รูปแบบการเลี้ยงดู กับพฤติกรรมเด็กพิเศษ


              วันนี้ดิฉันได้มีโอกาสเจอเคสใหม่ เป็นเคสกลุ่มเด็ก autism เด็กเล็ก อายุ 3 ขวบกว่า มาพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ ยังดื่มนมจากขวดนม เดินไปด้วย มือถือขวดนมไปด้วย พอเห็นหน้านักกิจกรรมบำบัดเท่านั้นล่ะ ร้องไห้จ้า T T ดึงแขนแม่เพื่อจะกลับกันเลยทีเดียว เคสนี้ผ่านการประเมินจากนักกิจกรรมบำบัดมาแล้ว 1 ครั้ง แต่ไม่ได้ฝึกต่อเพราะเขาสะดวกมาเรียนวันอาทิตย์ วันนี้หลังจากสอนเด็กในเวลาที่จำกัด 30 นาที พบว่าถึงเด็กจะร้องให้รบกวนโสตประสาทไปบ้างแต่ก็พอให้ความร่วมมืออยู่บ้าง ตอนนี้น้องเขายังไม่พูดเป็นคำ พัฒนาการทางภาษาช้า การปรับสมดุลของระดับการรับความรู้สึกต่างๆ ยังค่อนข้างไว เช่น เรื่องเสียง การรับสัมผัส คุณแม่เล่าว่าแต่ก่อนเขาไม่ค่อยยอมให้ใครมากอดหรือแตะตัวเลย ลองสัมภาษณ์คุณแม่ถึงการเลี้ยงดูเพราะสนใจเรื่อง อารมณ์ของเด็กที่ยังร้องไห้เยอะ ดูคล้ายปรับตัวยากว่าเป็นเพราะอะไร? คุณแม่ให้ข้อมูลว่าตอนเด็กเล็กๆ การกิน การนอนไม่มีปัญหาอะไร ดิฉันเลยถามต่อว่า การเลี้ยงดูที่บ้านมีใครเลี้ยงแบบตามใจน้องไหม? คุณแม่หัวเราะ และเล่าต่อว่าตนเองเป็นคนเดียวที่เลี้ยงแบบเคร่งสุด แต่คนที่เหลือในบ้านนั้นตามใจหมดทุกคน เลยถามคำถามต่อด้วยความมั่นใจว่า น้องเป็นหลานและลูกคนเดียวหรือไม่? คุณแม่เด็กตอบ... ใช่ค่ะ เฮ้อ ถามไปถามมาตอนนี้เข้าใจรูปแบบการดำเนินชีวิตของเด็กคนนี้เป็นภาพออกมาทีเดียว เลยได้ให้คำแนะนำหลายๆอย่างไปให้คุณแม่ประยุกต์ต่อที่บ้าน เช่น การปรับการดูแลให้เป็นไปในทางเดียวกันให้เด็กไม่สับสน ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้มากขึ้น กระตุ้นการสื่อสาร ถึงแม้ว่าตอนนี้เด็กยังไม่สามารถพูดเป็นคำๆที่มีความหมายได้ก็ตาม แต่เด็กฟังเข้าใจบ้างค่ะ ภาษาท่าทางง่ายๆและการกระตุ้นสื่อสารจากพ่อแม่ เช่น การบ๊ายบายพร้อมท่าทาง การปรบมือเมื่อทำอะไรบางอย่างได้ดี การชี้ การขอบอกความต้องการ การเพิ่มคำศัพท์ต่างๆ ให้เด็กรับรู้และรู้จักมากขึ้น การประยุกต์สิ่งแวดล้อมภายนอกห้องคลินิก ให้เด็กมีโอกาสได้ปรับสมดุลของการรับสัมผัส ระบบข้อต่อ การทรงตัว ผ่านกิจกรรมการเล่น เช่น ปีนป่าย เล่นชิงช้า ในสะนามเด็กเล่น เดินเล่นบนพื้นผิว หญ้า ทราย  แนะนำให้คุณแม่นวดสัมผัสน้อง  โดยมีเป้าหมายระยะสั้นอีก 2 สัปดาห์ว่า คุณแม่เขาจะมาเล่าอะไรให้เราฟังบ้าง อย่างมีความหวัง

            พูดถึงเด็กคนแรกแล้วอดเล่าต่อไม่ได้(ขอเน้นตรงส่วนพฤติกรรมนะคะ)เด็กคนที่ 2 เป็นน้องออทิสติกกลุ่ม autism เช่นกัน รายนี้ฝึกด้วยกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว ก่อนเข้าห้องฝึกวันนี้ ถูกขัดใจนิดหน่อยจากแม่ แม่เอาของเล่นที่ถือมาไปเก็บ น่าแปลกที่ตีแม่ใหญ่เลย ขณะเรียนในห้องเรียนไม่แสดงพฤติกรรมหงุดหงิด หรือตีครูเลย ร่วมมือดีทุกอย่าง ได้คุยกับแม่น้องในช่วงท้ายกิจกรรม แม่เล่าว่าจะเป็นเยอะเลย หงุดหงิดกับที่บ้านเวลาถูกขัดใจ เช่น แม่ให้หยุดทานขนมปังของชอบ เพราะเห็นว่าทานเยอะ (เด็กอ้วนจ้ำม่ำ) จะแสดงอารมณ์เยอะ มีพฤติกรรมต่อต้าน คุณแม่เคยให้ลองทำ time-out พาเด็กเข้ามุมแล้ว ไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยแปลง เคยลองให้อยู่ห้องเดี่ยวตามลำพังด้วยชอบใหญ่ หลับไปเลย .. เลยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันว่าในเด็กกลุ่มที่ต้องการการเพิ่มทักษะทางสังคม อาจจะไม่ค่อยเหมาะกับการแยกจากสิ่งแวดล้อมในกรณีที่คุณแม่พาไปอยู่ห้องเดี่ยว เพราะเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะสนใจและอยู่กับตนเองเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว จะกลายเป็นการส่งเสริมให้เขาอยู่กับตัวเองเสียมากกว่า ตอนนี้ยังไม่มีวิธีไหนตายตัวเสียทีเดียว แต่น่าสนใจว่าเวลาเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจะหยุดพฤติกรรมอย่างทันทีทันใดยังไงต่อไป ลองช่วยกันคิดว่าครั้งหน้าเมื่อเด็กโมโห ลองเข้าไปจับตัวน้อง และให้แม่กอดไว้ให้สงบ จะเป็นอย่างไร? หลายๆพฤติกรรม หลายๆครั้ง การแก้ไขไม่ได้มีสูตรตายตัวเหมือนแคลคูลัสจริงๆ ช่างน่าท้าทายกับพ่อแม่และนักกิจกรรรมบำบัด :)

 

หมายเลขบันทึก: 550383เขียนเมื่อ 6 ตุลาคม 2013 23:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 ตุลาคม 2013 23:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท