ลปรร. : จาก 1 หลักสูตร 1 ชุมชน ม.มหาสารคาม สู่งานบริการวิชาการแก่สังคม ม.นครพนม


ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้ “งานบริการวิชาการแก่สังคม” ของสถาบันอุดมศึกษาในแต่ละแห่ง ไม่ได้ด้อยไปกว่า “งานวิจัย” เลยแม้แต่น้อยนิด เนื่องเพราะการนำองค์ความรู้ไปสู่การถ่ายทอดและร่วมเรียนรู้กับชาวบ้าน (เรียนรู้คู่บริการ) นั้นสามารถต่อยอด หรือทำควบคู่ไปกับการเป็นวิจัยในชั้นเรียน หรือแม้แต่วิจัยเพื่อรับใช้สังคมได้เป็นอย่างดี รวมถึงหากสามารถเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา หรือผู้เรียนได้มีบทบาทต่อการขับเคลื่อน ยิ่งเป็นกระบวนการปฏิรูปการเรียนการสอนที่น่าสนใจ

(1)

 

28-29 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา  ผมได้รับเชิญจากทีมงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยนครพนม  เพื่อเป็นวิทยากรเกี่ยวกับประเด็น ”การขับเคลื่อนงานบริการวิชาการแก่สังคม” โดยนำระบบและกลไกของมหาวิทยาลัยมหาสารคามไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้-

การได้รับเชิญครั้งนี้ ต้องขอบพระคุณคณะทำงาน หรือผู้บริหารด้านงานบริการวิชาการแก่สังคมของมหาวิทยาลัยนครพนมเป็นอย่างสูงที่เปิดสร้างสรรค์พื้นที่ให้ผมได้ร่วมเรียนรู้และเติบโตอย่างมีพลัง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ต้องขอบคุณกัลยาณมิตรจาก Gotoknow (Kawao_กัลยา มิขะมา) ผู้ซึ่งเป็นต้นน้ำของการประสานงานและสร้างพื้นที่ของการเรียนรู้ร่วมกันในครั้งนี้



เวทีดังกล่าวขับเคลื่อนภายใต้ชื่อ โครงการ “แลกเปลี่ยนเรียนรู้เปิดโลกงานบริการวิชาการมหาวิทยาลัยนครพนม : เสริมสร้างความรู้สู่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง”

ในเวทีดังกล่าวนี้ แม้มิใช่เวทีเชิงมหกรรมอันหรูหราใหญ่โต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามี “คุณค่าและมูลค่า” อย่างมหาศาล  เป็นการงานอันง่ายงาม แตะต้องสัมผัสได้อย่างไม่เคอะเขิน หรือกระดากใจ

แน่นอนครับ-ความง่ายงามที่ผมว่านั้นถูกรังสรรค์ขึ้นตามขนบการจัดงานทั่วไปนั่นแหละ อาทิ การแสดงนิทรรศการ  การเสนอผลงานของนักวิชาการ การสะท้อนผลการเรียนรู้ของชุมชน เป็นที่ตั้ง

ผมชอบความง่ายงามเช่นนั้น  เพราะการเสนอผลงานบนเวทีของนักวิชาการนั้น ไม่ใช่การบรรยาย บอกเล่าสื่อสารทางเดียว หากแต่ถูกออกแบบด้วยการสื่อสารสองทางคือการ “เสวนา” โดยมี ดร.กัลยา มิขะมา ทำหน้าที่เป็นผู้นำการเสวนา  (Kawao_กัลยา มิขะมา) ซึ่งต้องยอมรับว่าทำการบ้านมาดี ศึกษาโครงการแต่ละโครงการมาค่อนข้างชัด จุดประเด็นคำถามได้คม จับประเด็นได้อย่างเป็นรูปธรรม มิหนำซ้ำยังสร้างความเป็นกันเองกับนักวิชาการผู้เป็นหัวหน้าโครงการแต่ละโครงการได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น ในช่วงการบอกเล่าของชาวบ้านก็ยังมีบรรยากาศที่ไม่ต่างกัน  ถึงแต่จะจำกัดด้วยโต๊ะบรรยาย/เสวนาแบบทางการ แต่ประสบการณ์ทั้งปวงของผู้ดำเนินรายการ ได้ช่วยให้บรรยากาศดูเป็นกันเอง กระตุ้นให้ชาวบ้านไม่เขินอาย หรืออึดอัดใจต่อการบอกเล่า “ผลพวงของการเรียนรู้” หรือการรับบริการวิชาการ (องค์ความรู้) จากมหาวิทยาลัยนครพนม

ทั้งนี้ทั้งนั้นยังใช้กิจกรรมสนุกๆ มาหนุนเสริมเช่นเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงานได้มอบดอกไม้ให้แก่นิทรรศการแต่ละโครงการ  ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของการกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีส่วนต่อการประเมินผลการจัดนิทรรศการไปในตัว




ครับ-ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้ “งานบริการวิชาการแก่สังคม”  ของสถาบันอุดมศึกษาในแต่ละแห่ง ไม่ได้ด้อยไปกว่า “งานวิจัย” เลยแม้แต่น้อยนิด เนื่องเพราะการนำองค์ความรู้ไปสู่การถ่ายทอดและร่วมเรียนรู้กับชาวบ้าน (เรียนรู้คู่บริการ) นั้นสามารถต่อยอด หรือทำควบคู่ไปกับการเป็นวิจัยในชั้นเรียน หรือแม้แต่วิจัยเพื่อรับใช้สังคมได้เป็นอย่างดี รวมถึงหากสามารถเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา หรือผู้เรียนได้มีบทบาทต่อการขับเคลื่อน ยิ่งเป็นกระบวนการปฏิรูปการเรียนการสอนที่น่าสนใ


แน่นอนครับ - ยิ่งหากสามารถออกแบบกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านแนวคิด “เรียนรู้คู่บริการ” บนฐานของกระบวนการวิจัยเพื่อสังคม อันหมายถึงการศึกษาบริบทชุมชน พัฒนาโจทย์ร่วมกับชุมชน เก็บข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล คืนข้อมูล สังเคราะห์ชุดความรู้ร่วมกับผู้เกี่ยวข้อง-ย่อมทรงพลังต่อการพัฒนาการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการพัฒนาท้องถิ่น หรือชุมชนได้อย่างมหัศจรรย์

มิหนำซ้ำ นักวิชาการที่ทำงานด้านการบริการวิชาการดักกล่าว ยังสามารถเติบโตไปสู่การเป็น “นักวิจัย” ได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะกระบวนการที่ผมกล่าวถึงข้างต้นนั้น ล้วนเป็นกระบวนการของการทำงานวิจัยแทบทั้งสิ้น !

 

 

(2)

 

เวทีครั้งนี้  ผมได้นำข้อมูลอันเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง “ระบบและกลไกหน่วยวิจัยเพื่อท้องถิ่นในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม” ไปนำเสนอและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งงานวิจัยดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหาสารคามกับ สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยได้หันมาให้ความสำคัญเกี่ยวกับ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” (งานวิจัยเพื่อรับใช้สังคม) ให้มากขึ้น โดยการบูรณาการเข้ากับภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย (4 In 1)

ภายหลังการนำเสนอข้อมูลของผมยุติลง  จึงกลายเป็นห้วงเวลาของการแลกเปลี่ยน หรือ “โสเหล่” โดยขนานแท้ ซึ่งการโสเหล่ที่ว่านี้ก็เกิดขึ้นบนฐานคิดของการแบ่งปันและเรียนรู้ร่วมกันด้วยหัวใจอันเป็นกัลยาณมิตร มิใช่การอวดเบ่ง หรือแม้แต่หวงแหนและเก็บงำความรู้ใดๆ

 

 

 

ครับ-มีหลายประเด็นที่ถูกหยิบจับมาสนทนาพาทีกัน  แต่ที่ผมสะดุดตาสะดุดใจมากๆ ก็ดูเหมือนจะหนีไม่พ้นประเด็นที่อาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนครพนมได้ถามทัก และโสเหล่ในเวที หรือแต่การฝากถึงคณะผู้บริหารและคณะทำงานด้านการบริการวิชาการแก่สังคมของตนเอง กล่าวคือ

         ·อยากให้มหาวิทยาลัยนครพนม มีระบบและกลไกหนุนเสริมใน              เชิงของ “พี่เลี้ยง” เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่ง
       ประกอบด้วยการหนุนเสริมจากระดับมหาวิทยาลัยและการหนุน
       เสริมในระดับคณะ  ไม่ใช่ปล่อยให้อาจารย์ หรือนักวิชาการแต่ละ
       คนได้ขับเคลื่อนงานบริการวิชาการไปด้วยตนเองในเชิงเดี่ยว
       อย่างน้อยก็ควรได้รับการพัฒนาศักยภาพต่างๆ เช่น การพัฒนา
       โจทย์ การใช้เครื่องมือเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลชุมชน ฯลฯ

  •    อยากให้มหาวิทยาลัยนครพนม เปิดโอกาสให้ "นักศึกษา" ได้มี     ส่วนร่วมกับการบริการวิชาการให้มากขึ้นเหมือนกับที่มหาวิทยาลัย
      มหาสารคามได้ขับเคลื่อน  ทั้งในมิติของรายหลักสูตร ราย
      โครงการ และหากสามารถบูรณาการข้ามสาขาได้ ยิ่งเป็นเรื่องที่ดี
      รวมถึงผลักดันและให้โอกาสกับชมรมต่างๆ ได้ทำกิจกรรมใน
      ทำนองนี้เหมือน "1 ชมรม 1 ชุมชน"

 

 

(3)

 

 

ครับ-ไม่มีที่ใดปราศจากการเรียนรู้ 
นั่นคือวาทกรรมที่ผมได้คิดและเขียนขึ้นเมื่อหลายปีก่อนในหนังสือ “เรียนนอกฤดู” ของผม

การมาเป็นวิทยากรในเวทีนี้ นำพามาซึ่งการเรียนรู้ที่มีความสุขอย่างมหาศาล การนำพาเรื่องราว1 หลักสูตร 1 ชุมชน” ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามมาสู่การเรียนรู้ร่วมกับมหาวิทยาลัยนครพนม คือสิ่งที่ผมภาคภูมิใจ  เพราะการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ ภายใต้นโยบายที่เป็นรูปธรรมของผู้บริหาร ได้ก่อเกิดองค์ความรู้ใหม่ต่อผมและทีมงาน และเมื่อมีองค์ความรู้ ก็มีหน้าที่ในการนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาขยายผล...สื่อสาร ต่อยอดในเวทีต่างๆ และแลกเปลี่ยนกับผู้อื่น หนุนเสริมกันและกันสืบไป และสืบไป...

 

สำหรับมหาวิทยาลัยนครพนมนั้น  ผมเชื่อว่าการเริ่มต้นสร้างเวทีเรียนรู้ร่วมกันเช่นนี้ คือภาพสะท้อนเล็กๆ ที่ง่ายงามของการเดินทางสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนผ่านงานบริการวิชาการนั่นเอง--

หมายเลขบันทึก: 547087เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2013 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 สิงหาคม 2013 23:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

คุณแผ่นดิน ... มีความสุขเสมอนะครับ ;)...

ขอบคุณนะคะ

ขอบคุณที่ให้มุมมอง ร่วมแลกเปลี่ยน

ขอบคุณที่เรารู้จักกัน และขอบคุณที่เราคิดหลายๆ อย่างตรงกัน

หวังว่ามันจะงดงาม และเติบโตต่อไป

มาทักทายและให้กำลังใจคนทำงานจ้ะ

น้องหายไปนานเลยนะคะ สบายดีไหม บ้านเสร็จแล้วใช่ไหมค่ะ 

หลานๆ คงสบายดีนะคะ

 

น้องกลับมาเขียนบันทึกอย่างเต็มอิ่มทุกครั้งค่ะ  มีความสุขมากๆ นะคะ

สังคมยังต้องการคนดี มีฝีมือ และความรู้สำหรับแบ่งปันนะคะ

สวัสดีครับ อ.วัสWasawat Deemarn

...ด้วยความระลึกถึง  
และหวังว่าคงสบายดีและมีความสุขกับการใช้ชีวิต นะครับ

 

สวัสดีครับ อ.เหว่า Kawao_กัลยา มิขะมา

เหมือนและต่างในมุมคิด
ล้วนเป็นบทเติมเต็มกันและกัน
โลกนี้ โอบกอดเราไว้ด้วยความเหมือนและต่างโดยแท้เลยครับ

 

สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

ขอบพระคุณที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ

สวัสดีครับ พี่ Bright Lily

ทำบ้านให้พ่อกับแม่เสร็จแล้วครับ
ยังคงเหลือการแต่งเติมเล้กๆ น้อยๆ 
รวมถึงการแต่สวนในตัวบ้าน  ซึ่งยังต้องใช้เวลาและการเงินอีกมากโขเลยทีเดียวครับ


โครงการดีๆ น่าประทับใจค่ะ

ตามมาเชียร์เพิ่งเห็นกาเหว่าเนี่ยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท