ไฟทำให้ข้าวสุกได้หรือไม่


         สัปดาห์นี้จะเป็นสัปดาห์ประวัติศาสตร์สำหรับ สคส. และวงการ KM ประเทศไทย  คือจะมีการประชุมประเมินผลงาน สคส. เพื่อตัดสินว่าเมื่อครบโครงการ ๕ ปี (กพ. ๒๕๕๑) ควรให้จบไปเหมือนโครงการทั่วไป     หรือควรให้ดำเนินการต่อไปอีกช่วงหนึ่ง เป็นโครงการ ๕ ปี ช่วงที่ ๒      โดยที่เงินของโครงการ ๕ ปี ช่วงแรก ยังเหลือพอ หรือเกือบพอสำหรับโครงการ ๕ ปี ระยะที่ ๒ (๒๕๕๑ - ๒๕๕๖)

         สคส. เราทำงานแบบแหวกแนว
             ๑. มีการปรับวิธีทำงานอยู่ตลอดเวลา (chaordic) โดยเป้าหมาย  หรือปณิธานความมุ่งมั่น (purpose) มั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง      คือเราทำงานแบบ chaordic organization     เพราะการปรับตัวนี่แหละครับ  ทำให้เราประหยัดเงินไปหลายเท่าตัว     โดยได้ผลงาน หรือผลกระทบต่อประเทศไทยมากกว่าที่ตั้งเป้าไว้เดิม
             ๒.  เราทำงานแบบ distributive organization  หรือ networking organization     ไม่ใช่ centralized organization อย่างองค์กรทั่วๆ ไป     โดยเชื่อว่า แนวทางนี้จะทำให้ KM ซึมซาบสู่สังคมไทยอย่างแท้จริง      เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รากฐาน หรือวัฒนธรรมองค์กร อย่างแท้จริง   ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงหลอกๆ     การทำงานแบบนี้ ผลงานไม่ได้อยู่ที่องค์กร  แต่ไปปรากฎที่ภาคีเครือข่าย     หรือหน่วยงานที่ประยุกต์ใช้ KM ในกิจการของตน

         การประเมินผลงานของ สคส. จึงน่าจะประเมินตามเป้าหมายของผู้ให้ทุนสนับสนุน     คือประเมินว่า กิจกรรมของ สคส. นำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพได้จริงหรือไม่      ผลงานที่ผ่านมาทำให้เกิดการสร้างเสริมสุขภาพเพียงใด

         KM เอาไปใช้ในกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาพได้หรือไม่      คำถามนี้เหมือนกับถามว่า ไฟทำให้ข้าวสุกได้หรือไม่

        ไฟทำให้ข้าวสุกได้หรือไม่     คำตอบคือได้  แต่ไฟอย่างเดียวไม่พอ     ต้องการหม้อข้าว เตา  คนหุง ฯลฯ ด้วย ข้าวจึงจะสุก  KM ก็เช่นเดียวกัน     ทำให้มีการสร้างเสริมสุขภาพ  หรือเกิดสุขภาพ สุขภาวะ ในสังคมได้      แต่ KM อย่างเดียว ไม่สามารถทำให้เกิดสุขภาพของบุคคล และสุขภาวะของสังคม     ยังต้องการหน่วยงานที่ทำงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ     ต้องการคนที่ใจเปิด และมีทักษะด้าน KM     ต้องการการนำ KM ไปใช้ และปรับใช้อย่างต่อเนื่อง      

         สคส. ทำหน้าที่พัฒนาเครื่องมือ  หรือเทคโนโลยี ที่เรียกว่า KM      เราพัฒนา "เทคโนโลยีที่เหมาะสม" (Appropriate Technology) ต่อสังคมไทย     แต่เทคโนโลยีนี้จะนำไปสู่การสร้างเสริมสุขภาพหรือไม่ ขึ้นกับการนำเอาไปใช้ประโยชน์  และขึ้นกับผู้เอาไปใช้ประโยชน์

        ไฟ อาจทำให้อาหารสุก    อาจให้พลังงาน    หรืออาจเผาผลาญทำลายบ้านเรือนก็ได้     ขึ้นอยู่กับการนำเอาไปใช้     อาจเป็นการใช้เพื่อสร้างสรรค์ก็ได้     หรือเพื่อทำลายก็ได้

        KM ก็เหมือนไฟ    จะเกิดประโยชน์หรือไม่  ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้

       สคส. ทำมากกว่าการสร้าง หรือพัฒนาเครื่องมือ     ได้ส่งเสริมให้เกิด pilot project แบบ real life experiment ในการประยุกต์ใช้ KM ในหลากหลายบริบทในสังคมไทย     ผลงานดังที่เห็นอยู่

        เหตุผลหลักในการมี สคส. ในสังคมไทย ต่อไปอีก ๕ ปีหลังจากปี ๒๕๕๑  น่าจะมี ๒ ข้อ
           (๑) ต้องมีการพัฒนา KM แนวทางไทยต่อไปอีก
           (๒) ต้องมีกลไกขับเคลื่อนเครือข่าย KM ประเทศไทยต่อไปอีก    โดยเน้นผลกระทบด้านสุขภาพ และสุขภาวะ

วิจารณ์ พานิช
๑๗ ตค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 55009เขียนเมื่อ 18 ตุลาคม 2006 08:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท