ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๐๕. เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการศึกษา ๓


- บันทึกที่ ๑ -

- บันทึกที่ ๒ -

สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) เคยได้รับทุนจาก สสส. ดำเนินการพัฒนาวิธีการ จัดการความรู้ขึ้นในบริบทต่างๆ ในสังคมไทย ได้สนับสนุนให้มูลนิธิข้าวขวัญที่สุพรรณบุรี ทดลองดำเนินการ จัดการความรู้ให้แก่ชาวนาในหลายอำเภอของจังหวัดสุพรรณบุรี ในรูปของ โรงเรียนชาวนาพบว่า ได้ผลดีอย่างยิ่ง โรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญมีเป้าหมายลดค่าใช้จ่าย ลดความเจ็บป่วยจากการทำนา และผลิตข้าวปลอดสารพิษ ผลของการดำเนินการพบว่า ชาวนาสามารถนำเอาความรู้เชิงทฤษฎี ที่ได้จากเอกสารของหน่วยราชการ และจากการไปดูงานในหน่วยราชการและมหาวิทยาลัย มาทดลองใช้ในการทำนาตามการตีความของแต่ละคน แล้วนำผลที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ในการนัดพบกันทุกสัปดาห์ ครั้งละครึ่งวัน เกิดการเรียนรู้อย่างมากมาย ได้ผลลดต้นทุนการผลิต ลดหนี้ ลดความเจ็บป่วยเพราะเลิกใช้ยาฆ่าแมลงและสารเคมี และได้ข้าวปลอดสารพิษ ตามเป้าหมาย แต่มีผลได้ที่เกินความคาดหมายคือมีเวลาว่างมากขึ้น มีโอกาสใช้เวลาทำกิจกรรมชุมชน และรื้อฟื้นประเพณีท้องถิ่นขึ้นมา

การเรียนรู้ในการประกอบสัมมาชีพโดยการจัดการความรู้เช่นนี้ ต้องการ คุณอำนวย (Knowledge Facilitator) ทำหน้าที่ประสานงาน และทำหน้าที่กระบวนกรของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งในกรณีนี้ เจ้าหน้าฝึกอบรมของมูลนิธิข้าวขวัญพัฒนาทักษะขึ้นมาทำหน้าที่

การเรียนรู้แบบนี้ แตกต่างจากการเรียนรู้ที่วงการศึกษาไทย (และวงการศึกษาโลกส่วนที่ล้าหลัง) ยึดถือ แตกต่างในระดับกระบวนทัศน์ อย่างหน้ามือเป็นหลังมือ การเรียนรู้แบบนี้ เน้นการเรียนรู้แบบเน้นอิสรภาพ ของผู้เรียน เน้นความมั่นใจในตนเอง มั่นใจในศักยภาพการเรียนรู้ของตนเอง ในขณะที่กระบวนทัศน์การเรียนรู้แบบเดิมเน้นศรัทธาต่อผู้สอน หวังรับถ่ายทอดความรู้จากผู้สอน ในขณะที่กระบวนทัศน์ใหม่ ผู้เรียนมีศรัทธา เชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของตนเอง เน้นเรียนรู้จากการปฏิบัติ เรียนรู้จากการตีความประสบการณ์ตรงของตน ร่วมกับกัลยาณมิตร ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การตีความจากประสบการณ์ตรงของตนเช่นเดียวกัน

การเรียนรู้แบบเดิมอยู่ในกระบวนทัศน์หวังพึ่งผู้อื่น หวังได้รับการอุปถัมภ์ ส่วนการเรียนรู้แบบใหม่ อยู่ในกระบวนทัศน์เน้นการพึ่งตนเอง และช่วยเหลือพึ่งพาซึ่งกันและกัน หวังได้รับอิสระในการคิด และความสัมพันธ์แนวราบ ซึ่งตรงกับแนวคิดสังคมและวัฒนธรรมไทยของ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ ที่มีความรักในความเป็นอิสระ มีน้ำใจ และให้ความสำคัญแก่ความเป็นชุมชน

สมาชิกของโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณบุรี เห็นคุณค่าและลึกซึ้งหลักการของการเรียนรู้ แบบใหม่นี้ จนบางคนไปตั้งโรงเรียนชาวนาในพื้นที่ของตนเอง โดยตั้งตนเองเป็นครูใหญ่ เพราะในบริบทของการเรียนรู้แบบใหม่ ทุกคนเป็นครู และทุกคนเป็นนักเรียน ครูใหญ่เพียงทำหน้าที่จัดการ ให้เกิด โรงเรียนในลักษะ โรงเรียนไร้อาคารหรือ virtual school คือนัดมาคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ที่ไหนก็ได้ ส่วนใหญ่เป็น ที่ศาลาวัด หรือที่ใต้ถุนบ้านของนักเรียนก็ได้ จุดสำคัญคือ โรงเรียนต้องเปิดสม่ำเสมอ ดีที่สุดคือสัปดาห์ละครั้ง ครั้งละครึ่งวัน ตอนบ่ายอาจเป็นกิจกรรมเยี่ยมแปลงนา เพื่อไปดู ให้เห็นกับตา

ตัวอย่างของนักเรียนโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญ ที่เมื่อตนเองเรียนจบหลักสูตรแล้ว ได้ไปตั้ง โรงเรียนชาวนาที่ตนเองรับหน้าที่ครูใหญ่โดยไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ คือคุณเบี้ยว ไทยลา แห่งบ้านหนองแจง อ. ดอนเจดีย์ จ. สุพรรณบุรี ท่านที่สนใจอ่านเรื่องราวได้ที่ http://www.gotoknow.org/posts/391907

การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ควรจะได้ปรับกระบวนทัศน์ หันมาทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ต่อการเรียนรู้แบบใหม่นี้ แต่จะทำไม่ได้ภายใต้กระทรวงศึกษาธิการ ที่ยึดถืออำนาจหน้าที่ และความสัมพันธ์ เชิงอำนาจ ตามแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน กระผมจึงขอเสนอต่อท่านที่เคารพทั้งหลายว่า วงการเศรษฐศาสตร์ การเมือง น่าจะได้เข้าไปตั้งโจทย์และวิจัย เพื่อบอกสังคมว่า กระบวนทัศน์ที่ผิดพลาดในเรื่องรูปแบบการเรียนรู้ ของผู้ใหญ่ การเรียนรู้เพื่อการประกอบสัมมาชีพ ได้ก่อความเสียหายทางเศรษฐกิจและทางสังคมต่อประเทศไทย อย่างไรบ้าง

ในความเป็นจริงชุมชนไทยไม่ได้หยุดนิ่ง มีการเรียนรู้จากการปฏิบัติ มีการนำความรู้ปฏิบัติ (tacit knowledge) มาต่อยอดใช้ประโยชน์ ตามบริบทสัมมาชีพของตนอยู่แล้ว แต่ขาดมิติสำคัญที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ สร้างสรรค์อันไพศาล และเกิดนวัตกรรม คือการรวมกลุ่มกันเพื่อการเรียนรู้แบบแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ และมี คุณอำนวยหรือวิทยากรกระบวนการ (knowledge facilitator) ช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยกระตุ้นพลัง ของปัญญาปฏิบัติ (phronesis)

 

เศรษฐศาสตร์การเมืองเรื่องการเรียนรู้ ทั้งการเรียนรู้ในระบบ และการเรียนรู้ของชุมชน จึงเป็นการต่อสู้กัน ระหว่างการเรียนรู้แบบ ศรัทธานำหวังพึ่งพิง หวังรับถ่ายทอดความรู้ หวังได้รับความเมตตาอุปถัมภ์ จาก ผู้รู้กับการเรียนรู้แบบ ปัญญานำหวังพึ่งตนเอง และพึ่งพากันเอง หวังร่วมกันสร้างความรู้ขึ้นใช้เอง จากการปฏิบัติ แล้วร่วมกันไตร่ตรอง หาความหมาย จากสิ่งที่ตนสังเกตรับรู้จากการปฏิบัตินั้น เปรียบเทียบกับความรู้เชิงทฤษฎีที่มีอยู่แล้ว

กระผมเชื่อว่า การเรียนรู้แบบใหม่ ที่ผู้เรียนเป็นผู้สร้างความรู้ หรืออย่างน้อยเป็นผู้ร่วมสร้างความรู้ เน้นสร้างความรู้โดยการปฏิบัติ แล้วแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ผ่านกระบวนการร่วมกันไตร่ตรอง (collective reflection) เพื่อเรียนรู้ให้ลึกขึ้น เป็นรูปแบบการเรียนรู้ ที่ถูกต้องตามหลักของการเรียนรู้สมัยใหม่ ที่เรียกว่า cognitive psychology และเป็นรูปแบบการเรียนรู้ ที่ปลดปล่อยผู้ถูกกดขี่จากโซ่ตรวนพันธนาการ ของความรู้เชิงทฤษฎี สู่ความมั่นใจตนเองจากการเรียนรู้ผ่าน สัมผัสของตนเอง ร่วมกับการร่วมกันไตร่ตรอง โดยการรับฟังการตีความที่แตกต่างหลากหลาย นำไปสู่การยกระดับปัญญาปฏิบัติร่วมกัน และอาจนำไปสู่การสร้างทฤษฎีใหม่ ที่เป็นทฤษฎีของคนธรรมดา ที่ไม่ใช่กูรู ไม่ใช่ ปราชญ์แต่เป็น ปราชญ์ชาวบ้านตัวจริง

Paolo Freire เขียนหนังสือ Pedagogy of the Oppressed เมื่อปี ค.. ๑๙๖๘ และมีการแปลเผยแพร่ ไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย แต่ ๔๕ ปีให้หลัง การศึกษาของประเทศต่างๆ รวมทั้งของประเทศไทย ก็ยังคงเป็น การศึกษาเพื่อการกดขี่ครอบงำ พันธนาการผู้คนด้วยทฤษฎี ด้วยความเชื่อ ด้วยการเรียนแบบรับถ่ายทอดความรู้ และการท่องจำ นักเรียนโรงเรียนชาวนา มูลนิธิข้าวขวัญสุพรรณบุรี ได้ค้นพบการเรียนรู้แบบปลดปล่อย เรียนจากการประยุกต์ใช้ความรู้ ร่วมกันการไตร่ตรอง (reflection หรือ AAR After Action Review) ที่เป็นการเรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ โดยค้นพบตั้งแต่ปี พ..​๒๕๔๘ เป็นต้นมา

 

ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพ ที่กระผมกราบเรียนมานั้น สรุปได้ว่า วิธีการเรียนรู้สมัยใหม่ที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างได้ผลดี ต้องใช้วัฒนธรรมชุมชนมาเป็นพลังของการเรียนรู้ พวกเราทุกคนทราบดีว่า ท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ และท่านอาจารย์ปรีชา สนใจ ให้คุณค่า และทำวิจัยเรื่องวัฒนธรรมชุมชนมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัฒนธรรมชุมชนชนชาติไท บัดนี้ วงการศึกษาทั่วโลก ได้สรุปจากผลการวิจัยมากมาย ว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบันไม่ใช่วิธีนั่งท่องบ่นคนเดียว ไม่ใช่วิธีเรียนกับทิศาปาโมกข์สองต่อสอง แต่เป็นวิธีเรียนแบบที่ผู้เรียนรวมตัวกันเป็น "ชุมชนแห่งการเรียนรู้" (Learning Community) ร่วมกันดำเนินการ "เรียนรู้ร่วมกันผ่านการปฏิบัติ" (Interactive learning through action) โดยมีครู ทำหน้าที่เป็น "ครูฝึก" ไม่ใช่ "ครูสอน" วัฒนธรรมชุมชน ตามที่ ศ. ดร. ฉัตรทิพย์ทำวิจัยเผยแพร่แก่สังคมไทย ได้กลายเป็นวิธีเรียนรู้ที่ดีที่สุดในยุคปัจจุบัน ทั้งเพื่อการเรียนรู้ของศิษย์และของครู ที่เรียกว่าเป็น team learning และการเรียนรู้ของครูเรียกว่า Professional Learning Community (PLC) ในภาษาของการจัดการความรู้ เรียกว่า CoP (Community of Practice) ของครู

สรุปว่า การเรียนรู้ที่มีพลังในยุคปัจจุบัน ต้องรวมตัวกันเรียนรู้ เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ นักเรียนในห้องเรียน ทำตัวเป็นสมาชิกของชุมชนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ในมิติที่รู้จริง รู้ลึก และรู้เชื่อมโยง ครูรวมตัวกันเป็นชุมชนเรียนรู้เพื่อการทำหน้าที่ครูที่ดีขึ้น มีความเจริญก้าวหน้าในวิชาชีพครู ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพ รวมตัวกันเป็นชุมชนเรียนรู้เพื่อการประกอบอาชีพที่ได้ผลดียิ่งขึ้น

 

ที่กระผมเล่ามาทั้งหมด ทั้งเรื่องการศึกษาในระบบ และการเรียนรู้ของชุมชน คือเส้นทางสู่ประชาธิบไตยผ่านกระบวนทัศน์ใหม่ วิถีปฏิบัติใหม่ด้านการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ และการศึกษาผ่านการประกอบสัมมาชีพที่นักเศรษฐ์ศาสตร์การเมือง น่าจะได้ร่วมกันตั้งโ่จทย์วิจัย เพื่อขับเคลื่อน สังคมไทยสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง เป็นสังคมประชาธิบไตยที่เรียนรู้ปรับเปลี่ยนตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องมีนักการเมืองผู้ยิ่งใหญ่ หรืออัศวินขี่ม้าขาว หรือเทวดามาโปรด

วงการเศรษฐศาสตร์การเมือง ที่ ท่านศาสตราจารย์กิตติคุณฉัตรทิพย์ นาถสุภา และอาจารย์ ดร. ปรีชา เปื่ยมพงศ์สานต์ ร่วมกันก่อตั้งขึ้น จะใช้โอกาสนี้อย่างไร เพื่อมีส่วนร่วมวางรากฐานประชาธิปไตยไทย จากมุมของวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง กระผมขอตั้งความหวังว่า เมื่อเรามาร่วมกันเฉลิมฉลองชนมายุ ๘๔ ปี ของท่านอาจารย์ทั้งสอง เราจะได้เฉลิมฉลองและเรียนรู้เรื่องราวสู่ความสำเร็จ ที่กระผมท้่าทายไว้นี้

- มีต่อ - กระผมเข้าใจว่า ที่ประชุมนี้............................................

หมายเลขบันทึก: 549937เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ธันวาคม 2013 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ใจความครบเลยครับ

พี่เดชาที่ข้าวขวัญและโรงเรียนชาวนาอื่นๆก็ยังทำงานได้ต่อเนื่องและยั่งยืนครับ

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท