“เข้าถึง ICT อย่างเท่าเทียม เท่าทัน”เป็นโอกาสที่รัฐหยิบยื่นให้ จริงหรือ???


การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศ นับเป็นโอกาสที่ดี แต่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างถูกต้องเหมาะสม คุ้มค่า รับผิดชอบต่อสังคม ลดเวลา ลดภาระ ลดค่าใช้จ่ายมหาศาล

 

“เข้าถึง ICT อย่างเท่าเทียม เท่าทัน”เป็นโอกาสที่รัฐหยิบยื่นให้ จริงหรือ???

        จากข้อมูลผลการสำรวจโดยสหประชาชาติระบุว่า สภาพการดำเนินงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-government)  ของไทยอยู่ในลักษณะที่ถดถอยลง เมื่อเปรียบเทียบค่าสถิติในปี 2010 ไทยอยู่อันดับ 76 ในปี 2008 ไทยอยู่อันดับ 64 ในปี 2005 ไทยอยู่อันดับ 46 จาก 192 ประเทศทั่วโลก เป็นสัญญาณที่รัฐจะต้องเร่งทบทวนการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่ภาคประชาชนหรือภาคธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยเฉพาะหน่วยงานทางราชการอันเป็นกลไกสำคัญของการทำงานภาครัฐ สมควรอย่างยิ่งที่จะปฏิรูประบบราชการที่อุ้ยอ้าย ติดระบบ ใช้กำลังคนมาก ให้เกิดความคล่องตัวด้วยการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพสามารถนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในภาระงานอย่างถูกต้อง คุ้มค่า ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เห็นภาพลักษณ์ใหม่ในการสื่อสารประสานงานที่รวดเร็ว สะดวก ทั่วถึง เท่าเทียม ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา ขั้นตอนโปร่งใส ตรวจสอบได้

            แนวคิดรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ มีมากว่าทศวรรษแล้ว ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นต้นมาซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลแต่ละชุดที่เข้ามาบริหารประเทศ ก็มีการแถลงนโยบายเรื่องนี้ต่อรัฐสภาอย่างเลิศหรูในการบริหารจัดการศึกษาของประเทศ ได้มีการบังคับใช้กฎหมายปฏิรูปการศึกษาโดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ว่าด้วยเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในหมวด 9 และในการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานตามหลักสูตรหลักแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ก็ได้กำหนดสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ไว้กลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี ได้แก่ สาระที่ 3 เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มาตรฐานการเรียนรู้ง 3.1 ให้ผู้เรียนเข้าใจ เห็นคุณค่า และใช้กระบวนการเทคโนโลยีในการสืบค้นข้อมูล การเรียนรู้ การสื่อสาร การแก้ปัญหา การทำงานและอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีคุณธรรม ซึ่งการใช้การศึกษาขับเคลื่อนก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพียงแต่สำหรับเด็กไทยจะต้องเน้นกระบวนการเทคโนโลยี วินัยในการเรียน และคุณธรรมในการใช้เทคโนโลยี เนื่องจากผลการนิเทศการสอนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน วิเคราะห์ผลการวิจัยของครู (ผลงานวิชาการ) ผลการเรียนรู้ของเด็กในกลุ่มสาระนี้ มีข้อสังเกตว่า การจัดการเรียนรู้ของครูก็ยังเน้นความรู้ความเข้าใจในหลักการเทคโนโลยีสารสนเทศ ยังเน้นทักษะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานยังแสดงความก้าวหน้าผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนจากการศึกษาบทเรียนสำเร็จรูป หรือเอกสารประกอบการสอนอยู่ อย่างดีก็แสดงทักษะการสอนในรูปแบบการสอนใหม่ๆ บ้าง นานๆ จึงจะเห็นกระบวนการสอนโครงงานแก้ปัญหา หรือให้ผู้เรียนออกแบบการเรียน การทำงานกลุ่ม สร้างองค์ความรู้ใหม่ด้วยกระบวนการเทคโนโลยี อย่างนี้การเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศตามมาตรฐานการเรียนรู้ของเด็กคนรุ่นใหม่ในภาพรวมของประเทศก็ยังต้องได้รับการเยียวยา

        นอกจากนี้ในหน่วยงานองค์กรทางการศึกษา ยังมีปรากฏการณ์รายงานข้อมูลที่ซ้ำซ้อน แยกส่วนด้วยความอ่อนด้อยในกระบวนการวางแผน และขีดความสามารถการออกแบบกระบวนการเทคโนโลยีของคนในองค์กรมีข้อจำกัดและแตกต่างกันแม้ภาครัฐจะมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขึ้นมามากมาย แต่การสื่อสารนโยบายจากส่วนกลางสู่การปฏิบัติในพื้นที่ ก็ยังนิยมใช้กระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการ (จริงๆก็เน้นบรรยาย) แทนที่จะใช้ระบบการสื่อสารทางไกล ซึ่งสะดวกและง่ายต่อการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศพอๆกัน แต่ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา ลดภาระ ได้มากมายมหาศาล  จึงวิเคราะห์ได้ว่า ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะระบบการสื่อสารทางไกลที่มีอยู่ด้อยประสิทธิภาพ ขาดคนบริหารจัดการ (People ware) หรือว่า เป็นความเชื่องช้าในการปรับประบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ของระบบราชการต่อเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

          เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-government)  ควรดำเนินการเป็นลำดับแรกคือเร่งพัฒนาคนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียม เท่าทัน ถึงจะลงทุนมากในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานก็ต้องทำ อย่างน้อยที่สุด ก็ช่วยให้ภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้นในเรื่องความโปร่งใส เป็นรัฐธรรมาภิบาล จากการที่ตรวจสอบได้ง่าย เปิดเผยข้อมูลได้ ทุกกระทรวงทบวงกรมต้องสร้างความมั่นใจ ความพึงพอใจในการบริการของรัฐด้วยเครือข่ายศูนย์ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลสารสนเทศได้เต็มที่ ไม่ใช่ศูนย์ลวงตาที่หน้าใสข้างในกลวงอีกต่อไป

        อย่างไรก็ตาม การพัฒนาคนให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเรื่องใหญ่และใช้เวลามากยิ่งพัฒนาไม่ถูกทางก็ยิ่งสูญเปล่า เพราะในสังคมไทยโดยเนื้อเดิมเป็นสังคมแห่งความเชื่อไม่ใช่สังคมแห่งสารสนเทศ การพัฒนาคนจึงคำนึงถึงกลุ่มคนอย่างน้อย 3 กลุ่มคือ

1.กลุ่มเปี่ยมโอกาส ได้แก่กลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญ มีโอกาส มีความรู้ มีความพร้อม มีความคาดหวังในบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ มีประมาณ 10 % คนกลุ่มนี้ถือเป็น People ware ที่ควรดึงเข้ามามีส่วนร่วมเป็นตัวแทนภาคประชาชนในการออกแบบระบบ โครงสร้างร่วมกับภาครัฐ  

2.กลุ่มมีโอกาสได้แก่ กลุ่มนักวิชาการ ข้าราชการ ผู้ประกอบการ นิสิตนักศึกษา มีประมาณ 30 % คนกลุ่มนี้มีสมรรถนะในการเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศหลากหลายมิติทั้งในเชิงบริโภคและเชิงสร้างสรรค์ เป็นกลุ่มที่มีพลัง ควรดึงเข้ามาให้มีบทบาทในการเป็นต้นแบบ เป็นผู้นำ เป็นแกนนำ เป็นเครือข่าย เป็นวิทยากร เป็นที่ปรึกษา ในสถานศึกษา สถานประกอบการ ภาคประชาชนให้ประชาชนเข้าใจ เห็นคุณค่าในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างถูกต้อง เหมาะสม คุ้มค่า รับผิดชอบต่อสังคม ไม่เป็นไปอย่างฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่ายเพียงเพื่อความบันเทิงใจหรือสนับสนุนความเชื่อหรือแนวคิดเฉพาะตนเฉพาะกลุ่ม 

3.กลุ่มด้อยโอกาส ได้แก่ กลุ่มผู้ที่ยากจะมีโอกาสเข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินชีวิตประจำวัน ด้วยข้อจำกัดเรื่องสถานะบทบาท อาชีพ พื้นฐานความรู้ มีประมาณ 60%นับเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่ควรจะเข้าถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่รัฐจัดให้ โดยกลยุทธ์ที่ภาครัฐวางไว้ ช่องทางการเรียนรู้ของคนเหล่านี้ก็คือจัดโอกาสให้ในวิถีชีวิตปกติกับคนใกล้ชิด คนในครอบครัว ผู้นำชุมชน สื่อบุคคล สื่อวัฒนธรรมท้องถิ่น สื่อมวลชน ระบบการศึกษาตามอัธยาศัย  ระบบการศึกษาทางไกล โดยมีแรงจูงใจในสิทธิประโยชน์ที่พึงได้ และคุณค่าในความเป็นพลเมือง ดังนั้นคนกลุ่มนี้เองที่รัฐจะต้องดูแลเป็นพิเศษ ด้วยการลงทุนด้านระบบ เครื่องมือ ที่เข้าถึงได้ง่าย ทั่วถึง ควบคู่ไปกับกระบวนการพัฒนาคนที่แยบยลบนพื้นฐานแห่งวินัยและคุณธรรม ผ่านทางกลไกต่างๆ 

        ข้อที่น่าห่วงใยลึกๆ ก็คือ คนที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างแท้จริง ย่อมฉลาดทันคน ทันโลก อาจจะไม่เป็นที่พึงพอใจของนักอำนาจนิยมทั้งหลาย เพราะอิทธิพลหรืออำนาจเงินอาจไม่มีความหมายอีกต่อไป

หมายเลขบันทึก: 548968เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2013 13:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กันยายน 2013 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดิฉันมีความเห็นเช่นเดียวกันค่ะ จะเขียนเป็นบันทึกมาต่อยอดไว้นะคะ

ขอบคุณ อ.จันทวรรณ มากครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท