ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๑๐. ชีวิตนักเถียง


          ชีวิตนักเถียงบทความนี้ ใน นสพ. เดอะ เนชั่น วันที่ ๑ ก.ย. ๕๖ ที่คุณเนติวิทย์ บอกว่าการศึกษาไทยมีปัญหาเพราะ ไม่อนุญาตให้นักเรียนเถียงครู    ทำให้ผมย้อนรำลึกชีวิตวัยเด็กของตนเอง ที่อัดอั้นแบบนี้เหมือนกัน    ผมเฝ้ารอว่า เมื่อไรผมจะโตสักที จะได้มีความคิดและแสดงความคิดเห็น เป็นตัวของตัวเองได้    ตอนเป็นเด็ก แสดงความคิดเห็นทีไร ผู้ใหญ่หาว่าเถียง และไม่เคารพผู้ใหญ่    จนในที่สุด ผมก็ถูกสอนให้นิ่ง และนิ่งได้จริงๆ ก็หลังอายุ ๑๕  

คิดย้อนกลับไปวัยเด็ก ผมถูกตราว่าเป็นเด็กดื้อ   สอนไม่จำ    แม่ห้ามไม่ให้ทำ หรือสั่งให้ทำ ก็ไม่ค่อยทำตาม   ผมจำไม่ได้ ว่าทำไมผมจึงไม่ทำตาม หรือเถียง   คลับคล้ายคลับคลาว่าสิ่งที่ได้รับคำสั่งให้ทำ มันไม่น่าจะถูกต้อง ไม่สมเหตุสมผล   ผมจึงโดนแม่ลงโทษเกือบทุกวัน   คล้ายๆ เป็นเด็กกวนโมโหผู้ใหญ่    ไม่เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย    จนแม่บ่นว่า โตขึ้นสงสัยผมคงจะเสียคน

เมื่อบ่ายวันที่ ๔ ก.ย. ๕๖ มีการประชุมคณะกรรมการกำกับทิศทางโครงการวิจัย กระบวนการพัฒนาครู ด้วยระบบหนุนนำต่อเนื่อง (Teacher Coaching) ที่ สกว.   ในตอนท้าย ผมถือโอกาสในฐานะประธานที่ประชุม   กล่าวฝากคณะทีมผู้ดำเนินการของมหาวิทยาลัยราชภัฏ ๔ แห่งที่มานำเสนอว่า    ขอให้หาทาง โค้ชครูให้ส่งเสริม ให้เด็กเถียงครู   แต่ต้องเถียงอย่างมีความเคารพ หรือมีสัมมาคารวะ   และต้องอธิบายเหตุผล หรือหลักฐานอ้างอิง    นี่คือแนวทางเรียนรู้สำหรับศตวรรษที่ ๒๑

ผมอธิบายว่า นี่คือแนวทางทำให้เด็กเรียนรู้แบบคิดเอง    มีความเป็นตัวของตัวเอง    ซึ่งเป็นคุณสมบัติ ที่ต้องการในโลกยุคศตวรรษที่ ๒๑   ปรากฏว่าที่ประชุมเห็นด้วย    ไม่ทราบว่าเขาเห็นด้วยเพราะผมเป็นประธาน หรือเปล่า

ได้โอกาส ผมเสนอต่อ ว่าต้องโค้ชครู ให้ไม่รู้สึกเสียหน้าเมื่อศิษย์เถียงชนะ   ครูต้องยอมรับว่าตนเองผิดได้   เพราะความรู้มันเปลี่ยนเร็ว   และเรื่องต่างๆ ในยุคปัจจุบันมันซับซ้อน 

ผมนึกออกแล้ว   เมื่อตอนเด็กๆ ผมเป็นนักมองต่างมุม   เราเป็นเด็ก เราก็มีมุมมองแบบเด็ก   ที่ต่างจากผู้ใหญ่   และยืนหยัดในมุมมองของตน   จึงกลายเป็นท้าทายและอวดดีในสายตาของผู้ใหญ่    สมควรแล้วที่จะถูกลงโทษ     

 

  

วิจารณ์ พานิช

๔ ก.ย. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 550525เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2013 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 ตุลาคม 2013 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท