ข้อสอบอัตนัย การฝึกอบรมวิชาว่าความภาคทฤษฎี รุ่น 34


เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2551 ห้างหุ้นส่วนจำกัดมกรา ตั้งอยู่เลขที่ 11 ถนนจันทน์ แขวงสาทร เขตสาทร กรุงเทพมหานคร มีนางหนึ่ง มกรา เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ได้ทำสัญญาซื้อไม้สักทองจำนวน 5,000 คิวบิคฟุต จากบริษัท กุมภา จำกัด (ตั้งอยู่เลขที่ 22 ถนนจันทรน์ แขวงสาทร เขตสาทร กรุงเทพมหานคร มีกรรมการสองคนคือนายสอง กุมภา และนายโท กุมภา ซึ่งต้องลงชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญจึงทำการแทนบริษัทได้) เพื่อมาทำเฟอร์นิเจอร์ส่งให้โรงแรมใหญ่แห่งหนึ่ง บริษัท กุมภา จำกัด ทราบในวันทำสัญญาแล้วว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดมกราทำสัญญากับโรงแรมมีกำหนดส่งมอบงานเฟอร์นิเจอร์ให้แก่โรงแรมภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2551 และจะต้องใช้เวลาในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ประมาณ 2 เดือน บริษัท กุมภา จำกัด ได้รับเงินค่าไม้สักจำนวน 10,000,000 บาท ไปจากห้างหุ้นส่วนจำกัดมกราครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา ในสัญญากำหนดให้ส่งมอบไม้สักภายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 ปรากฏว่าบริษัท กุมภา จำกัด ส่งมอบไม้สักให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดมกราเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2551 ล่าช้ากว่ากำหนดในสัญญาไปถึงหนึ่งเดือนครึ่งเศษ ทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดมกราไม่สามารถผลิตเฟอร์นิเจอร์ส่งให้แก่โรงแรมได้ตามกำหนดในสัญญาโดยส่งมอบวันที่ 15 มิถุนายน 2551 เป็นเหตุให้โรงแรมเรียกเบี้ยปรับตามสัญญาและห้างหุ้นส่วนจำกัดมกราได้จ่ายให้โรงแรมไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2551 เป็นเงิน 2,200,000 บาท นางหนึ่ง มกรา จึงมอบให้ท่านชื่อนายชอบ ยุติธรรม ซึ่งเป็นทนายความประจำห้างหุ้นส่วนจำกัดมกรา ทวงถามให้บริษัท กุมภา จำกัด ชำระค่าเสียหายจากการผิดสัญญาดังกล่าว

วันที่ 10 สิงหาคม 2551 ท่านจึงมีหนังสือทวงถามถึงบริษัท กุมภา จำกัด ให้ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ

ต่อมาในวันที่ 4 กันยายน 2551 กรรมการทั้งสองของบริษัท กุมภา จำกัด มาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมกรา ยอมรับว่าผิดสัญญาส่งมอบไม้สักให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมกราล่าช้า ทำให้ห้างเสียหายถูกโรงแรมปรับและเจรจาขอชำระค่าเสียหายให้แก่ห้างฯ เป็นเงิน 2,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2551 โดยชำระให้ครบถ้วนในวันที่ 3 ธันวาคม 2551 และจะนำอาคารชุดชื่อแสนสุข เลขที่ 11/16 อาคาร 2 พื้นที่ 24 ตารางเมตร ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 3434 ตำบลบางกอกใหญ่ อำเภอท่าพระ กรุงเทพมหานคร ของบริษัทฯมาจดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันการชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย และมีข้อตกลงด้วยว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้บริษัทฯตกลงจะชำระหนี้ส่วนที่ขาดให้จนครบ นอกจากนี้นายสอง กุมภา กับนายโท กุมภา ตกลงเข้าเป็นผู้ค้ำประกันการชำระค่าเสียหายและดอกเบี้ยของบริษัทโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับบริษัทฯด้วย นางหนึ่ง มกรา ตกลงตามที่บริษัทฯ เสนอมาและไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายอื่นๆ ในกรณีที่บริษัทฯ ผิดสัญญาส่งมอบไม้สักล่าช้าอีกต่อไป จึงได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความขึ้นที่ห้างฯ โดยมีข้อสัญญาจำนองอาคารชุดและข้อสัญญาค้ำประกัน รวมอยู่ในสัญญาประนีประนอมยอมความและนำไปใช้เป็นสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองและนำไปจดทะเบียนจำนองในวันนั้น

ต่อมาในวันที่ 1 ธันวาคม 2551 บริษัท กุมภา จำกัด นำเช็คของธนาคารกรุงเทพมหานคร (มหาชน) สำนักงานใหญ่ (ตั้งอยู่ที่เลขที่ 333 แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร) เลขที่ 1010101 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 มีนายสอง กุมภา และนายโท กุมภา ลงชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท กุมภา จำกัด เป็นผู้สั่งจ่ายค่าเสียหายรวมดอกเบี้ยถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2551 เป็นเงิน 2, 037,500 บาท มามอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดมกรา เพื่อชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ

นางหนึ่ง มกรา ได้นำเช็คไปเข้าบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดมกรา ที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนจันทน์ (ตั้งอยู่ที่เลขที่ 111 แขวงสาทร เขตสาทร กรุงเทพมหานคร) เพื่อเรียกเงินแต่ธนาคารกรุงเทพฯ ปฏิเสธการจ่ายเงินเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551 โดยให้เหตุผลว่าโปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย

นางหนึ่ง มกรา จึงมอบให้ท่านดำเนินคดีเพื่อบังคับตามสิทธิของห้างหุ้นส่วนจำกัดมกรา กับผู้ที่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา

วันที่ 5 มกราคม 2552 ท่านทำหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองส่งถึงผู้ที่จะต้องรับผิดทางแพ่งให้นำเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยมาชำระภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และทำหนังสือทวงถามถึงผู้ที่ต้องรับผิดทางอาญาทุกคนให้ชำระหนี้ตามเช็ค ทุกคนได้รับหนังสือแล้วเพิกเฉย

วันที่ 3 มีนาคม 2552 ท่านจึงยื่นฟ้องคดีแพ่งและคดีอาญาต่อผู้ที่ต้องรับผิดทุกคน พร้อมกับยื่นคำแถลงขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยในคดีแพ่งทุกคนทางไปรษณีย์

คดีแพ่งศาลอ่านคำพิพากษาในวันที่ 15 ธันวาคม 2552 ให้จำเลยทุกคนชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้องและให้ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลและค่าทนายความแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 20, 000 บาท ซึ่งในวันนั้นตัวความทุกฝ่ายมาศาลและลงชื่อรับทราบคำบังคับซึ่งศาลกำหนดให้จำเลยทุกคนปฏิบัติตามคำพิพากษาภายใน 30 วัน

เมื่อครบกำหนดตามคำบังคับไม่มีจำเลยคนใดปฏิบัติตามคำพิพากษา ดังนั้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 ท่านจึงยื่นคำขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี

คำสั่ง ให้ทำคำตอบทุกข้อ ดังต่อไปนี้ ข้อใดที่ต้องใช้แบบพิมพ์ของศาลให้ทำเฉพาะเนื้อหา ข้อใดที่ไม่ต้องใช้แบบพิมพ์ขงศาลให้ทำตามรูปแบบของหนังสือนั้น ๆ

ข้อ 1. หนังสือทวงถามถึงบริษัท กุมภา จำกัด ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2551 8 คะแนน

ข้อ 2. หนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนอง ถึงบริษัท กุมภา จำกัด 10 คะแนน

ข้อ 3. คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องคดีแพ่ง 32 คะแนน

ข้อ 4. คำแถลงขอส่งหมายทางไปรษณีย์ 5 คะแนน

ข้อ 5. คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องคดีอาญา 15 คะแนน

ข้อ 6. คำขอออกหมายบังคับคดี 10 คะแนน

ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่ สอง คน ขึ้นไปผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534

มาตรา 4 ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการ กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้

(1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น

(2) ในขณะที่ออกเช็คนั้นไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้

(3) ให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้ได้ในขณะที่ออกเช็คนั้น

(4) ถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้นได้

(5) ห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต

เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

หมายเลขบันทึก: 548229เขียนเมื่อ 14 กันยายน 2013 08:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2013 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท