ที่มาและความสำคัญ โครงการ "Freshly OT วัยใส ใส่ใจจัดการเวลา"


โครงการ “Freshly OT วัยใส ใส่ใจจัดการเวลา” เป็นโครงการส่งเสริมคุณภาพชีวิตให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ที่เพิ่งเข้ามาศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยตระหนักและให้ความสำคัญในการจัดการตนเอง (Self-management) ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการเวลา (Time-management) ให้มากขึ้น เนื่องจากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตในระดับชั้นมัธยมศึกษาเข้าสู่ชีวิตระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย โดยโครงการนี้จัดทำขึ้นโดยนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำในกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล

หลักการ และเหตุผลของโครงการ Freshly OT วัยใส ใส่ใจจัดการเวลา

เวลาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ากับทุกคน เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่จำกัด ใช้แล้วหมดไปไม่สามารถซื้อเพิ่ม หรือเก็บเอาไว้ใช้ได้ เวลาจะผ่านไปเรื่อยๆ และไม่หวนย้อนคืนกลับมา หากใช้เวลาอย่างไร้คุณค่า ก็จะส่งผลก่อให้เกิดความเครียด ความวิตกกังวล และทำให้สุขภาพเสื่อมโทรมตามมาไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองต่อไปได้ (สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย สถาบันดำรงราชานุ, 2553) จากการสำรวจข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ใน 1 วันคนไทย ใช้เวลาทำกิจกรรม 4 กลุ่มหลักๆ คือ การดูแลตัวเอง (การนอน การรับประทานอาหาร ดูแลตนเอง) เฉลี่ยวันละ 12.1 ชั่วโมง การทำงาน/เรียนรู้ เฉลี่ยวันละ 8.4 ชั่วโมง การดูแลครัวเรือนให้บริการชุมชน เฉลี่ยวันละ 3.0 ชั่วโมง และการใช้เวลาว่าง เฉลี่ยวันละ 3.6 ชั่วโมง (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2547)

เนื่องด้วยในปัจจุบันนี้ประชาชนได้ใช้เวลาในแต่ละวันอย่างไม่เหมาะสม ทำให้ส่งผลต่อสุขภาพกายคือเมื่อจัดการเวลาได้ไม่ดีก็จะทำให้เวลาในการพักผ่อนน้อยลง สุขภาพร่างกายก็จะเสื่อมโทรม โรคภัยไข้เจ็บก็จะตามมา นอกจากนี้ถ้าจัดการเวลาไม่ดีนั้นก็อาจจะก่อให้เกิดภาวะเครียด วิตกกังวล ต่อภาระหน้าที่ส่งผลต่อทางด้านสังคมคือ อาจจะเกิดเป็นปัญหาด้านการเรียน การงานต่อไปได้ จากการทำแบบสอบถามปัจจัยด้านความเครียดในนักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขากิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า ปัจจัยเรื่องการจัดการเวลาส่งผลทำให้เกิดความเครียดเป็นอันดับที่ 2 รองมาจากการเรียน

จากงานวิจัยสำรวจการใช้เวลาของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ชัชชัย สมศรี, 2549) พบว่านักศึกษาจะใช้เวลาส่วนใหญ่ดูโทรทัศน์ในช่วงต้นภาคเรียน และส่วนใหญ่อ่านหนังสือ รองลงมาคือฟังเพลง และดูโทรทัศน์ในช่วงกลางภาคเรียน โดยช่วงต้นภาคเรียนนักศึกษาชันปีที่ 1 จะใช้เวลาในการดูโทรทัศน์มากที่สุด โดยรายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่จะดูประเภทข่าว และวาไรตีโชว์ ส่วนในช่วงกลางภาคเรียน นักศึกษาชั้นปีที่ 1 จะใช้เวลาในการอ่านหนังสือมากกว่าชั้นปีอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งงานวิจัยกล่าวไว้ว่า การศึกษาการจัดการตนเองในมหาวิทยาลัย อาจเป็นวิธีหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงตนเอง คือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม นอกจากนี้ยังพบว่าการจัดแนวทางการจัดการตนเองอย่างเข้มข้นส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และช่วยในการเพิ่มลักษณะทางจิตสังคมบางอย่าง เช่น การเชื่ออำนาจในตนเอง, ความคาดหวังในการทำงานให้สำเร็จ เป็นต้น สรุปแล้วการใช้กลยุทธ์ในการจัดการตนเองประสบความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญมากกว่าบุคคลที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางพฤติกรรม(Jean H. Choi and Kyong-Mee Chung, 2012)

 

หมายเลขบันทึก: 549471เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2013 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 ตุลาคม 2013 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท