ผมสงสัยว่าเราใช้คำว่า ห้องเรียนกลับทาง กันถูกหรือเปล่า?


ในขณะที่บรรยากาศของการศึกษาไทย โดยเฉพาะในชุมชน G2K อบอวลไปด้วย tag “ห้องเรียนกลับทาง” ผมลองหา tag เกี่ยวกับ ห้องเรียนผสมผสาน blended learning หรือ hybrid learning ที่เป็นหลักการและทฤษฏีการออกแบบการเรียนการสอนกลับมีไม่เยอะครับ

วันนี้เลยอยากจะมาชวนคุยเรื่องคำนิยามของ “ห้องเรียนกลับทาง” กันหน่อยครับ อย่าหาว่าผมมาทวนกระแสหรืออะไรเลยนะครับ ผมคิดว่าครูอาจารย์หลายๆ ท่านต้องการที่จะใช้ผลการสอนผลการทดลองการทำห้องเรียนกลับทางเพื่อขอผลงานบ้าง เพื่อนำไปเสนอต่อชุมชนวิชาการในที่ต่างๆ บ้าง ถ้าเรายังไม่ชัดเจนกับความหมาย คนฟังเขาจะสับสนไปด้วยเท่านั้นเองครับ

Flipped Classroom ถ้าจะว่ากันจริงๆ มันก็คือการเอาการบรรยายไปไว้นอกชั้นเรียน ให้ผู้เรียนได้เรียนเอง และเปลี่ยนการเรียนในชั้นให้เป็นการทำ Inquiry Based Learning (ไม่รู้จะแปลเป็นไทยว่าอะไรครับ น่าจะประมาณว่าเป็นกิจกรรมการทดลองอะไรต่างๆ) ความหมายมันก็สั้นๆ เท่านี้เองครับ [1]

สำหรับมุมมองของการออกแบบการเรียนการสอน (instructional design) นั้น การกลับทางห้องเรียนเป็น “เทคนิค” หรือ “วิธี” ในการออกแบบเท่านั้น โดยไม่ได้อิงอยู่กับทฤษฏีการเรียนการสอนใดๆ เลย แต่มันเป็นการบอกเป็นนัยว่าการบรรยายนั้นทำที่ไหนก็ได้ แต่การทำกิจกรรมควรทำด้วยความดูแลของผู้สอน ซึ่งเรื่องแค่นี้ก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันมากโดยเฉพาะในชุมชนครูอาจารย์ในต่างประเทศ ลองดูความเห็นในบล็อกนี้ได้ครับ เขาใส่กันสนุกสนานเลย

ถ้าจะให้จำกัดกันที่ความหมายแค่นี้ ผมคิดว่าบันทึกหลายๆ ชิ้นใน G2K ของเราอ้างความหมายของคำว่า Flipped Classroom เกินเลยไปจากความหมายดั้งเดิมมาก และไม่ได้หมายความว่าเราต่อยอดความคิด แต่หมายความว่าเราเอาความหมายของคำว่า “ห้องเรียนกลับทาง” ไปทับซ้อนกับคำนิยามของคำอื่นที่มีมาก่อน นั้นคือการเรียนการสอนแบบผสมผสาน หรือ Blended Learning ซึ่งเป็นโมเดลที่ครอบคลุมเอา Flipped Classroom ไว้ ตามที่ใน wikipedia บอกไว้ว่ามันเป็นรูปแบบหนึ่งของ Blended Learning

แม้คำว่า Blended Learning จะมีหน่วยงานและองค์กรหลายแห่งให้คำจำกัดความ แต่ความหมายกว้างๆ คือการผสมเอา Traditional Model กับ Online Model เข้าด้วยกันเท่านั้นเองครับ ดังนั้นถ้าสิ่งที่เรากำลังทำคือให้เด็กส่งงานออนไลน์ และให้เด็กทำ Quiz ออนไลน์ นั้นไม่ใช่ห้องเรียนกลับทางนะครับ แต่เป็น Blended Learning ธรรมดาๆ นี้ละครับ หรือถ้าเราให้การบ้านผู้เรียนไปอ่านหนังสือมาก่อน และมาทำกิจกรรมในห้องแทน ผมก็เข้าใจว่ามันไม่ใช่ Flipped Classroom นะครับ เพราะคำจำกัดความจริงๆ ของเขาคือต้องเป็นการ “บรรยาย” เท่านั้น

แม้ว่าเราจะเห็นพ้องกันว่า Flipped Classroom เป็นของดี และการโยกย้ายเอาการบรรยายไปไว้นอกชั้นเรียนก็เป็นเรื่องที่ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมได้ แต่กิจกรรมการเรียนการสอนไม่ได้มีแค่สองมุมคือ การบรรยายและทำกิจกรรมนะครับ ยังมีเทคนิควิธีอะไรอีกมากมายที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ ซึ่งกิจกรรมแบบไหน เหมาะกับการเรียนในชั้น แบบไหนเหมาะกับการเรียนออนไลน์ ตรงนี้แหละครับที่ทฤษฏีและงานวิจัยด้าน Blended Learning มีคำตอบให้ได้

สำหรับตอนนี้ ลองแวะไปดูเรื่องราวของ Blended Learning หรือการเรียนผสมผสานได้ที่นี่ครับ

อ้างอิง

[1] Definition of Terms: http://www.flippedclassroom.com/help/definitions.php

หมายเลขบันทึก: 546357เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2013 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 20:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สงสัยเหมือนกันนะคะ...รออ่านค่ะอาจารย์...ขอบคุณค่ะ

รออ่านบันทึกต่อไปค่ะ ขออนุญาตขอแบบมี technical term ที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ขอบคุึณนะคะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท