สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๖. ช่วยเหลือผู้อื่น (๑) ความมีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจช่วยเหลือผู้อื่น


 

บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21st Century เขียนโดย Annie Fox, M.Ed.   

ตอนที่ ๖นี้ ตีความจากบทที่ ๓ How Can I Help? Figuring Out What’s Needed and Providing Some of It    โดยที่ในบทที่ มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๖จะตีความตอนที่ ๑ และ ๒     ในบันทึกที่จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔  

คำแนะนำสำหรับพ่อแม่/ครู ในการสอนเด็กให้เป็นคนดีคือ ช่วยให้เด็กพัฒนาความมีน้ำใจ ควบคู่กับความมีวิจารณญาณ ว่าความช่วยเหลือที่ต้องการอย่างแท้จริงคืออะไร

ผมขอเพิ่มเติมความเห็นของตนเองว่า ข้อความในย่อหน้าข้างบนนั่นแหละ คือหลักการที่ผู้เขียนบอกเรา ว่าพ่อแม่/ครู ต้องใช้หลักการทั้งสองควบคู่กัน ในการช่วยเหลือเด็กให้พัฒนาความเป็นคนดี    คือครูต้องมีทั้งน้ำใจใฝ่ช่วยเหลือ และมีวิจารณญาณ ควบคู่กัน 

ในภาพรวมทั้งหมดของบทที่ ๓ นี้   ความช่วยเหลือให้เด็กเป็นคนดีทำ ๒ ทางควบคู่กัน    คือช่วยปลูกฝังนิสัยดี   และช่วยให้เด็กขจัดนิสัยชั่วออกไป     

ตอนที่ ๑ของบทที่ ๓เป็นเรื่องช่วยให้ช่วยตัวเองเป็น”   ซึ่งหมายความว่า ไม่ใช่ช่วยอยู่เรื่อยไป จนลูก/ศิษย์ กลายเป็นคนอ่อนแอ หรือเสียนิสัย   คือต้องเตรียมให้เด็กพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง หรือพัฒนาความเป็นผู้ใหญ่   รับผิดชอบตัวเองได้   รู้จักมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้อื่น

หลักการคือ ตอนเด็กอายุน้อย พ่อแม่/ครู ช่วยเหลือมากหน่อย แล้วค่อยๆ ผ่อนให้เด็กทำเอง   และให้เด็กได้เข้าใจกระบวนการช่วยเหลือผู้อื่น รวมทั้งเข้าใจความรู้สึกของผู้ได้รับความช่วยเหลือ จากประสบการณ์ของตนเอง    

เด็กบางคนมีแนวโน้มที่จะขอให้พ่อแม่/ครู ทำให้อยู่เรื่อยไป   หากพ่อแม่/ครู ทำให้ตามที่เด็กร้องขอ จะเป็นการทำลาย หรือทำร้ายเด็ก   เพราะจะทำให้เด็กเติบโตเป็นคนที่ช่วยตัวเองไม่เป็น   เป็นคนหนักไม่เอาเบาไม่สู้   และไม่มีจิตใจช่วยเหลือผู้อื่น 

เมื่อพ่อแม่/ครู ช่วยเหลือเด็ก ก็ใช้เป็นโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้คุณค่าของการช่วยเหลือผู้อื่นไปด้วย   โดยพ่อแม่/ครู ต้องรู้จักวิธีจับเส้นสัญชาตญาณความเมตตากรุณาของมนุษย์    โดยการบอกเด็กว่า การที่เด็กช่วยเหลือพ่อแม่/ครู น้อง/พี่/เพื่อน นั้น เป็นสิ่งน่าชื่นชมยกย่อง    และพ่อแม่/ครู รู้สึกภูมิใจในตัวเด็กมาก 

เมื่อเด็กพยายามช่วยเหลือตัวเอง หรือช่วยเหลือผู้อื่น แต่ประสบความยากลำบาก    พ่อแม่/ครู ต้องยับยั้งตัวเองไม่ให้เข้าไปช่วยเหลือ    จงเปิดโอกาสให้เด็กได้ฟันฝ่าเอง    แล้วแสดงความชื่นชมในทันทีที่เด็กทำได้สำเร็จ   เป็นจิตวิทยาส่งเสริมให้เด็กอยากใช้ความพยายามในโอกาสต่อไป   เป็นการสร้างนิสัย สู้สิ่งยาก   และจะช่วยให้เด็กค่อยๆ พัฒนาตนเอง ให้เป็นคนที่ช่วยเหลือตนเองได้   และช่วยเหลือผู้อื่นเป็น   และเรียนรู้ว่าความมีเมตตากรุณานำไปสู่การช่วยเหลือ   และการช่วยเหลือซึ่งกันและกันคือชีวิต

เมื่อลูก/ศิษย์ โตขึ้น เด็กจะต้องการความมีอิสระ   พ่อแม่/ครู ควรคุยกับเด็ก ว่าอยากได้อิสระเรื่องใดบ้าง    และทำความเข้าใจว่า ความมีอิสระ (independence) ต้องคู่กับความรับผิดชอบ (responsibility) และทำตามข้อตกลง (accountability)    โดยเด็กต้องทำตามข้อตกลงที่ตนสัญญาไว้    และพ่อแม่/ครู ก็ต้องทำตามข้อตกลงตามที่สัญญาไว้ 

เมื่อลูก/ศิษย์ วัยรุ่น มาขอความช่วยเหลือหรือขอคำปรึกษา    พ่อแม่/ครู ต้องอย่ารีบบอกความเห็นของตน   ให้ถามกลับ ว่านอกจากเล่าปัญหา (problem) แล้ว    ขอให้เล่าแนวทางแก้ปัญหา (solution) ที่เด็กคิดไว้    แล้วจึงแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกัน   จะแปรสภาพที่พ่อแม่/ครู สอนเด็ก (ซึ่งเด็กวัยรุ่นไม่ชอบถูกสั่งสอน) ให้กลายเป็นการปรึกษากันอย่างเพื่อน หรือคนที่เท่าเทียมกันมากขึ้น   เป็นการปรับความสัมพันธ์ต่อกัน แบบผู้ใหญ่ต่อผู้ใหญ่ (แต่ก็ต้องตระหนักว่า ลูก/ศิษย์ ยังไม่ใช่ผู้ใหญ่เต็มที่)   

ที่สำคัญยิ่ง หากพบว่าวิธีคิด/วิธีปฏิบัติ ของลูก/ศิษย์ เหมาะสม จงให้คำชมเชย

คำขอความช่วยเหลือของหนุ่ม ๑๖  พ่อแม่ให้เงินไม่พอใช้   เพราะต้องพาสาวไปเที่ยว   แถมยังต้องจ่ายค่าน้ำมันรถมอเตอร์ไซคล์เพิ่มขึ้น   ขอเงินจากพ่อแม่เพิ่มพ่อเข้าใจ แต่แม่ยืนกรานไม่ให้   ตนพยายามหาเงินเองโดยไปรับจ้างเพื่อนบ้านตัดหญ้า แต่ไม่พอ   จนแต้มเข้าตนจึงไปขะโมยของจากร้าน และโดนจับได้   พ่อแม่ก็ยังไม่ยอมให้เงินเพิ่ม   และตอนนี้แม่ไม่ยอมพูดด้วย    ตนเศร้าใจมาก

คำตอบของผู้เขียน  ข้อเขียนนี้คล้ายๆ จะโทษพ่อแม่ ว่าเป็นต้นเหตุให้ตนต้องขะโมย   ซึ่งจริงๆ แล้วไม่เกี่ยวกันเลย   การขะโมยมาจากการตัดสินใจผิดของตนเอง   เป็นความรับผิดชอบของตนเอง ที่จะต้องเลิกพฤติกรรมแบบนี้เสีย 

ผู้เขียนแนะนำให้หนุ่ม ๑๖ เริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่กับพ่อแม่   โดยเข้าไปขอโทษ ที่ทำให้พ่อแม่เดือดร้อนใจ   และบอกพ่อแม่ว่าตนจะถือความผิดพลาดในอดีตเป็นครู   ที่จะไม่ทำสิ่งผิดซ้ำอีก   หากต้องการเงินเพิ่ม ก็จะขวนขวายหาเอง    บาดแผลทางใจระหว่างหนุ่ม ๑๖ กับพ่อแม่ก็จะค่อยๆ หาย    

ตอนที่ ๒ ของบทที่ ๓ เป็นเรื่อง การฝึกเด็กให้เป็นคนเห็นอกเห็นใจช่วยเหลือผู้อื่น    โดยผู้เขียนเล่าเรื่อง Dear Abby ตอบคำปรึกษาของแม่สูงอายุคนหนึ่ง ใช้สมญานามว่า Alone in the Kitchen ที่ลูกสาวที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว ๒ คน แยกครอบครัวไปแล้ว    และกลับมาบ้านแม่ในงานเลี้ยงประจำปี   ทำตัวเป็นแขกเหมือนแขกคนอื่นๆ ๒๐ คน   ให้แม่เป็นเจ้าภาพทำครัว ล้างจาน ฯลฯ โดยไม่ช่วยแม่เลย    จนแม่หมดแรงเป็นลม ก็ช่วยนิดๆ หน่อยๆ    แล้วก็ทำตัวอย่างเดิมอีก   เป็นอย่างนี้ทุกปี 

ผู้เขียนบอกว่า ตนให้คะแนนคำตอบของ Dear Abby เพียง C+ เท่านั้น   เพราะไม่ได้ให้คำแนะนำวิธีแก้ปัญหาอย่างแท้จริง    แล้วผู้เขียนก็เขียนคำตอบให้ใหม่    ว่าพฤติกรรมของลูกสาวเป็นกระจกสะท้อนวิธีเลี้ยงและฝึกสอนลูกของคุณ Alone in the Kitchen   ที่ไม่ได้สอนให้ลูกเห็นอกเห็นใจคนอื่น และรู้จักเข้าไปช่วยเหลือ

ผู้เขียนแนะนำว่า ในงานเลี้ยงปีต่อไปจงเริ่มด้วยการขอโทษลูกสาว   ที่แม่ไม่ได้ฝึกความมีน้ำใจให้แก่ลูก    เป็นคำตอบที่สะใจแท้ๆ   

ถึงตอนนี้ ผมก็นึกออกว่า การที่พ่อแม่มอบหมายงานบ้านให้ลูกช่วยเหลือและรับผิดชอบ เป็นการฝึกเด็กให้รู้จักช่วยเหลือผู้อื่นโดยทางอ้อม   และนึกขอบคุณแม่ที่เข้มงวดมอบหมายสาระพัดงานให้ผมทำตั้งแต่เด็กๆ  

คำปรึกษาของสาว ๑๖  ที่ครอบครัวกำลังเผชิญความยากลำบาก   แม่ต้องทำงานตั้งแต่ ๔.๓๐ - ๒๐.๐๐ น.   พ่อป่วยเป็นมะเร็งและต้องการคนพยาบาล   พี่สาวมีครอบครัวและอยู่ไกล   ตนจึงต้องทำงานบ้านทุกอย่าง รวมทั้งต้องไปเรียนและทำการบ้าน   ซึ่งครูขยันให้การบ้านมาก   ขอคำแนะนำวิธีจัดระบบงานให้ทำได้เร็ว

คำตอบของผู้เขียน   เริ่มด้วยการชมสาว ๑๕ ว่าชื่นชมความมีน้ำใจช่วยเหลือพ่อแม่ของสาว ๑๕ เป็นอย่างยิ่ง   และเชื่อว่าพ่อแม่ก็ภูมิใจในตัวลูกคนนี้มาก ที่มีน้ำใจช่วยเหลือ   แนะนำให้บอกครูเรื่องความยากลำบากที่บ้าน    เพื่อให้ครูช่วยลดภาระการบ้าน   และช่วยเหลือการเรียนทางอื่นด้วย   ควรไปคุยกับครูแนะแนว (school counselor) ซึ่งจะช่วยพูดทำความเข้าใจกับครูผู้สอนอีกทางหนึ่งด้วย

คำแนะนำให้ทำงานเป็นระบบและเร็วขึ้นคือ ให้ทำรายการของสิ่งที่ต้องทำที่บ้าน   แยกแยะระหว่างสิ่งที่ต้องทำทุกวัน กับสิ่งที่ทำ ๒ - ๓ ครั้งต่อสัปดาห์    จะช่วยให้จัดระบบการทำงานได้ดีขึ้น   ขอให้ยอมรับว่าสภาพที่เป็นอยู่เป็นเรื่องที่ต้องเผชิญ    แต่ชีวิตจะไม่เป็นเช่นนี้ตลอดไป

คำแนะนำคือ จงทำหน้าที่เพื่อครอบครัว และเพื่อการเรียนให้ดีที่สุด   และจัดเวลาวันละอย่างน้อย ๓๐ - ๖๐ นาทีทุกวันสำหรับอยู่กับตัวเอง เป็นเวลาของตัวเอง 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๔ มี.ค. ๕๖

โรงแรมเรือรัษฎา  จังหวัดตรัง

 

 

หมายเลขบันทึก: 550466เขียนเมื่อ 8 ตุลาคม 2013 09:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 ตุลาคม 2013 09:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ่านบันทึกนี้แล้วทำให้ดิฉันคิดถึงวัยเด็กที่พี่สอนน้อง พี่เรียนรู้ที่จะเสียสละ พ่อแม่ฝึกให้พี่เป็นผู้ให้

ในโรงเรียนหากผู้บริหารเข้าใจถึงกระบวนการพัฒนาคุณธรรมควบคู่ไปกับการจัดการเรียนรู้

โรงเรียนนั้นยังน่ายินดีที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่หลอมคนดีสู่สังคม

ขอบคุณค่ะ

ผมจับหลักการสอนของฝรั่งได้ว่า เขาจะไม่ตอบความเห็นหรือให้คำแนะนำของตนทันที แต่จะรอให้ช่วยเหลือตนเองก่อนเริ่มตั้งแต่การคิดด้วยตนเอง เช่นการตั้งคำถามกลับ- - - ความจริงคนไทยก็มีเรื่อง " พ่อแม่รังแกฉัน" ซึ่งแทนที่จะเน้นให้พี่ตนเอง แต่กลับเป็นการสอนแบบ ห้าม-ไม่ห้ามอยู่ดี.... สรุปคือคนไทยเน้น ให้-ห้าม ทั้งที่ศาสนาพุทธเน้น เหตุ-ผล เหมือนชนฝรั่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท