ข้าราชการเลือกบำนาญแบบเก่าหรือแบบ กบข.


 

เลือกรับบำนาญแบบเป็นสมาชิก กบข. หรือแบบเดิม

 

          ช่วงเวลาสิ้นปีงบประมาณ ( วันที่ ๓๐ กันยายน ของทุกปี ) ได้เวียนมาครบรอบอีกวาระหนึ่ง ข้าราชการผู้ที่ปฏิบัติราชการมานานจนกระทั่งมีอายุได้ครบ ๖๐ ปีบริบูรณ์ในปีงบประมาณใด จะต้องหยุดรับราชการต่อไป เรียกว่าเกษียณอายุจากราชการ  เมื่อถึงเวลาเกษียณคำถามสำคัญที่ข้าราชการส่วนใหญ่ยังคงมีคำตอบที่ไม่ชัดเจนอยู่เสมอมา คือ สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากรัฐมีอะไรบ้าง บำเหน็จ บำนาญ จะได้ไหม โดยเฉพาะปัจจุบันมีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ( กบข. ) เข้ามามีส่วนในการจัดการเรื่องบำเหน็จบำนาญของข้าราชการเริ่มแต่บรรจุเข้ารับราชการจนกระทั่งถึงวันเกษียณและหลังจากนั้นด้วย ยิ่งทำให้เกิดข้อสงสัยมากมายในเรื่องดังกล่าว  นอกจากนั้นแล้วช่วงเวลาประมาณ ๒ ปีที่ผ่านมานี้มีข่าวสารเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องสิทธิประโยชน์ของข้าราชการเกษียณอายุที่เป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ปรากฏตามสื่อสารมวลชนทั่วไป  เชื่อว่าข้าราชการทุกคนสับสนกับข้อมูลและมีอีกหลายคนที่ยังไม่ทราบรายละเอียดสิทธิประโยชน์ของตนภายหลังจากเกษียณอายุ  กลุ่มงานนิติการจึงนำข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาเสนอต่อผู้อ่านอีกครั้ง เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจในเรื่องดังกล่าวให้ชัดเจนทั่วถึงต่อไป

 

          หลังจากที่กระทรวงการคลังได้ศึกษากรณีสิทธิในการรับบำเหน็จบำนาญและผลประโยชน์อื่น ๆ  ของข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. เนื่องจากที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องจากสมาชิก กบข. ในเรื่องเงินประเดิม และเงินชดเชย รวมทั้งผลประโยชน์ของเงินที่รัฐจ่ายให้ผู้รับบำนาญเป็นเงินก้อน ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ และไม่พอดีกับบำนาญที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับผู้รับบำนาญที่ไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก กบข. เพราะข้อสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณเงินประเดิมและเงินชดเชยลดต่ำลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ในปี 39 ซึ่งเป็นปีที่จัดตั้ง กบข. ปัญหาดังกล่าวนำมาสู่ข้อเรียกร้องของสมาชิก กบข. ประเภทโดยสมัครใจ ให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนเรื่องสิทธิประโยชน์และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง  ถึงตรงนี้ก่อนอื่นทุกท่านต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า

          ๑. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นรูปแบบของการจัดการเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ที่กระทรวงการคลังเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งขึ้นโดยออกกฎหมาย ให้มีสภาพเป็นนิติบุคคลแยกจากกระทรวงการคลัง เพื่อให้กองทุนสามารถบริหารจัดการให้เกิดรายได้  และท้ายสุดเพื่อให้ลดภาระงบประมาณสำหรับการจ่ายบำเหน็จบำนาญข้าราชการของประเทศไทย

          ๒. พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๙  เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ ๒๑ มีนาคม  ๒๕๔๐ และมีบทบังคับให้ข้าราชการทุกคนที่บรรจุเข้ารับราชการตั้งแต่ในวันดังกล่าวจะต้องเข้าเป็นสมาชิก กบข. โดยผลของกฎหมายฉบับนี้

          ๓. พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. ๒๔๙๔ ยังคงบังคับใช้อยู่ ดังนั้นข้าราชการทุกคนที่มีคุณสมบัติรับราชการครบตามระยะเวลาที่กำหนด ยังคงมีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญจากกระทรวงการคลังแม้ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข.

          ๔. กระทรวงการคลังยังคงมีภาระงบประมาณในการจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการ ทั้งที่เป็นสมาชิก กบข. และไม่เป็นสมาชิก กบข. ทั้งนี้ในส่วนสมาชิก กบข. กระทรวงการคลังจะรับภาระการจ่ายน้อยลง ซึ่งข้าราชการส่วนนี้จะได้รับเงินสะสม เงินสมทบ เงินชดเชย เงินประเดิม และผลประโยชน์ตอบแทนจาก กบข. เป็นการช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณของกระทรวงการคลังตามเจตนารมณ์ของ พรบ.กบข.

          ๕. ข้าราชการทุกคนผู้มีคุณสมบัติการรับราชการครบตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งที่เป็นสมาชิก กบข. และไม่เป็นสมาชิก กบข. ยังคงมีสิทธิเลือกรับบำเหน็จหรือบำนาญ

          สำหรับปัญหาเรื่องข้อเรียกร้องของข้าราชการสมาชิก กบข. โดยสมัครใจ ให้กระทรวงการคลังทบทวนการจ่ายบำเหน็จบำนาญแก่ข้าราชการส่วนนี้นั้น  ปรากฏว่ากระทรวงการคลังเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ปี 2539 เพื่อรักษาความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่เป็นและไม่เป็นสมาชิก กบข. โดยให้โอกาสแก่สมาชิกที่สมัครใจเข้า กบข. โดยสำคัญผิดทั้งที่เป็นข้าราชการและผู้รับบำนาญได้เลือกตัดสินใจใหม่ คือมีสิทธิลาออกจาก กบข. เพื่อกลับไปมีสิทธิรับบำนาญตามระบบเดิม ( สูตรการคำนวณบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ ปี 2494 คือ บำนาญ เท่ากับ เงินเดือนเดือนสุดท้าย คูณ เวลาราชการ หาญด้วย 50 แต่ต้องไม่เกินเงินเดือนเดือนสุดท้าย ) ทั้งนี้ หากสมาชิก กบข. ที่ลาออกไปขอเลือกรับบำนาญตามสูตรเดิม สมาชิกผู้นั้นจะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวคืนจาก กบข. แต่จะไม่มีสิทธิได้รับ เงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว และข้าราชการผู้เกษียณอายุที่ได้รับเงินส่วนนี้ไปแล้วต้องนำเงินดังกล่าว ส่งคืนคลังภายในวันที่ 30 มิถุนายน ๒๕57 รายละเอียดตามสาระสำคัญของร่าง พรบ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฉบับแก้ไข ดังนี้
                   กลุ่มที่ ๑  ข้าราชการสมาชิก กบข. ซึ่งเข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 และสมัครเป็นสมาชิก กบข.
                   ( 1 ) สมาชิก กบข.ซึ่งประสงค์จะกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ให้แสดงความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 และให้ถือว่าสมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557
                   ( 2 ) ผู้ซึ่งจะต้องออกจากราชการไม่ว่ากรณีใดๆ ยกเว้นกรณีถึงแก่ความตาย ก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ให้สมาชิกภาพของสมาชิกผู้นั้นสิ้นสุดลงเมื่อวันออกจากราชการ
                   ( 3 ) การแสดงความประสงค์ ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 หรือวันออกจากราชการ และให้มีสิทธิได้รับบำเหน็จบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ทั้งนี้ การแสดงความประสงค์ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
                   ( 4 ) ข้าราชการตามข้อ ( 1 ) ถึง ( 3 ) ไม่มีสิทธิได้รับ เงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว โดยให้ กบข.ส่งเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินสำรอง สำหรับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว กบข.จะจ่ายคืนให้แก่ข้าราชการผู้นั้น
                   ( 5 ) การส่งเงินเข้าบัญชีเงินสำรองและการจ่ายคืนเงินสะสมและผลประโยชน์ให้เป็นไปตามที่ กบข. กำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง ซึ่งจะกำหนดให้ กบข. นำเงินประเดิม เงินสมทบ เงินชดเชย และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวที่ได้รับคืนจากสมาชิกส่งเข้าบัญชีเงินสำรอง ทั้งนี้ กบข. จะต้องจัดทำรายงานการนำเงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าวส่งเข้าบัญชีเงินสำรองต่อกรมบัญชีกลาง ตามวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดข้อมูลที่ กบข. จะต้องรายงานให้กรมบัญชีกลางทราบ
                   ( 6 ) หากข้าราชการซึ่งได้แสดงความประสงค์ไว้แล้วถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2557 หรือก่อนวันออกจากราชการ ให้ถือว่าการแสดงความประสงค์นั้นไม่มีผลใช้บังคับ

                   กลุ่มที่ ๒  ผู้รับบำนาญ ( สมาชิก กบข. ซึ่งเข้ารับราชการก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 และสมัครเป็นสมาชิก กบข. แต่ได้ออกจากราชการแล้ว )
                   ( 1 ) หากประสงค์จะขอกลับไปรับบำนาญตามสูตรเดิม ( พระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ) ให้แสดงความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2557 และผู้รับบำนาญจะต้องคืนเงินก้อน ( เงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบ และผลประโยชน์ของเงินดังกล่าว) ที่ได้รับไปแล้วแก่ทางราชการ โดยผู้รับบำนาญจะได้รับบำนาญตามสูตรเดิม ตั้งแต่วันที่ออกจากราชการจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2557 โดยวิธีหักกลบลบกัน
                   ( 2 ) การหักกลบลบกัน หากมีกรณีที่ผู้รับบำนาญต้องคืนเงิน ให้ผู้รับบำนาญคืนเงินแก่ส่วนราชการผู้เบิกภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2557 เพื่อนำส่งให้กรมบัญชีกลาง โดยเงินที่ส่วนราชการได้รับคืน ไม่เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หากมีกรณีที่ต้องคืนเงินให้ผู้รับบำนาญ กรมบัญชีกลางจะคืนเงินให้ผู้รับบำนาญ หากมีเงินเหลือจะนำส่งเข้าบัญชีเงินสำรอง
                   ( 3 ) ผู้รับบำนาญที่ได้แสดงความประสงค์แล้ว เป็นผู้รับบำนาญตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ตั้งแต่วันที่ออกจากราชการ แต่หากผู้รับบำนาญมีกรณีที่ต้องคืนเงิน ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2557 จึงจะได้รับสิทธิดังกล่าว
                   ( 4 ) หากผู้รับบำนาญซึ่งได้แสดงความประสงค์ไว้แล้วถึงแก่ความตายก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ให้ถือว่าการแสดงความประสงค์นั้นไม่มีผลใช้บังคับ และหากมีกรณีต้องคืนเงินให้ส่วนราชการผู้เบิกแจ้งกรมบัญชีกลางเพื่อถอนเงินที่ผู้รับบำนาญคืนให้แก่ส่วนราชการผู้เบิก เพื่อคืนให้แก่ผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบำนาญตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด จะกำหนดเรื่องการดำเนินการถอนเงินคืนให้แก่ผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบำนาญที่ตายไปก่อนกฎหมายมีผลใช้บังคับ

สรุปประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของข้าราชการเมื่อเกษียณอายุราชการ

                   แยกอธิบายได้เป็น 2 ประเภท  คือ   ผู้เป็นสมาชิก กบข. และ ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก กบข.

                   ผู้เป็นสมาชิก กบข. และเลือกรับบํานาญรายเดือน 

                   คือผู้ที่ยังไม่ต้องการตัดขาดจากระบบราชการยังประสงค์จะเป็นข้าราชการบํานาญ และรัฐยังอุดหนุนจุนเจือในด้านสวัสดิการต่างๆอยู่ต่อไป เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร  สําหรับประโยชน์ที่ได้ คือ

                   1.  เงินก้อนจาก กบข.  ประกอบด้วย เงินชดเชย  เงินประเดิม   เงินสะสม เงินสมทบ และเงินจากผลประโยชน์ตอบแทน เงินส่วนนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนแรกที่ทาง กบข.จัดให้ คุณสามารถดูยอดเงินก้อนนี้ได้

จากใบแจ้งยอดของ กบข. ที่แจ้งมาให้ทราบในทุกสิ้นปี พร้อมกับหลักฐานเพื่อลดหย่อนภาษีประจําปีของคุณ

                   2. เงินบํานาญรายเดือน  คํานวณจากนําเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย แล้วนํามาคูณด้วยอายุราชการ หารด้วย 50  แต่ต้องไม่เกิน 70 % ของเงินเดือนเฉลี่ย 60  เดือนสุดท้าย เช่น คุณมีเงินเดือนเฉลี่ย 60  เดือนสุดท้ายเท่ากับ 30,000 บาท และอายุราชการ 35 ปี คํานวณได้ดังนี้   

= 30,000 x 35

                                                          50

                                                = 21,000 แต่เงินบำนาญที่จะได้รับต้องไม่เกิน 70 % ของเงินเดือนเฉลี่ย 60  เดือนสุดท้าย                  

                   3.  เงินบําเหน็จดํารงชีพ คุณจะได้ 15  เท่า ของบํานาญรายเดือน แต่ไม่เกิน 400,000 บาทโดยแบ่งจ่าย 2 ครั้ง ครั้งแรกไม่เกิน 200,000  บาท เมื่อปลดเกษียณ และครั้งที่ 2  เมื่ออายุครบ 65  ปี  จ่ายที่เหลือ จากกรณีที่ยกตัวอย่างคุณจะได้ 15  เท่า ของ 21,000 บาท เป็นเงิน 315,000 บาท จ่ายเมื่อปลดเกษียณ 200,000 บาท เมื่อครบ 65 ปี จ่ายอีก 115,000 บาท 

                   4.  เงินบําเหน็จตกทอด  เมื่อผู้รับบํานาญถึงแก่กรรมก็จะมีบําเหน็จตกทอดแก่ทายาทอีก 30  เท่า ของบํานาญรายเดือน จากกรณีตัวอย่าง ทายาทจะได้ 315,000บาท  คํานวณได้เท่าไรก็รับไปทั้งหมดโดย ทายาทผู้มีสิทธิตามลำดับดังนี้ 1. บุตรให้ได้รับสองส่วนถ้ามีบุตรสามคนขึ้นไปให้ได้รับสามส่วน 2. สามีหรือภรรยาให้ได้รับหนึ่งส่วน 3. บิดามารดา หรือบิดา หรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ให้ได้รับหนึ่งส่วน ในกรณีที่ไม่มีทายาทให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งผู้ตายได้แสดงเจตนาไว้

                   ผู้เป็นสมาชิก กบข. และเลือกรับบําเหน็จ   คือผู้ที่ต้องการเงินก้อนไปในคราวเดียว ประโยชน์ที่ได้ คือ

                   1. เงินก้อนจาก กบข. ประกอบด้วยเงินสะสม เงินสมทบ และเงินจากผลประโยชน์ตอบแทน เงินส่วนนี้เป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนแรกที่ทาง กบข.จัดให้ คุณสามารถดูยอดเงินก้อนนี้ได้จากใบแจ้งยอดของ กบข. ที่แจ้งมาให้ทราบในทุกสิ้นปีพร้อมกับหลักฐานเพื่อลดหย่อนภาษีประจําปีของคุณ

                   2. เงินบําเหน็จ  คํานวณจากนำเงินเดือน เดือนสุดท้ายคูณด้วยอายุราชการ   เช่น เงินเดือนสุดท้ายเท่ากับ 30,000 บาท และอายุราชการ 35 ปี จะคํานวณได้เท่ากับ 30,000 x 35 = 1,050,000 บาท

                   สําหรับผู้ที่ไม่เป็นสมาชิก กบข. คิดง่ายๆ คือ  บํานาญ  ให้นําเงินเดือน ๆ สุดท้าย คูณอายุราชการ หารด้วย 50 เช่น เงินเดือน 36,020 บาท อายุราชการ 35 ปี นํามาคํานวณได้เท่าไรก็รับไป นอกจากนี้ผู้ที่เลือกรับบํานาญจะได้เงินบําเหน็จดํารงชีพ และเงินบําเหน็จตกทอด เช่นเดียวกับสมาชิก กบข. บํานาญที่จะได้รับคือ 25,214 บาท บําเหน็จ  ให้นําเงินเดือนๆสุดท้าย คูณด้วยอายุราชการ เช่น เงินเดือน 36,020 บาท อายุราชการ 35 ปี เงินที่ได้รับคือ 1,260,700 บาท โดยคํานวณได้เท่าไรก็จะรับไปทั้งหมด

          จากข้อมูลที่นำเสนอมาทั้งหมดนั้น หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านสำหรับข้อสงสัยเรื่องบำเหน็จบำนาญที่ค้างคาใจข้าราชการมานาน  ส่วนล่าสุดที่กระทรวงการคลังแก้ไขกฎหมาย กบข. นั้นมีผลเฉพาะต่อข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. แบบสมัครใจ ให้มีสิทธิได้เลือกตัดสินใจใหม่ ซึ่งจะเป็นโอกาสของข้าราชการกลุ่มดังกล่าวที่ในอดีตอาจตัดสินใจเลือกในขณะเวลาที่ข้อมูลยังไม่เพียงพอ ให้ได้เลือกใหม่ว่าจะอยู่กับ กบข. ต่อไป หรือเลือกที่จะลาออกแล้วรอรับบำเหน็จบำนาญตามสูตรคำนวณเดิม ซึ่งทั้งสองทางเลือกผู้เขียนมีความเห็นว่ามีทั้งข้อดีข้อเสียต่างกัน ขึ้นอยู่กับความต้องการออมเงินของข้าราชการ และความต้องการใช้เงินออมภายหลังเกษียณในรูปแบบใด คือบางท่านอาจต้องการเงินก้อนหนึ่งภายหลังเกษียณรวมทั้งเงินบำนาญรายเดือนอีกส่วนหนึ่งด้วย ( สูตรคำนวณบำนาญแบบ กบข. ) ก็อาจจะเลือกเป็นสมาชิก กบข. หรือบางท่านไม่ต้องการออมเงิน แต่ต้องการเงินบำนาญรายเดือนจำนวนมากตามอายุการรับราชการ โดยไม่ต้องใช้ฐานคำนวณแบบเงินเดือนเฉลี่ย ก็ลาออกจากสมาชิก กบข. ทั้งนี้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการที่ข้าราชการแต่ละคนจะเป็นสมาชิก กบข. ด้วย  หากเป็นสมาชิก กบข. ไม่นาน เงินสะสมและเงินสมทบ อาจมีไม่มาก ประกอบกับเมื่อคำนวณเงินบำนาญแบบ กบข. ( ใช้เงินเดือนเฉลี่ย ๖๐ เดือนสุดท้าย ) ทำให้ข้าราชการส่วนนี้ได้รับสิทธิประโยชน์ในบำเหน็จบำนาญน้อยลง เช่นเดียวกับกลุ่มข้าราชการที่มีระยะเวลารับราชการนาน หรืออาจได้เพิ่มระยะเวลาทวีคูณเนื่องจากกฎอัยการศึกหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยตามเงื่อนไขของระเบียบราชการ เมื่อนำเวลาราชการมาคำนวณบำเหน็จบำนาญตามสูตรของ กบข. ก็จะไม่ได้ประโยชน์จากส่วนนี้

 

เอกสารอ้างอิง

๑.พรบ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.๒๔๙๔

๒.พรบ. กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.253๙

            ๓.http://www.kruthai.info/main/board01_/showss.php?Category=find&No=455

          ๔.http://www.cgd.go.th

          ๕. ข่าวกระทรวงการคลัง ฉลับ ๔๐ / ๒๕๕๖  วันที่ ๒๔ เมษายน  ๒๕๕๖

 

หมายเลขบันทึก: 551134เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2013 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ตุลาคม 2013 16:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คำถาม....ข้าราชการบำนาญที่เป็นสมาชิก กบข. และอยู่ในกลุ่มที่ 2 ถ้าเลือกกลับไปรับบำนาญแบบเดิม จะต้องคืนเงินประเดิม เงินชดเชย เงินสมทบพร้อมผลประโยชน์คืนแก่ทางราชการ   แล้วจะได้รับเงินสะสมของสมาชิกพร้อมผลประโยชน์คืนกลับมาหรือไม่ เพราะไม่ได้กล่าวถึงในข้อ (ๅ) แต่กล่าวไว้ชัดเจนในกรณีของ กลุ่มที่ 1 ในข้อ(4)

 

  

 

เรียนคุณGD

ความเห็นผมนะครับ...เป็นลักษณะเดียวกันครับ  ต้องขออภัยที่ไม่ได้กล่าวไว้  เนื่องจากกลุ่มนี้มีประเด็นสำคัญคือเงินส่วนต่างระหว่างผลประโยชน์ที่รับไปแล้วและเงินบำนาญส่วนที่ขาดไป   แต่ในการหักกลบกันดังกล่าวก็ต้องมีรายละเอียดของเงินที่ ขรก.บำนาญมีสิทธิรับคืนคือเงินสะสมของ ขรก.ผู้นั้นที่ส่งเข้ากองทุนทุกเดือนรวมทั้งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเงินส่วนนี้ด้วย ( คงต้องเฉลี่ยเป็นหน่วยลงทุน )

นายทิม. อินทำ ข้าราชการบำนาญ

อยากเรียนถามว่า. เมื่อเรากลับมารับบำนาญแบบเดิมแล้ว เงินเดือนที่รัฐบาลขึ้นให้ในเดือนธันวาคม58 ยังจะได้รับเหมือนเดิมมั้ย. ขอบคุณครั

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท