ขบวนการปฏิรูปการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพไทยเดินหน้า


 

วันที่ ๕ - ๖ ก.ค. ๕๖ มีการประชุมเชิงปฏิบัติการ Leadership Forum on Health Professional Development ครั้งที่ ๒ ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล   ผมไปร่วมเช้าวันที่ ๕ ได้ครึ่งวัน   ได้ฟังและให้ความเห็นต่อโครงการจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ๓ โครงการ    จากทั้งหมด ๙ โครงการที่จะมีการนำเสนอในการประชุมครั้งนี้

 

ดูรูปหมู่ของการประชุม Leadership Forum ครั้งที่ ๑ ได้ ที่นี่   การประชุมนี้จัดที่กระบี่ระหว่างวันที่ ๒๓ ๒๔ เม.ย. ๕๖ เสียดายที่ผมยุ่งๆ เริ่มเขียนบันทึกแล้วเผลอลืมไป    การประชุมครั้งนั้นได้ผลดี มีการนำเสนอโครงการวิจัยที่จะดำเนินการ ๑๑ โครงการ    และมีแนวโน้มจะเกิดโครงการพัฒนาและวิจัย เพื่อเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนรู้ของวิชาชีพสุขภาพหมายวิชาชีพ   จนตกลงกันว่าจะมีการประชุม Leadership Forum ครั้งที่ ๒ โดยคณะแพทยศาสคร์ศิริราชพยาบาลเป็นเจ้าภาพ    และครั้งที่ ๓ ที่รามาฯ

 

ผมเขียนบันทึกเล่าเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพไทยไว้ ที่นี่    ท่านที่สนใจความเคลื่อนไหวในประเทศไทยทั้งหมด ดูได้ ที่นี่  

 

ขบวนการปฏิรูปการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพไทยเดินหน้าด้วย สองขา”   คือขาศึกษาภาพรวมของการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพไทยในปัจจุบัน    โดยทำร่วมกัน ๕ ประเทศ คือ บังคลาเทศ  จีน  อินเดีย  เวียดนาม  และไทย    เลือกทำเฉพาะ ๓ วิชาชีพ คือ สาธารณสุข  พยาบาล  และแพทย์    แต่ไทยทำเพียง ๒ วิชาชีพ คือพยาบาล กับแพทย์   เพราะวิชาชีพสาธารณสุขของไทยมีความหลากลายซับซ้อนมาก จนคิดว่าจะทำไม่ทันตามกำหนดเวลา

 

ขาที่สองคือ Leadership Forum นี่แหละ    เป็นยุทธศาสตร์ต่อยอดกิจกรรมการดำเนินการพัฒนา วิธีการจัดการเรียนการสอน ตามแนวทาง 21st Century Health Professional Education Reform ที่มีอยู่แล้ว    ที่อาจเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์เล็กๆ โดยอาจารย์ไม่กี่คน หรือคนเดียว   แต่เป็นโครงการที่จะนำไปสู่ การปฏิรูปใหญ่ได้    นำมา ลปรร. กัน และช่วยกันสนับสนุนให้ทำได้ อย่างมีพื้นฐานของวิธีวิทยาด้านการวิจัย หนักแน่น   ให้เป็นผลงานวิชาการด้านการเรียนการสอนได้

 

การสนับสนุนขาที่สองนี้ จะทำอย่างเป็นระบบ ครบวงจร   จะมีการดำเนินการปรับปรุงระบบการเข้าสู่ ตำแหน่งวิชาการให้ยอมรับผลงานวิชาการด้านการเรียนรู้ หรือการเรียนการสอน

 

จากการริเริ่มสร้างสรรค์ของคนเล็กคนน้อย จะมีกระบวนการรวมตัวกันเป็นขบวนการเปลี่ยนแปลง ระบบ   ให้ระบบการศึกษาของวิชาชีพสุขภาพไทย เป็นระบบที่ก้าวหน้า    หนุนระบบสุขภาพที่เราภาคภูมิใจ ว่าเป็นระบบที่ดีที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง   ภายใต้แนวคิด Good Health at Low Cost   และมีระบบคุ้มครอง สุขภาพถ้วนหน้า (UHC – Universal Health Coverage) ที่เข้มแข็งและคุณภาพดี   ให้พัฒนาต่อเนื่องยิ่งๆ ขึ้นไป   ฟันฝ่าความท้าทายกระแสทุนนิยมสุดขั้วที่จะเข้ามากัดกร่อนระบบสุขภาพของเราได้    และให้ระบบการศึกษากับระบบบริการสุขภาพมีความเชื่อมโยงเอื้อต่อกัน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๖ ก.ค. ๕๖

 

 

 

                                           บรรยากาศในห้องประชุม

 

                                                      อีกมุมหนึ่ง

 

                            ศ. นพ. อุดม คชิณทร คณบดีศิริราชกล่าวต้อนรับ

 

หมายเลขบันทึก: 545392เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2013 16:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 สิงหาคม 2013 16:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท