๑๕๕. เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนสร้างคนทางศิลปะ


รูปฟอร์มสุนทรียภาพของศิลปะกับสังคม เมื่อค้นหาโดยมุ่งสู่โลกด้านใน แล้วสื่อสะท้อนด้วยรูปฟอร์มและปฏิบัติการศิลปะ

 

                      

 

ผมไปร่วมสังเกตการณ์ การจัดกระบวนการเรียนการสอนวิชา Creative Drawing ที่ดำเนินการไปพร้อมกับทำวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการสอน สำหรับการพัฒนานักศึกษาศิลปะให้มีทักษะครอบคลุมทั้งความสามารถเป็นศิลปินและความสามารถในการทำงานเชิงสังคม ของอาจารย์มรกต เกตุเกล้า คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไปร่วมในฐานะที่ผมเป็นที่ปรึกษากระบวนการวิจัยให้กับโครงการของอาจารย์มรกตนี้ ขณะเดียวกัน ก็เสมือนเป็นโอกาสได้ไปเยี่ยมชมสตูดิโอส่วนตัวของ คามิน เลิศชัยประเสริฐ ที่ทำงานศิลปะบูรณาการกับการทำงานเชิงสังคม ศึกษาปฏิบัติธรรม และเผยแผ่ธรรม เชื่อมโยงกับวาระทางสังคมสิ่งแวดล้อมและประเด็นอนาคตของโลก ที่น่าสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่ง สตูดิโอของคามินนี้ ชื่อ คามินแกลลอรี อยู่ข้างวัดอุโมงค์ ด้านหลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

นอกจากนี้ ผมก็ได้พบและสนทนากับกลุ่มศิลปินและอาจารย์ศิลปะ ที่มีการทำงานเชิงวิธีคิดและแสดงออกด้วยการทำงานศิลปะเชิงสังคมในรูปแบบอันหลากหลาย ทั้งการสร้างพื้นที่เชิงทดลองของพื้นที่ทางศิลปะในรูปฟอร์มใหม่ๆของสังคมไทยและในโลกอนาคต การสร้างงานศิลปะเพื่อเป็นแรงบันดาลใจแก่สังคม ในการตั้งคำถามและแสวงหารูปลักษณ์ใหม่และรูปฟอร์มที่เปลี่ยนแปลงไป ของการเข้าถึงมิติสุนทรียภาพและการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ ในท่ามกลางความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆของท้องถิ่นและสังคมโลก ทั้งทางด้านวิทยาการและเทคโนโลยี เศรษฐกิจสังคม ศิลปวัฒนธรรม ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งได้พบและคุยกับ อาจารย์โฆษิต เกตุเกล้า จากสาขามีเดียร์อาร์ต ซึ่งสนุกมาก อาจารย์กำลังให้ความสนใจและทำโครงงานศิลปะในแนวทางที่กล่าวถึงนี้อย่างน่าสนใจในหลายโครงการ

 

                  

                  

 

การทำงานเชิงวิธีคิดและการปฏิบัติการทางศิลปะในหมู่ของคนทำงานศิลปะนั้น จะมีลักษณะเป็นการสื่อสะท้อนชีวิตด้านในของมนุษย์ให้ปรากฏออกมาสู่การสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะ ที่เราจะสามารถเห็น สัมผัส ชม รับรู้ สัมผัสและจับต้องได้ ในบางสาขาจึงสามารถนำเอากระบวนการดังกล่าวนี้ ไปใช้ทำโมเดลการตรวจสอบและศึกษาทดลองปัจจัยต่างๆก่อนการทำงานจริงให้ลงตัวให้มากที่สุดก่อนการทำงานจริง เช่น การทำความคิดให้เป็นภาพในโครงการสื่อโฆษณา (Visualizationed) การสเก๊ตช์ ทำความคิดและจินตนาการบนข้อมูลให้เป็นโมเดลทางวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม การเสก๊ตช์และทำโมเดลก่อนทำศิลปะติดตั้งขนาดใหญ่ เหล่านี้เป็นต้น

หากเรามองความมีหน้าที่ต่อสังคมในแง่นี้ของศิลปะ ก็พอจะเห็นได้ว่า วิธีการทางศิลปะจะสามารถนำมาใช้เป็นวิธีหนึ่ง สำหรับทำให้สิ่งที่มีความเป็นนามธรรมสูงและมีความลึกซึ้ง ยากแก่การจับต้อง ยากที่จะสื่อสารและสร้างความเข้าใจร่วมกันได้ ให้สามารถสื่อสัมผัส บูรณาการ และหล่อหลอมกล่อมเกลาความละเอียดอ่อนของมนุษย์ดังที่พึงประสงค์ให้เกิดขึ้นได้

ดังนั้น วิธีการทางศิลปะในแง่นี้ จึงเป็นการพัฒนาและสร้างความสามารถที่สำคัญใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ สร้างแนวโน้ม ขยายขอบเขตการจินตนาการต่อสิ่งต่างๆของมนุษย์ให้สามารถคิดและริเริ่มสิ่งต่างๆได้ในจินตนาการ และอีกประการหนึ่ง ก็แสดงพัฒนาการและการคลี่ยคลายไปของสิ่งต่างๆ ทั้งปรากฏการณ์ทางสังคมและปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่จะปรากฏขึ้นในอนาคต ให้สามารถเห็นและมีประสบการณ์ที่จะรู้สึกต่อสิ่งนั้นๆได้ก่อน เช่น รูปฟอร์มของสิ่งที่จะดำเนินไปในอนาคตอันไกลของบางสิ่ง ที่วิธีการทางด้านอื่น ทางด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ การผลิตทางอุตสาหกรรม และอื่นๆ อาจจะมีข้อจำกัดในการแสดงผลต่อการเกิดประสบการณ์ของมนุษย์ดังที่ต้องการ

เมื่อผมได้ไปสัมผัสกิจกรรมต่างๆ และได้เห็นความริเริ่มหลายอย่างแล้ว ก็สนุกและเห็นความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติอย่างเข้มข้นจริงจังทั้งของคามินและคณะ กลุ่มคนทำงานศิลปะ และกลุ่มคณาจารย์ทางศิลปะ ที่ได้มาเจอกันและกำลังปฏิบัติการต่างๆในโครงการที่ได้เห็น

 

                   

 

ในทรรศนะผมนั้น หากมองในแง่ความเป็นเครื่องมือทางการศึกษา การวิจัย วิเคราะห์ และประเมินสภาวการณ์ในอนาคต ผมก็จะเห็นโอกาสในการใช้วิธีปฏิบัติการทางศิลปะ ให้เป็นเครื่องมือที่การทำงานอีกวิธีหนึ่ง ในการทำงานเชิงข้อมูลการวิจัยให้เป็นปรากฏการณ์ที่เห็นและสัมผัสได้ในหลายมิติ

ในหลายๆสิ่งนั้น เราจะสามารถเห็นรูปฟอร์มและรูปแบบปรากฏการณ์ต่างๆในอนาคต ผ่านการทำงานที่ใช้ความมีธรรมชาติของจิตอันละเอียดอ่อนและความมีอิสระจากปัจจัยภายนอก หยั่งคลื่นชีวิตของสังคม ก่อนนำมาทำงานเชิงความคิดด้วยความมีศิลปะอย่างลึกซึ้ง แล้วก็สื่อสะท้อนออกมาตรงๆด้วยปฏิบัติการทางศิลปะ เสมือนเป็นกระบวนการแสดงผลและจำลองสถานการณ์ในอนาคต ให้เราสามารถเห็นสิ่งที่จะเกิด รูปฟอร์ม และรูปการณ์ที่เป็นไปได้บนความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์  

สิ่งเหล่านี้ เมื่อคนเราสามารถเข้าถึงและทำให้สามารถรู้สึกหรือเกิดประสบการณ์เชิงสัมผัสได้ ปัจเจก ชุมชน และสังคม ก็จะสามารถเรียนรู้ ยกระดับชีวิตด้านใน สามารถเห็น คาดการณ์และศึกษาแนวทางความเป็นไปได้ กระทั่งนำไปสู่การค่อยๆคืบหน้าทางการเรียนรู้และแปรไปสู่การริเริ่มสิ่งต่างๆ สร้างความเป็นจริงในสังคมให้เกิดขึ้นดังที่พึงประสงค์ร่วมกันในที่สุด ในหลายเรื่องของสังคมก็จำเป็นต้องใช้กระบวนการในลักษณะนี้ ซึ่งศิลปินและคนทำงานศิลปะจะเป็นสาขาการทำงานสาขาหนึ่งที่มีคุณลักษณะทำสิ่งดังกล่าวนี้ได้ ความเคลื่อนไหวและพัฒนาการที่เกิดปฏิสัมพันธ์กับสังคมและสิ่งแวดล้อมในลักษณะนี้ในวงการศิลปะ จึงมีความน่าสนใจมาก

แต่กระบวนการดังกล่าวนี้ จะเข้าถึงและสื่อสารกันได้ในแวดวงอันจำกัดของศิลปินและคนทำงานศิลปะ ทำนองเดียวกันกับสาขาอื่นๆก็เช่นกัน ซึ่งแนวทางหนึ่งที่จะสามารถพัฒนามิตินี้ให้เกิดขึ้นในสังคมมากยิ่งๆขึ้นได้ก็คือ การมีวิธีสร้างปฏิสัมพันธ์เชิงกระบวนการเรียนรู้และสร้างการสนทนาข้ามศาสตร์ ข้ามพรมแดน ข้ามสาขาการทำงาน สาขาการดำเนินชีวิต รวมทั้งข้ามกรอบความแตกต่างในมิติต่างๆของสังคม

ผมเองนั้น ก็เป็นคนหนึ่งที่มีความตระหนักถึงความสำคัญในสิ่งที่กล่าวถึงในข้างต้นนี้ แล้วก็พอจะได้มีส่วนในการสร้างกระบวนการดังกล่าวให้เกิดขึ้นไปด้วยบนกระบวนการทำงานต่างๆ ในช่วง ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านไปบ้างพอสมควร ได้ถือโอกาสเชื่อมโยงให้จิตรกร ศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ ครูอาจารย์ นักวิชาการต่างสาขา ชุมชน นักธุรกิจภาคเอกชน คนทำงานภาคประชาสังคม ผู้นำชุมชน สื่อมวลชน และคนทำงานต่างสาขากัน ได้ร่วมกันค้นหากระบวนการสนทนาข้ามศาสตร์ผ่านการทำวิจัยและทำงานเชิงพื้นที่ต่างๆด้วยกันนับแต่อยู่มหาวิทยาลัยมหิดล แล้วก็หาวิธีสื่อสาร นำเสนอ บันทึก ถ่ายทอด ผุดประเด็นและสร้างวาระการพูดคุย รวมทั้งชี้ชวนให้ผู้คนได้เกิดความคุ้นเคยและสามารถนำเอามิตินี้มาใช้ให้ได้ผลดีมากยิ่งๆขึ้น

พลังอันเกิดจากการปฏิสัมพันธ์และเสริมกันอย่างข้ามศาสตร์ ข้ามสาขา ข้ามพรมแดนความแตกต่างหลากหลายต่างๆดังกล่าวนี้ หากก่อเกิดขึ้นในบริบทสังคมไทยได้อย่างเพียงพอ ก็เชื่อว่าจะเป็นมิติความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงของสังคมอีกมิติหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนทางปัญญา จากสิ่งที่มีอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้วในสังคมแต่แยกส่วนกันอยู่ สามารถข้ามขีดจำกัดได้อีกหลายประการที่จะไม่สามารถบังเกิดขึ้นได้จากความแยกส่วนในภาคปฏิบัติของสังคม

รูปแบบและวิธีการต่างๆ ซึ่งรวมทั้งกระบวนการทางการศึกษา ที่จะเป็นนวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษา เพื่อนำมาใช้สร้างคนและพัฒนาการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความจำเป็นในอนาคตตามแนวทางดังกล่าว ดังเช่นโครงการวิจัยของอาจารย์มรกต เกตุเกล้าที่กำลังดำเนินการนี้ จึงเป็นการวิจัยโครงการหนึ่งที่สะท้อนวาระทางการพัฒนาสังคมสู่อนาคตได้น่าสนใจมาก.

 

                             

                             

                             

หมายเลขบันทึก: 548177เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2013 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ตุลาคม 2013 07:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นกลุ่มศิลปินที่มีผลงานหลากหลายมากๆ

ขอบคุณอาจารย์มากครับ

ที่เผยแพร่ให้อ่าน

เป็นแนวการทำงานศิลปะเชิงสังคมแบบรวมกลุ่มสนใจและทำงานผ่านการพัฒนาเครือข่าย ไปตามความสนใจที่สอดค้องกัน ที่เชื่อว่ามีผลต่อการนำไปสู่การริเริ่มสิ่งดีๆต่อไปอีกได้หลายอย่างทั้งในและต่างประเทศเลยละครับอาจารย์ขจิตครับ น่าสนใจและน่าชื่นชมมมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท