หลักการ ขั้นตอน เทคนิค เคล็บลับ การสอนสะกดคำ ๒


๑.๓ วิธีฝึก(สอน)สะกดคำตามรูปคำและเสียง

- วิธีฝึกสะกดคำตามรูปคำ

- กา สะกดว่า กอ – อา - กา
- คาง สะกดว่า คอ – อา – งอ - คาง
- วิธีฝึกสะกดคำตามเสียง โดยสะกดแม่ ก กา ก่อน แล้วจึงสะกดตามมาตราอื่นๆ

- คาง สะกดว่า คอ – อา – คา – คา – งอ - คาง
- ค้าง สะกดว่า คอ – อา – คา – คา – งอ - คาง - คาง – โท – ค้าง
(แต่จะเห็นชัดเจน ตอนฝึกสะกดคำตามเสียงอักษรนำ หรืออักษรควบ)

ขั้นตอนวิธีฝึกสะกดคำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด

๑. ฝึกให้เห็นรูปคำ แล้วให้อ่านออกเสียงตามให้ถูกต้อง

๒. ฝึกจำรูปคำ และรู้ความหมายของคำ เพราะส่วนมากเป็นคำที่มาจากภาษาต่างประเทศตัวสะกดบางคำบางครั้งไม่ตรงตามมาตราที่ออกเสียง

๓. รู้หลักการสะกดคำ เช่น แต่ละเสียง สามารถใช้ตัวอะไรสะกดตามแม่มาตรานั้นๆได้บ้าง

๔. คำที่มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา จะไม่สอนฝึกสะกดคำ แต่ใช้หลักการสังเกตรูปคำ จำคำให้ได้ โดยอ่านและเขียนบ่อยๆ

......................................


๑.๔ วิธีฝึก(สอน)สะกดคำอักษรนำ มี ๓ วิธี คือ

๑. ถ้า ห นำ ย ร ล ว มี ๓ อย่าง คือ

๑.๑ ให้ออกเสียงพยัญชนะนำก่อน เช่น หมา ออกเสียงว่า หมอ – อา – หมา เพื่อให้เห็นว่าอักษรตัวแรกมีอิทธิพลต่อตัวที่สอง

๑.๒ ให้อ่านแบบเทียบเสียง เช่น ลา – หลา, มา – หมา, ลาด – ตลาด เพื่อสังเกตเสียงอ่าน

๑.๓ ให้สะกดคำแบบเรียงพยัญชนะ เช่น หย่า เขียนว่า หอ–ยอ–อา - หยา –ไม้เอก –หย่า ทั้งนี้เพื่อการจำรูปคำ

๒. ถ้า อ นำ ย ให้ออกเสียง อย เป็นเสียง ย แล้วสะกดคำ เช่น อย่า สะกดว่า ยอ – อา – ยา – ไม้เอก – อย่า (ออกเสียง อย่า เพราะอิทธิพลของเสียง อ ที่เป็นอักษรนำ)

๓. ถ้าเป็นคำ อย่า อยู่ อย่าง อยาก ไม่ควรสะกดคำ ให้จำรูปคำเลย

.................................


๑.๕ วิธีฝึก(สอน)การสะกดคำที่อักษรสูงนำอักษรต่ำเดี่ยว หรืออักษรกลางนำอักษรเดี่ยว ทำได้ ๒ วิธี คือ

๑. ให้ออกเสียงนำก่อน เช่น สน ออกเสียงว่า สะ – หนอ, สม ออกเสียงว่า สะ – หมอ แล้วจึงสะกดคำเพื่อออกเสียงให้ถูกต้อง เช่น เสมอ อ่านว่า สะหมอ – เออ – สะ – เหมอ, สนอง อ่านว่า สะหนอ – ออ – งอ = สะหนอง

๒. ใช้วิธีสะกดคำแบบเรียงตัวพยัญชนะ แต่มุ่งเขียนคำให้ถูก เช่น สนอง สะกดว่า สอ-นอ-ออ-งอ = สะหนอง วิธีนี้นักเรียนจะไม่ได้หลักการออกเสียง แต่ถ้าอ่านเขียนบ่อย จะทำให้อ่านได้ถูกต้องเอง

………………………..


๑.๖ วิธีฝึก(สอน)สะกดคำอักษรควบ มี ๒ วิธี คือ

๑. สะกดคำเพื่ออ่าน จะมุ่งที่เสียงของคำด้วยการอ่านอักษรควบก่อน เช่น กรอง อ่านว่า กรฺอ - ออ – งอ = กรอง

๒. สะกดคำแบบเรียงพยัญชนะต้น วิธีนี้สะกดเพื่อเขียน เช่น กราบ เขียนว่า กอ – รอ – อา – บอ = กราบ

ถ้าครูสอนให้นักเรียนสะกดคำเพื่ออ่าน แบบเรียงพยัญชนะต้น จะทำให้นักเรียนออกเสียงควบไม่ชัด เพราะนักเรียนจะออกเสียงเฉพาะพยัญชนะตัวแรก และทิ้งเสียงพยัญชนะที่สอง

………………………..

หมายเลขบันทึก: 546611เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 10:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 สิงหาคม 2013 10:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท