การอบรมบ่มอินทรีย์...


การอบรมบ่มอินทรีย์...

คนเรามันมีความหลง เมื่อมีความหลงแล้วมันก็มีความอยากความต้องการ แล้วก็พยายามสร้างเหตุสร้างปัจจัยเพื่อจะได้สิ่งที่ตัวเองเข้าถึงจุดประสงค์ที่ตั้งไว้...

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนรู้จักตัวเอง ให้พากันมีสติสัมปชัญญะให้มันสมบูรณ์ พระอรหันต์น่ะท่านมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ กิเลสคือความอยากไม่สามารถที่จะไปแทรกแซงจิตใจของท่านได้ 

การเจริญสติสัมปชัญญะของเราทุก ๆ คนนี้เป็นสิ่งที่ดีแล้วก็เป็นสิ่งที่จำเป็น

พระพุทธเจ้าท่านให้เราทุก ๆ คนให้มีสติสัมปชัญญะ ให้ใจอยู่กับเนื้อกับตัว ส่วนใหญ่น่ะเราไม่ค่อยมีสติสัมปชัญญะ ใจไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่เป็นตัวของตัวเอง ถูกกิเลสมันครอบงำถูกกิเลสมันกดดันให้กระทำการต่าง ๆ โดยไม่เหมาะไม่ควรน่ะ “ไม่มีเรื่องก็พากันไปทำเรื่อง ไม่มีปัญหาก็พากันไปทำปัญหา” 

แรงเหวี่ยงของกิเลสหรือความอยากของเรานี้... มันกดดันให้สัตว์โลกทั้งหลายพากัน   ทำบาปทำกรรมโดยไม่รู้สึกตัวเอง เลยคิดว่าการกระทำอย่างนี้เป็นเรื่องถูกต้อง เป็นเรื่องธรรมดา เพราะประชาชนคนส่วนใหญ่ยอมรับ ยอมรับในการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ยอมรับในอาชีพที่เอาความสุขจากความทุกข์ของคนอื่น ยอมรับในการบริโภควัตถุ ข้าวของเงินทอง สิ่งอำนวยความสะดวกสบาย เพราะว่าทุกคนน่ะมันทำเหมือนกันคล้าย ๆ กัน พระพุทธเจ้าท่านเมตตาบอกเราว่า “เราทำไม่ถูกต้องนะ...!” 

ให้พากันมามีสติสัมปชัญญะให้ดี ๆ ให้สมบูรณ์ เพราะความสุขความสงบความดับทุกข์มันอยู่ที่ใจของเราไม่ถูกกิเลสคือความอยากมาครอบงำแล้วให้ทำตาม “คนเราน่ะถ้ากายมันอยู่นี่แต่ใจมันไปคิดเรื่องอื่นนั้นน่ะ มันไม่มีความสุขมันไม่มีความสงบนะ...”

ทุกท่านทุกคนน่ะ พระพุทธเจ้าท่านให้เราพัฒนาจิตใจของตัวเอง พยายามแก้ปัญหาที่จิตที่ใจของตัวเองให้ได้ 

เราทุก ๆ คนมาเอาหน้าที่เอาการงาน เอาข้อวัตรปฏิบัตินี้เพื่อมาประพฤติปฏิบัติธรรม มาเจริญสติสัมปชัญญะ ให้สติสัมปชัญญะเราสมบูรณ์ “ใจส่งออกน่ะคือใจที่เป็นทุกข์นะ...”มื่อเราส่งออกมาก ๆ น่ะ ออกซิเจนในสมองเรามันก็ไม่สมบูรณ์ เราก็ไม่สามารถที่ควบคุมตัวเองได้น่ะ 

การนั่งสมาธิก็ดี การเดินจงกรมก็ดี การทำกิจวัตรต่าง ๆ ก็ดีน่ะก็เพื่อให้ทุกคนกลับมาหาตัวเอง เพื่อทำสติสัมปชัญญะของตนเองให้สมบูรณ์ เพราะเราทุก ๆ คนน่ะไม่ค่อยได้ปฏิบัติตัวเองฝึกตัวเองเลย มีแต่ทำตามความอยากความต้องการ แล้วก็บริโภควัตถุที่ได้ตามต้องการก็พากันหลงเหยื่อหลงวัฏฏะสงสาร 

ทุกท่านทุกคนมีความจำเป็นที่จะต้องฝึกตัวเอง เพราะว่าปัญหาต่าง ๆ น่ะ ทุกคนต้องแก้ได้ด้วยการฝึกใจของตัวเอง เค้าพากันขยันพากันอดทนทำมาหากิน ศึกษาหาความรู้จุดประสงค์ก็เพื่อที่เค้าจะได้บริโภคความสุข มีความเป็นอยู่สะดวกสบาย มีหน้ามีตาในสังคม เค้าพากันมุ่งประเด็นไปอย่างนี้นะ ตัวเองสบายยังไม่พอ ลูกหลานญาติพี่น้องก็ให้สบาย สิ่งเหล่านั้นพระพุทธเจ้าท่านถือว่ายังไม่ใช่เรื่องที่ดับทุกข์นะ เรื่องที่ดับทุกข์น่ะทุกคน ต้องพากันมาประพฤติปฏิบัติธรรม อบรมบ่มอินทรีย์เพื่อให้สติสัมปชัญญะนี้มันสมบูรณ์มีกำลัง ไม่ให้ความหลงมันมาบงการ มาจัดการเรา 

พลังอะไรทุกอย่างก็สู้พลังของสมาธิไม่ได้ ถ้าเราทุกคนมีสมาธิแล้วเราทุกคนจะเป็นตัวของตัวเอง ไม่มีอะไรที่จะมาครอบงำเราได้ 

สิ่งต่าง ๆ น่ะที่เรารู้เราเห็นในสังคม ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมประเพณี หรือรูป เสียง กลิ่นรส โผฐฐัพพะ ธรรมารมณ์ มันก็มาครอบงำเราไม่ได้ เพราะเรามีสมาธิ มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ เป็นตัวของตัวเอง

เราทุกคนทำดี มันก็จะรู้แจ้งว่าได้ดีน่ะ... ปัญหาต่าง ๆ เราทุกคนแก้ได้ แต่ต้องมาแก้ที่จิตที่ใจ ปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ถ้าไม่อย่างนั้นน่ะ กิเลสของเรานี้มันจะพาเราสร้างบาปสร้างกรรม ทั้ง ๆ ที่เราก็รู้อยู่แต่เราหยุดมันไม่ได้ เราหยุดมันไม่ได้หรอกเพราะเราไม่มีกำลังพอ ไม่มีสมาธิพอ สติสัมปชัญญะเรามันน้อย มันไม่สมบูรณ์ 

ต้องอดต้องทนน่ะ... มันอยากคิดเราก็ไม่คิดน่ะ ต้องทำอย่างนี้ เรื่องที่เราอยาก เราไม่ต้องคิดน่ะ หลาย ๆ วันใจของเรามันก็เย็นได้ ถ้ามันไม่เย็นเราไม่คิดเรื่องนี้ เราอย่าเปิดรูรั่วให้มันไหลมันซึม ธรรมะภาคปฏิบัติพระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราทำอย่างนี้แหละคือการไม่ทำบาปทางใจทั้งปวง 

กายของเรา วาจาของเราน่ะ การเดินเหินของเรานี่แหละมันเป็นอากัปกิริยาของใจนะ มันเป็นวัตถุอย่างหนึ่งเพื่ออำนวยให้ใจของเราสะดวกในการทำงานของใจ ใจของเรานี้มีปัญหามาก ๆ ๆ ๆ นะ ถ้าทุกคนไม่ตั้งใจฝึกไม่ได้ตั้งอกตั้งใจฝึกหัดปฏิบัติมันเป็นไปไม่ได้ที่จะหยุดตัวเองได้นะ

เราต้องอด ต้องทน ต้องฝืน ต้องปฏิบัติน่ะ... พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้เราทุกคนเอาความขี้เกียจขี้คร้านเป็นการปล่อยวาง เราทุกคนมันอินทรีย์อ่อนน่ะ เลยพากันเอาความขี้เกียจขี้คร้านเป็นการวางปล่อย เป็นความไม่ยึดไม่ถือนั้นไม่ใช่ ไม่ถูกไม่ต้องน่ะ การปล่อยวางอย่างนั้นน่ะเป็นอาการที่จิตใจไม่มีกำลัง “เมื่อไม่มีกำลังแล้วมันก็หมดแรง เร่งไม่ออก เร่งไม่ขึ้น” เพราะเรายังมีความเห็นผิดเราคิดว่าเราไม่เอาอะไรแล้วเราปล่อยวาง เราเลยไม่ทำความเพียร เราไม่ฝืนไม่อดไม่ทน

วินัยที่พระพุทธเจ้าบังคับเราน่ะ เราต้องปรับใจหาพระวินัย ข้อวัตรปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์ตั้งกฎเกณฑ์ขึ้นน่ะให้เราปรับใจเข้าหา... 

ปฏิปทาในการประพฤติปฏิบัตินี้ต้องให้ต่อเนื่องกันน่ะ พยายามเอาปัจจุบันให้มันได้ อย่าไปมองไกล เดี๋ยวนี้ก็ปัจจุบันน่ะ แม้มันจะผ่านไปข้างหน้าอีกหลายปีมันก็เป็นปัจจุบันน่ะ เพราะพระอาทิตย์หรือดวงจันทร์เท่านั้นน่ะที่มาบอกเวลา แต่ที่จริงแล้วใจของเราถ้าไม่อยู่กับสิ่งแวดล้อมเราอยู่กับภาคปฏิบัติ มันก็เป็นปัจจุบันไปตลอด... 

การประพฤติปฏิบัติของเรามันถึงไม่มีอดีตไม่มีอนาคต ไม่มีกลางวันกลางคืนน่ะ เป็นการทำหน้าที่ที่ดีที่สุด อย่างนี้แหละคือการอบรมบ่มอินทรีย์

เราอย่าไปมองข้ามในความคิดจิตใจของเราในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ... 

เราคิดว่าไม่เป็นไรน่ะ... สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ นั่นน่ะพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่ามันห้ามมรรคผลพระนิพพานเราหมด “ฝุ่นนี้มันไม่ใหญ่หรอกแต่ถ้ามันเข้าตาเรา เราก็มีปัญหาเหมือนกัน”

พยายามหยุด พยายามนิ่ง พยายามอยู่กับเนื้อกับตัว ให้สติของเรามันดีมันสมบูรณ์ เราถึงจะเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีได้ ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็จะเป็นคนท้ออกท้อใจ ว่าเป็นคนมีบุญน้อยมีวาสนาน้อย ชาตินี้ไม่มีบุญ ไม่สามารถที่จะได้บรรลุธรรมเหมือนกับเค้า “ทุกคนมันก็เหมือนกันหมดน่ะ มันอยู่ที่ความคิด อยู่ที่การปฏิบัติน่ะ...”

การปฏิบัติมันก็ไม่ใช่ยากแต่เราต้องเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ

การอบรมบ่มอินทรีย์มันก็เหมือนกับเราเพาะเลี้ยงต้นไม้แล้วก็ปลูกต้นเล็ก  ๆ น่ะ เราพยายามให้น้ำมันปุ๋ยให้แสงแดดอย่างสม่ำเสมอ ไม่มากเกินไม่น้อยเกิน เดี๋ยวต้นไม้ก็โตเอง มันโตเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ มันโตกลางวันหรือกลางคืนก็ไม่รู้ แต่รู้ว่ามันโต... 

การประพฤติการปฏิบัติน่ะเราอย่าไปสนใจใคร คนอื่นเค้าจะปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติก็ช่างเค้า เพราะคนอื่นก็เป็นเรื่องของคนอื่นไม่เกี่ยวข้องกับเรา เรื่องคนอื่นก็ให้เป็นเรื่องของคนอื่น เค้าทำดีเค้าทำชั่วมันก็เป็นเรื่องของเค้า เค้าไม่รู้ไม่เห็นเราว่าเป็นผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็ไม่เป็นไร เราไม่ต้องคอยให้ใครมาชมเรา เพราะใจของเราไม่มีใครรู้หรอก มีแต่ตัวเรารู้เท่านั้น เพราะเราปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งมรรคผลนิพพาน ไม่ได้มุ่งโลกธรรม คอยมาให้ใครสรรเสริญ...

ให้เราทุกคนเน้นมาหาตัวเอง ถึงจะเกี่ยวข้องกับคนอื่นในชีวิตประจำวัน ข้อวัตรปฏิบัติ เค้าจะทำหรือไม่ทำ เค้าจะมาหรือไม่มา เราอย่าไปสนใจเค้า เดี๋ยวเราจะเอาดีเอาชั่วของเค้ามาเผาเราอีก 

รู้จักปล่อยรู้จักวางว่าจะให้คนอื่นเค้าเหมือนเรามันคงไม่เหมือนน่ะ ถ้าเหมือนกันหมดคนก็ได้บรรลุธรรมทั้งโลกเหมือนกันหมด มันไม่เหมือนนี่แหละมันถึงเป็นอย่างทุกวันนี้

เรื่องความสุขในการกินการอยู่การนอนน่ะ... พระพุทธเจ้าท่านสอนเราให้เราบริโภคเพื่อบรรเทาทุกข์ เพื่อเราจะได้ปฏิบัติธรรม อบรมบ่มอินทรีย์ เราไม่ต้องมาติดมาหลง ความอร่อยมันก็ต้องผ่านไปแค่ลิ้นน่ะ ความสุขความสบายในการพักผ่อนก็บรรเทาทุกข์ไปไม่กี่ชั่วโมงน่ะ “สิ่งเก่ามันผ่านไปสิ่งใหม่มันก็ผ่านมา มันไม่มีอะไรที่จีรังยั่งยืน” พระพุทธเจ้าท่านให้เราคิดดี ๆ อย่าได้พากันหลง 

คนเราน่ะถ้าไม่ได้บริโภครูปเสียงกลิ่นรสโผฐฐัพพะธรรมารมณ์ ก็คือว่าชีวิตนี้ไม่มี “รส” รู้มั๊ยว่าถ้ามีรสมันก็มี “ชาติ” มันต้องมีการเวียนวายตายเกิด เราก็อยากพากันมี “รสชาติ” รสชาติมันจะพาให้เรามีความเกิดทางจิตทางใจนะ

สติสัมปชัญญะของเราก็ให้มันแข็งแรง... สติคือความระลึกได้ สัมปชัญญะก็คือตัวปัญญา สติกับปัญญามันจะเกี่ยวข้องกันตลอดน่ะ แล้วก็ตั้งมั่นอยู่กับสมาธิ 

สติสัมปชัญญะถึงเป็นตัวศีล ถึงเป็นตัวสมาธิ ถึงเป็นตัวปัญญาน่ะ... เค้าจะได้ขับเคลื่อนชีวิตจิตใจของเราสู่คุณธรรม 

บางคนไม่รู้การปฏิบัติน่ะ... ปล่อยโอกาสปล่อยเวลาไปโดยไม่เจริญสติสัมปชัญญะ จิตใจของเราจึงไม่มีพุทโธ “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน...”

ถ้าใจของเราสงบ สติสัมปชัญญะสมบูรณ์น่ะ มันมีค่ามีราคากว่าทรัพย์ภายนอก เพราะนี้มันคืออริยทรัพย์ “ทรัพย์ภายใน” ทรัพย์ที่จะนำเราสู่มรรคผลพระนิพพานน่ะ มันข้ามพ้นสวรรค์ไป เพราะสวรรค์มันมีการเวียนว่ายตายเกิดน่ะ 

ให้ทุกท่านทุกคนมีกำลังใจ มีความพอใจ อย่าไปคิดว่าถ้าละความโลภความโกรธความหลงแล้วชีวิตนี้มันจะหมดรสหมดชาด อย่าไปคิดอย่างนั้น...! 

คิดอย่างนั้นคือคนไม่รู้ทุกข์ ไม่รู้เหตุแห่งทุกข์ ไม่รู้ข้อปฏิบัติถึงความดับแห่งทุกข์ พากันสร้างปัญหา สร้างภพสร้างชาติให้ตนเองอย่างนั้นไม่ถูกต้อง “ชีวิตนี้ก็เสียชาติเกิดที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์” ทุกคนต้องทำได้ปฏิบัติได้... 

หัวใจเราทุกคนน่ะต้องมีพระนิพพานเป็นที่ตั้ง จุดมุ่งหมายคือพระนิพพานคือการไม่เวียนว่ายตายเกิด อย่าให้เงินทอง ลาภยศสรรเสริญมันซื้อหัวใจเราได้ 

ทำไมถึงให้ซื้อไม่ได้ล่ะ...? เพราะว่าสิ่งเหล่านี้คือการเวียนว่ายตายเกิด ต้องเป็นตัวของตัวเอง ต้องมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ บุคคลที่หาได้ยากก็คือบุคคลที่เงินซื้อหัวใจไม่ได้ ลาภยศสรรเสริญซื้อหัวใจไม่ได้ ความร่ำความรวยซื้อหัวใจไม่ได้...

พระพุทธเจ้าท่านเป็นตัวอย่างนะที่ท่านมีความสุขมีความดับทุกข์ที่สุดในโลก ไม่มีอะไรที่จะซื้อหัวใจของท่านได้ “ซื้อก็หมายถึงว่าให้รางวัลนะ...”

ลาภยศสรรเสริญข้าวของเงินทองน่ะ เค้าเรียกว่ามันให้รางวัลเรา มันให้ค่าจ้างเรา เพื่อให้เราเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสารนะ มันเป็นความเพลินมันเป็นความหลง มันเป็นการผูกใจสัตว์โลกให้หลงอยู่ในวัฏฏะสงสาร 

จะมีประโยชน์อะไรล่ะ... เราหาอยู่หากินตั้งแต่เด็ก ๆ สุดท้ายเราก็แก่เราก็เจ็บเราก็ตาย ไม่ได้อะไรเลย...! ทุกอย่างลำบากเพราะเราหลงเหยื่อ เราคิดดูแล้วก็สมเพชเวทนาตัวเองนะ 

การเวียนว่ายตายเกิดนี้มันเป็นเรื่องสลดใจ ต้องพลัดพรากจากพี่จากน้อง จากพ่อจากแม่ไปหาเหยื่อในสถานที่ต่าง ๆ แล้วก็แก่ก็เจ็บก็ตาย แล้วก็ไม่ได้อะไร เราพากันคิดดี ๆ พากันทบทวนตัวเองดี ๆ น่ะ 

พระพุทธเจ้าก่อนที่ท่านจะตรัสรู้น่ะ ท่านเข้าฌาน “บุพเพนิวาสานุสติญาณ” ระลึกชาติในการเวียนว่ายตายเกิดของตัวเองและสัตว์โลก เป็นที่สลดสังเวชมาก 

เราทั้งหลายที่หลงเหยื่อพากันเพลิดเพลินอยู่น่ะ ต้องมาหยุดต้องมาตัดนะ มาปรับตัวเองเข้าหาธรรมะ ไม่ทำตามความอยากความต้องการ ถึงเรียกได้ว่าเป็นผู้มีสัมมาทิฏฐิมีความเห็นถูกต้อง แล้วก็พยายามปฏิบัติอบรมบ่มอินทรีย์น่ะ ถ้าเราทำตามพระพุทธเจ้าด้วยไม่คิดในสิ่งที่เรากำลังอยากน่ะ เจ็ดวันใจของเรามันก็จะเย็น อย่างกลางก็เจ็ดเดือนหรืออย่างมากก็ไม่เกินเจ็ดปีน่ะ 

ทุกท่านทุกคนต้องได้บรรลุมรรคผลนิพพานกันหมดทุกคน ถ้าผู้นั้นตั้งอกตั้งใจประพฤติปฏิบัติ...แต่ถ้าเรารู้เฉย ๆ เราไม่นำมาประพฤติปฏิบัติก็ถือว่าเป็น “โมฆะบุรุษ” เป็นบุรุษที่เปล่าประโยชน์...

ให้ทุกท่านทุกคนกลับมาดูตัวเองนะว่าเราเป็นโมฆะบุรุษหรือว่าเป็นโมฆะสตรีมั๊ย...?    

ถ้าเราไม่ตั้งอกตั้งใจปฏิบัติน่ะก็ให้เรารู้เลยว่าเราเป็น “โมฆะ...” ถึงจะอายุเกิดนานมันก็ไม่มีประโยชน์ ถึงจะบวชนานก็ไม่มีประโยชน์ ถึงจะรู้มากก็ไม่มีประโยชน์ บริโภคปัจจัยสี่ก็มีแต่บาปแต่กรรม พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าเหมือนกับบุรุษผู้หนึ่งที่กำลังบริโภคเหล็กแดง ๆ น่ะ การที่เราไม่ตั้งใจประพฤติปฏิบัตินี้มันก็ยิ่งกว่าบริโภคเหล็กแดง ๆ ซะอีก 

การที่ได้น้อมนำพระธรรมคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านเมตตาบอกเราสอนเรา ที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ได้ให้นำมาบรรยายในวันนี้ก็สมควรแก่เวลา 

ด้วยอานุภาพแห่งคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ ขอให้ทุกท่านทุกคนจงมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ตั้งอยู่ในศีลสมาธิปัญญาด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ... 

พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ที่องค์พ่อแม่ครูอาจารย์เมตตาให้นำมาบรรยาย

เช้าวันจันทร์ที่ ๑๙ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖

 

หมายเลขบันทึก: 545979เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 12:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 สิงหาคม 2013 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ธรรมะช่วยสร้างบารมีในชาตินี้เพื่อจะได้ไปเสริมบารมีในชาติหน้าค่ะ...

-สวัสดีครับ

-ชอบภาพนี้ครับ...

-"ถ้าใจของเราสงบ สติสัมปชัญญะสมบูรณ์"

-

เข้ามาบ้านนี้แล้วสบายใจ ละได้ตั้งหลายอย่างแน่ะ มีกำลังใจที่จะหยุดสร้างภพสร้างชาติ เพื่อมุ่งมรรคผล

จะอดทน ฝืน ตามพระวินัย คำสอนค่ะ เพราะตามลำพังตน คงจะไม่ไปค้นพระไตรปิฎกมาตีความอีก อาน

บันทึกนี้ก็เข้าใจง่ายดี เหลือที่จะปฎิบัติตาม คิดว่าไม่ยาก และต้องทำให้ได้ด้วย ขอบคุณที่ให้ทางธรรม

อันจะนำสู่ความจริง

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท