dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

เริ่่่่มต้นที่ปฐมวัยสู่การพัฒนาเด็กไทย


เริ่มต้นที่ปฐมวัยสู่การพัฒนาคนไทย

           เมื่อต้นเดือนกันยายนของปี 2556 มีข่าวเกี่ยวกับการศึกษาซึ่งมาจากการประชุมของ World Economic Forum (WEF)- The Global Information  Technology Report 2013 ได้จัดอันดับคุณภาพการศึกษาในกลุ่มประเทศอาเซียน ปรากฏว่าประเทศไทยได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มสุดท้ายอันดับที่ 8 เป็นกลุ่มที่มีคะแนนต่ำสุด ส่วนประเทศเวียดนามที่ได้อันดับ 7 และประเทศกัมพูชา อันดับ 6 ผลการจัดอันดับดังกล่าวได้สรุปว่า เงินทุนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดของการมีระบบการศึกษาที่ดี และการที่ครูอาจารย์มีเงินเดือนสูงก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีความสามารถทางการสอนสูงตามไปด้วย  สำหรับประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการผลักดันเรื่องเงินเดือนครูซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็ต้องเร่งรัดครูในเรื่องประสิทธิภาพในการสอนควบคู่กันไปด้วย สำหรับประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีที่สุดในกลุ่มอาเซียน เรียงลำดับที่ดีที่สุดดังนี้ อันดับ 1 ประเทศสิงคโปร์ อันดับ 2 ประเทศมาเลเซีย  อันดับ 3 ประเทศบรูไน อันดับ 4 ประเทศฟิลิปปินส์ อันดับ 5 ประเทศอินโดนีเซีย อันดับ 6 ประเทศกัมพูชา อันดับ 7 ประเทศเวียดนาม และอันดับ 8 ประเทศไทย การจัดอันดับดังกล่าวเป็นการประเมินภาพรวมการจัดการศึกษาของแต่ละประเทศ และการประเมินดังกล่าวมีการคาดว่าคงจะมีการนำคะแนนการสอบประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ Program for International Student Assessment (PISA) มาเป็นองค์ประกอบด้วย การประเมินดังกล่าววัดความสามารถของนักเรียนในด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน สำหรับข้อมูลซึ่งเป็นผลการสอบ PISA 2012 ซึ่งจะประกาศผลเร็วๆ นี้ ประเทศเวียดนามเข้าสอบเป็นครั้งแรก และขณะนี้เริ่มทราบผลคะแนนแล้วว่า คะแนนคณิตศาสตร์ของเวียดนามได้สูงพอๆกับประเทศจีน เมื่อครั้งที่ร่วมในการสอบ PISA ในปี 2009 ซึ่งคาดว่าเวียดนามน่าจะติดอันดับ 1 ใน 5 มากกว่า  จากข้อมูลดังกล่าวเราสามารถเห็นภาพรวมๆของการศึกษาของไทยเราซึ่งจำเป็นที่ทุกคนจะต้องร่วมมือกันหาแนวทางและวิธีการที่จะต้องทำให้เด็กไทยมีคุณภาพ เพราะการศึกษาเป็นหัวใจของการพัฒนาและความอยู่รอดของประเทศไทยเรา เป็นความจำเป็นที่จะต้องเริ่มพัฒนากันตั้งแต่เด็กในช่วงปฐมวัย ประเด็นสำคัญคือการพัฒนาเด็กอย่างถูกต้องและเหมาะสมในทุกด้าน และที่ชัดเจนในการพัฒนาเด็กช่วงปฐมวัยคือการพัฒนาสมองหรือการคิดที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในวัยนี้ ถ้าพูดในลักษณะทางวิชาการพอจะกล่าวได้ว่าสมองของเด็กประกอบด้วยเซลล์จำนวนมหาศาล เด็กแรกเกิดมีเซลล์สมองประมาณหนึ่งแสนล้านเซลล์ การเปลี่ยนแปลงทางสรีระสำคัญที่สุดในพัฒนาการระหว่างวัยอนุบาลคือ พัฒนาการอย่างต่อเนื่องของสมองและระบบประสาท สมองของเด็กอนุบาลกำลังเติบโตเมื่ออายุ 3 ปี ขนาดสมองของเด็กเท่ากับ 3 ใน 4 ของสมองผู้ใหญ่ ภายใน 5 ปี สมองของเด็กโตเป็น 9 ใน 10 ของขนาดสมองผู้ใหญ่ แต่ร่างกายของเด็กกลับเติบโตอย่างช้าเมื่อเทียบกับสมอง เด็กในช่วงปฐมวัยสมองและศีรษะเติบโตรวดเร็วยิ่งกว่าส่วนใดๆของร่างกาย ส่วนหนึ่งของการเติบโตมากขนาดนี้ เนื่องมาจารเซลล์ในสมองมีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อที่จะรองรับการทำงานในสมอง และเพื่อรองรับการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้น  ความรู้เรื่องสมองนี้มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัยสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ เพราะวัยนี้เป็นรากฐานชีวิตมนุษย์ เด็กต้องได้รับการพัฒนาในการค้นพบตนเอง ความเข้าใจความเป็นไปของโลก สภาพแวดล้อมที่เขาอาศัยอยู่ การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน สถานที่ และพื้นที่  สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต เด็กจะเรียนรู้สิ่งต่างๆผ่านการเล่น การแก้ปัญหา การสืบค้น การใช้คำถาม การสังเกต ฯลฯ การเรียนรู้ของเด็กผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้าด้วยการดู ดม ชิม ฟัง และสัมผัส การที่เด็กใช้ประสาทสัมผัส การสืบค้น การแก้ปัญหา สมองจะบันทึกรูปแบบ ความเชื่อมโยง และบันทึกประสบการณ์การใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งการเปรียบเทียบ การนับ การวัด การคาดคะเน การประมาณการ การจัดกลุ่ม เป็นต้น กระบวนการต่างๆเหล่านี้เด็กต้องได้รับการฝึกและการเรียนรู้ที่เหมาะสมตลอดจนเกี่ยวเนื่องกับอารมณ์ จิตใจ สังคม สภาพทางกายภาพของเด็ก 

              ดังนั้นการพัฒนามนุษย์โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจตลอดจนไม่มีความตั้งใจอย่างจริงจังแล้ว เราก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาคนได้อย่างมีคุณภาพ เด็กปฐมวัยต้องได้รับการพัฒนาในการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ต้องให้เด็กได้เล่น ได้เคลื่อนไหว ฝึกการแก้ปัญหา การมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ฝึกกระบวนการคิด (การคิดสร้างสรรค์ การคิดรวบยอด การคิดแก้ปัญหา การคิดเชิงเหตุผล) การมีคุณธรรมจริยธรรม เด็กต้องได้รับการฝึกปฏิบัติด้วยตัวของเด็กเองและมีผู้ใหญ่คอยให้การดูแลสนับสนุนส่งเสริม สิ่งเหล่านี้เป็นรากฐานของการทำให้คนมีคุณภาพไม่ใช่การเรียนรู้ด้านวิชาการทั้งในห้องเรียนและการเรียนพิเศษต่างๆให้เก่งตั้งแต่เด็กยังเล็ก ถ้าเราเริ่มตั้งแต่ปฐมวัยอย่างถูกต้องและเหมาะสม สถาบันใดจะมาประเมินอย่างไรหรือเมื่อไร ผลการประเมินของเราคงจะไม่อยู่อันดับท้ายๆอีกต่อไป     

 

 

หมายเลขบันทึก: 548532เขียนเมื่อ 17 กันยายน 2013 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กันยายน 2013 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

.... กิน-กอด-เล่น-เล่า ..... สำหรับพัฒนาการของเด็ก นะคะ ....

 

ขอบคุณบันทึกดีดีนี้ค่ะ ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท