กิน-อยู่-ใช้จ่าย อย่างไรให้พอเพียง


อยาก"พอเพียง" ก็แค่เพียง"พอใจ"

 ชักหน้าไม่ถึงหลัง  เป็นสำนวนไทย หมายความว่า  ขัดสนเพราะรายได้มีไม่พอคุ้มกับรายจ่ายหรือ รายได้ที่รับมาเมื่อต้นเดือนไม่พอใช้ไปถึงปลายเดือน     หลายๆ คนในยุคปัจจุบัน ส่วนใหญ่คงได้สัมผัสอาการที่ว่านี้มาบ้าง    ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ  ทั้งเงินเดือนน้อย    ค่าครองชีพสูง  และ ใช้เงินเกินตัว   จะว่าคนอื่นไปก็ใช่ที่  เพราะประเด็นหลังสุด  ดิฉันเองก็เป็นเอามากอยู่เหมือนกัน ประเภท รายได้ต่ำแต่รสนิยมสูง(มากๆ)  ใช้เงินไม่ค่อยคิด  อยากได้อะไรก็ซื้อ  เงินไม่พอก็รูดบัตรเครดิต  ไม่มีการวางแผนว่าสิ่งไหนจำเป็นหรือไม่จำเป็น  ถ้าอยากได้ก็ต้องจับจองเป็นเจ้าของกันเดี๋ยวนั้นเลย    พักหลังๆ นี่เริ่มรู้สึกว่าเงินมามีอำนาจเหนือเราซะแล้ว  สั่งเราให้ใช้จ่ายอย่างขาดสติ  ไม่มีการวางแผนและลำดับความสำคัญในการใช้จ่ายเลย  หากปล่อยให้เนิ่นนานไปต้องไม่เป็นผลดีแน่ๆ  ว่าแล้วก็ต้องจัดระเบียบและปรับเปลี่ยนนิสัยในการใช้จ่ายเสียใหม่   และผลที่ได้น่าพออยู่ไม่น้อย หากปฏิบัติให้เป็นนิสัย  รับรองว่า ชักหน้าถึงหลัง แน่นอน 

1.        อาหารการกิน :    อาหารราคาแพงไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อร่างกายเสมอไป  การเลือก

เลือกกินที่ดี  นอกจากจะให้คุณค่าทางอาหารแล้ว  ราคาก็เป็นเรื่องสำคัญสำหรับเศรษฐกิจในยุคนี้  เราสามารถเลือกซื้ออาหารราคาถูก  แต่สะอาดและมีประโยชน์ได้ทั่วไป  เช่นข้าวแกง หรือ ก๋วยเตี๋ยว ตามข้างถนน เพียงแต่เลือกร้านที่ดูดีและสะอาด ก็อิ่มท้องได้เหมือนกัน  ไม่เห็นจะต้องไปกินอาหารขยะ(Junk Food) ราคาแพง แต่ให้คุณค่าทางอาหารต่ำ  แถมย่อยยากอีกต่างหาก   เคยได้ยินไหมว่า กินเพื่อให้มีชีวิตอยู่ ไม่ใช่มีชีวิตอยู่เพื่อที่จะกิน  คิดอย่างนี้ได้ก็ประหยัดเงินในกระเป๋าได้โขเลย

2.        เสื้อผ้า เครื่องประดับ :   รสนิยมในการแต่งตัว บ่งบอกถึงความเป็นตัวตน  แต่บางคนแต่งซะจนความเป็นตัวตนหายไป    เสื้อผ้าราคาแพงไม่ได้ทำให้เราดูดีเสมอไป  หัวใจสำคัญในการแต่งตัว  คือใส่เสื้อผ้าให้ถูกกาลเทศะ และเหมาะสมกับบุคลิก  หาสไตล์ของตัวเองให้เจอว่าเราเหมาะกับเสื้อผ้าแบบไหน   ไม่จำเป็นต้องตามแฟชั่นเสมอไป แล้วเราจะดูดีพร้อมกับมีเงินเหลือเก็บ

3.        ดูแลสุขภาพ : หากต้นทุนเราต่ำ  หรือต้องการจะประหยัดเงิน  การไปฟิตเนส   ตีกอล์ฟ  เล่นเทนนิส   และกีฬาประเภทอื่นๆ  ที่ต้องใช้อุปกรณ์ หรือจ่ายค่าสมาชิกราคาแพง   ก็คงไม่เหมาะกับเราเป็นแน่   ลองหันมาเล่นกีฬาง่ายๆ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก  แต่ก็ทำให้สุขภาพดีเหมือนกัน   เช่น  วิ่ง  เต้นแอโรบิก  รำตะบอง    หรือเล่นโยคะก็ดีต่อสุขภาพและยังช่วยเรื่องสมาธิด้วย   โดยหาซื้อหนังสือมาศึกษาเอง  ราคาประมาณร้อยกว่าบาท  แต่เล่นเป็นแล้วเป็นเลยเหมือนมีวิชาติดตัว   สามารถเล่นได้ทุกที่ทุกเวลา แค่นี้ก็สุขภาพดีโดยไม่ต้องสิ้นเปลืองแล้ว

4.        พาหนะคู่ใจ  :  เดือนนี้พาหนะคู่ใจ ซดน้ำมันไปเท่าไรแล้ว   คำถามนี้ปวดใจยิ่งนัก   เติมน้ำมันทีไร ใจหายทุกที   จะให้ดีลองเปลี่ยนมานั่งรถโดยสารประจำทางก็ให้ประสบการณ์ที่แปลกใหม่ดีนะ   ค่ารถก็แสนจะถูก  นอกจากจะไม่ต้องขับรถเองแล้ว  ยังมีเวลาคิดเรื่องอื่นๆ ด้วย  หรือแอบงีบก็ได้ไม่มีใครว่า  ว่างๆ ก็หยิบหนังสือมาอ่านยังได้เลย   ที่สำคัญมีเงินเหลือไปใช้อย่างอื่นอีกเพียบ  สารพัดประโยชน์ขนาดนี้ลองดูก็ไม่เสียหายนี่นา

5.        ของดีราคาถูก :  ที่บ้านเราเรียกว่าของ SALE  นั่นแหล่ะ  แต่ละปีจะมีสินค้าดีๆ    ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า ฯลฯ  มาขายในราคาถูกลงกว่าปกติ  อย่างน้อยก็ปีละ 1-2 ครั้ง    ลองแวะเวียนไปดูตามศูนย์การค้าใกล้บ้าน  ถ้าอยากได้ของดีแต่ซื้อราคาเต็มไม่ไหว  ก็ของ SALE นี่แหล่ะ เหมาะที่สุด 

6.        คลายเครียด :   คนสมัยนี้ไม่รู้เป็นยังไง   มีปัญหา หรือเครียด  ก็หาเรื่องผ่อนคลายด้วยการกินเหล้า  เข้าผับ  ไม่เห็นจะช่วยให้สบายใจตรงไหน  ยิ่งเครียดหนักกว่าเดิมอีก  ก็กินเที่ยวแต่ละครั้ง เสียเงินไม่ใช่น้อยๆ     กิจกรรมที่ช่วยให้คลายเครียดมีตั้งเยอะแยะแถมประหยัดเงินอีกต่างหาก  เช่น  ดูหนัง  ออกกำลังกาย  อ่านหนังสือ   หรือร้องเพลงก็ได้  เดี๋ยวนี้มีคาราโอเกะตู้  เพลงละ 10 บาทเท่านั้นเอง  อยากจะคลายเครียดแบบไหนก็เลือกกันเอาเอง   แต่อย่าเลือกแบบที่ทำให้เครียดกว่าเดิมล่ะ

7.        งานนี้ต้องมีแผน :  การใช้จ่ายเงิน    ถือเป็นการบริหารจัดการเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก  เพราะฉะนั้นเราต้องมีการวางแผนที่ดี  เพื่อให้เงินถูกใช้อย่างคุ้มค่า และตรงตามวัตถุประสงค์ที่สุด   แล้วเราจะไม่ขัดสนเรื่องเงินเลย      เพียงแค่คำนวณว่าเดือนนี้มีอะไรที่ต้องใช้จ่ายบ้าง  โดยอาจแบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าโทรศัพท์  หรือค่าน้ำ-ค่าไฟ   อีกส่วนหนึ่งก็แบ่งไว้เป็นค่าอยู่ค่ากิน   เมื่อคำนวณแล้วหากยังพอมีเงินเหลือ เราก็สามารถซื้อของที่อยากได้  หรือฝากธนาคารก็เข้าท่าทีเดียว  แต่หากคำนวณแล้วไม่เหลือก็ต้องใช้จ่ายกันอย่างประหยัด  แล้วคงต้องวางแผนเดือนต่อไปให้รัดกุมกว่านี้

           แค่นี้ก็อยู่อย่างมีความสุข และพอเพียงแล้วหล่ะค่ะ

หมายเลขบันทึก: 55048เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2006 15:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 16:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท