ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๐๒. สะท้อนความคิดโดยคนไม่รู้จริง


 

วันที่ ๗ ส.. ๕๖ ผมไปร่วมฟังการประชุม DFC 3  ในกิจกรรม Learn & Share and Case Study   ซึ่งวันนี้เป็นเรื่องการบริหารงานบุคคลเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Human Resource Management)   และเรื่องการบริหารความขัดแย้ง (Conflict Management)   โดย ศ. นพ. ประสิทธิ์ วัฒนาภา เป็นวิทยากรตลอดวัน

 

ผมฟังแล้วบอกตัวเองว่า อาจารย์หมอประสิทธิ์พูดแบบคนรู้จริง   คือมีทั้งความรู้เชิงทฤษฎี (Explicit / Theoretical Knowledge) และความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติหรือประสบการณ์ (Tacit / Practical Knowledge)   ตรงกันข้ามกับการที่ผมได้รับเชิญไปพูดเรื่องการศึกษาในที่ต่างๆ    ผมพูดแบบคนไม่รู้จริง เพราะไม่มีประสบการณ์ตรง   จึงไม่มีปัญญาปฏิบัติ (Phronesis) เรื่องนี้ ในตัวผม 

ทำให้คิดต่อ ว่าโลกนี้สังคมนี้มีมายาความหลงผิดอยู่ไม่น้อย   อย่างที่เกี่ยวกับตัวผมโดยตรง   ที่สมัยยังไม่แก่ มีความรู้มาก แต่คนไม่ค่อยยอมรับนับถือ เพราะยังไม่อาวุโส   พอแก่ตัวเข้า อาวุโสมาก   แม้รู้ไม่จริง คนก็เชิญไปพูด

ตรงนี้ผมเองอาจเป็นตัวการให้เกิดความเข้าใจผิดนี้   โดยการอ่านเรื่องแนวคิดใหม่ๆ ด้านการศึกษา และเรื่องอื่นๆ ที่ผมสนใจ  แล้วสวมวิญญาณมนุษย์ในยุค Media 2.0 แลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจออกไปในโลกไซเบอร์   โดยย้ำแล้วย้ำอีก ว่าที่เขียนนี้ไม่รับรองว่าถูกหรือผิด   ที่แน่ๆ คือคงจะมีทั้งที่ถูกหรือใช้การได้ และที่ผิด เอาไปใช้แล้วไม่ได้ผล        

ในงานเดียวกัน เช้าวันที่ ๘ ส.. ๕๖  ผมไปฟังการบรรยายเรื่องการบริหารงานวิจัย   โดย ศ. ดร.ศันสนีย์ ไชยโรจน์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ของมหาวิทยาลัยมหิดล   ยิ่งยืนยันความไม่รู้จริงของผม   คือเมื่อฟังแล้ว ผมรู้สึกว่าการบริหารงานวิจัยในมหาวิทยาลัยก้าวหน้าไปอย่างมากมาย  มีการวางยุทธศาสตร์ใช้เงินรายได้ของมหาวิทยาลัย เอาไปชวนแหล่งทุนมาสนับสนุนการวิจัยร่วมกัน   การมองภาพรวมของความเข้มแข็งของงานวิจัย แยกแยะตามคณะวิชา และตามสาขาวิชาการ   แล้วหาทางสนับสนุนให้เหมาะสม 

ผมได้เห็นภาพของการจัดการงานวิจัยในระดับมหาวิทยาลัย ที่เป็นการจัดการเชิงรุก  และได้เรียนรู้ศาสตร์ด้านการจัดการงานวิจัยในมหาวิทยาลัย   ว่ามีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ กว้างขวางมาก  

ทำให้ได้ความรู้ยืนยันการตัดสินใจไม่เขียนหนังสือ การบริหารงานวิจัย แนวคิดจากประสบการณ์ฉบับปรับปรุงใหม่ ตามคำชักชวนของ สกว. เมื่อประมาณ ๕ ปีมาแล้ว ว่า ผมตัดสินใจถูกแล้ว   เพราะผมไม่มีประสบการณ์และความรู้เชิงทฤษฎี ดีพอที่จะเขียนให้ทันสมัยได้เสียแล้ว  

ผมเป็นคนแก่ที่เป็น ผู้ไม่รู้จริง

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๗ ส.. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 547937เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2013 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2013 10:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ชอบอ่านแนวคิดทางการศึกษาที่ท่านอาจารย์อ่านและตีความมาก และถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเป็นแนวทางในการอ่านอย่างวิเคราะห์วิจารณ์ เชื่อว่าถ้าท่านอาจารย์มีโอกาสนำไปปฏิบัติด้วยตนเองก็สามารถทำให้เกิดผลที่ต้องการได้ ส่วนแนวคิดต่าง ๆที่ท่านได้เขียนไว้เชื่อว่าจะมีครูอาจารย์อีกหลายคนที่นำไปปฏิบัติ และนำมาแลกเปลี่ยนเพื่อการเรียนรู้กันต่อไปค่ะ เชื่อว่าทฏษฏีทางการศึกษาต่าง ๆ อาจได้ผลหรือไม่ได้ผลขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆมากมาย จึงอยากให้ครูอาจารย์เป็นนักทดลองภายในสถานการณ์ของตนเองและปรับจนกระทั่งหาสิ่งที่เหมาะสมที่สุดได้ และอึดอัดใจเป็นอย่างยิ่งที่เดี๋ยวนี้ทำตาม ๆ กันทั่วประเทศ ไม่รู้ว่าทำตามสั่งของใคร 

- แนวคิด ของอาจารย์  ที่ถ่ายทอด "  แหลม คม บาด ลึก " ....สะท้อน ...อะไร ได้มากมาย ทีเดียวค่ะ

- ขอบพระคุณ "  ที่ทำให้ ต้องหันกลับมามองตนเอง...ว่า  เรารู้จริง  แล้วหรือยัง.....

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

เรียนอาจารย์วิจารณ์ ที่นับถือ

สิ่งที่อาจารย์เขียนเป็นประโยชน์และมีคุณค่ามากครับ ผมมาจากภาคปฎิบัติ รู้จริง เพราะทุกอย่างเรียนรู้จากการกระทำ แต่เป็นการเรียนรู้เฉพาะตัว ไม่สามารถนำไปถ่ายทอดและนำเสนอให้ผู้อื่นเห็นด้วยได้ หลังจากผมได้อ่านบทความของอาจารย์ที่อาจารย์นำมาเขียนจากการอ่านหนังสือดีๆและนำมาตีความ ผมขอยืนยันว่าสิ่งที่อาจารย์ตีความนั้นถูกต้องและเข้าใจง่าย แสดงว่าอาจารย์เป็นผู้รู้จริงครับ ถ้าไม่รู้จริงอาจารย์คงไม่สามารถตีความและถ่ายทอดออกมาได้  บทความของอาจารย์ทำให้ผมมีความมั่นใจยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่ผมเรียนรู้        จากการปฎิบัติเป็นสิ่งที่ถูกต้องเพราะตรงกับบทความที่อาจารย์ตีความจากทฤษฎีต่างๆ  อาจารย์เรียนรู้จากการศึกษาทางภาคทฤษฎี และมีความเข้าใจในสิ่งที่ควรจะเป็น อาจารย์สามารถเป็นโค้ชและที่ปรึกษาให้กับผู้ปฎิบัติที่ขาดทฤษฎีเช่นผมได้ครับ ผมเรียนตามตรงว่าอาจารย์เป็นผู้ที่ให้ความรู้และต่อยอดความคิดผมได้เป็นอย่างดีครับ ผมสามารถนำความรู้จากการอ่านบทความของอาจารย์ไปต่อ ยอดและนำไปใช้ในงานของผมได้เป็นอย่างดี การปฎิบัติมาจากการลองผิดลองถูกครับ อาจารย์เก็บตัวและระวังตัวมากเกินไปจนไม่ยอมนำความรู้ของอาจารย์ไปสู่การปฎิบัติ ไม่ได้หมายความว่าอาจารย์ไม่รู้จริงครับ อาจารย์ยังเป็นบุคคลที่มีคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติได้อีกมากครับ อาจารย์สามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่อาจารย์ได้รับสมัยอายุยังน้อยจนมาถึงปัจจุบัน มาช่วยให้การสนับสนุนคนรุ่นหลังได้ทำงานเพื่อประเทศชาติได้ครับ ผมจำได้ว่าเคยพบอาจารย์ครั้งหนึ่งในงานสัมมนา หรืองานประชุม อาจารย์เป็นหนึ่งในผู้อภิปราย ผมประทับใจและชื่นชมกับอาจารย์มาก หลังจากนั้นได้ไปแนะนำตัวกับอาจารย์ และขอให้อาจารย์ช่วยเป็นที่ปรึกษาในโครงการของ "ศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์" แต่อาจารย์ปฎิเสธโดยอ้างว่าอาจารย์มีงานมากไม่มีเวลา และอายุมากแล้ว ร่างกายไม่ค่อยสมบูรณ์ ผมเชื่อว่าถ้าผมได้รับความกรุณาจากอาจารย์เป็นที่ปรึกษาและให้การสนับสนุน ผมจะสามารถทำงานเพื่อสังคมที่ทุกคนต่างพูดกันว่าเป็นงานยาก ได้ดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น งานที่ผมทำเป็นงานที่ผมคิดถึงคนรุ่นหลัง เป็นงานที่คน 3 รุ่น ต้องทำร่วมกัน  โครงการนี้เป็นโครงการที่จะเห็นผลในรุ่นของลูกคนที่มีอายุ 25 ปี ในปัจจุบัน (ผมจะส่งรายละเอียดโครงการมูลนิธิศูนย์บูรณาการพัฒนามนุษย์ ไปให้อาจารย์ทาง e-mail ของอาจารย์ และหวังว่าจะได้รับการพิจารณา)

ด้วยความนับถืออย่างสูง

ม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุท

12 กันยายน 2556

นิ่มอนงค์ งามประภาสม

เรียนอาจารย์วิจารณ์ ที่นับถือ

       ดิฉันขอยืนยันตามคำกล่าวของม.ล.ชาญโชติ ชมพูนุทค่ะ ว่าท่านเป็นผู้รู้จริงที่ถ่อมตัวมากๆๆ อย่างไรก็ตามหากได้อ่านงานของอาจารย์ในฉบับที่ท่านปฏิเสธนั้น คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังอย่างมากค่ะ คำพูดของท่านช่างเฉียบคมจริงๆ ดิฉันติดตามท่านอย่างชื่นชมมาตลอด ขอให้กำลังใจอาจารย์ และหวังว่าสุขภาพทางกายของท่านอาจารย์คงสุขสมบูรณืดีนะคะ

รศ.ดร.นิ่มอนงค์ งามประภาสม

แนวคิดของอาจารย์ เป็นแนวคิดที่ดีค่ะ ดิฉันได้อ่านและชื่นชมมาตลอด ขอเป็นกำลังใจค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท