จุดจบ..หรือจุดเริ่มต้น.....ของพยาบาลชำนาญการพิเศษ


"ไม่มีใครรู้เรื่องของหนูหรอก หนูต้องรู้เรื่องของหนูดีที่สุด"

    เมื่่อวานได้รับการติดต่อจากพยาบาลท่านหนึ่ง

  "ช่วยคิดหัวข้อทำวิจัยเพื่อขอตำแหน่งชำนาญการพิเศษให้หน่อย"

คำถามนี้คุ้นๆ เมื่อตอนวันแรกๆ ของการเรียนโท จำได้ว่า ขวนขวายหาหัวข้อวิจัยทุกวัน ทุกนาที และทุกลมหายใจ ใครเดินผ่านมามักจะถูกฉันถามทุกคน แต่แล้วสิ่งที่เขาตอบหรือบอก ไม่ว่าจะเป็นคำตอบตรงๆ ให้หัวข้อเลย หรือมีเพียงรอยยิ้มให้ฉัน ฉันก็ไม่ได้คำตอบที่ถูกใจ 

    เวลาผ่านไปเรียนโท ทำให้เราต้องอ่าน อ่าน แล้วก็อ่าน ผสมกับการวิเคราะห์แก้ปัญหาการบ้านที่ได้รับมอบหมาย ทำให้เราค้นพบปัญหาในงานการพยาบาลของเราเอง และนำมาสู่กระบวนการหาคำตอบ หาจากตำรา ผลวิจัยที่ผ่านมาไม่ได้วิธีแก้ไข เราจึงทำวิจัยเรื่องนั้นเลย

  มีอีกกรณีที่จะเล่าเรื่องการหาโครงการที่จะทำ ตอนก่อนสอบ APN (พยาบาลผู้ปฏิบัติการพยาบาลขั้นสูง) พยายามหาคำตอบว่าฉันทำงานในหน่วยวิกฤต ฉันจะโครงการอะไรดี ถามหมด ตั้งแต่ หัวหน้าฝ่ายการ อาจารย์ ที่สำคัญถามแม้กระทั่งอาจารย์ที่จะต้องสัมภาษณ์ APN กับฉัน คำตอบที่ได้คือ "ไม่มีใครรู้ของหนูหรอก หนูต้องรู้เรื่องของหนูดีที่สุด" ใช่เลย ใช่เลย ไม่มีใครรู้จริงๆ จนกลับมานั่งมองที่ทำงานของฉัน คนไข้มีปัญหาให้ฉันแก้ไขเยอะแยะมากมาย ชาตินี้ไม่รู้จะแก้หมดได้อย่างไร ฉันบ้าจริงวิ่งหาปัญหาอยู่ได้

  ไม่ต่างจากคำถามของพยาบาลท่านนั้นเลย ในใจฉันคิดว่า ไม่ต้องรอคำตอบหรอกค่ะ เพราะไม่มีคำตอบ ไม่ได้อยู่ในบริบทของท่าน ไม่รู้ว่าหน้างานของท่านมีปัญหาอะไรบ้าง คำตอบที่ให้มีแต่รอยยิ้มและหัวเราะ หึหึหึ

  ที่สำคัญพยาบาลที่ทำวิจัยได้สำเร็จ 1 เรื่อง ขอตำแหน่งชำนาญการพิเศษมาครอบครองแล้ว เลิกทำวิจัยอีกเลย ได้ยินพูดว่า "พี่หลาบเลยวิจัย ไม่ต้องมาพูดกันอีกชาตินี้" คำพูดเหล่านี้แปลว่าอะไร ตอบได้อย่างเดียวว่าเขาทำวิจัยเพราะถูกบังคับให้ทำ มีผลประโยชน์จูงใจให้ทำ เมื่อได้ประโยชน์แล้วจึงเลิกทำ แต่การหาวิธีแก้ปัญหาการทำงานด้วยตัวเอง จะทำให้ได้โจทย์วิจัยที่เราทำแล้วมีความสุข ไม่ท้อถอยง่ายๆ  

  สิ่งที่อยากบอกในบันทึกนี้คือว่า

   1. ถ้ามองในมุมของวิจัย พยาบาลเราโชคดีที่มีแหล่งข้อมูลเป็นของตัวเอง 

   2. ปัญหามีให้เราแก้ได้มากมาย ไม่ต้องวิ่งไปหาหัวข้อวิจัยที่ไหน มองอย่างคนนอกดูว่าปัญหาในที่ทำงานเราจริงๆ มีอะไรบ้าง แล้วหาแหล่งความรู้ ตำรา ผลงานวิจัย ว่าเอามาแก้ปัญหาเราได้ไหม ถ้าไม่ได้ เราต้องหาวิธีการปัญหา นั่นคือได้หัวข้อวิจัยแล้ว ซึ่งในกระบวนการทำ เราต้องเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ (เพราะวิจัยคือการเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ)

   3. ถ้าวิธีแก้ปัญหาตามข้อ 2 มีแล้ว แต่นั่นคือการแก้ปัญหาของที่อื่น ไม่ใช่ที่เรา อาจใช้ไม่ได้ทั้งหมด เราก็ต้องเอาวิธีแก้ปัญหานั้นมาลองทำที่เราดู แล้วเก็บผลลัพธ์อย่างเป็นระบบ นี่ก็ได้วิจัยแล้ว จะเป็น R2R, PAR หรืออะไรก็ได้

   4. หาวิธีเขียนโครงร่างวิจัย ไม่ยาก dowload เอาจาก google มีให้เยอะมาก 

   5. หาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งก็ต้องหา 2 แบบ แบบแรก เอาแบบผู้รู้เรื่องที่เราทำ แบบที่ 2 เอาแบบคนในหน่วยใกล้เคียงกับเราที่พอจะเข้าใจปัญหาวิจัยของเรา  ไม่ต้องเอาแบบผู้ทรงฯ ที่เราจับต้องไม่ได้ อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้แต่มีชื่อเสียงมาก สิ่งที่เหล่าจะทำให้เรารอจนต้องกินลูกท้อเสียก่อน

  6. การขออนุญาตแหล่งข้อมูล อยู่ที่ไหนก็ขออนุญาตที่นั่น หาข้อมูลว่าต้องขออย่างไร

  7. ผ่านไปเกินครึ่งแล้ว เหลือเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ ซึ่งเราจะมีความสุข เพราะเป็นการหาคำตอบที่เราต้องการจริงๆ 

  8. เตรียมตีพิมพ์ แล้วส่งตีพิมพ์ เป็นขั้นตอนสุดท้าย ขึ้นกับความอยาก ว่าจะส่งที่ไหน ให้ dowload หัวข้อที่ต้องเขียนมาเลย

 

สุดท้ายนี้เป็นกำลังให้หาหัวข้อวิจัยด้วยตัวเอง เพราะจะมีผลกับความสำเร็จ ความสุขของเราเอง 

ผู้ป่วยได้รับประโยชน์ ผู้ทำวิจัยได้รับประโยชน์ WIN-WIN

 

CHEER!!!!!!

 

คำสำคัญ (Tags): #วิจัย#พยาบาล
หมายเลขบันทึก: 546399เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2013 08:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2013 13:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

“ช่วยคิดหัวข้อทำวิจัย..” เป็นคำร้องขอที่น่ารักน่าเอ็นดูมาก การขอให้ช่วยในลักษณะนี้เป็นการขอที่ไพเราะที่สุดที่เคยได้รับ เพราะเคยได้ยินแต่คำว่า “ทำให้หน่อย” “ช่วยหน่อยนะ” “รับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้” บางคนหนักกว่านี้ “ทำไปเลยนะ จ่ายเต็มที่” บางคนติดต่อข้ามห้วยมาเลย .. “ดิฉันได้ยินว่าคุณทำให้หลายคนแล้ว ผ่านรอบเดียวไม่ต้องแก้เลย” .. คุณได้ยินมาถูกต้องแล้ว เพราะนั่นเป็นสายการพยาบาล และดำเนินการจริง ดิฉันยอมใส่ชื่อให้เพราะเขาเปิดทางสะดวกให้ และคอยกำจัดเสี้ยนหนามระหว่างทางให้จนงานสำเร็จค่ะ .. หากได้ยินคำว่า “ช่วยคิดหัวข้อทำวิจัย..” ละก็ หมายความว่าเขาจะทำเอง พยาบาลได้พัฒนาตนเองและผู้ป่วยได้ประโยชน์ ดิฉันอยากจะกระโดดกอด หอมแก้มซ้ายขวา แล้วจูงมือมานั่งคุย.. จาก พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ.. นานเป็นพิเศษ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท