303: ผู้นำคลื่นลูกใหม่...ดูใจชมนครวัด... ^_^...


ผมได้มีโอกาสร่วมคณะไปกับ โครงการพัฒนาผู้นำคลื่นลูกใหม่ในราชการไทย ปี 2556 จัดโดยสำนักงาน ก.พ.ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่ม ข้าราชการ ระดับชำนาญการในราชการไทย แต่ละรุ่นมีประมาณ 30 ท่าน โดยแต่ละกรมส่งได้ 1 ท่าน ในปีหนึ่งๆ ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 รุ่น ปีปัจจุบันเป็น รุ่น 16 และ 17 ...  

โครงการพัฒนาผู้นำคลื่นลูกใหม่ในราชการไทย เป็นความพยายามในการสร้าง แนวร่วมผู้นำการพัฒนาระบบราชการ สำหรับข้าราชการผู้ที่มีศักยภาพสูงในการเป็นผู้นำ และมี คุณสมบัติที่เหมาะสม เพื่อเป็นแรงเสริมให้การพัฒนาระบบราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จ ...โดยมีการระดมความคิดเห็นจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาผู้นำ ทั้งใน ภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิชาการ เพื่อพัฒนาเป็นหลักสูตรการพัฒนาผู้นำคลื่นลูกใหม่ในราชการไทย ซึ่งได้ทดลองดำเนินการเป็นโครงการนำร่องครั้งแรกใน ปี พ.ศ. 2542 และได้ดำเนินการฝึกอบรมต่อเนื่องมาเป็นประจำ [http://sep.ocsc.go.th/newwave/web/index.aspx]

ในโครงการจะมีการเข้าอบรมแบบเต็มเวลา เป็นเวลารุ่นละ 5 สัปดาห์ และจะมีช่วงประเมินผลในช่วงท้ายที่จะเป็นการรวมตัวกันของทั้งสองรุ่น ... และนี้คือส่วนที่ผม มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้อง คือผมเป็นหนึ่งในผู้ร่วมโครงการนี้ รุ่น 14 แต่เนื่องด้วยปีที่แล้ว ลาอุปสมบทเป็นเวลา 3 เดือน จึงไม่ได้เข้าร่วมช่วงประเมินในปี 2555 ... ในปีนี้จึงได้มีโอกาสมาร่วมกับ รุ่น 16 และ 17...^_^

ช่วงประเมินผลเราได้โอกาสจาก สำนักงาน ก.พ.ไปเยี่ยมชม เมือง นครวัด ประเทศกัมพูชา... ซึ่งถือว่าเป็น สิ่งมหัศจรรย์ ของโลก 1 ใน 7 ... เมื่อได้โอกาสไปชม นครวัด แล้ว...

จึงขอนำเสนอเรื่องราว มุมมองหนึ่งของความเป็นผู้นำคลื่นลูกใหม่...จากการได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ของเมืองนครวัด...

 

สิ่งที่เราเห็นในการไปเยี่ยมชมครั้งนี้สิ่งแรกคือ ความรุ่งเรื่อง (Civilization) สิ่งก่อสร้างที่มีอายุกว่า 900 ปี วางตัวอยู่ตรงหน้า... ไกด์ท้องถิ่นชาวเขมรบอกเราว่า นครวัดเป็นศาสนสถานตั้งอยู่ในเมืองพระนคร จังหวัดเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา สร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 โดยเป็นศาสนสถานประจำพระนครของพระองค์ ตัวเทวสถานได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี จนเป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญเพียงแห่งเดียวที่ยังเหลือรอดมาจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่ก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่เดิมนครวัดเป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่พระวิษณุ ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นศาสนาพุทธ นครวัดเป็นสิ่งก่อสร้างทางศาสนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ตัวเทวสถานถือเป็นที่สุดของสถาปัตยกรรมเขมรสมัยคลาสสิกรุ่งเรือง และได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศกัมพูชา โดยปรากฏในธงชาติ และเป็นจุดท่องเที่ยวหลักของประเทศ ตลอดจนได้รับลงทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองพระนคร

ปราสาทนครวัดได้เริ่มสร้างในกลางพุทธศตวรรษที่ 17 ในรัชสมัยของ พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เพื่อบูชาแด่พระวิษณุหรือ พระนารายณ์ ในปี พ.ศ. 1720 ชาวจามได้บุกรุกขอม ทำให้พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ต้องย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองนครหลวง หรือ เสียมราฐ ในปัจจุบัน หลังจากนั้น พระองค์จึงสร้างเมืองนครธม และ ปราสาทบายน ห่างจากปราสาทนครวัดไปทางเหนือ เพื่อเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของชาวขอม  [http://commons.wikimedia.org/wiki/File:Angkor_Wat_from_moat.jpg]

ในฐานะของความเป็นวิศวกรโยธาที่ดูแลงานก่อสร้างสะพาน ก็ได้เห็นว่า สิ่งก่อสร้างที่อยู่ในสถานอยู่ในสภาพที่ดีมาก คลองที่ขุดรอบมีขนาดกว้างเป็น ร้อยเมตร สะพานหินที่ทำข้ามคลองทำได้อย่างน่าทึ่ง คือแม้เวลาผ่านไปหลายศตวรรษ สะพานยังคงแข็งแรงและพื้นอยู่ในระดับเดียวกับส่วนของปราสาท ...ศิลปะการแกะสลักหินทรายก็มีความงดงาม คงทน และ สะท้อนศรัทธาของคนสมัยนั้น มาได้จนถึงกาลปัจจุบัน...

ความยิ่งใหญ่ของงานด้านวิศวกรรมและศิลปกรรม ที่เกิดขึ้นด้วยแรงศรัทธาอันแรงกล้านี้...ส่งพลังอันงดงามมาสู่ใจของผู้เยี่ยมชม บวกผสานกับเรื่องราวที่ไกด์เล่าเสริมว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ได้เชิญชวนประสกนิกร ของพระองค์มามีส่วนร่วมในการสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่นี้ด้วยกัน ...สิ่งมหัศจรรย์นี้จึงเกิดขึ้นได้ด้วย  ด้วยการร่วมใจและศรัทธา "สร้างเมือง" ร่วมกันของคนทุกชนชั้นในสังคม...

...ในช่วงเดินทางกลับ ไกด์คนเก่งของเรา ได้เล่าเรื่องอีกแง่มุมหนึ่งที่พึ่งจบลง ณ สถานที่เดียวกันเมื่อ 38 ปีก่อน สมัย เขมรแดง เข้ามามีบทบาทในการปกครองแผ่นดินกัมพูชา... เรื่องราวที่เราได้ยินสะท้อนถึง การเปลี่ยนแปลง (Change) ที่เกิดขึ้นในสถานที่นี้ เมื่อผู้นำที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในแนวทางที่ตนยึดมั่นหนึ่งอย่างรวดเร็ว โดยที่หากมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ ทำลาย ...การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดขึ้นรวดเร็วมาก จนคนเขมรเองตกอยู่ใน ห้วงแห่งความกลัว ไปทั้งประเทศ ไกด์ให้ข้อมูลอีกว่า ด้วยนโยบายของเขมรแดง ทำให้มีคนเขมรด้วยกันเสียชีวิตไปมากกว่า 2 ล้านชีวิต...ภาพเหตุการณ์ที่ ไกด์ชาวเขมรคนนี้เล่าสะท้อนออกมาทางแววตา เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยพ่อของเค้านี้เอง สิ่งนี้ไม่ถูกลืม และเห็นได้ชัดว่า มีผลต่อไกด์คนนี้มาก แม้ว่าเค้าเองได้เกิดขึ้นมาหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว... 

สถานที่เดียวกันนี้ ได้บอกให้เราเห็นผลของความเปลี่ยนแปลงทางแนวความคิดของผู้นำ...ว่าจะเป็นไปเพื่อ

"การสร้างเมือง หรือ การทำสงคราม..."

...การเลือกทางเดินหรือแนวคิดของผู้นำ ส่งผลอย่างกว้างขวางต่อผู้คน ทั้งในสมัยนั้น ๆ และ สมัยต่อ ๆ มา ...เรารู้สึกกับชาวเขมรได้ถึง ความภาคภูมิใจในการสร้างความรุ่งเรือง และขณะเดียวกันความกลัวในช่วงสงครามภายใน...

เรายังเห็นอีกว่า ปัจจัยมากมายจริง ๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวยิ่งใหญ่เหล่านี้ เวลา สถานที่ ผู้คนในสังคมและนอกสังคม ภัยธรรมชาติ... มากจนเหมือนว่าเราจะทำอะไรไม่ได้... และเหมือนจะต้องยอมรับหรือยอมจำนน กับปัจจัยที่เกิดขึ้น...

ลองมองการเปลี่ยนแปลง...

...มีสำนวนสามก๊กบอกไว้ว่า "เมื่อแตกแยกมานาน ก็จะรวมสมาน... รวมสมานมานาน ก็จะแตกแยก"...

...ตะวันตกบอกว่า "Mix & Match" เข้าใจความแตกต่าง ปรับเปลี่ยนตามสถาณการณ์ เพื่อ ให้เกิดการสร้างสรรค์และร่วมกันได้

...วิถีทางแห่งพุทธมุ่งเน้นให้เห็นถึง ความเปลี่ยนแปลง "อนิจจัง" ว่าเป็นเรื่อง ธรรมดา ธรรมชาติ... เข้าใจการเปลี่ยนแปลงว่าเป็น "เช่นนั้นเอง" ...

เห็นอย่างงี้ ก็เกิดคำถามว่า เราจะมองกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงอย่างไร...

การจัดการกับปัจจัยภายนอก ดูเหมือนจะมีข้อจำกัด... หากเรา เริ่มหันเข้ามามองจากภายใน (Start from Within) ก็อาจจะพอเป็นไปได้ ... การดูสภาวะใจภายในที่เกิดขึ้นต่อเหตุปัจจัยการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ... ใจหงุดหงิด โกรธ อยากมี อยากได้ หรือ กังวลสงสัย กับการเปลี่ยนแปลง หรือ เป็นใจที่ สงบ เยือกเย็น แน่แน่ว ไม่หวั่นไหว เมื่อมีสิ่งมากระตุ้น...

การหันกลับมาดูข้างในนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ควบคุมได้ที่สุด ... แต่จากประสบการณ์ของพวกเรา กลับเป็นสิ่งที่เหมือนจะยากมาก... เรามักจะไหลไปกับ ปัจจัยที่มากระทบ... การฝึกที่จะดูการเปลี่ยนแปลงภายใน นี้จะเป็นโอกาสที่จะทำให้เพิ่มศักยภาพในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกได้ดีขึ้น....

...สำหรับผู้ที่จะต้องเป็นผู้นำ การหันกลับเข้ามามองภายใน ยิ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ... เพราะด้วยศรัทธาที่ต่างออกไปนั้น จะมีผลต่อชนหมู่มาก อย่าง ดินแดนเมืองนครวัดที่เราไปเยี่ยมชม ... แล้วใจแบบไหนที่ผู้นำควรจะฝึกให้เป็น...

...เคยมีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผมให้ความเคารพ เคยสอนผมไว้ว่า... การที่เราเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล... เราได้รับโอกาสในการพัฒนาตัวเองมากกว่าคนอื่นในประเทศ... เหมือนกับว่า เราเป็นนักวิ่งตัวแทนประเทศ ...เราได้รับการฝึกฝนที่ดีคือได้อาหารที่ถูกต้อง ที่พักอาศัย อุปกรณ์ในการพัฒนา ได้โค้ชที่ดี ... เป้าหมายอาจเหมือนว่า เพื่อให้เราพัฒนาจนวิ่งได้เร็วที่สุด... แต่สำหรับนักเรียนทุนที่เป็นตัวแทนประเทศ... เป้าหมายที่แท้จริงอยู่ที่การที่เราสามารถพัฒนาความสามารถของเราและวิ่งออกไปข้างหน้าก่อนใคร ให้เห็นช่องทาง ที่ดีและเป็นประโยชน์ ที่สำคัญคือ หันกลับมาบอกคนในประเทศอีกกว่า 60 ล้านคน ว่า เราน่าจะวิ่งไปทางไหน... และนี้ก็น่าจะเป็นหน้าที่ของผู้นำที่ควรจะเป็น... คือ พัฒนาตนเพื่อให้มีศักยภาพพอที่จะช่วยนำพาผู้อื่นได้...

[http://theleadersdigest.me/2012/10/16/the-compassionate-leader/]

ท่านดาไล ลามะ กล่าวไว้ว่า ..."ถ้าเราต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข ก็จงฝึกเมตตา... ถ้าเราอยากให้เรามีความสุข ก็จงฝึกเมตตา"

ท่านพุทธทาส สอนไว้ว่า ..."ธรรมะคือหน้าที่... หน้าที่คือธรรมะ"... โดยท่านมุ่งที่ความหมาย ของการปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้อง... ถูกต้องอย่างไร ...ถูกต้องอย่างที่เรียกว่า สงบเย็น และ เป็นประโยชน์... ประโยชน์อย่างไร ประโยชน์กับทุกฝ่ายแล้วสร้างสรรค์ด้วยความสงบเย็น..." 

...

...

...หากเรามองเห็นธรรมชาติของ ความรุ่งเรื่อง (Civilization)  เข้าใจการเปลี่ยนแปลง (Change) และจัดการเรื่องราวต่าง ๆ โดยเริ่มจากภายใน (Start from Within) น่าจะทำให้ 'ใจ' ของผู้นำที่มีการฝึก เลือกทางเดินของความเมตตา... ด้วยความ สงบเย็น และ เป็นประโยชน์ (Peaceful and Useful Mind) และ นำพาผู้คนหรือมหาชนไปสู่ ความภาคภูมิใจในการ "สร้างเมือง" ... มากกว่า ความกลัวในห้วงแห่ง "สงคราม"...

และนี่ก็เป็นเพียง  "ผลไม้ของใจ..." ที่ขอบันทึกไว้เพื่อพิจารณาต่อไป...^_^ 

หมายเลขบันทึก: 546220เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2013 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2014 13:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท