มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน Labour Rights Promotion Network Foundation (LPN)


วิสัยทัศน์    มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงานเป็นองค์กรด้านแรงงานที่มุ่งมั่นส่งเสริมคุณภาพชีวิต คุ้มครองสิทธิความเสมอภาค การพึ่งตนเอง และสรรค์สร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติ

 ประวัติความเป็นมา

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ  Labour  Rights  Promotion  Network  Foundation  (LPN)  เดิมชื่อ  “เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน”  ก่อตั้งขึ้นปลายปี  2547ดำเนินการเป็นภายใต้คณะบุคคลเพื่อการทำงานภาคประชาสังคมและเน้นการทำงานประเด็นแรงงานข้ามชาติในจังหวัดสมุทรสาครเป็นหลัก เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน มีมุ่งมั่นศึกษา ค้นคว้าเรื่องเด็กข้ามชาติ เพราะเล็งเห็นปัญหาด้านการศึกษา อีกทั้งพบการปล่อยปะละเลยของผู้ปกครอง และยังพบปัญหาแรงงานเด็กปะปนอยู่ตามสถานประกอบการ

เครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน เริ่มดำเนินการในปี พ.ศ.2547 ในฐานะกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน ดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานย้ายถิ่น ในช่วงแรกอาจมีอุปสรรคด้านงบประมาณ จนกระทั่งหน่วยงานทำการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่  24 ธันวาคม 2551เปลี่ยนจากชื่อเดิมเป็น มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน การจดทะเบียนรับรองทางกฎหมาย ประกอบกับสังคมเริ่มสัมผัสปัญหาด้านแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม เป็นผลให้หน่วยงานได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเพิ่มขึ้น

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้แรงงานย้ายถิ่นและครอบครัวได้เป็นส่วนหนึ่งในสังคมไทย บริการของมูลนิธิฯ มีลักษณะเป็นศูนย์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือแรงงาน รวมถึงการให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่แรงงานย้ายถิ่น ต่อมา การทำงานของทางมูลนิธิฯได้ขยายขอบเขตการทำงาน เนื่องจากมีจำนวนประชากรแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานเป็นประชากรวัยหนุ่มสาว ทำให้อัตราการเกิดขึ้นของปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างสัมพันธ์กัน เกิดเด็กข้ามชาติในประเทศไทย  ประกอบกับมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการค้ามนุษย์ในรูปแบบของแรงงาน การค้ามนุษย์จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ทางมูลนิธิ ฯ จะต้องดำเนินการ เตรียมรับมือกับปัญหา และป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ 

มูลนิธิ ฯ เป็นองค์กรพัฒนาเอกชน บุคลากรในหน่วยงานมีอุดมการณ์และความต้องการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติและแรงงานไทย มีการทำงานภาคสนามเป็นส่วนมาก ทำให้ลงไปสัมผัสปัญหาอย่างใกล้ชิดกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รับรู้รากเหง้าแห่งปัญหาของแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม แม้แรงงานข้ามชาติจะมีงาน มีรายได้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับปัญหาการไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้  ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ได้รับการคุ้มครองทางด้านสังคมที่ดีเพียงพอ และที่สำคัญ แรงงานข้ามชาติคือกลุ่มเปราะบาง มีความเสี่ยงต่อการถูกคุกคามและแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์จากกระบวนการค้ามนุษย์ เช่น ถูกบังคับ หลอกลวงกักขังให้เป็นแรงงานประมงต่อเนื่อง แรงงานเด็ก หญิงค้าบริการ  เป็นต้นทางมูลนิธิฯ จึงเน้นการทำงานโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ส่งเสริมการรับรู้และเข้าถึงสิทธิที่พึงจะได้รับ แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามมีศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ทัดเทียมคนไทยในสังคมไทยและสังคมโลก การตระหนักในข้อนี้จะทำให้ลักษณะการทำงาน เป็นการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติและมีความสุข

การดำเนินการของมูลนิธิฯ ได้ศึกษาวิจัยปัญหาด้านแรงงานข้ามชาติ ปัญหาการค้ามนุษย์ในพื้นที่ปฏิบัติการได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้รับการสนับสนุนทางวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยอื่นที่สนใจศึกษา ค้นคว้าประเด็นงานวิจัยที่เกี่ยวข้องด้านแรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศหลายองค์กร มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้รับการสนับสนุนการทำงานต่อประเด็นเด็กต่างชาติและแรงงานข้ามชาติจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO-IPEC, องค์การช่วยเหลือเด็กแห่งสหราชอาณาจักร Save  the  Children UK, สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย, UNIAP ซึ่งเป็นการทำงานเกี่ยวกับการทำงานป้องกันการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย  การคุ้มครองสิทธิเด็กต่างชาติ สิทธิทางการศึกษา สิทธิทางสุขภาพ การปกป้องคุ้มครองเด็ก และการป้องกันการค้ามนุษย์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงานและการค้ามนุษย์   ตลอดระยะเวลาการดำเนินการ องค์กรชำนาญการต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิแรงงาน การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เนื่องจากการลงทำงานภาคสนามโดยการปฏิบัติการร่วมกับภาคีภาครัฐ และภาคองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง

จากประสบการณ์การให้ความช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่แรงงานข้ามชาติในช่วง 8  ปีที่ผ่านมา ทำให้ทางมูลนิธิ  มีความรู้และความเชี่ยวชาญในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ไร้สัญชาติ หรือกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย เน้นพัฒนากลไกการคุ้มครองสิทธิและการเยียวยาผู้เสียหายจากการถูกละเมิด และส่งเสริมการศึกษาแก่แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม รวมทั้งส่งเสริมสิทธิด้านสุขภาพ การทำงานที่ปลอดภัย การศึกษา และบริการทางสังคม อีกทั้งยังมีศูนย์ให้คำปรึกษาปัญหาด้านแรงงานและคดีความ Labour  Center (LC-LPN)  เพื่อให้คำปรึกษาปัญหาด้านแรงงาน และดำเนินการให้ความช่วยเหลือแรงงานทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในประเด็นสิทธิมนุษยชน การเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน การป้องกันการใช้แรงงานเด็ก การป้องกันการค้าหญิงและเด็ก การป้องกันการค้ามนุษย์ในรูปแบบของแรงงาน และทำให้เกิดการเข้าถึงสิทธิทางการศึกษาของบุตรหลานหรือผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ

ปัจจุบันมูลนิธิฯมีเจตนามุ่งมั่นที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาระบบการเข้าถึงการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาจากการถูกละเมิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง คือ การถูกค้ามนุษย์ทั้งคนไทยและคนข้ามชาติในประเทศไทย

 

พันธกิจ   ทางมูลนิธิฯเน้นการทำงานเรื่องการเข้าถึงและรับรู้ด้านสิทธิขั้นพื้นฐานของกลุ่มเป้าหมาย เช่น การศึกษา สุขภาพ สุขภาพอนามัยการเจริญพันธุ์ สิทธิแรงงานการปกป้องคุ้มครองเด็ก Child Protection การป้องกันการใช้แรงงานเด็ก และการป้องกันการค้ามนุษย์ เป็นต้น เพราะทางมูลนิธิได้ตระหนักถึงจำนวนผู้อพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทยของแรงงานข้ามชาติที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งสังคมยังมีอคติและมุมมองว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นพลเมืองชั้นรองของสังคม ทำให้มีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิแรงงานของแรงงานข้ามชาติ ภารกิจขององค์กรจึงกำหนดขึ้นเพื่อช่วยบรรเทาและให้ความช่วยเหลือกลุ่มแรงงานเป็นหลัก โดยเฉพาะด้านสิทธิพื้นฐาน และสิทธิด้านแรงงาน  และรวมถึงการส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข

 วัตถุประสงค์

1.        เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และการอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกของกลุ่มแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ ครอบครัว และชุมชนในสังคมไทย

2.        เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิของแรงงาน และครอบครัว 

3.        เพื่อเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายทางสังคมของแรงงานไทย  แรงงานข้ามชาติ ครอบครัวและชุมชน ให้สามารถพึ่งตนเองได้ โดยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน

4.        เพื่อสร้างความตระหนักร่วมรับผิดชอบในการดูแลและส่งเสริมสุขภาวะของกลุ่มแรงงาน ครอบครัว และชุมชน

5.        ดำเนินการเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์

 ยุทธศาสตร์

1.        การศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการ และการทำงานบนฐานข้อมูลที่กลุ่มเป้าหมายแรงงานประสบปัญหาโดยตรง  และปัญหาเชิงโครงสร้างของชุมชน สังคม และนโยบาย

2.        การพัฒนาโครงการที่สอดคล้องกับปัญหาความต้องการของแรงงาน

3.        การทำงานช่วยเหลือโดยตรง ด้านกฎหมาย ปัญหาการไม่เข้าถึงสิทธิต่างๆ

4.        การพัฒนาเครือข่ายหน่วยงานทั้งภาครัฐ  เอกชน  องค์กรชุมชนในพื้นที่ปฏิบัติงาน  และระดับประเทศ

5.        การทำงานเชิงสิทธิ์  และการทำงานเชิงนโยบาย  Advocacy  เพื่อการเขาถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน สิทธิแรงงาน สิทธิทางสุขภาพ สิทธิทางการศึกษา  และการบริการทางสังคมต่างๆ

6.        การสร้างกระบวนการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมของแรงงานเพื่อการพึ่งพาตนเองได้

 พื้นที่การทำงาน

1. พื้นที่สำนักงานสาขา: สมุทรสาคร (สำนักงานใหญ่) สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และราชบุรี 

2. พื้นที่เชิงประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์ ๆ ทั่วประเทศ

 ร่วมสนับสนุนโครงการบริจาคได้ที่

Financial contribution can be transferred to:

ชื่อบัญชี   ;   Labour Rights Promotion Network

ชื่อธนาคาร : Krung Thai Bank Pcl.

สาขา :          Chamchuree Square Branch

เลขที่บัญชี : 162-0-09432-0

Swift Code: KRTHTHBK

 สำนักงานสมุทรสาคร

มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)

เลขที่  25/17-18 หมู่บ้านมหาชัยเมืองทอง

ถ. สหกรณ์  อ. เมือง   จ. สมุทรสาคร  74000

โทรศัพท์   034-434726, 086-1631390

Email: [email protected], [email protected]

www.lpnfoundation.com

http://www.blogger.com/profile/00058220083470011575

https://www.facebook.com/pages/Labour-Rights-Promotion-Network/371018579290

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 550654เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2013 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2013 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท