ธรรมรัต
พระมหา ธรรมรัต อริยธมฺโม ยศขุน

เรื่องน่ารู้ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ตอน ๑)


ประเด็นน่ารู้ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (๑)

โดย พระบุญฤทธิ์  ชูเลื่อน  (วิชฺชาธโร) 

เลขที่ ๑ สาขารัฐศาสตร์การปกครองชั้นปีที่ ๓

 

๑. เศรษฐกิจระหว่างประเทศ 

            ในปัจจุบันเศรษฐกิจได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก  เพราะประเทศที่มีสถานะทางการเศรษฐกิจดี  ย่อมจะสามารถมีอิทธิพลเหนือประเทศอื่นได้  เพราะบรรดาประเทศต่าง ๆในโ,กนี้  บางประเทศก็มีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย  เช่น  กลุ่มประเทศอาหรับซึ่งได้ใช้น้ำมันเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ   กล่าวคือ  ในปี  ๒๕๑๘  ญี่ปุ่นซึ่งมีนโยบายต่างประเทศไม่ฝักใฝ่กับฝ่ายใดในกรณีที่เกิดการพิพาทกันระหว่างกลุ่มประเทศอาหรับกับอิสราเอล  แต่ในที่สุดญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนท่าทีใหม่เข้าข้างฝ่ายอาหรับในการประณาม  อิสราเอล  ทั้งนี้เพราะญี่ปุ่นต้องพึ่งพาอาศัยน้ำมันจากกลุ่มประเทศอาหรับในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

            นอกจากนั้นประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจยังได้ใช้พลังอำนาจทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ  โดยวิธีการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศที่มีความอ่อนแอทางเศรษฐกิจ  ทั้งในรูปแบบของการให้เปล่า  การให้กู้เงินในระยะยาวและคิดดอกเบี้ยต่ำ  และได้ขอหรือขอเช่าฐานทัพที่สำคัญของประเทศนั้นเป็นสิ่งตอบแทน  ในบางกรณีประเทศที่มีพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ  เช่น  สหภาพโซเวียต  สหรัฐอเมริกา  และญี่ปุ่น  ก็ได้พยายามให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่ประเทศที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ  ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นเป็นพรรคพวกของตน  หรือสนับสนุนตนในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ

            ในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น  เครื่องมือทางเศรษฐกิจถือว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญอีกเครื่องมือหนึ่งและสามารถใช้ได้ทั้งในยามสันติและในยามสงคราม โดยเครื่องมือทางเศรษฐกิจนี้เป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในโลกช่วงยุคหลังสงครามเย็น ก็เนื่องมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ก้าวขึ้นมีบทบาทแทนที่ของอุดมการณ์ทางการเมือง ดังนั้นเครื่องมือทางเศรษฐกิจจึงเป็นเสมือนพลังขับเคลื่อนทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีเทคนิคและรูปแบบการปฏิบัติที่หลากหลาย[๑]

 

๒. สนธิสัญญาระหว่างประเทศ

            คำนิยามของคำว่าข้อตกลงระหว่างประเทศกับสนธิสัญญาทั้งสองคำนี้มีความหมายคล้ายคลึงกัน  แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อแตกต่างกันอยู่  ในประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ  ดังจะกล่าวต่อไปนี้

            คำนิยามข้อตกลงระหว่างประเทศ

           บ่อเกิดของกฎหมายระหว่างประเทศที่เกิดจากข้อตกลง  ก็คือบ่อเกิดที่เกิดจาก ข้อตกลงระหว่างประเทศ  ซึ่งหมายถึง การกระทำทางกฎหมายหลายฝ่ายที่ตกลงทำกันขึ้นระหว่างบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศและอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

            ผลในทางกฎหมายที่สำคัญจากคำนิยามนี้มีอยู่  ๕  ประการคือ

            ประการแรก ข้อตกลงระหว่างเป็นการกระทำทางกฎหมายหลายฝ่าย อันหมายถึง การกระทำที่ทำขึ้นหลายฝ่ายเพื่อก่อให้เกิดผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศ  กล่าวคือ เป็นการกระทำตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไปเพื่อก่อให้เกิดความผูกพันตามข้อตกลงระหว่างรัฐ หรือองค์การระหว่างประเทศ หรือระหว่างรัฐและองค์ระหว่างประเทศ

            ประการที่สอง ข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นข้อตกลงที่ปราศจากแบบ กล่าวคือ  ข้อตกลงระหว่างประเทศอาจเป็นได้ทั้งข้อตกลงที่เป็นลายลักษณ์อักษรหรือข้อตกลงด้วยวาจาก็ได้หรืออาจเป็นได้ทั้งข้อตกลงที่ต้องผ่านแบบพิธีหรือข้อตกลงแบบย่อ อาจเป็นได้ทั้งข้อตกลงที่เป็นเอกสารฉบับเดียวหรือเอกสารหลายฉบับ  หรืออาจมีมูลฐานมาจากความยินยอมโดยปริยายจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายก็ได้

            โดยเหตุนี้เราจึงมักเรียกชื่อ ข้อตกลงลายลักษณ์อักษรในรูปแบบต่างๆดังกล่าวข้างต้นได้หลายชื่อ  เช่นสนธิสัญญา ( Treaties )  อนุสัญญา ( Convention ) กติกา  ( Pact )  กฎบัตร  (Charte ) ธรรมนูญ  ( Statut )  ปฏิญญา ( Declartion )

            ประการที่สาม   ข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นข้อตกลงระหว่างบุคคลในกฎหมายระหว่างประเทศ  ซึ่งโดยปกติย่อมได้แก่ ข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างรัฐกับรัฐ แต่โดยที่สังคมระหว่างประเทศมีการพัฒนาการเจริญก้าวหน้าและมีความสัมพันธ์กันมากขึ้น  ไม่เพียงแต่ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับรัฐเท่านั้น  แต่ยังได้ขยายไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับองค์การระหว่างประเทศ รัฐกับบุคคลธรรมดาหรือปัจเจกชน อีกด้วย  รวมทั้งความสัมพันธ์ระหว่างองค์การระหว่างประเทศกับรัฐและกับปัจเจกชน หรือระหว่างองค์การระหว่างประเทศด้วยกันเอง  จนในบางครั้งก็ก่อปัญหาทางกฎหมายขึ้นได้ว่าข้อตกลงที่ทำขึ้นนั้นเป็นสนธิสัญญาหรือไม่  เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศหรือไม่และจะอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายใด กล่าวคืออยู่ภายใต้บังคับกฎหมาย

            ภายในของรัฐหรืออยู่ภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศ ในเรื่องนี้แต่เดิมคำพิพากษา เช่น ศาลประจำยุติธรรมระหว่างประเทศ  ได้ตัดสินวางหลักไว้ในคดีเงินกู้เซอร์เบียน ค.ศ.  ๑๙๒๙ ว่าสัญญาทุกสัญญาที่มิใช่สัญญาระหว่างรัฐย่อมตกอยู่ภายใต้กฎหมายภายในของรัฐ

            นอกจากนั้น   รัฐที่เอกชนถือสัญชาติอยู่ก็อาจเข้ามาให้ความคุ้มครองทางทูตแก่คนชาติของที่ตั้งของคณะกรรมการกาชาดระหว่างตนได้หากคนชาติของตนได้หากคนชาติของตนหมดหนทางเยียวยาความเสียหายตามกฎหมายภายในของรัฐผู้รับการลงทุนโดยรัฐผู้ให้ความคุ้มครองทางทูตฟ้องรัฐผู้ละเมิดสัญญาภาครัฐหรือฟ้องรัฐที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำประกาศฝ่ายเดียวของตนต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศได้หากคู่ความยอมรับอำนาจศาล แต่ถ้าเกิดกรณีไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐผู้ให้ความคุ้มครองทางทูตก็อาจใช้วิธีการยื่นในการให้ความช่วยเหลือคนชาติของตน  เช่น  การเจรจาทางการทูต  การไกล่เกลี่ย  การใช้คนกลางแก้ปัญหา  ไปจนถึงการใช้มาตรการตอบโต้ในรูปแบบต่างๆเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ เช่นการตัดความช่วยเหลือท่งการเงินหรือทางการทหาร  การระงับโครงการความร่วมมือต่างๆเป็นต้นอนึ่งข้อตกลงที่ทำขึ้นทางศาสนาด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์ เช่น  Concordats   และข้อตกลงระหว่างองค์การระหว่างประเทศกับรัฐก็ถือกันว่าเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ  รวมทั้งข้อตกลงที่ว่าด้วยที่ตั้งของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศ

            ประเทศที่ไม่ใช่ระดับรัฐบาล  ก็ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศเนื่องจากมีการ สถานภาพบุคคลทางกฎหมายระหว่างประเทศ( International  legal  Personality ) ของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศจึงทำให้มีความสามารถทำข้อตกลงระหว่างประเทศได้

            ประการที่สี่  ข้อตกลงระหว่างประเทศย่อมก่อให้เกิดผลทางกฎหมายซึ่ง  กล่าวคือก่อให้เกิดความผูกพันทางกฎหมายซึ่งบุคคลในบังคับของกฎหมายระหว่างประเทศจะต้องปฏิบัติตามและมีกำลังบังคับผูกพันให้ต้องกระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามพันธกรณีที่มีอยู่ต่อกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ

            ประการที่ห้า  ข้อตกลงระหว่างประเทศต้องอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ  อันหมายถึงข้อตกลงที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ  ความสมบูรณ์ของข้อตกลงการมีผลใช้บังคับของข้อตกลงระหว่างประเทศ  จึงต้องเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ  แต่ข้อตกลงใดเป็นข้อตกลงที่ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายภายในของแต่ละรัฐแล้ว  ข้อตกลงดังกล่าวก็มิใช่ข้อตกลงระหว่างประเทศแต่เป็นเพียงข้อตกลงธรรมดา  เช่น  ข้อตกลงกู้ยืม  ข้อตกลงเกี่ยวกับใบอนุญาตสิทธิบัตร  เป็นต้น[๒] 

 

 

๔. องค์การระหว่างประเทศ

            กล่าวได้ว่าการจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศนั้นได้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรีกโบราณ  เช่น  โฟเซียนลีก  และ  เอเวี่ยน  ลีก  สืบต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่  ๑๙  มีบรรดานักคิดในยุโรปได้เคยเสนอให้บรรดาประเทศต่าง ๆ ระงับการใช้กำลังทหารเป็นเครื่องมือในการตัดสินข้อพิพาทและสมควรจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมทางการเมืองของนานาประเทศและกำหนดวิธีการลงโทษประเทศที่ใช้กำลังรุนรานประเทศอื่น  แต่ประมุขของประเทศต่าง ๆ ในยุคนั้นยังไม่ค่อยจะเห็นความสำคัญ  และให้ความสนใจต่อความคิดดังกล่าวนัก  เพราะฉะนั้นในคาบเวลาของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ จึงได้เกิดสงครามระหว่างประเทศในหลายแห่งของภูมิภาคต่าง ๆ ในโลก ได้เกิดสงครามใหญ่ขึ้น  ๒  ครั้ง  สงครามโลกครั้งที่ ๑ และสงครามโลกครั้งที่ ๒

            ครั้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้ยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๔๕ โดยฝ่ายสัมพันธมิตรอันได้แก่สหรัฐอเมริกา  รุสเซีย  อังกฤษ  ฝรั่งเศส  และจีน  เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ  ฝ่ายสัมพันธ์มิตรโดยมีสหรัฐเป็นผู้นำได้เชิญประเทศต่าง ๆ มาร่วมประชุมในวันที่ ๕ มีนาคม  ค.ศ. ๑๙๔๕  เพื่อร่างกฎบัตรสหประชาชาติขึ้น  ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าองค์การระหว่างประเทศที่มีความสำคัญยิ่งต่อการรักษาสันติภาพของโลกในปัจจุบัน  คือ  สหประชาชาติ  นอกจากนั้นก็ได้มีหลายประเทศที่มีผลประโยชน์ทางการทหาร  การเมือง  และเศรษฐกิจร่วมกัน  ได้ร่วมมือกันจัดตั้งองค์การระหว่างประเทศขึ้นอีกหลายองค์การ  เช่น  องค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ  องค์การสนิธสัญญาวอร์ซอร์  องค์การรัฐอเมริกา   องค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และสมาคมประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เป็นต้น

            สำหรับความมุ่งหมายในการก่อตั้งสหประชาชาติ  ปรากฏอย่างชัดแจ้งในมาตรา ๑  แห่งกฏบัตรสหประชาชาติโดยสรุป  ดังนี้

            ๑. ธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ

            ๒. พัฒนาสัมพันธไมตรีระหว่างชาติทั้งปวง

            ๓. ทำการร่วมมือระหว่างประเทศ

            ๔. เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับการประสานการดำเนินการของประชาชาติทั้งปวง[๓]

๖. กฎหมายระหว่างประเทศ

เป็นที่ยอมรับกันว่าทุกสังคมต้องมีกฎข้อบังคับเพื่อใช้ในการควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกของตนและเพื่อการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งนี้เพี่อการดำเนินชีวิตในสังคมดำเนินไปอย่างมีระเบียบมีความถูกต้องและความยุติธรรม  แต่ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น  ย่อมมีความแตกต่างไปจากกฎเกณฑ์ของสังคมทั่วไป  ทั้งนี้เพราะแต่ละรัฐมีอำนาจอธิปไตย  เพราะฉะนั้นองค์การอื่นใดนอกรัฐไม่อาจออกกฎเกณฑ์ใด ๆ มาใช้บังคับอีกรัฐหนึ่งได้  แต่ในเมื่อรัฐต่าง ๆ ต้องมีการติดต่อสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน  และตลอดระยะในห้วงเวลาในอดีตที่ผ่านมา  ได้เกิดมีขนบประเพณีและระเบียบระหว่างประเทศ  จึงกลายเป็นกฎเกณฑ์อันเป็นที่ยอมรับที่เรียกกันว่า  “กฎหมายระหว่างประเทศ”  อย่างไรก็ดี  แม้กฎหมายระหว่างประเทศจะมีความเจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ  แต่ก็ยังไม่อาจบรรลุถึงระดับที่เรียกว่า “กฎหมาย”  เพราะยังเป็น  “หลักกฎหมาย”  มากกว่า  “บทกฎหมาย”  กล่าวคือที่เรียกว่าเป็น  “หลัก”  นั้น  ก็เป็นผลมาจากหลักที่เก็บมาจากมติของนักนิติศาสตร์  จารีตประเพณี  คำพิพากษาของศาล  และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ

          กล่าวได้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศมีลักษณะคล้ายคลึงกับกฎหมายในสมัยกลางตรงที่ว่ามีมาจากขนบประเพณี  ทั้งนี้เพราะในสมัยกลางนั้นขนบประเพณีของชุมชนมักจะกลายเป็นกฎหมาย  และเนื่องจากในปัจจุบันนี้บรรดาประเทศเอกราชได้มีการติดต่อสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและกว้างขวาง  จึงทำให้เกิดกฎเกณฑ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรขึ้นมา  จึงพอจะสรุปถึงแหล่งที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศได้ดังนี้

          ๑. ขบประเพณี  ได้แก่การยินยอมของรัฐโดยปริยายที่จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่ได้มีการยอมรับปฏิบัติกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน

          ๒. สถาบันที่ศึกษากฎหมายระหว่างประเทศ  ในยุโรปและอเมริกามีสมาคมและสถาบันหลายแห่งซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่จะทำการศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศได้แก่

              ๒.๑ สมาคมศึกษากฎหมายเปรียบเทียบ  ซึ่งตั้งอยู่  ณ  กรุงปารีส

              ๒.๒ สถาบันกฎหมายระหว่างประเทศ  ซึ่งตั้งอยู่ ณ ประเทศอิตาลี

              ๒.๓ สถาบันกฎหมายระหว่างประเทศของอเมริกา   ตั้งขึ้นใน  ค.ศ. ๑๙๑๕

          ๓. คำวินิจฉัยของศาลระหว่างประเทศ  ในปัจจุบันนี้มีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศซึ่งตั้งอยู่  ณ  กรุงเฮก  ทำหน้าที่ตัดสินวินิจฉัยข้อพิพาทของนานาประเทศ  และเป็นที่ยอมรับกันในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

          ๔. เอกสารระหว่างประเทศ  กล่าวได้ว่าเอกสารระหว่างประเทศเป็นแหล่งที่มาที่สำคัญที่สุดของกฎหมายระหว่างประเทศ  เอกสารระหว่างประเทศที่ว่านี้ได้แก่อนุสัญญา  ข้อตกลง  และสนธิสัญญา[๔] 

 



[๑]อานนท์ อาภาภิรม, รัฐศาสตร์เบื้องต้น, (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์,๒๕๔๕), หน้า ๑๓๘-๑๙.

[๒] มณีมัย รัตนมณี, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช,๒๕๑๙), หน้า ๗๐-๗๑.

[๓] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๔๔.

[๔] ฉัตรทิพย์ นาถสุภา, กฎหมายระหว่างประเทศ, (พระนคร : สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๑๑), หน้า ๒

หมายเลขบันทึก: 549097เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2013 22:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 กันยายน 2013 22:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท