ทิศทางความคิด และการทำงานด้านสังคมแรงงานข้ามชาติ (1)


ทิศทางความคิด และการทำงานด้านสังคมแรงงานข้ามชาติ  (1)

ตั้งแต่ผมจบสาขาวิชาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมก็มุ่งเข็มทิศชีวิตไปทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนเลย โดยบุคลิกส่วนตัวน่าจะตรงจริตกับผม แล้วผมก็ทำงานผ่านประสบการณ์อยู่ได้สองสามองค์กร ในใจคิดเสมอว่า อยากจะทำองค์กรขึ้นมาทำงานต่อประเด็นเรื่องเด็กข้ามชาติ และการเข้าถึงสิทธิแรงงานต่อมาเมื่อปี 2547 ผมจึงก็รวบรวมรวมน้องๆ  ที่สนใจงานสังคม งานพัฒนาชุมชนมาก่อตั้งกลุ่ม “เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ  Labour  Rights  Promotion  Network (LPN)  ขึ้น  ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร  ด้วยมองว่า  แรงงานพม่า ในจังหวัดนี้มีจำนวนมาก มีเด็ก และผู้ติดตาม ไม่ได้รับโอกาสการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน  เช่น การศึกษา สุขภาพ และไม่ได้รับการปฏิบัติที่ดี หรือถูกเลือกปฏิบัติจากการให้บริการของรัฐ   น้อยมากในช่วงปีนั้น เด็กข้ามชาติ ผมต้องนำมาเรียนที่ศูนย์การเรียนที่สำนักงานโครงการ ซึ่งบุกเบิกรุ่นแรกๆ  โดยการให้การสนับสนุนจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ (ILO-IPEC) และองค์กรช่วยเหลือเด็กแห่งสหราชอาณาจักร  (Save the Children  UK)  พอหลังปี 2548  ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายให้เด็กไร้สัญชาติ เด็กข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศสามารถเข้ารับการศึกษาในระบบโรงเรียนของรัฐได้   ประกอบกับได้ร่วมศึกษาปัญหาเด็กข้ามชาติกับสถาบันการศึกษาต่างๆ  มากมาย ทำให้เกิดการทำงานที่เมข้นมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานส่งเสริมโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กข้ามชาติ เพื่อป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย การปกป้องคุ้มครองเด็กไปพร้อมๆ  กัน กับการประสานการทำงานกับภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานให้บริการทางการศึกษาในระดับพื้นที่ชุมชน 

“การทำงานยุคแรกเหนื่อยแต่สนุก และท้าทายวิธีคิดของตนเอง และคนรอบข้างในสังคมที่มีทัศนคติเชิงลบต่อแรงงานข้ามชาติ เช่น  คนไทยบางคนมองว่า   “ทำไมต้องไปช่วยแรงงานข้ามชาติ  ช่วยเด็กๆ  เหล่า เดี๋ยวโตไปมันจะก้าวร้าว ไม่เชื่อฟัง”   หรือ  “เดี๋ยวนี้เมืองสมุทรสาคร เป็นดงพม่าไปหมดแล้ว หากเขารวมตัวกันหยิบมีดคนละเล่มมาที่ศาลากลางจังหวัด เขาคงยึดบ้านเราได้แน่ๆ”   แน่นอนว่าผมไม่ได้ถกเถียงได้แต่อมยิ้มในที  แต่หากผมได้พุดคุยในที่ประชุมกับพี่น้องคนไทยในชุมชน ผมจะมีวิธีแลกเปลี่ยนทัศนะมุมมองให้เห็นความแตกต่างที่หลากหลาย มองเห็นปัญหาเขา ปัญหาเรา  หากเราไม่แก้ไขปัญหาจะตกอยู่ที่ใคร  เพราะเขาอยู่ที่นี่แล้ว  เราต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้เขาและเราต่างอยู่ด้วยกันได้”  บางทัศนะของผู้ใหญ่ที่เป็นหน่วยงานรัฐฟังแล้วดูดี คือ  “เขาอยู่ได้ คนไทยอยู่ดี ไม่เอาเปรียบกัน อย่างไรเสีย เราจำเป็นต้องมีเขามาช่วยทำงาน ไม่อย่างนั้นเราอยู่ไม่ได้เหมือนกัน เราต้องดูแลเขา ไม่ถึงขนาดเท่ากับเรา แต่เราต้องปฏิบัติต่อเขาเป็น “คน” เหมือนกับเราที่มีความต้องการปัจจัยสี่ การดำรงอยู่ที่ปลอดภัย ได้รับการปฏิบัติที่ดี”  

อย่างไรก็ตามช่วงแรกผมทำงานหนัก ทำการบ้าน ต้องคุยกับคนมากไม่ว่าเป็นคนไทย คนต่างชาติก็ตาม  เป็นช่วงต่อสู้เพื่อคนที่ตกทุกข์ได้ยาก และไม่แปลกที่ผมต้องวิพากษ์เชิงนโยบายรัฐอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งอาจมีคนชอบและไม่ชอบ”  อาสาสมัครคนไทยที่ทำงานอาสาในชุมชนไทย และแรงงานข้ามชาติก็ก็เข้าใจปัญหา และร่วมมือการทำงานกันด้วยดี

 ต่อมาในช่วงปี  2548   ถึงปี 2551   ผมและทีมงานต้องคลุกคลีกับพี่น้องแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ต้องทำงานลงสัมผัสปัญหาจริงๆ  มีแรงงานข้ามชาติมาร้องทุกข์จำนวนมาก  มีปัญหาสารพัด   ส่วนหนึ่งก็เป็นแรงงานที่หลบหนีเข้าเมืองมาทำงาน  ไม่ได้มีเอกสารการรับรองการขึ้นทะเบียนกับรัฐด้วย  ปี    จึงได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ     Labour  Rights  Promotion  Network  Foundation  ขึ้น  ได้ขยายประเด็นการทำงานได้การคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบของแรงงานอย่างเข้มข้น  ได้เปิดศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ปัญหาแรงงานและคดีความ  มีแรงงานข้ามชาติที่ประสบปัญหามาร้องทุกข์จำนวนมาก เช่น ผู้หญิงถูกละเมิดทางเพศ  แรงงานประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน นายจ้างบางคนไม่สนใจเอามาทิ้งที่โรงพยาบาล  แรงงานถูกพวกนายหน้าหลอกทำเอกสาร  แรงงานทำงานแล้วไม่ได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม  และแรงงานถูกบังคับค้ามนุษย์ในเรือประมง ในสถานประกอบการบางแห่ง   ดังนั้น   จึงมีหลายกรณีที่ทางองค์กรได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐหลายภาคส่วน และเครือข่ายปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ ซึ่งมีอยู่หลายองค์กรในประเทศไทย ในกระบวนการทำงานช่วยเหลือผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ในประเทศไทยไม่น่าจะต่ำกว่า 500  คน  โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติจากสามสัญชาติ คือ พม่า ลาว และกัมพูชา

“ช่วงนี้ต้องทำงานกับวิธีคิดการจัดการกับกลไกภาครัฐหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และร่วมกระบวนการทำงานในลักษณะวิชาชีพ  ประสบปัญหาบ้างก็แก้ไขปัญหากันไปตามแต่ละกรณี แต่ประเด็นสำคัญต้องตามติดสถานการณ์ด้านแรงงานในระดับพื้นที่จนถึงระดับนโยบาย ร่วมขับเคลื่อนเป็นเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรพัฒนาเอกชนหลายๆ  องค์กรที่ทำงานด้านนี้   ประเด็นนโยบายเด็กข้ามชาติ  ทำอย่างไรจะให้เขาเหล่านั้นเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การศึกษา สุขภาพ  และมีสถานะทางกฎหมาย ที่รัฐบาลไทยรองรับ   แรงงานข้ามชาติได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายหากถูกละเมิดสิทธิในร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สินจาก พวกกันเองก็ตาม หรือคนไทย และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ไม่ได้เลือกปฏิบัติว่าแรงงานเป็นใคร หากมีนายจ้าง  

สำหรับทุกคนที่เป็นผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ต้องได้รับการคุ้มครอง มีการดำเนินคดีถึงที่สุดกับผู้กระทำผิดค้ามนุษย์ กลไกการคุ้มครองที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะไม่ถูกกระบวนการอื่นที่มีอิทธิพลแทรกแซง  จนทำให้การบังคับใช้กฎหมาย ขาดประสิทธิภาพ

“ผมโชคดีมากที่ผมมีเพื่อน กัลยาณมิตรมีเครือข่ายฯ มีพี่ๆ  น้องๆ  ที่ร่วมสานศรัทธา ทำให้พลังความเชื่อมั่นผมทำงานต่อได้อย่างมีความหมาย  อย่างน้อยชีวิตเด็กๆ ข้ามชาติที่ผม และเพื่อนร่วมงานทำงานร่วมกับโรงเรียนของรัฐที่รับเด็กข้ามชาติเข้าเรียนไม่น้อยกว่า  600  คน  และผ่านการเข้ามาเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบไม่ต่ำกว่า  3-4,000  คน  และผู้ประสบปัญหาเชิงสิทธิไม่ต่ำกว่า  3,000  คน  ได้เดินเข้ามาและสามารถพึ่งตนเองได้”

“วาดหวังว่าใน สี่ถึงห้าปีนี้   เรายังต้องทำงานด้านเด็กข้ามชาติ ด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเข้มข้นต่อไป แม้ว่าจะมีประชาคมอาเซียน แต่แรงงานกลุ่มนี้ยังถูกมองเป็นต้นทุน ปัจจัยการผลิตที่ สถานประกอบการต้องการ เพราะมีความขาดแคลนแรงงานที่สูงมาก”   การย้ายถิ่นเข้ามาทำงานในประเทศไทยจึงเป็นเรื่องปกติ มีกระบวนการนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง  ถึงตอนนั้นเราต้องพยากรณ์สถานการณ์ปัญหาไว้ล่วงหน้า ประกอบกับเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจและการค้าที่มีอิทธิพลทำให้เราต้องปรับตัวเนื่องจากต้องเข้าสู่เงื่อนไขบังคับของเศรษฐกิจโลก ที่ต้องพึ่งการส่งออกเป็นสำคัญ

สุดท้าย  ผมมองว่าสังคมที่แปรเปลี่ยนต้องเป็นสังคมที่ดำรงอยู่ได้ด้วยฐานคิดการเคารพสิทธิ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  ต่างคนต้องทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดตามบทบาท และฟันเฟืองการขับเคลื่อนทางสังคม และเศรษฐกิจ และต้องไม่ลืมความเป็นรากเหง้าที่มาในการฟื้นฟูเคารพในพหุวัฒนธรรมและภาษา ซึ่งจะส่งผลต่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อยู่ร่วมกันได้ในสังคม

สมพงค์  สระแก้ว

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 550760เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2013 18:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ตุลาคม 2013 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท