่ยวกับกิจการงานที่ Dr. A.G. Ellis คณบดีคณะแพทยศาสตร์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราชในตอนนั้น ได้เล่าไว้ในบทความที่เขียนเกี่ยวกับสมเด็จฯ พระบรมราชชนก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งแสดงให้เห็นพระอัธยาศัยที่โปรดให้บุคคลปฏิบัติหน้าที่ไปตามปกติ โดยไม่ต้องกังวล ถึงพระองค์หรือพระอิสริยยศ ตลอดจนการที่พระองค์ทรงคำนึงถึงอำนาจและความรับผิดชอบของผู้ที่มีหน้าที่ และทรงคำนึงถึงความรู้สึกและความคิดเห็นของผู้อื่น กล่าวอย่างสั้นๆ ก็คือพระองค์ทรงถือหลักความเสมอภาค ข้อนี้มีความสำคัญยิ่งขึ้นเมื่อคำนึงว่าสมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงยึดถือและปฏิบัติพระองค์เช่นนั้น ในตอนนั้น ซึ่งเป็นสมัยก่อนปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่จะมีการประกาศยกย่องความเสมอภาคของบุคคลบนกระดาษ

๒. คตินิยมประโยชน์และสิทธิมนุษยชน

             มีบุคคลจำนวนมิใช่น้อยที่กล่าวอ้างว่ามีอุดมการณ์หรืออุดมคติ แต่ที่จะพบเห็นว่าได้ปฏิบัติตนและเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อให้เป็นไปตามอุดมการณ์อย่างแท้จริง โดยเฉพาะโดยเฉพาะในสมัยวัตถุนิยมในปัจจุบันนี้ คงจะต้องจุดเทียนส่องหากันท่ามกลางแสงตะวัน สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ทรงเป็นเอกบุรุษในด้านนี้ การที่พระองค์ได้ทรงกระทำทุกสิ่งทุกอย่างนับตั้งแต่การบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ อันมีมูลค่ามหาศาล จนถึงการทรงงานหนักอันเป็นการบั่นทอนพระอนามัยและพระชนม์ชีพของพระองค์ เพื่อพัฒนาการแพทย์ การพยาบาล และการสาธารณสุข เป็นปัจจัยเพื่อให้บรรลุถึงซึ่งอุดมการณ์ที่พระองค์ทรงยึดมั่นในการเชิดชูคุณค่าชีวิตมนุษย์ และสิทธิของมนุษย์แต่ละคนไม่ว่าจะมีเหล่ากำเนิดใด มั่งมี หรือยากจน ที่จะมีชีวิตอยู่และมีสุขภาพอนามัยดี และด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงพร่ำสอนเพื่อปลูกฝังอุดมการณ์นี้แก่นักศึกษาแพทย์ เช่น ทรงสอนว่า “ฉันไม่ต้องการที่จะให้เธอเป็นเพียงนายแพทย์เท่านั้น แต่ฉันต้องการให้เธอเป็นมนุษย์ด้วย” โดยเฉพาะที่ทรงสอนว่า “ความสำเร็จอย่างแท้จริง มิใช่อยู่ที่การเรียนรู้ แต่อยู่ที่การใช้ความรู้นั้น เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ”

เพื่ออุดมการณ์นี้ พระองค์เองจึงทรงตั้งต้นศึกษาวิชาแพทย์อีกด้วย เพื่อจะได้ทรงมีพระวรโรกาสตรวจรักษาและช่วยชีวิตสามัญชนคนไข้ที่ยากไร้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะได้นำมากล่าวต่อไปภายหลัง อุดมการณ์อันเป็นมูลเหตุชักจูง พระทัยให้ศึกษาวิชาแพทย์ดังกล่าวมานี้ มิใช่ข้อสันนิษฐานจากการวิเคราะห์แต่ปรากฎชัดแจ้งจากพระดำรัสที่สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงกล่าวแก่ที่ประชุมประจำปีของแพทยสมาคมในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ทรงมีพระดำรัสว่า การศึกษาวิชาแพทย์ เป็นที่สนพระทัยและเป็นความพอพระทัยของพระองค์ แต่มูลเหตุแท้จริงที่ชักจูงพระทัยให้พระองค์ทรงศึกษาวิชาแพทย์นั้นคือ ความตั้งพระทัยที่จะทรงปฏิบัติพระองค์ให้เป็นประโยชน์แก่มนุษยชาติ

๓. ค่านิยมยึดถือหลักการ

           ในการทรงงานและการตัดสินพระทัยในเรื่องต่างๆ สมเด็จพระบรมราชชนกทรงยึดถือหลักการเป็นที่ตั้ง ไม่ทรงยึดถือพระองค์เองหรือตัวบุคคล ในบรรดาเรื่องต่างๆ ที่ ดร. เอลลิส นำมาเล่าเกี่ยวกับสมเด็จฯ พระบรมราชชนกนั้น มีอยู่หลายเรื่องที่บ่งชัดให้เห็นได้ว่า พระองค์ทรงยึดมั่นค่านิยมนี้ เช่นในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เมื่อพระองค์เสด็จมาเมืองไทย ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ขณะนั้นพระองค์ได้ทรงศึกษาชั้นเตรียมไปแล้ว ๑ ปี และได้ทรงศึกษาปีที่ ๑ และปีที่ ๒ ตามหลักสูตรปกติของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด กับได้ทรงศึกษาภาคแรกของปีที่ ๓ ในด้านการสาธารณสุขและอนามัยโดยเฉพาะไปแล้ว      ดร.เอลลิส ได้กล่าวไว้ว่าการที่สมเด็จฯ พระบรมราชชนกได้ทรงเปลี่ยนแนวทางการศึกษามาทางด้านการสาธารณสุขนั้น    ก็ด้วยเหตุที่ได้ทรงตระหนักว่า งานด้านสาธารณสุขและอนามัยมีความสำคัญและจำเป็นรีบด่วนเป็นพิเศษ สำหรับประชาชนในประเทศสยาม ประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่ง   ศาสตราจารย์ในภาควิชาสาธารณสุขศาสตร์  ซึ่งเป็นที่โปรดปรานและนับถือของพระองค์ได้ถวายคำแนะนำชักจูงพระองค์เช่นนั้น พระองค์จึงทรงถือโอกาสการมากรุงเทพฯ ครั้งนั้น เสด็จมาศิริราชเพื่อทรงงานในห้องปฏิบัติการ ทรงพบว่าเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการดูแทบจะไม่ทำงานกัน และเมื่อทรงถามเรื่องราวต่างๆ ก็ถวายคำตอบผิดๆ ถูกๆ    จึงทรงปรารภ เรื่องนี้กับ ดร. เอลลิส พระองค์ทรงแสดงความแปลกพระทัยเมื่อ ดร.เอลลิส ถวายคำอธิบายเหตุผลว่าเจ้าหน้าที่เหล่านั้นตื่นตระหนก ทำอะไรกันไม่ถูกเพราะมีพระองค์ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าผู้มีพระอิสริยฐานันดรสูงยิ่ง ทรงงานอยู่ด้วย พระองค์รับสั่งว่า “แต่เมื่อฉันทำงานอยู่ในห้องปฏิบัติการ พวกเขาควรจะต้องปฏิบัติงานตามหน้าที่ของเข้า และช่วยฉันด้วย โดยการตอบคำถามของฉัน”

             มีอีกกรณีหนึ่งที่น่าจะยกมากล่าวในที่นี้คือ ในช่วงเวลาที่เสด็จจากฮาร์วาร์ดมากรุงเทพฯ ในคราวเดียวกันนี้ สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ได้ทรงเตรียมการสำรววสภาพการสาธารณสุขของกรุงเทพฯ ต่อมาวันหนึ่งหลังจากที่ได้ทรงดำเนินการไปแล้ว ได้เสด็จมาศิริราชและรับสั่งกับ ดร. เอลลิส ว่าทรงมีความจำเป็นต้องเลิกล้มการสำรวจด้วยเหตุว่า การที่จะเสด็จไปทำการสำรวจ ณ ที่ใด พระองค์ทรงเห็นว่าสมควรและจำเป็นต้องขออนุญาต เจ้าฟน้าที่ที่เกี่ยวข้องล่วงหน้าก่อน ครั้งเมื่อเสด็จไปก็ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่มาชุมนุมถวายรายงาน มีการถวายพระสุธารส ทุกอย่างเป็นพิธีรีตรอง เป็นทางการไปเสียทั้งหมด   ซึ่งโดยพระจริยาวัตรที่ดี   ก็จำต้องทรงอำลากลับ มิฉะนั้น  พิธีต้อนรับก็จะไม่สิ้นสุด   พระสมุดบันทึกต้องว่างเปล่า ปราศจากข้อมูลเกี่ยวกับสภาวะสุขภาพอนามัยและงานสาธารณสุขที่เป็นอยู่   ซึ่งเป็นพระประสงค์ที่ทรงเก็บรวบรวม

             ดร. เอลลิส ถวายคำแนะนำว่า พระองค์อาจเสด็จไปโดยไม่ทรงขออนุญาตก็ได้ พระองค์รับสั่งว่า ถ้าทำเช่นนั้นก็ไม่ถูก เพราะการจะเสด็จไปสำรวจในเขตท้องที่ใด พระองค์ต้องขออนุญาตผู้มีอำนาจหน้าที่เสียก่อน มิฉะนั้นก็จะเป็นการสะเมิดอำนาจหน้าที่และทำลายน้ำใจของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น ซึ่งพระองค์จะกระทำมิได้ ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงจำยอมต้องปล่อยให้การสำรวจที่ได้ทรงตั้งพระทัยไว้ล้มเลิกไป

               ตัวอย่างที่ได้ยกมาชี้ให้เห็นว่า สมเด็จฯ พระบรมราชชนก ทรงยึดถือหลักการ ไม่โปรดที่จะให้พระฐานันดร ของพระองค์มีส่วนเป็นการก้าวก่ายในกิจการใดๆ

                ความตอนหนึ่งที่ทรงพระนิพนธ์ ไว้หลังจากเสด็จกลับจากฮาร์วาร์ด ในปี ๒๔๗๑ เกี่ยวกับการรับราชการและการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งพระองค์ทรงยึดถือ ข้อความนี้มีว่า “ความจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ตามความคิดของฉันนั้น ทำให้ฉันไม่อาจรับแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งใดๆ ในราชการเพียงเพื่อที่จะให้ได้เป็นเครื่องประดับและรับเงินเดือนในตำแหน่งนี้ ถ้ากรณีเกิดเป็นเช่นนี้ขึ้น     ฉันรู้สึกว่าย่อมเป็นการดีกว่าสำหรับฉันที่จะต้องลาออก   เพื่อทางราชการจะได้บรรจุบุคคลอื่น ที่เหมาะสมแทนในตำแหน่งนี้    และเป็นผู้ที่มีความจำเป็นจะต้องรับเงินเดือนจากรัฐบาล”

                กรณีซึ่งเป็นที่ประทับใจอย่างยิ่ง และชี้ชัดว่าพระองค์ทรงยึดถือหลักการเหนือพระองค์เอง อีกกรณีหนึ่งก็คือ ขณะเมื่อสมเด็จฯ พระบรมราชชนกทรงศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในปีสุดท้าย ซึ่งเป็นปีที่ ๕ ตามหลักสูตรแพทยศาสตร์นั้น พระอนามัยของพระองค์ได้ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก ในตอนกลางปี โรคพระวักกะพิการเรื้อรังกลับมีอาการรุนแรงขึ้นอีก จนบรรดานายแพทย์ที่ถวายการรักษาต่างก็วิตกว่าพระอาการจะไม่ฟื้นดีขึ้น แต่ในที่สุด พระอาการก็ดีขึ้น ครั้งถึงกำหนดจวนสอบไล่ ปลายปีก็ทรงพระประชวรด้วยพระอาการไส้ติ่งอักเสบ ทางคณะแพทยศาสตร์ฮาร์วาร์ด จึงกราบทูลถวายสิทธิพิเศษยกเว้นการสอบไล่แก่พระองค์ แต่สมเด็จฯ พระบรมราชชนกไม่ทรงรับ และทรงทำการสอบไล่ทุกวิชา เช่นเดียวกับนักศึกษาอื่นๆ หลังจากสอบไล่เสร็จซึ่งปรากฏผลว่าทรงได้เกียรตินิยม จึงเสด็จเข้าโรงพยาบาลรับการผ่าตัด จะมีใครอีกหรือไม่ที่ยึดหลักการยืนยันให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนถึงเพียงนี้

๔.ค่านิยมขะมักเขม้นเคร่งครัดงาน

++++โปรดติดตามต่อค่ะ++++

* 100 ปี สมเด็จพระบรมราชชนก โดยศาสตราจารย์ ดร. อดุล วิเชียรเจริญ (บทความพิเศษ สารศิริราช ปีที่ 44 ฉบับที่ 1 เดือนมกราคม 2535)
หมายเลขบันทึก: 55124เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2006 14:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท