วันส้วมโลก และกฎหมายว่าด้วยการจัดการส้วมในประเทศไทย


 

๑๙ พฤศจิกายน วันส้วมโลก : กฎหมายว่าด้วยการจัดการส้วมในประเทศไทย

          แม้องค์ความรู้เรื่องสุขอนามัยจะได้ขยายเข้าถึงประชากรทั่วโลกแล้วส่วนใหญ่ จนกระทั่งผู้คนจำนวนมากรู้เข้าใจกันดีว่าการขับถ่ายของเสียจากร่างกายนั้นควรมีสถานที่เฉพาะเพื่อเก็บกักป้องกันการแพร่เชื้อโรคความสกปรกต่าง ๆ และปกปิดกิจกรรมอันไม่พึงเปิดเผย  แต่ในความเป็นจริงยังคงพบว่ามีข้อจำกัดทั้งในด้านความรู้ และสภาพทางเศรษฐกิจของแต่ละสังคมที่ก่อให้เกิดความแตกต่างของสุขอนามัยในเรื่องดังกล่าว รายงานโดยองค์การสหประชาชาติ ว่า ในจำนวนประชากรของโลกราว 7,000 ล้านคน มี 6,000 ล้านคนมีโทรศัพท์มือถือ แต่มี 2,500 ล้านคนไม่มีห้องส้วมใช้ มี 1,100 ล้านคนขับถ่ายในที่สาธารณะ ซึ่งคุกคามต่อการสาธารณสุข ทั่วโลกมีเด็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบจำนวน 760,000 คนเสียชีวิตจากการท้องเสียท้องร่วงในแต่ละปี ถ้ามีน้ำดื่มที่สะอาดและการอนามัยพื้นฐานที่ดี การเสียชีวิตของเด็กเหล่านี้ย่อมสามารถหลีกเลี่ยงได้ อีกด้านหนึ่งของกลุ่มประชากรที่มีห้องส้วมใช้แล้วนั้น ยังพบว่ามีจำนวนมากที่มีและใช้ห้องส้วมไม่ถูกหลักสุขอนามัยอีกด้วย  ทั้ง ๆ ที่การอาบน้ำและขับถ่ายของเสียจากร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนต้องปฏิบัติอยู่เป็นกิจวัตร

 

          ความสำคัญในเรื่องนี้ ในระดับนานาชาติ ซึ่งนำโดยประเทศสิงคโปร์ จากการที่นายแจ๊ค ซิม นักธุรกิจสิงคโปร์ได้จัดตั้งองค์กรส้วมโลก หรือ World Toilet Organization ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนปี 2๕๔๔ โดยใช้ความพยายามเป็นเวลา 12 ปี ทำให้องค์กรส้วมโลกได้ดึงดูด 534 สมาคมจาก 86 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม กลายเป็นเครือข่ายที่ทำกิจกรรมส่งเสริมให้ประชากรกว่า 3,00 ล้านคนได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของสาธารณะสุข โดยให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของความสะอาดของห้องน้ำห้องส้วมให้มากขึ้น จนเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ๒๕๕๖ ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้ผ่านมติ กำหนดวันที่ 19 พฤศจิกายนของทุกปีเป็น "วันส้วมโลก" (world toilet day) เพื่อให้ทุกคนมีแนวคิดที่มีห้องน้ำห้องส้วมที่สะอาด มติฉบับร่างนี้เสนอโดยสิงคโปร์ และได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากประเทศสมาชิกสหประชาชาติ นับตั้งแต่การอภิปรายมติฉบับร่างนี้เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๖ เป็นต้นมา ในจำนวน 193 ประเทศสมาชิกสหประชาชาติ ได้มี 120 ประเทศให้การสนับสนุนมติฉบับนี้

 

          ในประเทศไทย โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะองค์กรภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงได้มีนโยบายให้ความสำคัญกับการสร้างสุขอนามัยของห้องส้วมมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของห้องน้ำห้องส้วมภายในบ้าน และในที่สาธารณะ เช่น ปั๊มน้ำมัน วัด โรงเรียน สำนักงาน และสถานที่ราชการ ฯลฯ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีถึงสภาพห้องส้วมของสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย ว่าส่วนใหญ่ไม่ได้เกณฑ์มาตรฐานทั้งเรื่องปริมาณและคุณภาพ อย่างไรก็ตาม ขณะที่ระดับนานาชาติก่อเกิดมิติใหม่แห่งการพัฒนาสุขอนามัยของห้องส้วม แต่ช่วงเวลาก่อนหน้านั้น คือ เมื่อปี ๒๕๕๐ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับสถาบันกฎหมายไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำการศึกษาวิจัยเรื่อง “การจัดทำการปรับปรุงพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๓๕” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการค้นหาแนวทางที่เหมาะสมในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ให้มีความเหมาะสมทันสมัยกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และความเป็นอยู่ของประชาชนไทยยุคปัจจุบัน  ซึ่งข้อเสนอสำคัญประการหนึ่งในรายงานการศึกษาครั้งนี้ คือ การจัดการส้วม ทั้งนี้ ในอดีตประเทศไทยเองก็เคยมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องส้วมนี้ไว้ในพระราชบัญญัติสาธารณสุข ๒๔๔๘ แต่ภายหลังเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ปรากฏว่าได้ยกเลิกเรื่องดังกล่าวออกไป ในรายงานการศึกษาฉบับดังกล่าวได้อ้างถึงกฎหมายว่าด้วยส้วมสาธารณะของประเทศแคนาดา ( Public Toilet Act, ๑๙๙๖ ) โดยนำกฎหมายฉบับดังกล่าวมาเป็นแนวคิดของศึกษาการบัญญัติกฎหมายว่าด้วยเรื่องส้วมเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕

          ซึ่งกฎหมายว่าด้วยส้วมสาธารณะของประเทศแคนาดามีหลักการสำคัญดังนี้

๑.      การกำหนดนิยามของสถานที่สาธารณะให้มีความหมายกว้างขวางครอบคลุมถึง

สถานที่และยานพาหนะ ทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชน ซึ่งมีลักษณะของการเปิดให้บริการหรือประชาชนทั่วไปสามารถเข้าไปในสถานที่นั้นได้ไม่ว่าจะด้วยการเสียค่าธรรมเนียมปรือค่าบริการหรือไม่ก็ตาม

๒.      การไม่มีค่าใช้จ่ายในการใช้บริการส้วมในสถานที่สาธารณะ คือไม่มีการปิดกั้นล๊อคกุญแจ

ประตูห้องส้วม หรือเรียกร้องให้จ่ายเงินค่าใช้ห้องส้วม

          ส่วนข้อเสนอในรายงานการศึกษาฉบับนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับการตรากฎหมายเรื่องส้วมเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ ส่วนสำคัญมีดังนี้

                   ๑.มาตรา... “เมื่อมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีหรือเพิ่มส้วมชนิดใดขึ้นสำหรับอาคาร ยานพาหนะหรือสถานที่ใดที่มีขึ้นเพื่อประชาชนใช้ร่วมกัน หรือให้เปลี่ยนแปลงส้วมชนิดใดที่ประชาชนใช้ร่วมกันที่มีอยู่แล้วให้ต้องด้วยสุขลักษณะ เจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยคำแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุขมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่นั้นปฏิบัติตาม...”

๒.มาตรา... “เจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยคำแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุขมีอำนาจออก

คำสั่งเป็นหนังสือห้ามการสร้างหรือใช้ส้วมที่รับหรือใส่อุจาระหรือปัสสาวะชนิดใดที่มีขึ้นเพื่อประชาชนใช้ร่วมกัน ซึ่งมีลักษณะส่อให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายแก่สุขภาพในเขตพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบได้...”

๓.มาตรา... “เจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยคำแนะนำของเจ้าพนักงานสาธารณสุข มีหน้าที่จัดให้

มีส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะและเพียงพอเป็นการชั่วคราวหรือถาวรในที่สาธารณะ

                   ๔.มาตรา... “ให้ผู้มีหน้าที่ดูแลหรือควบคุมอาคาร หรือสถานที่ราชการที่ให้บริการ จัดให้มีส้วมที่ถูกสุขลักษณะและเพียงพอที่ประชาชนจะเข้าไปใช้ในเวลาราชการได้ตามความเหมาะสม”

                   ๕.มาตรา... “เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ประกอบการ เรือ แพ หรือยานพาหนะใด ๆ ที่ล่องลอยทางน้ำ มีหน้าที่ต้องจัดให้มีส้วมและมีการดูแลรักษาให้สะอาดถูกสุขลักษณะและห้ามมิให้ระบายสิ่งปฏิกูลลงในแหล่งน้ำนั้น”

                   ๖.มาตรา... “เมื่อมีเหตุฉุกเฉินหรือเหตุภยันตรายต่อสาธารณชนอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติ เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีหน้าที่จัดให้มีส้วมสาธารณะที่ถูกสุขลักษณะในลักษณะชั่วคราวและเพียงพอสำหรับให้บริการ”

          พิจารณาตามข้อเสนอในรายงานฉบับนี้แล้วเห็นได้ว่า หากมีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๓๕ ย่อมจะส่งผลให้การใช้ส้วมสาธารณะทั้งในสถานที่ราชการและเอกชนของประชาชนไทยมีการเปลี่ยนแปลงยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและความสะอาด  รวมถึงการเข้าถึงบริการส้วมสาธารณะอย่างเพียงพอเหมาะสมต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นย่อมส่งผลดีต่อการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกที่มียุงลายเป็นพาหะของโรคและมักพบแหล่งเพาะพันธุ์อยู่ในห้องน้ำอีกด้วย  แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในส่วนที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการใช้บริการส้วมสาธารณะที่ประชาชนไทยคุ้นเคยดีกับการต้องจ่ายค่าบริการครั้งละ ๒ – ๓ บาท นั้น ตามข้อเสนอในรายงานยังไม่ได้กล่าวถึงไว้แต่อย่างใด  ในส่วนนี้หากพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายของประเทศแคนาดาที่วางหลักการเรื่องห้ามคิดค่าใช้จ่ายหรือค่าบริการใช้ส้วมสาธารณะไว้ ประกอบกับในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ ในหมวด ๓ ส่วนที่ ๙ สิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขและสวัสดิการจากรัฐ มาตรา ๕๑ วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐอย่างเหมาะสม โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและทันต่อเหตุการณ์” โดยส่วนตัวผู้เขียนมีความเห็นว่า ในเมื่อโรคติดต่อบางโรคที่เกิดจากน้ำและอาหารที่มีการปนเปื้อนอุจจาระ เช่น อหิวาตกโรคนั้นเป็นโรคติดต่ออันตราย ซึ่งรัฐจะต้องจัดให้มีการป้องกันและขจัดอย่างเหมาะสมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อยู่แล้ว ดังนั้นควรที่จะบัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจนในเรื่องการจัดการส้วมสาธารณะไว้ด้วยว่าห้ามมีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้ส้วมสาธารณะ  และหากมีการวางหลักการดังกล่าวนี้ไว้เชื่อว่าจะส่งผลให้ทัศนคติเรื่องการจัดการส้วมสาธารณะของคนไทยนั้นเปลี่ยนจากที่เห็นว่าส้วมเป็นเพียงสถานที่เก็บกักอุจจาระและสิ่งปฏิกูลและน่ารังเกียจ กลายเป็นสถานที่หรือจุดบริการทางสุขภาพของประชาชนประเภทหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพ ด้วยหลักสุขอนามัย อีกทั้งหากพิจารณาในเรื่องความคุ้มค่าของการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการจัดการป้องกันโรคในรูปแบบดังกล่าวเปรียบเทียบกับการที่รัฐจะต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายจากการรักษาการเจ็บป่วยของประชาชนด้วยโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำแล้ว รัฐอาจประหยัดค่าใช้จ่ายได้ในที่สุด 

          อย่างไรก็ตามปัจจุบันการแก้ไขพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ยังคงอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งผลท้ายสุดเมื่อเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาและประกาศใช้นั้น จะเป็นเช่นไร การยกระดับมาตรฐานการจัดการส้วมภายในประเทศไทยจะเป็นจริงได้เพียงใด คงต้องเฝ้ารอจนถึงเวลานั้น

 

อ้างอิง

1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550

2. พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. ๒๕๓๕

3. กรมอนามัย.HEALTH.วารสาร,ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑ มกราคม – มีนาคม ๒๕๕๒

4. http://ads.matichon.co.th/www/delivery

 

หมายเลขบันทึก: 550626เขียนเมื่อ 10 ตุลาคม 2013 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 ตุลาคม 2013 10:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

..การจัด..ระบบ..(ขี้)..ของมนุษย์...มีมาให้เห็นในรากฐาน..ประวัติศาตร์.ใน.ต้นยุคกลาง..ของยุโรป...อันเป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้ว...การ ยกระดับ มาตรฐานการจัดการ..ส้วม..ภายใน..ประเทศ(ไทย)..ที่เพิ่งมีการเริ่มต้น..(ดังที่อ่านมาข้างต้น)..และที่เห็น.."คงเป็นแค่ฝัน..เวลา..ตื่น..และหลับ"......(..เพราะคนจน..(ขี้)..แล้วกลบไม่ได้..แม้กระทั่งจอบ..ยังไม่มี....เพราะ..คน..รวย..ได้..ผลประ..โยชน์..จาก..(ขี้)...คนจน...ไปซื้อ ที่นั่ง(ขี้)..ปิดทอง..มาใช้.."กันเป็นว่าเล่น"...

แถมด้วย...ห้องส้วม..คนรวย..ติดแอร์...ส้วมคนจน..เสีย..สามบาท..ห้าบาท..ก็ยัง..ใช้แทบไม่ได้....เรื่อง..ขี้ๆๆ..ใครคิดว่า..ไม่..สำคํญ...มนุษย์..สำคัญตนเองว่า...ขี้..ตนนั้นเหม็นไม่เป็นไร...อ้ะะๆๆๆ.....

ยายธี

ขอบคุณที่เพิ่มเติมให้เห็นอดีตชัดขึ้นครับ แค่เรื่องขี้มันยังไม่เท่าเทียมกันนะมนุษย์นี่น่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท