Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

“ความเป็นมนุษย์ (Human Being)” เป็นข้อเท็จจริงเดียวที่ก่อตั้งสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของมนุษย์


บ่อเกิดแห่งสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151906767713834

--------------------------------------------------

ความเป็นมนุษย์ (Human Being) เป็นข้อเท็จจริงเดียวที่ก่อตั้งสิทธิในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายของมนุษย์ เป็นเรื่องของธรรมชาติของมนุษย์เอง จึงเป็นเรื่องของกฎหมายธรรมชาติเอง มิใช่กฎหมายบ้านเมือง รัฐจึงไม่อาจแทรกแซงเพื่อกำหนดการเกิดขึ้นของมนุษย์ ความสมบูรณ์/การบรรลุนิติภาวะของมนุษย์ และการสิ้นสุดสภาพบุคคลของมนุษย์

เราสังเกตในประการแรกว่า รัฐไม่อาจห้ามการเกิดขึ้นของมนุษย์ หรือสั่งให้มนุษย์เกิดขึ้นได้ การผสมระหว่างไข่ของมารดาและอสุจิของบิดานั้นเป็นไปตามธรรมชาติ ตลอดจนการเติบโตของตัวอ่านในครรภ์มารดาก็เป็นไปตามธรรมชาติ  เพียงแต่วินาทีที่จะนับหนึ่งให้แก่ชีวิตมนุษย์เท่านั้นที่อาจแตกต่างกัน บางเห็นว่า การเริ่มต้นของมนุษย์ควรนับย้อนหลังไปจากวันคลอด กล่าวคือ เมื่อวิทยาศาสตร์การแพทย์ตอบว่า ตัวอ่อนของมนุษย์ใช้เวลา ๓๖๐ วัน การนับหนึ่งให้แก่ชีวิตของมนุษย์ ก็น่าจะเป็นวันที่จุติในครรภ์มารดา ในขณะที่อีกความเห็นนั้นถือว่า วันที่ชีวิตมนุษย์เริ่มต้น ก็ควรจะเป็นวันที่ตัวอ่อนของมนุษย์คลอดออกจากครรภ์มารดา แล้วรอดอยู่ ซึ่งจะเห็นว่า กฎหมายไทยก็ถือเป็นดังนั้นเช่นกัน ดังปรากฏตามมาตรา ๑๕ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์[1]

เราสังเกตว่า ในประการที่สองว่า รัฐไม่อาจห้ามหรือสั่งมิให้มนุษย์เจริญเติบโตจนมีความสามารถที่จะตัดสินใจได้เองในการดำเนินชีวิต เราพบว่า ในโลกนี้มีการรับรองสภาวะความเป็นผู้บรรลุนิติภาวะในช่วงเวลาที่แตกต่าง เราจะเห็นตัวอย่างว่า ในขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกายอมรับให้มนุษย์บรรลุนิติภาวะที่อายุ ๑๘ ปีบริบูรณ์ ในขณะที่ประเทศไทยยอมรับให้มนุษย์บรรลุนิติภาวะที่อายุ ๒๐ ปี ซึ่งในประเด็นนี้ หลักกฎหมายขัดกันให้ถือตามกฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคล ซึ่งกฎหมายในตระกูล Common Law ก็ชี้ให้กฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคลก็คือกฎหมายของรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของบุคคล ในขณะที่กฎหมายในตระกูล Civil Law ก็ชี้ให้กฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคลก็คือกฎหมายของรัฐเจ้าของสัญชาติของบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมนุษย์ประสบความไร้สัญชาติ กฎหมายในตระกูลหลังนี้ก็ชี้ให้กฎหมายของรัฐเจ้าของตัวบุคคลก็คือกฎหมายของรัฐเจ้าของดินแดนอันเป็นภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนของบุคคลเช่นกัน เราจะเห็นว่า กฎหมายขัดกันไทยก็มาในทิศทางนี้[2]

เราสังเกตในประการที่สามว่า รัฐไม่อาจห้ามการตายลงของมนุษย์ หรือการหายไปของมนุษย์ได้ การสิ้นลมหายใจหรือการที่สมองไม่ทำงานหรือการไม่รู้สักตัวเลยเป็นไปตามธรรมชาติ  เพียงแต่วินาทีที่จะประกาศการสิ้นสุดของกฎหมายให้แก่ชีวิตมนุษย์เท่านั้นที่อาจแตกต่างกัน อาทิ บางเห็นว่า การสิ้นสุดของมนุษย์ควรกำหนดจากการสิ้นสุดของหายใจ แต่อีกสายความคิดหนึ่งก็ถือว่า การสิ้นสุดของมนุษย์ควรกำหนดจากการหยุดทำงานของแกนสมอง

เราจะสังเกตเห็นว่า กฎหมายขัดกันแม่บทไทยมิได้มีบทบัญญัติที่เฉพาะเจาะจงในเรื่องการเลือกกฎหมายเพื่อกำหนดการเริ่มต้นของสภาพบุคคลของมนุษย์ ตลอดจนการสิ้นสุดสภาพบุคคลตามธรรมชาติของมนุษย์  ดังนั้น จึงเกิดช่องว่างในกฎหมายขัดกันลายลักษณ์อักษร กรณีดังกล่าวจึงตกอยู่ภายใต้หลักกฎหมายขัดกันสากล[3]

โดยสรุปรัฐมีหน้าที่ที่จะรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน และโดยบทบาทนี้ที่ทำให้รัฐมีโอกาสใช้กฎหมายขัดกันของรัฐตีความการรับรองสถานะบุคคลในทางรูปแบบและช่วงเวลาอย่างแตกต่างกัน ในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายไทย การรับรองสถานะบุคคลตามธรรมชาตินี้ปรากฏในบรรพ ๑ แห่ง ประมวลกกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๖๘ และภาค ๑ และ ๒ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑

แต่ไม่ว่ารัฐจะตีความในส่วนนี้เป็นอย่างใดก็ตาม รัฐจะต้องใช้กฎหมายการทะเบียนราษฎรของรัฐในการทำหน้าที่รับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่มนุษย์ ตั้งแต่เกิด จนมีสภาวะทางปัญญาที่สมบูรณ์ จนกระทั่งตายลง เราย่อมตระหนักว่า ในทางปฏิบัติของนานารัฐ ย่อมจะต้องมีหน่วยงานของรัฐที่ดูารจดทะเบียน ๓ ลักษณะ สำหรับมนุษย์ กล่าวคือ (๑) การจดทะเบียนคนเกิด (๒) การจดทะเบียนคนอยู่ และ (๓) การจดทะเบียนคนตาย สำหรับประเทศไทยเรามีกฎหมายการทะเบียนราษฎรเป็นลายลักษณ์อักษรมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๒ และกฎหมายที่มีผลในปัจจุบัน ก็คือ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑

          นอกจากนั้น ประเทศไทยก็ยอมรับอย่างชัดเจนในพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะรับรองสถานะบุคคลของมนุษย์ ที่สำคัญ ก็คือ (๑) พันธกรณีตามข้อ ๖ แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration on Human Rights) ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑หรือเรียกกันย่อๆ ว่า UDHR[4] (๒) ข้อ ๑๖ แห่ง กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ หรือเรียกกันย่อๆ ว่า ICCPR[5] และ  (๓) ข้อ ๓ แห่งปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๒๐๑๒/พ.ศ.๒๕๕๕[6]

 



[1] ซึ่งบัญญัติว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย

[2] ดังจะเห็นว่า มาตรา ๑๐ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งกำหนดหลักการเลือกกฎหมายกำหนดความสามารถในการทำนิติกรรมโดยทั่วไป บัญญัติว่า “ความสามารถและความไร้ความสามารถของบุคคลย่อมเป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของบุคคลนั้น” ในขณะที่มาตรา ๖ วรรค ๔ กำหนดในกรณีของคนไร้สัญชาติ บัญญัติว่า “สำหรับบุคคลผู้ไร้สัญชาติ ให้ใช้กฎหมายภูมิลำเนาของบุคคลนั้นบังคับ ถ้าภูมิลำเนาของบุคคลนั้นไม่ปรากฏ ให้ใช้กฎหมายของประเทศซึ่งบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่บังคับ”

[3] ดังที่ปรากฏในมาตรา ๓ แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.๒๔๘๑ ซึ่งบัญญัติว่า “เมื่อใดไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นใดแห่งประเทศสยามที่จะยกมาปรับกับกรณีขัดกันแห่งกฎหมายได้ ให้ใช้กฎเกณฑ์ทั่วไปแห่งกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล”

[4] ซึ่งบัญญัติว่า “ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นบุคคลในกฎหมายไม่ว่าที่ใด. (Everyone has the right to recognition everywhere as a person before the law.)”

[5] ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นบุคคลตามกฎหมายในที่ทุกสถาน (Everyone shall have the right to recognition everywhere as a person before the law.)

[6] ซึ่งบัญญัติว่า “บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับการยอมรับทุกแห่งหนว่าเป็นบุคคลตามกฎหมาย ทุกคนเสมอภาคกันตามกฎหมาย ทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองของกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน (Every person has the right of recognition everywhere as a person before the law. Every person is equal before the law. Every person is entitled without discrimination to equal protection of the law.)”

หมายเลขบันทึก: 548640เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2013 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

        ... ขอบคุณข้อมูล ดีดีนี้้ค่ะ .... 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท