สร้างครูให้เป็นครูฝึก : ตอนที่ ๘ มหัศจรรย์กับคณิตศาสตร์


ครูสุ-สุภาพร   กฤตยากรนุพงศ์                                                                                                                    

 

ภาคเรียนวิริยะ ปีการศึกษา ๒๕๕๖   คุณครูสุ - สุภาพร  กฤตยากรนุพงศ์  ได้รับโอกาสให้มาสอนคณิตศาสตร์นักเรียนชั้น ๒  ด้วยความรู้สึกกังวล เพราะไม่เคยสอนเด็กเล็กๆ มาก่อน  แต่ความรู้สึกที่มีต่อการเรียนรู้ของเด็กๆ กลับสร้างพลังให้กับครูสุได้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ  ในวันที่ณาญ่า เด็กหญิงผมยาว ตาเล็ก รูปร่างผอมบางเขียนสะท้อนการเรียนรู้ว่ารู้สึก “ชอบคณิตศาสตร์มากขึ้น เพราะเข้าใจแล้ว”  และ จั๊มเด็กชายผิวคล้ำ ตาเล็ก เสียงกังวาน ที่มักถามคำถามทุกเช้าที่พบกันว่า  “ครูสุ ครูสุ จั๊มมีงานแก้ไหมครับ”  เขียนสะท้อนการเรียนรู้เอาไว้ว่าเขารู้สึก “มหัศจรรย์กับคณิตศาสตร์”  จึงเป็นวันที่ครูสุรู้สึกมีความสุขมาก

 

ความรู้สึกที่เด็กๆ สะท้อนผ่านสมุดคณิตศาสตร์ และคำแนะนำดีๆ ที่ได้รับจากคุณครูใหม่ – วิมลศรี ที่ไปนั่งสังเกตชั้นเรียนหลังจากที่จบคาบเปิดชั้นเรียนของห้องคุณครูหนึ่ง – ศรัณธร แล้ว 

 

ครูใหม่สะท้อนว่าชั้นเรียนของครูสุ “ยังขาดเรื่องของจินตนาการ  ความงามทางคณิตศาสตร์  และการนำความรู้ที่เรียนมาไปเชื่อมโยงกับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน”  ทำให้ครูสุต้องทบทวน และเพิ่มเติมส่วนที่ขาดหายไปด้วยวิธีการที่ได้รับคำแนะนำมาจากครูใหม่ในคาบเรียนถัดไป 

 

เปลี่ยนกิจกรรมในชั้นเรียน

 

คาบเรียนที่แล้ว นักเรียนห้อง ๒/๔ ได้รู้จักกับมุมฉากไปแล้ว มีการให้นักเรียนเขียนระบุสิ่งของที่อยู่รอบตัวที่มีมุมฉาก  คาบเรียนนี้มีกิจกรรมให้นักเรียนลองนำกระดาษที่พับให้เป็นมุมฉากไปลองทาบกับสิ่งของต่างๆ ดู  พบว่าคาบเรียนนั้นเด็กๆ รู้สึกสนุกกับการเรียนรู้มาก  คาบเรียนนั้นเองที่เป็นคาบเรียนจุดประกายให้เราทดลองค้นหาวิธีที่จะทำให้เด็กๆ เรียนรู้อย่างเข้าใจและสนุกไปกับการเรียนรู้  

 

คาบเรียนถัดมาครูสุจึงนำเอาการใช้สีมาสร้างให้เกิดความงาม  และเป็นแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ในช่วงภาวะพร้อมเรียนกับความรู้สะสมที่เด็กๆ มี   คาบเรียนนี้ครูเล่าเรื่องแล้วให้เด็กๆ ระบายสีตามรูปร่างที่ได้ยิน ...โอเคเลย !   วันนี้ดูเด็กๆ มีสมาธิ จดจ่อต่อการฟัง เกาะติด และสนุกกับการระบายสีตามรูปร่างต่างๆ เช่นรูป สามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยม  บอกกับตัวเองวิธีนี้ใช้ได้  วันนี้ขอแค่นี้ก่อน  

 

อีกคาบเรียนหนึ่งนำเอาคำใบ้มาสร้างจินตนาการ  ด้วยการเล่านิทานประกอบคำใบ้ที่แสดงลักษณะของรูปร่างต่างๆ ว่า “มีเด็กชายช่างสังเกตคนหนึ่ง กำลังเดินทางไปสวนสัตว์ เมื่อเขาไปถึง และก้าวลงจากรถ เข้าสังเกตเห็นประตูสวนสัตว์มีลักษณะ เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีมุม ๔  มุมเป็นมุมฉาก มีด้านที่ยาวเท่ากัน ๒ คู่ เด็กชายช่างสงสัยอยากรู้รูปประตูเป็นรูปอะไรนะ  เมื่อเดินพ้นประตูมาเจอห้องลึกลับ มีรูปร่างมากมายเลย มีรูปหนึ่งเป็นกรอบรูปแตกต่างจากรูปอื่นเลย รูปนั้นมีมุม ๓ มุมมีด้าน ๓ ด้านเป็นเส้นตรง เด็กชายขี้สงสัยอยากรู้รูปนี้เป็นรูปอะไรนะ  และเมื่อออกจากห้องลึกลับ ก็พบรูปมีมุม ๔ มุม มีด้าน ๔ ด้านเป็นเส้นตรง เขาไปพบกับรูปอะไร”

 

เมื่อเล่าจบครูให้นักเรียนเขียนชื่อรูปร่างที่มีลักษณะตามคำใบ้ที่ได้ยินจากเรื่องที่เล่า  เด็กตั้งใจเขียนกันมาก  ตอนเฉลย...โอ้โหเด็กๆ ยกมือตอบกันใหญ่ไม่น่าเชื่อเลยว่าส่วนใหญ่ตอบถูกด้วยนะ  เมื่อครูเห็นเด็กมีสมาธิต่อเนื่อง จึงไม่รีรอที่จะแจกโจทย์สถานการณ์  เมื่อพวกเขาอ่านโจทย์ และลงมือทำ พวกเขาสามารถร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้เป็นส่วนใหญ่ และสรุปได้ว่ารูปใดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และสี่เหลี่ยมจัตุรัส

 

ในตอนท้ายคาบเรียนทิ้งความมหัศจรรย์ให้กับนักเรียนด้วยการแจกกระดาษรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้คนละหนึ่งแผ่น  จากนั้นครูพับกระดาษโดยนำมุมบนของด้านกว้างพับทบลงมาเป็นรูปสามเหลี่ยมให้ด้านกว้างทับกับด้านยาวพอดี  จากนั้นครูถามนักเรียนว่าเกิดเป็นรูปอะไร เด็กส่วนๆ ตอบได้รูปสามเหลี่ยมกับรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  จากนั้นให้นักเรียนลองพับและขีดเส้นตรงแนวกระดาษด้านที่เป็นมุมฉาก จากนั้นให้นักเรียนคลี่กระดาษที่พับออก แล้วถามว่าพบรูปอะไรเพิ่มอีกไหม เด็กๆ ตอบได้ทันทีว่ารูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส  ตอนครูสุพูดว่าวันนี้หมดเวลาแล้วก็ได้ยินเด็กคนหนึ่งพูดขึ้นมาด้วยความเสียดายว่า “หมดเวลาแล้วเหรอ”  

 

 

คาบเรียนต่อมา...ไม่อยากจะเชื่อเลย

 

วันพุธที่  ๑๘   กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๖   ช่วงภาวะพร้อมเรียน ครูทบทวนความรู้สะสมของเด็กๆ ด้วยการพับกระดาษ โดยครูพับเหมือนคาบเรียนที่แล้ว และถามนักเรียนว่าสังเกตเห็นอะไร คำตอบที่ได้คือ รูปสามเหลี่ยม รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  และรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 

จากนั้นครูใช้คำใบ้รูปร่างของสี่เหลี่ยมจำนวน ๔ ข้อ เพื่อทดสอบความแม่นยำอีกครั้ง 

๑.     ให้นักเรียนชื่อรูปร่างของสี่เหลี่ยมที่มีมุม ๔  มุมเป็นมุมฉาก มีด้านที่ยาวเท่ากัน ๒ คู่ 

๒.    ให้นักเรียนชื่อรูปร่างของสี่เหลี่ยมที่มีมุม ๔  มุม มีด้าน ๔ ด้านเป็นเส้นตรง 

๓.    ให้นักเรียนวาดรูป เป็นรูปสี่เหลี่ยม มีมุม ๔ มุม แต่มี ๑ มุมเป็นมุมฉาก 

๔.    ให้นักเรียนชื่อรูปร่างของสี่เหลี่ยมที่มีมุม ๔  มุมเป็นมุมฉาก มีด้าน ๔ ด้านที่ยาวเท่ากันทั้งหมด

 

 

สร้างแรงบันดาลใจ

 

ครูนำกระดาษรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมาติดบนกระดาน  จากนั้นตั้งคำถามถามนักเรียนว่า “จะรู้ได้อย่างไรว่ากระดาษนี้เป็นกระดาษรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส”

ซิดนี่ยกมือตอบว่า “ต้องเป็นสี่เหลี่ยมมีมุมฉาก ๔ มุม และมีด้าน ๔ ด้านยาวเท่ากันทั้งหมด” 

เพื่อนๆ ส่งเสียงสนับสนุนบอกว่า “ใช่...ให้ครูลองวัดดูเลย” 

ครูทำการวัดมุมก่อน จากนั้นก็วัดด้าน และเขียนเลขกำกับด้านไว้  

คำถามต่อมาของครู   “แล้วถ้าครูไม่วัดจะทำอย่างไรได้บ้าง” 

นักเรียนตอบมาว่า “ให้ลองพับดู” 

ครูทำการพับกระดาษรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสให้กลายเป็นรูปสามเหลี่ยมตามที่นักเรียนบอก  แล้วค่อยๆ พูดสรุปให้ทุกคนเข้าใจว่า ถ้ากระดาษพับแล้วทบกันได้พอดีกัน แสดงว่าด้าน ๔ เท่ากับ ด้าน ๑  และด้าน ๑  เท่ากับด้าน ๒  และด้าน ๒  เท่ากับด้าน  ๓   ดังนั้นทุกด้านจึงเท่ากันหมด  (ตอนที่เขียนบันทึกนี้รู้สึกเสียดายไม่ได้เขียนข้อสรุปบนกระดาน  แต่ในตอนนั้นเด็กๆ ส่วนใหญ่ก็มีทีท่าว่าเข้าใจ)   

หมายเลขบันทึก: 550900เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2013 18:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2013 18:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท