รูปแบบการเรียนรู้เเละการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน


รูปแบบการเรียนรู้และการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน

 

รูปแบบการเรียนรู้ 

                รูปแบบการเรียนรู้  หมายถึง สภาพลักษณะของการเรียนการสอนที่ครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งได้รับการจัดไว้อย่างเป็นระเบียบ ตามหลักปรัชญา ทฤษฎี หลักการ แนวคิด หรือความเชื่อต่าง ๆ รูปแบบการเรียนรู้ที่ครูจัดให้แก่ผู้เรียนนั้นจึงควรมีลักษณะที่หลากหลาย ทั้งนี้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ตัวผู้เรียนเอง  รูปแบบการเรียนรู้แบบต่างๆ มี ดังนี้

                1. รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ เป็นหลักการเรียนรู้แบบร่วมมือของ Johnson& Johnson (1974: 213-240) ที่กล่าวไว้ว่าผู้เรียนควรร่วมมือกันในการเรียนมากกว่าแข่งขันกันในการเรียน โดยการเรียนรู้แบบนี้นั้นต้องถือว่าทุกคนมีความสำคัญเท่าเทียมกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อมูล มีกระบวนการทำงานกลุ่มร่วมกัน มีผลงานเป็นรายบุคคลและรายกลุ่มที่สามารถตรวจสอบและประเมินได้

                2. รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ 4 ส. เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่พัฒนาจาก4 MAT โดย 4 ส. มีทั้งหมด 4 ขั้นตอนได้แก่ 1) สำรวจ -ให้ผู้เรียนได้ทบทวนความรู้เดิมก่อนที่จะเริ่มเรียนเรื่องใหม่ อาจจะเป็นการคิดคนเดียวหรือร่วมกันคิดวิเคราะห์กับเพื่อนก็ได้ 2) เสริม - ให้ผู้เรียนได้เสริมสร้างความรู้ในสาระที่เนื้อหา โดยวิธีการหาความรู้ที่หลากหลายและสรุปความรู้ 3) สร้าง -ให้ผู้เรียนมีทักษะความชำนาญในเรื่องที่เรียน โดยอาจจะมีการสร้างชิ้นงานขึ้นมา 4) เสนอ ให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำเสนอผลงาน เยแพร่ความรู้ซึ่งกันและกัน

                3. รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบเน้นประสบการณ์ โดยเน้นจากประสบการณ์หรือการลงมือปฏิบัติเองของผู้เรียนเพื่อพัฒนาเป็นความรู้ใหม่ๆ องค์ประกอบของการจัดความรู้แบบนี้มี 4 อย่างได้แก่ 1)ประสบการณ์ 2) การสะท้อนความคิดและอภิปราย 3)ความเข้าใจและเกิดความคิดรวบยอด 4) การทดลองหรือประยุกต์แนวคิด

                4. รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบพหุปัญญาเพื่อการเรียนรู้ จะเป็นการจัดการเรียนรู้ที่สามารถตอบสนองการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาศักยภาพและความถนัดของผู้เรียน โดยทฤษฎีพหุปัญญานี้เป็นของการ์ดเนอร์ ซึ่งได้กล่าวว่าผู้เรียนทุกคนมีสติปัญญา/พหุปัญญาทั้ง 8 ด้านคือ ด้านภาษา ตรรกะ/คณิตศาสตร์ มิติสัมพันธ์/ศิลปะ ความถนัดทางร่างกายและการเคลื่อนไหว ดนตรี/จังหวะ มนุษยสัมพันธ์ ความเข้าใจตนเอง ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งทั้ง 8 ด้านนี้ทุกคนจะมีมากน้อยแตกต่างกันไป เราสามารถพัฒนาพหุปัญญาในแต่ละด้านให้สูงขึ้นได้ ถ้ามีการให้กำลังใจ ฝึกฝนอบรม มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ความร่วมมือของผู้ปกครอง

                5. รูปแบบการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ คือ การใช้แหล่งเรียนรู้ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ หนังสือ วารสาร หนังสือพิมพ์ เว็ปไซต์ ชุมชน ตัวบุคคล โดยครูยอมถอยหลังออกมาหนึ่งก้าวเพื่อจับตามมองการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านแหล่งเรียนรู้

                6. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เป็นการเน้นความคิดการหาเหตุผลเชิงวิทยาศาสตร์โดยกะบวนการทางวิทยาศาสตร์คือ1) การสอนแบบสืบสอบ (การใช้คำถาม) 2) กระบวนการแก้ปัญหา3) เรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัย 4) เรียนรู้ตาแนวความคิดConstructionism คือการเรียนการสอนเพื่อสร้างชิ้นงานใหม่

                7. รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามสภาพความเป็นจริง เป็นรูปแบบการเรียนที่มีการเชื่องโยงระหว่างประสบการณ์และการเรียนเข้าด้วยกัน โดยมุ่งให้ผู้เรียนได้ใช้วิธีสืบสอบ คิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินและตัดสินใจด้วยตนเอง สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ปฏิบัติในชีวิตจริงได้

 

การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน

                การพัฒนาการเรียนการสอนที่ดีมีคุณภาพ คนที่เป็นครูและผู้ที่เกี่ยวข้องในการให้การศึกษาจะต้องมีการศึกษาหลักสูตรในการให้การศึกษากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ถูกต้องและเหมาะสม  การพัฒนาการเรียนการสอนที่ดีมีคุณภาพนั้น  ควรจะต้องมีการศึกษาสภาพความเป็นจริงของผู้เรียนหลักสูตรต้องการให้อะไรกับผู้เรียนจะมีเทคนิควิธีการในการพัฒนาผู้เรียน อย่างไร จึงจะทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในการดำรงชีวิต

1. กลุ่มรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการคิด เช่น การสอนตามหลักการเรียนรู้ของกาเย่

                การจัดการเรียนการสอนแบบกาเย่  มีการจัดสภาพการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับการเรียนรู้แต่ละประเภท ซึ่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันและส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ภายในสมอง โดยจัดสภาพการณ์ภายนอกให้เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ภายในของผู้เรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาสาระต่าง ๆ ได้อย่างดีและรวดเร็ว และสามารถจดจำสิ่งที่เรียนได้

2. กลุ่มรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการมีส่วนร่วม เช่น การสอนที่เน้นการเรียนแบบร่วมมือ

                การสอนที่เน้นการเรียนแบบร่วมมือ ผู้เรียนควรร่วมมือกันในการเรียนรู้มากกว่าการแข่งขัน เพราะการแข่งขันก่อให้เกิดสภาพการณ์ของการแพ้-ชนะ ต่างจากการร่วมมือกัน ซึ่งก่อให้เกิดสภาพการณ์ของการชนะ-ชนะ อันเป็นสภาพการณ์ที่ดีกว่าทั้งทางด้านจิตใจ และ สติปัญญา

3. กลุ่มรูปแบบการเรียนรู้ที่เน้นการพัฒนาพฤติกรรมและค่านิยม เช่น การแสดงบทบาทสมมติ

                การสอนแบบการแสดงบทบาทสมมติ  การแสดงบทบาทสมมติเป็นวิธีการที่ช่วยให้บุคคลได้แสดงความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ  ที่อยู่ภายในออกมา ทำให้สิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่เปิดเผยออกมาและนำมาศึกษาทำความเข้าใจกันได้ ช่วยให้บุคคลเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับตนเอง เกิดความเข้าใจในตนเอง ในขณะเดียวกันการที่บุคคลสวมบทบาทของผู้อื่นก็สามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจในความคิด ค่านิยม และพฤติกรรมของผู้อื่นได้เช่นเดียวกัน

 

สรุป

                การจัดรูปแบบการเรียนรู้และการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน ควรมีการพัฒนารูปแบบการสอนให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพื่อให้ผู้เรียนทุกคนบรรลุผลการเรียนในระดับสูง มีคุณภาพและประสิทธิภาพในการดำรงชีวิต ซึ่งในการจัดรูปแบบการเรียนรู้และการพัฒนาการสอนนั้นเราควรคำนึงถึงจุดประสงค์ของบทเรียน ลักษณะของเนื้อหาสาระ ลักษณะของผู้เรียน เวลา สถานที่และจำนวนผู้เรียนเป็นหลัก โดยการสอนที่ดีนั้นจำเป็นต้องมีการวางแผนและการเตรียมการสอนที่ดี วิธีการสอนควรมีวิธีที่หลากหลาย รวมไปถึงการใช้นวัตกรรมหรือสื่อการเรียนการสอนที่ใหม่ ๆ เพิ่มเพิ่มความน่าสนใจและความกระตือรือร้นของผู้เรียนไปในตัวด้วย

หมายเลขบันทึก: 547095เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2013 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2013 11:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท