การบูรณาการเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้


 

บูรณาการ คือ การนำเอาศาสตร์สาขาวิชาต่าง ๆ  ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาผสมผสานเข้าด้วยกันให้กลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน จนมีความสมบูรณ์ครบถ้วนในตัวเอง เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดหลักสูตรและจัดการเรียนการสอน 

รูปแบบของการบูรณาการ  (Models  of  Integration)

 

                 รูปแบบของการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการมี  4  รูปแบบ  คือ

 

                1.  การสอนบูรณาการแบบสอดแทรก  (Infusion  Instruction) 

                                การสอนรูปแบบนี้ครูผู้สอนในวิชาหนึ่งสอดแทรกเนื้อหาของวิชาอื่น ๆ  เข้าไปในการสอนของตน  เป็นการวางแผนการสอนและสอนโดยครูเพียงคนเดียว

                2.  การสอนบูรณาการแบบขนาน  (Parallel  Instruction) 

                                การสอนตามรูปแบบนี้  ครูตั้งแต่  2  คนขึ้นไปสอนต่างวิชากัน  ต่างคนต่างสอนแต่ต้องวางแผนการสอนร่วมกันโดยมุ่งสอนหัวเรื่อง/ความคิดรวบยอด/ปัญหาเดียวกัน (Theme/concept/problem)  ระบุสิ่งที่ร่วมกันและตัดสินในร่วมกันว่าจะสอนหัวเรื่อง/ความคิดรวบยอด/ปัญหานั้นๆ  อย่างไรในวิชาของแต่ละคน  งานหรือการบ้านที่มอบหมายให้นักเรียนทำจะแตกต่างกันไปในแต่ละวิชา แต่ทั้งหมดจะต้องมีหัวเรื่อง/ความคิดรวบยอด/ปัญหาร่วมกัน

 

                3.  การสอนบูรณาการแบบสหวิทยาการ  (Multidisciplinary  Instruction) 

                                การสอนตามรูปแบบนี้คล้าย ๆ  กับการสอนบูรณาการแบบขนาน (Parallel  Instruction)  กล่าวคือครูตั้งแต่  2  คนขึ้นไปสอนต่างวิชากัน  มุ่งสอนหัวเรื่อง  ความคิดรวบยอด/ปัญหาเดียวกันต่างคนต่างแยกกันสอนเป็นส่วนใหญ่  แต่มีการมอบหมายงาน  หรือโครงการ (Project)  ร่วมกัน  ซึ่งจะช่วยเชื่อมโยงสาขาวิชาต่าง ๆ  เข้าด้วยกัน  ครูทุกคนจะต้องวางแผนร่วมกันเพื่อที่จะระบุว่าจะสอนหัวเรื่อง/ความคิดรวบยอด/ปัญหานั้น ๆ  ในแต่ละวิชาอย่างไร  และวางแผนสร้างโครงการร่วมกัน(หรือกำหนดงานจะมอบหมายให้นักเรียนทำร่วมกัน)  และกำหนดว่าจะแบ่งโครงการนั้นออกเป็นโครงการย่อย ๆ  ให้นักเรียนปฏิบัติแต่ละรายวิชาอย่างไร 

                อนึ่ง  พึงเข้าใจว่าคำว่า  โครงการ  นี้มีความหมายเดียวกันกับคำว่า  โครงงาน  มาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกันคือ  “Project” หลายท่านอาจคุ้นกับคำว่า  โครงงาน มากกว่า  เช่น  โครงงานวิทยาศาสตร์  ซึ่งก็อาจเรียกว่า   โครงการวิทยาศาสตร์  ได้เช่นเดียวกัน

 

                4.  การสอนบูรณาการแบบข้ามวิชาหรือเป็นคณะ  (Transdisciplinary  Instrction)

                                การสอนตามรูปแบบนี้ครูที่สอนวิชาต่าง ๆ  จะร่วมกันสอนเป็นคณะหรือเป็นทีม  ร่วมกันวางแผน  ปรึกษาหารือ  และกำหนดหัวเรื่อง/ความคิดรวบยอด/ปัญหาร่วมกัน  แล้วร่วมกันดำเนินการสอนนักเรียนกลุ่มเดียวกัน

 

       ดังนั้นการบูรณาการเนื้อหาในกลุ่มสาระการเรียนรู้จะเป็นการช่วยให้เด็กเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในสิ่งต่างๆได้มากขึ้นซึ่งจะเป็นการฝึกกระบวนการคิดและยังช่วยให้ไม่ต้องเรียนซ้ำซ้อนกันในแต่ละวิชา

หมายเลขบันทึก: 549260เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2013 19:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท