"อาจารย์เตือนมองผ่านอาจารย์แหววถึง C-C-L : จุดเริ่มต้นสู่อนาคต" (ภาค 1)


อาจารย์ตระหนักว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้โดยใช้กฎหมาย เพียงแต่ชาวบ้านที่ประสบปัญหาไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนที่สุด คือ “การสร้างความรู้ให้แก่ชาวบ้าน” และตัวท่านเองก็เป็นผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมายที่จะใช้แก้ปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว ท่านจึงไม่สามารถนิ่งเฉยได้ อาจารย์แหววยังกล่าวอีกว่า “เมื่อรู้ตัวอีกทีท่านก็ทิ้งงานนี้ไม่ได้แล้ว”

ราวกับว่าเป็นเพราะ โชคชะตา ที่ทำให้ข้าพเจ้ามาพบ มารู้จัก และมาร่วมงานในฐานะลูกศิษย์ตามธรรมชาติกับ ผู้หญิงเก่งท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทุกคนจะเรียกท่านติดปากว่า อาจารย์แหวว ทั้งๆ ที่ความเป็นไปได้ของการพบเจอกันแค่ในชีวิตประจำวัน มีไม่ถึง 10 % ด้วยซ้ำ แต่ไม่ว่าจะเพราะสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสมารู้จักกับอาจารย์ท่านนี้ และยิ่งกว่ารู้จักในเวลาต่อมา ถือเป็นความโชคดีเหลือเกินในชีวิตของข้าพเจ้า 

เมื่อย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการเข้ามาทำงานทางด้านการคุ้มครอง, ส่งเสริม และเยียวยา สิทธิของมนุษย์ โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลของข้าพเจ้า มันเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นวันแรกที่ขอนัดพบกับ อาจารย์แหวว หรือ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เพื่อขอเข้ามาเป็นผู้ช่วยท่านในการทำงานด้านสถานะบุคคล  คำถามที่ข้าพเจ้ามักจะต้องตอบอยู่เป็นประจำ คือ เข้ามาทำงานตรงนี้ได้อย่างไร??” 

จำได้ว่า เพื่อนสนิทคนหนึ่งของข้าพเจ้าซึ่งเรียนอยู่คณะนิติศาสตร์ชอบเล่าให้ข้าพเจ้าฟังเป็นประจำ หรือแทบทุกครั้งที่เจอหน้ากัน ถึง คดีบุคฯ ที่มันเรียน แรกๆ ก็ไม่เข้าใจและไม่ได้ใส่ใจว่ามันคืออะไร แต่มันก็จะมาพูดกรอกหูอยู่ตลอดว่า ยากบ้างล่ะ อ่านเยอะบ้างล่ะ กลัวทำข้อสอบไม่ได้บ้างล่ะ พอตั้งใจฟังความจากมันดีๆ จึงได้เข้าใจว่า คดีบุคฯที่มันพูดถึงอยู่นั่น เป็นภาษาย่อๆ ของเด็กคณะนิติศาสตร์ ที่ใช้เรียก กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

วันหนึ่งมันเล่าให้ข้าพเจ้าฟังว่า อาจารย์ผู้สอนต้องการนักศึกษาเข้ามาช่วยทำงาน เป็นงานเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือคนไร้รัฐไร้สัญชาติ พอมาถึงตอนนี้ข้าพเจ้าก็เริ่มสนใจว่ามันคืออะไร เพราะที่คณะรัฐศาสตร์ที่ข้าพเจ้าเรียนมาตลอด 4 ปีนั่น ก็มีการเรียนการสอนกฎหมายระหว่างประเทศเหมือนกัน แต่เข้าใจว่าเป็น กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง เพราะเนื้อหามักจะเกี่ยวข้องแค่รัฐกับรัฐ ข้าพเจ้าจึงเริ่มซักไซ้ไล่เรียงเอาจากมันว่าคืออะไร เรียนเกี่ยวกับอะไร อาจารย์ที่สอนคือใคร เป็นอย่างไรบ้าง มันคงจะเริ่มรำคาญกับคำถามร้อยแปดประการที่ข้าพเจ้าถามมัน มันจึงบอกกับข้าพเจ้าว่าให้ไปเปิดอ่านในเว็บไซท์ของอาจารย์ผู้สอนเอาเองแล้วกัน แล้วมันก็ให้ URL มา คืนนั้นทั้งคืนข้าพเจ้าเข้าไปนั่งอ่านทั้งบทความ เสวนาวิชาการ กรณีศึกษา เรียกได้ว่าอ่านทุกๆ อย่างที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซท์นั่น ซึ่งใช้เวลานานมากทีเดียว จากนั้นเมื่ออ่านจนถึงเว็บบอร์ดที่ใช้เป็นที่แลกเปลี่ยนข่าวสารกับบุคคลภายนอก ข้าพเจ้าก็ได้เห็น e-mail address ของอาจารย์เจ้าของเว็บไซท์ปรากฏอยู่ ไม่ทราบว่าตอนนั้นข้าพเจ้าคิดอะไรอยู่ แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่าข้าพเจ้าอยากพบกับอาจารย์ท่านนี้มากและอยากขอเข้ามาช่วยงานอาจารย์ ข้าพเจ้าจึงเขียน e-mail ฉบับหนึ่งเพื่อแนะนำตัวและขอเข้ามาช่วยงานอาจารย์ หลังจากนั้นประมาณ 2 วัน ข้าพเจ้าก็ได้รับ e-mail ตอบกลับจากอาจารย์ให้มาพบหลังจากอาจารย์เลิกสอนที่คณะนิติศาสตร์ ข้าพเจ้าดีใจมากและเฝ้ารอวันนั้นอย่างใจจดใจจ่อ 

นี่คงเป็นจุดเริ่มต้นที่ข้าพเจ้าก้าวเข้ามาสัมผัสกับงานทางด้านนี้ เมื่อมานั่งทบทวนดูก็นึกออกว่า ช่วงนั้นข้าพเจ้ากำลังจะจบการศึกษาชั้นปีที่ 4 จิตใจก็กำลังกระวนกระวายกับอนาคตหลังจากออกจากรั้วมหาวิทยาลัยไปแล้ว อย่างหนึ่งที่คิดในขณะนั้น คือ ต้องหางานทำ เพื่อเก็บเงินเรียนต่อระดับปริญญาโท ช่วงนั้นข้าพเจ้ากำลังวุ่นวายกับการหางานทำมาก ไปสัมภาษณ์เพื่อสมัครงานหลายต่อหลายที่ จะว่าไปแล้วก็ได้รับคัดเลือกเกือบจะทุกที่ นั่นอาจจะเป็นเพราะข้าพเจ้าใช้ภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดีและเคยมีประสบการณ์ในการทำงานมาค่อนข้างมาก แต่ทุกครั้งที่กลับมาก็จะรู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ข้าพเจ้าค้นหาและต้องการในชีวิตการทำงานของข้าพเจ้าเลย ข้าพเจ้าเคยแม้กระทั่งสมัครเป็นแอร์โฮสเตสกับสายการบินชื่อดังของประเทศในแถบอาหรับ แล้วก็ได้รับการคัดเลือกในที่สุด 

แต่เมื่อข้าพเจ้าได้มีโอกาสคุยกับอาจารย์แหววในวันนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกว่าสิ่งนี้แหละที่ข้าพเจ้าอยากทำ สิ่งนี้แหละที่ข้าพเจ้าตามหา ข้าพเจ้ารู้สึกแบบนี้ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยลงมือทำงานกับอาจารย์จริงๆ เลยสักครั้ง ซึ่งก็น่า แปลก แต่ข้าพเจ้าตัดสินใจปฏิเสธงานที่ได้ทั้งหมด เพื่อจะได้มีเวลาอย่างเต็มที่ในฐานะ เด็กฝึกงาน ของอาจารย์แหววในช่วงแรก จำได้ว่าช่วงนั้นทั้งเพื่อนๆ และครอบครัว ต่างก็ไม่เห็นด้วยที่ข้าพเจ้าตัดสินใจเช่นนี้ ทุกคนเสียดายแทนกับงานแอร์โฮสเตสที่ข้าพเจ้าปฏิเสธไป เพราะค่าตอบแทนที่จะได้จากสายการบินนั้นคงไม่ต่ำกว่าครึ่งแสนต่อเดือน แต่อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีคนหนึ่งที่สนับสนุนข้าพเจ้าตลอดมาไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร คนเดียวที่เชื่อมั่นในการตัดสินใจของข้าพเจ้า คือ แม่ของข้าพเจ้าเอง 

เมื่อแรกได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับอาจารย์แหวว ข้าพเจ้าคิดว่าท่านเป็นคนดุและตรงไปตรงมามาก คำแรกที่ท่านพูดเมื่อเจอข้าพเจ้า คือ ฉันไม่มีเงินให้นะ ถ้าจะมาทำงานเพราะอยากได้เงินก็ไม่ต้องมา แต่สุดท้ายท่านก็อนุญาตและเปิดโอกาสให้ข้าพเจ้า ซึ่งเป็นเด็กที่ท่านยังไม่รู้หัวนอนปลายเท้าด้วยซ้ำ ติดสอยห้อยตามไปด้วย ในฐานะของ เด็กฝึกงาน งานแรกที่ข้าพเจ้าได้ร่วมติดตามการทำงานของท่าน คือ งานของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ ซึ่งมีท่าน สว.วัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นประธาน อาจารย์แหววท่านอนุญาตให้ข้าพเจ้าไปร่วมประชุมกับท่านที่รัฐสภา หรือแม้แต่การติดตามเพื่อลงพื้นที่ที่จังหวัดสระแก้ว จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดพังงา ซึ่งงานนี้อาจจะเรียกได้ว่า เป็นงานแรกที่ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้และซึมซับบางสิ่งบางอย่างจากอาจารย์แหวว ข้าพเจ้าได้เห็นภาพของการเข้าไปพูดคุยถามไถ่ชาวบ้านที่กำลังประสบปัญหาตามที่ต่างๆ ภาพการทำงานในลักษณะเข้าถึงตัวชาวบ้าน ซึ่งเป็นภาพที่ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นมาก่อน ข้าพเจ้ามักจะตื่นเต้นกับภาพที่ได้เจอและจะกลับมาเล่าให้แม่ฟังเสมอว่าได้ไปทำอะไรมาบ้าง  

งานที่สองที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในคนทำงานด้วย คือ งานตลาดนัดสิทธิมนุษยชน ณ โรงเรียนท่ามะแกง ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งสนับสนุนการจัดงานโดย UNICEF ซึ่งจากงานนี้เองที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้จักอาจารย์แหววมากขึ้น เริ่มจากเมื่อไปถึงที่แม่อาย ชาวบ้านแทบจะทุกคนที่เจอไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือคนแก่ ต่างพากันไหว้อาจารย์แหววด้วยความเคารพรัก และเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น น้องออย เด็กหญิงวัยประมาณ 2-3 ขวบ ซึ่งเป็นลูกที่เกิดจากชาวบ้านแม่อายผู้ซึ่งถูกถอนชื่อโดยมิชอบ และต่อมาศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๘ ซึ่งมีผลให้ทางอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ต้องนำชื่อบุคคลอื่นๆที่ถูกถอนซึ่งมีจำนวนทั้งหมด ๑,๒๔๓ คนกลับเข้าสู่ทะเบียนราษฎร (ทร.๑๔) ตามเดิม แต่ในขณะนั้นน้องออยกลับก็ถูกปฏิเสธสิทธิในการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรตามพ่อแม่จึงทำให้ตกเป็น คนไร้รัฐ ไปโดยปริยาย ในวันงานน้องออยไม่สบายมาก ตัวซีดแทบไม่มีสีเลือด ปากเขียว และมีอาการชัก แต่ผู้เป็นแม่กลับไม่กล้าพาไปโรงพยาบาล เนื่องจากน้องออยไม่มีเอกสารอะไรเลย ทำให้ไม่สามารถขอทำบัตร 30 บาท รักษาทุกโรค ได้ นอกจากนี้ ค่ารักษาพยาบาลคราวที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ชดใช้คืนให้ทางโรงพยาบาล  

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้อาจารย์แหววโกรธมากที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องที่สามารถจะช่วยชีวิตเด็กคนนี้ได้ แต่กลับนิ่งเฉยโดยไม่สนใจเลยว่าเด็กจะเป็นอย่างไร และในวันนั้นเอง ข้าพเจ้าได้เห็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน คือ ภาพอาจารย์แหววโกรธจนหน้าแดง ตั่วสั่น ว่ากล่าวผู้ที่เกี่ยวข้อง, ภาพของข้าราชการผู้ละเมิดกฎหมายและละเมิดสิทธิของเด็กน้อยคนนั้นกลัวจนแทบจะทำอะไรไม่ถูก แต่ในท้ายที่สุด อาจารย์แหววก็สามารถทำให้น้องออยมีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรและได้ทำบัตร 30 บาทภายในครึ่งวัน เมื่อข้าพเจ้ามานั่งทบทวนดูแล้ว สิ่งที่ข้าราชการท่านนั้นกลัว ไม่ใช่แค่ผู้หญิงที่ชื่อ พันธุ์ทิพย์ แต่เขากลัว ความรู้กฎหมายและการใช้กฎหมายของพันธุ์ทิพย์ ด้วยต่างหาก ภาพเหตุการณ์ในวันนั้นตราตรึงอยู่ในใจข้าพเจ้ามาตลอด ภาพที่ผู้หญิงคนหนึ่งไม่รีรอที่จะเข้าช่วยเหลือเด็กที่ถูกละเมิดสิทธิ โดยใช้ความรู้กฎหมายและความรู้ในวิธีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยชีวิตเด็ก อาจารย์แหววทำให้ข้าพเจ้าเห็นแล้วว่าความรู้กฎหมายและความรู้จักใช้กฎหมายนั้นมีประสิทธิภาพและทรงอานุภาพเพียงใด แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ข้าพเจ้าได้ซึมซับจากตัวอาจารย์แหววจากนั้นมา ก็คือ จิตใจที่มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยกัน 

อาจารย์แหววเคยเล่าว่า ให้นึกย้อนกลับไปก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่า เริ่มมาจับงานทางด้านการใช้ความช่วยเหลือคนที่มีปัญหาทางด้านสถานะบุคคลตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่พอจำได้ว่าเริ่มจากการที่ท่านเป็นข้าราชการประจำศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่ประชาชนอยู่แล้ว และคดีที่ร้องเรียนมาที่ศูนย์นิติศาสตร์จำนวนมากก็เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสถานะบุคคล อาจารย์แหววจึงมักจะได้รับมอบหมายให้ดูแลคดีดังกล่าวเป็นประจำ

อย่างไรก็ตาม งานด้านปัญหาสถานะบุคคลที่อาจารย์แหววทำนั้น มีวิวัฒนาการโดยตัวของมันเอง ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านเริ่มจากการเข้าไปเป็นลูกมือ ในฐานะนักวิชาการให้แก่ทีมแก้ไขกฎหมายสัญชาติ เมื่อปี พ.ศ.2532 ซึ่งผลผลิตที่เกิดขึ้นจากทีมแก้กฎหมายสัญชาติทีมนี้ ก็คือ พรบ.สัญชาติ (ฉ.2) พ.ศ.2535 ผลก็คือ ทำให้หญิงไทยสามารถส่งต่อสิทธิในสัญชาติไทยโดยหลักสืบสายโลหิตให้แก่บุตรของตนได้ หลังจากนั้นมา ท่านก็ได้รับมอบหมายให้วิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกา ซึ่งเป็นการอธิบายความและให้ความคิดเห็นทางด้านกฎหมายในคำพิพากษาศาลฎีกาที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสถานะบุคคล ซึ่งฎีกาที่มีชื่อเสียงมาก คือ ฎีกาที่ 989/2533 เป็นฎีกาที่เกี่ยวข้องกับการได้สัญชาติไทยของคนเวียดนามอพยพในประเทศไทย และวิวัฒนาการล่าสุดของเนื้องานด้านสถานะบุคคลที่อาจารย์แหววทำ ก็คือ การให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย (Legal Aid)” แก่คนที่มีปัญหาสถานะบุคคล อาจารย์แหววกล่าวว่า เป็นการนำความรู้และประสบการณ์ทางด้านกฎหมายจาก 2 เหตุการณ์หลักๆ ข้างต้น มาใช้เพื่อช่วยเหลือคนที่มีปัญหาจริงๆ ขอบเขตของงานด้านการให้ความช่วยเหลือก็มักจะไม่หนีพ้นการคุ้มครองและการส่งเสริมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์, สิทธิมนุษยชน และสิทธิในสถานะบุคคล ซึ่งหากนับรวมๆ ก็น่าจะเป็นเวลากว่า 16-17 ปี แล้วที่อาจารย์แหววต่อสู้เพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติมาโดยตลอด 

ข้าพเจ้าเคยถามอาจารย์แหววว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ท่านตัดสินใจมาทำงานด้านนี้และรู้สึกว่าทิ้งไม่ได้?? คำแรกที่อาจารย์ตอบ คือ ตอนแรกไม่มี เพียงแค่คิดว่าอยากจะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในแต่ละงานให้ดีที่สุดเท่านั้น จริงๆ แล้ว อาจารย์ตั้งใจไปเรียนทางด้านกฎหมายธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากอาจารย์เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มาก่อน ท่านเห็นภาพที่นักศึกษาถูกฆ่าอย่างทารุณและไร้มนุษยธรรมโดยรัฐบาลเผด็จการทหารในช่วงนั้น อาจารย์แหววค่อนข้างเจ็บช้ำและผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมไทยเป็นอย่างมาก ท่านเล่าอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้ท่านไม่อาจทนเห็นความทุกข์ยากของมนุษย์ด้วยกันได้อีก ท่านจึงคิดจะไปเรียนทางด้านกฎหมายธุรกิจ เพราะมันน่าจะมีแค่เรื่องกำไร-ขาดทุนเท่านั้น แต่สุดท้ายท่านก็ได้ค้นพบแล้วว่า ไม่ว่าจะท่านจะพยายามหลีกเลี่ยงแค่ไหน ท่านก็ยังต้องพบกับความทุกข์ยากของมนุษย์เสมอ เนื่องจากมนุษย์เกิดมาพร้อมกับความทุกข์ยากไม่ว่าด้านใดก็ด้านหนึ่ง แต่ความรู้ที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาหรือเยียวยาความทุกข์ยากต่างหากที่สำคัญกว่าสิ่งอื่นใด 

แต่เมื่อหลังจากที่อาจารย์แหววได้มีโอกาสสัมผัสและเห็นความทุกข์ของคนที่ประสบปัญหาสถานะบุคคล หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า คนไร้รัฐไร้สัญชาติ มากขึ้น ท่านก็ตระหนักได้ว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้โดยใช้กฎหมาย เพียงแต่ชาวบ้านที่ประสบปัญหาไม่มีความรู้ทางด้านกฎหมาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนที่สุด คือ การสร้างความรู้ให้แก่ชาวบ้าน และตัวท่านเองก็เป็นผู้มีความรู้ทางด้านกฎหมายที่จะใช้แก้ปัญหาเหล่านี้อยู่แล้ว ท่านจึงไม่สามารถนิ่งเฉยได้ อาจารย์แหววยังกล่าวอีกว่า เมื่อรู้ตัวอีกทีท่านก็ทิ้งงานนี้ไม่ได้แล้ว 

แต่หากถามข้าพเจ้าบ้างว่า อะไรเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้ามาทำงานด้านนี้ ข้าพเจ้าก็จะขอตอบว่า แรงบันดาลใจแรกของข้าพเจ้า คือ ตัวของอาจารย์แหวว, ความคิดของอาจารย์แหวว และงานของอาจารย์แหวว ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าตัดสินใจได้ว่า ข้าพเจ้าจะขอทำงานด้านนี้ และเป็นสิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าพยายามขวนขวายหาความรู้เพื่อนำมาช่วยเหลือชาวบ้านอย่างที่ข้าพเจ้าเห็นตัวอย่างจากอาจารย์เสมอ แต่สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าลุกขึ้นมาใหม่ทุกครั้งเวลามีปัญหาหรือรู้สึกท้อ และทำให้ข้าพเจ้าไม่สามารถละทิ้งงานตรงนี้ได้เลย ก็คือ ตัวชาวบ้านที่ประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาตินั่นเอง เมื่อใดที่พวกเขาเข้ามาหาข้าพเจ้า เวลาที่พวกเราจัดการเรียนการสอนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เรียกว่ากันว่า ห้องเรียนกฎหมายสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติ พวกเขาจะมาด้วยความสุขและความหวังเสมอ มักจะมีชาวบ้านที่มาเข้าห้องเรียนกล่าวกับข้าพเจ้าว่า พวกเขารู้สึกดีใจและตื่นเต้นทุกครั้งที่ข้าพเจ้าโทรไปตามให้มาเข้าห้องเรียน รู้สึกอบอุ่นเป็นกันเองเหมือนอยู่บ้าน และรู้สึกว่าเมื่อเข้าห้องเรียนนี้ตัวเองดูมีคุณค่าและมีตัวตนมากขึ้น ซึ่งมักจะต่างจากชีวิตจริงภายนอกอย่างสิ้นเชิง อาจารย์แหววเคยกล่าวกับข้าพเจ้าว่า คนเหล่านี้ไม่เคยมีตัวตนในสายตาของกฎหมาย พวกเขาไม่มีที่ยืนในสังคม และพวกเขามักจะเป็นกลุ่มคนประเภทสุดท้ายที่คนส่วนใหญ่ในสังคมจะให้ความสนใจหรือแม้แต่แค่นึกถึง จำได้ว่าเมื่อข้าพเจ้าฟังประโยคนี้ที่อาจารย์พูดแล้ว อยู่น้ำตาก็มาจากไหนไม่รู้มากมาย จนตัวข้าพเจ้าเองยังตกใจ สิ่งเหล่านี้เองเช่นกันที่ทำให้ข้าพเจ้าไม่อาจละทิ้งความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นเหมือน สัญญาใจ ที่มีต่อคนเหล่านี้ได้เลย  

หากจะว่าไปแล้ว งานด้านปัญหาสถานะบุคคล หรือ ปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ เป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวและเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องความมั่นคงของประเทศ, ผลประโยชน์ และการทุจริตในวงราชการ เพราะฉะนั้นความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้นได้เสมอ บ่อยครั้งที่มีเสียงครหาจากคนที่ไม่เข้าใจถึงประเด็นปัญหาอย่างแท้จริงกล่าวหาว่า อาจารย์แหววไม่รักประเทศไทยบ้าง ช่วยเหลือคนต่างด้าวบ้าง บางก็ส่งจดหมาย บางก็โทรศัพท์ หรือแม้แต่ฝากคนมาบอกต่อเพื่อขู่ไม่ให้อาจารย์เข้ามายุ่งในประเด็นนี้หรือเข้ามาช่วยเหลือคนเหล่านี้ เนื่องจากมีการทุจริตของข้าราชการอยู่เบื้องหลัง และหากอาจารย์แหววยื่นมือเข้ามาแก้ไขปัญหา นั่นย่อมทำให้การกระทำทุจริตที่เหล่าข้าราชการเคยก่อไว้นั่นถูกเปิดโปงในที่สุด  

นอกจากนี้ ด้วยความที่อาจารย์แหววเป็นเปิดเผยและตรงไปตรงมา อะไรถูกอะไรผิดก็ว่ากันไปตามนั้น ท่านจะไม่ไว้หน้าผู้ใด หากผู้นั้นละเมิดกฎหมายและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านผู้ไม่รู้กฎหมาย เหตุนี้เองที่ทำให้ชาวบ้าน รวมไปถึงลูกศิษย์ลูกหา รักและเคารพอาจารย์แหววมาก แต่ก็ด้วยเหตุนี้อีกเช่นกันที่สร้างความไม่พอใจให้กับหลายๆ คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ถูกขัดผลประโยชน์ แต่อาจารย์แหววท่านไม่เคยสนใจกับการคุกคามที่เกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งถึงขั้นขู่เอาชีวิตก็มี อาจารย์แหววเล่าว่า ไม่เคยกลัว ไม่รู้จะกลัวทำไม ตัวท่านเองก็ไม่มีลูก ไม่มีอะไรต้องห่วง เพราะฉะนั้นถึงตายก็ไม่เสียดายนัก ข้าพเจ้าได้ฟังแล้วรู้สึกทึ่งกับผู้หญิงคนนี้มาก และข้าพเจ้าคิดว่าสิ่งที่อาจารย์แหววทำนั้นสร้างคุณประโยชน์ให้กับมนุษย์ผู้ทุกข์ยากมากกว่าการให้เงินให้ทองเสียอีก เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเชื่อว่าจะไม่มีอะไรสามารถทำร้ายคนดีๆ อย่างอาจารย์แหววได้เลย 

อาจารย์แหววเคยกล่าวเปรยๆ ว่า งานด้านนี้เป็นงานต่อเนื่อง ปัญหาจะไม่มีวันจบหากเราไม่รู้จักที่จะแก้ไขที่สาเหตุ ซึ่งก็คือ ความไม่รู้กฎหมายของชาวบ้าน พอเห็นอย่างนี้แล้วก็ไม่กล้าที่จะวางมือ ซึ่งสำหรับอาจารย์แหวว ท่านอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่คุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะเป็นเด็ก, ผู้หญิง หรือว่าผู้ชาย และไม่ว่าเด็ก, ผู้หญิง หรือผู้ชายคนนั้นจะเป็นคนสัญชาติไทยหรือไม่ก็ตาม ขึ้นชื่อว่ามนุษย์อย่างน้อยที่สุดสิทธิขั้นพื้นฐานต้องได้รับการคุ้มครอง ไม่ถูกละเมิด และหากมีการละเมิด สิทธิที่ถูกละเมิดย่อมต้องได้รับการเยียวยา 

ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาข้างต้นว่า วิวัฒนาการในงานของอาจารย์แหววทางด้านการคุ้มครอง, ส่งเสริม และเยียวยา สิทธิของมนุษย์ โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาสถานะบุคคลซึ่งมักจะเป็นกลุ่มคนที่ถูกละเมิดสิทธิได้ง่ายที่สุด มีลำดับความเป็นมาอยู่ 3 ช่วง แต่หากจะมาลงลึกในรายละเอียดว่า ที่ผ่านมาอาจารย์แหววได้ทำอะไรให้กับสังคมไทยบ้าง ในแง่ของงานที่ท่านรับผิดชอบ หน้ากระดาษที่มีคงไม่สามารถกล่าวได้หมด แต่หากจะกล่าวถึงงานหลักๆ ที่อาจารย์แหววได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย และเป็นงานที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในแวดวงคนทำงานด้านนี้  

นวตกรรมทางนิติศาสตร์ในประการแรก ก็คือ รายงานเกี่ยวกับแนวคิดและมาตรการแก้ปัญหาความไร้สัญชาติของบุคคลบนพื้นที่สูง ซึ่งได้รับการยอมรับโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2543 และนำไปอยู่การยืนยันว่า ชาวเขาดั่งเดิมนั้นมีสัญชาติไทยโดยการเกิดโดยผลของกฎหมายซึ่งรัชกาลที่ 6 ทรงพระราชทานให้ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2456 หากวันนี้ ชาวเขาเหล่านี้ ยังถูกถือเป็นคนต่างด้าวโดยรัฐไทย รัฐไทยนั่นเองที่เป็นผู้ละเมิดสิทธิในสัญชาติไทยของชาวเขาดั้งเดิม ดังนั้น ด้วยงานศึกษานี้เอง ที่มีผลเป็นการปรับทัศนคติของฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทยเกี่ยวกับสถานะบุคคลของบุคคลบนพื้นที่สูง จึงเห็นชอบให้อาจารย์แหววยกร่าง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. 2543 ซึ่งระเบียบก็เป็นนวตกรรมลำดับที่สองของอาจารย์แหววที่นำไปสู่การรับรองสถานะคนสัญชาติไทยโดยการเกิดของชาวเขาดั้งเดิมในทะเบียนราษฎร นวตกรรมลำดับที่สามที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวได้เมื่อกล่าวถึงอาจารย์แหวว ก็คือ ยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล ซึ่งได้รับการยอมรับโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ อันส่งผลต่อไปยังการยอมรับให้สถานะบุคคลแก่ คนไร้รัฐ และสิทธิขั้นพื้นฐานแก่บุคคลดังกล่าวในขณะที่ยังไม่อาจขจัดปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติ 

(มีต่อภาค 2)

http://gotoknow.org/blog/bongkot-classroom/54728

หมายเลขบันทึก: 54727เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2006 00:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2013 22:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท