เทคนิคและวิทยาการจัดการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้


เทคนิคและวิทยาการจัดการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้

เทคนิคการจัดการเรียนรู้แบบต่างๆ

1. Lecture Method  การจัดการเรียนรู้แบบบรรยาย คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนโดยการพูดบอกเล่า อธิบายเนื้อหาเรื่องราวที่ผู้สอนได้เตรียมการศึกษาค้นคว้ามาเป็นอย่างดีผู้เรียนเป็นฝ่ายรับฟัง อาจจะมีการจดบันทึกสาระสำคัญในขณะที่ฟังบรรยายหรืออาจมีโอกาสซักถามแสดงความคิดเห็นได้บ้างถ้าผู้สอนเปิดโอกาส วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ฟังจำนวนมาก

2. Discussion Method การจัดการเรียนรู้แบบอภิปราย คือกระบวนการที่ผู้สอนมุ่งให้ผู้เรียนมีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือระดมความคิดในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องหรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนหรือที่กลุ่มมีความสนใจร่วมกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาคำตอบ แนวทางหรือแก้ปัญหาร่วมกัน การจัดการเรียนรู้แบบนี้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ คือ ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติงานและชื่นชมผลงานร่วมกัน

3. Small Group Discussion การจัดการเรียนรู้โดยใช้การอภิปรายกลุ่มย่อย คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนจัดกลุ่มผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อยประมาณ 4 – 8 คน ให้ผู้เรียนในกลุ่มมีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็น ประสบการณ์ในประเด็นหรือปัญหาที่กำหนด และสรุปผลการอภิปรายออกมาเป็นข้อสรุปของกลุ่ม

4. Demonstration Method  การจัดการเรียนรู้แบบสาธิต คือ กระบวนการที่ผู้สอน หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้ในการช่วยให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ โดยการแสดงหรือกระทำให้ดูเป็นตัวอย่างพร้อม ๆกับการบอก อธิบาย ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้จากการสังเกต กระบวนการขั้นตอนการสาธิตนั้น ๆ แล้วให้ผู้เรียนซักถาม อภิปราย และสรุปการเรียนรู้ที่ได้จากการสาธิต การจัดการเรียนรู้แบบนี้จึงเหมาะสมสำหรับการสอนที่ต้องการให้ผู้เรียนเห็นขั้นตอนของการปฏิบัติ เช่น วิชาพลศึกษา นาฏศิลป์ ศิลปศึกษา เป็นต้น

5. Role Playing การจัดการเรียนรู้แบบแสดงบทบาทสมมุติ คือ กระบวนการที่ผู้สอนกำหนดหัวข้อเรื่องปัญหาหรือสร้างสถานการณ์ขึ้นมาให้คล้ายกับสภาพความเป็นจริง แล้วให้ผู้เรียนสวมบทบาท หรือแสดงบทบาทนั้นตามความรู้สึกนึกคิดและประสบการณ์ของผู้เรียนที่คิดว่าควรจะเป็น ภายหลังของการแสดงบทบาทสมมุติจะต้องมีการอภิปรายเกี่ยวกับการแสดงออกทั้งด้านความรู้และพฤติกรรมของผู้แสดงเพื่อการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์

6. Dramatization การจัดการเรียนรู้ โดยใช้การแสดงละคร คือกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ โดยการให้ผู้เรียนแสดงละคร ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามเนื้อหาและบทละครที่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งผู้เรียนจะต้องแสดงบทบาทหรือสมมุติว่าตนเองเป็นหรือแสร้งทำเป็นตัวเขาเองหรือบุคคลอื่นหรือตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง โดยจะต้องแสดงบทบาทการใช้ภาษา แสดงสีหน้า ท่าทางกับการเคลื่อนไหวประกอบการสนทนาตามบทละครที่แต่งไว้เรียบร้อยแล้ว และผู้แสดงจะไม่นำบุคลิกภาพและความรู้สึกนึกคิดของตนเองเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งจะมีส่วนทำให้เกิดผลเสียหายต่อการแสดงบทบาทนั้น ๆ วิธีการนี้จะทำให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ในการที่จะเข้าใจในความรู้สึก เหตุผล และพฤติกรรมของผู้อื่น และจะสามารถจดจำเรื่องราวนั้นได้นาน

7. Simulation การจัดการเรียนรู้แบบสถานการณ์จำลอง คือกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนให้ผู้เรียนเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่สร้างขึ้นมา ซึ่งสถานการณ์นั้นจะมีลักษณะคล้ายคลึงกับสภาพความจริงมากที่สุดทั้งสภาพแวดล้อมและปฏิสัมพันธ์โดยมีการกำหนดบทบาท ข้อมูลและกติกาไว้เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิดแก้ปัญหาและตัดสินใจจากสภาพการณ์ที่เขากำลังเผชิญอยู่ ซึ่งผู้เรียนจะต้องใช้ข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับประกอบกับวิจารณญาณของตนเองให้ปฏิบัติหน้าที่ตามสถานการณ์นั้นให้ดีที่สุด ซึ่งการเรียนรู้แบบสร้างสถานการณ์จำลองนี้จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการถ่ายโยงการเรียนได้ดีและสามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริงได้

8. Game  การจัดการเรียนรู้โดยใช้เกม คือ กระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนให้ผู้เรียนเล่นเกมที่มีกฎเกณฑ์กติกา เงื่อนไข หรือข้อตกลงร่วมกันที่ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ทำให้เกิดความสนุกสนาน ร่าเริง เป็นการออกกำลังกาย เพื่อพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่น โดยมีการนำเนื้อหา ข้อมูลของเกม พฤติกรรมการเล่น วิธีการเล่นและผลการเล่นเกมมาใช้ในการอภิปรายเพื่อสรุปผลการเรียนรู้

9. Process การจัดการเรียนรู้ที่เน้นกระบวนการ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนได้เรียน“วิธีการเรียนรู้” อย่างเป็นขั้นตอน หรือเป็นกระบวนการ โดยให้ผู้เรียนเป็นผู้คิด ผู้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ผู้สอนเป็นผู้กำกับควบคุมให้ผู้เรียนมีการปฏิบัติ ฝึกฝนจนเกิดทักษะ สามารถปฏิบัติตามขั้นตอนได้และรับรู้ขั้นตอนทั้งหมด จนสามารถนำไปใช้ได้อย่างอัตโนมัติและนำไปใช้ได้จริงในสถานการณ์ต่าง ๆ

10. Group Process  การจัดการเรียนรู้โดยกระบวนการกลุ่ม เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนได้รับความรู้จากการลงมือร่วมกันปฏิบัติเป็นกลุ่ม กลุ่มจะมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของสมาชิกแต่ละคน และสมาชิกแต่ละคนในกลุ่มก็มีอิทธิพลและปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกัน

11. TGT (Team Games Tournament ) การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิค เป็นการเรียนรู้แบบร่วมมืออีกรูปแบบหนึ่ง คล้ายกันกับเทคนิค STAD ที่แบ่งผู้เรียนที่มีควาสามารถแตกต่างกันออกเป็นกลุ่มเพื่อทำงานร่วมกัน กลุ่มละประมาณ 4 – 5 คน โดยกำหนดให้สมาชิกของกลุ่มได้แข่งขันกันในเกมการเรียนที่ผู้สอนจัดเตรียมไว้แล้ว ทำการทดสอบความรู้ โดยการใช้เกมการแข่งขัน คะแนนที่ได้จากการแข่งขันของสมาชิกแต่ละคนในลักษณะการแข่งขันตัวต่อตัวกับทีมอื่น นำเอามาบวกเป็นคะแนนรวมของทีมผู้สอนจะต้องใช้เทคนิคการเสริมแรง เช่น ให้รางวัล คำชมเชย เป็นต้น ดังนั้นสมาชิกกลุ่มจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อความสำเร็จของกลุ่ม

12. Jigsaw  การจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคนิคจิกซอว์ เป็นการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้แนวคิดการต่อภาพ โดยแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่ม ทุกกลุ่มจะได้รับมอบหมายให้ทำกิจกรรมเดียวกัน ผู้สอนจะแบ่งเนื้อหาของเรื่องที่จะให้เรียนรู้ออกเป็นหัวข้อย่อยเท่ากับจำนวนสมาชิกแต่ละกลุ่ม และมอบหมายให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มศึกษา ค้นคว้าคนละหัวข้อ ซึ่งผู้เรียนแต่ละคนจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องที่ตนได้รับมอบหมายให้ศึกษาจากกลุ่ม สมาชิกต่างกลุ่มที่ได้รับมอบหมายในหัวข้อเดียวกันก็จะทำการศึกษาค้นคว้าร่วมกัน จากนั้นผู้เรียนแต่ละคนจะกลับเข้ากลุ่มเดิมของตนเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้เชี่ยวชาญอธิบายความรู้ เนื้อหาสาระที่ตนศึกษาให้เพื่อนร่วมกลุ่มฟัง เพื่อให้เพื่อนสมาชิกทั้งกลุ่มได้รู้เนื้อหาสาระครบทุกหัวข้อย่อยและเกิดการเรียนรู้เนื้อหาสาระทั้งเรื่อง

13. Integration การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ หมายถึง การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงศาสตร์หรือเนื้อหาสาขาวิชาต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความรู้ที่มีความหมาย มีความหลากหลายและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน

14. Storyline การจัดการเรียนรู้แบบ Storyline เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการที่มีการนำเอาสาระการเรียนรู้จากหลายกลุ่มสาระมาเชื่อมโยงกัน เพื่อจัดการเรียนรู้ภายใต้หัวข้อเรื่อง (Theme) เดียวกัน โดยผูกเรื่องเป็นตอน ๆ (Episode) เรื่องแต่ละตอนจะต่อเนื่องและมีลำดับเหตุการณ์ (Sequence) หรือเรียกว่า เส้นทางการเดินเรื่อง (Topic line) และใช้คำถามหลัก (Key questions) เป็นตัวนำไปสู่การให้ผู้เรียนทำกิจกรรม (Activity) อย่างหลากหลาย ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นจะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามสภาพจริง ได้ลงมือปฏิบัติจริง เน้นทักษะการคิด การวิเคราะห์ การตัดสินใจ กระบวนการกลุ่มตลอดจนการสร้างความรู้ด้วยตนเอง ดังนั้น การจัดการเรียนรู้แบบ Storyline จึงเป็นการบูรณาการเนื้อหาสาระและทักษะกระบวนการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน

15. Cooperative Learning การจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือ หมายถึงกระบวนการเรียนรู้ที่จัดให้ผู้เรียนได้ร่วมมือและช่วยเหลือกันในการเรียนรู้โดยแบ่งกลุ่มผู้เรียนที่มีความสามารถต่างกันออกเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งเป็นลักษณะการรวมกลุ่มอย่างมีโครงสร้างที่ชัดเจน มีการทำงานร่วมกัน มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมีการช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งในส่วนตนและส่วนรวมเพื่อให้ตนเองและสมาชิกทุกคนในกลุ่มประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้

แนวทางการจัดสภาพแวดล้อมของการจัดการศึกษาวอลดอร์ฟ
  การจัดบรรยากาศภายในห้องเรียน อาคารเรียน และบริเวณโรงเรียนเป็นองค์ประกอบสำหรับการจัดการศึกษาวอลดอร์ฟ ความงดงามของธรรมชาติจะปรากฏอยู่ทั้งบริเวณกลางแจ้งและภายในอาคาร มีการนำภาพศิลปะ งานประติมากรรม กลิ่นหอมของธรรมชาติเข้ามาตกแต่ง ทำให้บรรยากาศของโรงเรียนสงบ และอ่อนโยน ภายใต้แนวคิดที่ว่า เด็กวัย 0 - 7 ปี เป็นวัยที่เรียนรู้จากการเลียนแบบ สิ่งที่เด็กเลียนแบบในช่วงนี้จะฝังลึกลงไปในเด็ก หล่อหลอมเด็กทั้งกายและจิตวิญญาณ และฝังแน่นไปจนโต ทั้งนี้ จากงานวิจัยของวีณา ก๊วยสมบูรณ์ (2542) ได้นำเสนอแนวทางการจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพของการจัดการศึกษาวอลดอร์ฟ ไว้ดังนี้
1. บริเวณภายในห้อง
2. บริเวณกลางแจ้ง
3. อุปกรณ์ภายในห้องเรียน
4. อุปกรณ์กลางแจ้ง

แนวทางการจัดสภาพแวดล้อมตามแนวคิดของมอนเตสซอรี่  

จีระพันธุ์ พูลพัฒน์ (2549) ได้รวบรวมลักษณะของสิ่งแวดล้อมในอุดมคติของมอนเตสซอรี่ ซึ่งสามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก-ปฐมวัยไว้ 4 ประเด็น ดังนี้

1. การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ  ทุกอย่างที่จัดไว้ในห้องเรียนมีขนาดเล็ก เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ โต๊ะ เก้าอี้ วัสดุอุปกรณ์อยู่ในสภาพที่เด็กหยิบออกมาใช้ได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ ถือหลักของความจริง ("Reality" principle) นำของจริงมาให้เด็กใช้ เนื่องจากเมื่อเด็กต้องช่วยเหลือตนเอง หรือช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เด็กต้องเข้าไปทำเป็นของจริง จึงนำของจริงมาใช้ในห้องเรียน เช่น แก้วจริง มีดจริงๆ สำหรับทำอาหาร และทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์จริง ทั้งนี้ ควรให้ได้สัมผัสกับธรรมชาติรอบตัวเพื่อช่วยพัฒนาทั้งกายและจิต ให้เด็กมีความสนุกสนานในการสำรวจ และจัดการกับสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติ มีสิ่งช่วยกระตุ้นเด็กในห้องเรียน อาจจะเป็นภาพติดผนัง โต๊ะสำรวจธรรมชาติ สัตว์เลี้ยง เป็นต้น
2. การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อความสุนทรียะ  คำว่า สุนทรียะ หมายถึง สภาพแวดล้อมของโรงเรียนที่ควรมีความสวยงาม เพื่อให้เด็กซึมซับความงามของสิ่งต่างๆ รอบตัว ความสวยงามดังกล่าวเชื่อมต่อกับความมีระเบียบ ดังนั้น ความมีระเบียบและความงดงามหมดจดจะปรากฏให้เห็น วัสดุต่างที่ใช้ในห้องเรียนควรทำความสะอาดได้ง่าย หรือล้างได้เพื่อจะได้ฝึกให้เด็กมีนิสัยรักความสะอาด ซึ่งเป็นนิสัยที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหลักของชีวิต (Sensitive periods) และสิ่งเหล่านี้จะติดตัวไปจนโต ทั้งนี้ สภาพแวดล้อมทั้งมวลที่กล่าวมาแล้วจะช่วยสร้างให้เกิดบรรยากาศของความสงบและสันติ
3. การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อการใช้ปัญญา  จุดแรกที่ต้องคำนึงถึงเกี่ยวกับอุปกรณ์เพื่อการสอนที่จัดไว้ในสิ่งแวดล้อม จะต้องช่วยพัฒนาการใช้ปัญญา จุดที่สองเกี่ยวกับอุปกรณ์ คือ ในห้องเรียนจะมีอุปกรณ์แต่ละชนิดเพียงชุดเดียว เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องการแบ่งปัน ลักษณะเด่นเฉพาะของห้องเรียนมอนเตสซอรี่ คือ สถานการณ์ควบคุมความมีอิสระโดยการจัดอุปกรณ์ เด็กได้เรียนรู้ที่จะใช้อุปกรณ์ตามจุดมุ่งหมายของอุปกรณ์แต่ละชิ้น รู้จักหมุนเวียนกันในการใช้อุปกรณ์ คืนอุปกรณ์สู่ที่เดิมในรูปแบบเดิมที่พร้อมสำหรับคนอื่นจะใช้
4.การจัดสภาพแวดล้อมทางสังคมและอารมณ์เด็กได้รับประสบการณ์จากสิ่งแวดล้อมที่จัดเอาไว้เพื่อสนองความต้องการของเขา เด็กได้เรียนรู้ที่จะให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ ต่อเพื่อน และได้รับความเคารพจากผู้อื่นภายใต้สภาพแวดล้อมทางสังคมที่มีลักษณะพิเศษ คือ การจัดกลุ่มในแนวตั้ง เป็นการจัดกลุ่มคละอายุ เพื่อให้เด็กมีโอกาสดูแลคนอื่น และได้รับการดูแลจากคนอื่น จุดเด่นอีกเรื่องหนึ่งคือ บรรยากาศที่มีระเบียบทำให้เด็กเคารพข้อตกลงภายใน (Inner rules) เด็กจะซึมซับสภาพที่เงียบ มีระเบียบ สงบฃครูจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกและผู้ประสานงาน สังเกตเด็กในขณะที่ดูแลกลุ่มเด็ก และดูแลเด็กแต่ละวัยด้วยในเวลาเดียวกัน 

แนวทางการจัดสภาพแวดล้อมตามหลักสูตรจุฬาลักษณ์
  น้อมศรี เคท และคณะ (2549) ได้จัดทำหลักสูตรจุฬาลักษณ์เพื่อเป็นแนวทางในการจัดประสบการณ์ให้แก่เด็กอนุบาลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยใช้แนวคิดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบบูรณาการ การจัดศูนย์การเรียน และการทำโครงงาน หลักสูตรนี้ได้นำเสนอเกี่ยวกับการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กปฐมวัย ดังนี้
การจัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพ
1) การจัดสภาพแวดล้อมภายนอกห้องเรียน
 
จัดอาคารสถานที่และบริเวณโรงเรียนให้สะอาด ปลอดภัย สวยงาม สร้างบรรยากาศให้ปลอดโปร่ง สบายใจ ใกล้ชิดธรรมชาติ และกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมในชุมชน มีเครื่องเล่นสนามที่ตั้งในตำแหน่งที่ปลอดภัย อยู่ในสภาพดี เครื่องเล่นควรทำจากวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น มีสถานที่ประกอบอาหารเป็นสัดส่วน สะอาด จัดสถานที่และเครื่องใช้ในการรับประทานอาหารให้สะอาด และสวยงาม จัดน้ำดื่มให้พอเพียงให้เด็กดื่มได้โดยสะดวก มีห้องส้วมเพียงพอ โดยให้มีขนาดและตำแหน่งที่ตั้งที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก ดูแลให้สะอาดถูกสุขลักษณะ มีอุปกรณ์และสถานที่สะอาดและเหมาะสมในการทำความสะอาดร่างกาย รวมทั้งจัดถังขยะให้เพียงพอและเหมาะสมกับการใช้งาน และดูแลรักษาด้วย

2) การจัดสภาพแวดล้อมภายในห้องเรียน
  ห้องเรียนควรมีอากาศถ่ายเทสะดวก มีแสงสว่างเพียงพอและสม่ำเสมอทั่วห้อง โต๊ะเก้าอี้มีขนาดเหมาะสมกับวัย น้ำหนักเบาให้เด็กเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวกเด็กแต่ละคนมีเครื่องใช้ส่วนตัวในการทำความสะอาดร่างกาย และเครื่องใช้ในการนอน โดยจัดเก็บเป็นระเบียบ สวยงาม ใช้วัสดุอุปกรณ์ในการตกแต่งห้องเรียนให้สวยงาม เลือกสรรวัสดุอุปกรณ์และสื่อการเรียนรู้ที่มีความสร้างสรรค์ ทนทาน หลากหลายมาใช้งาน จัดการจราจรทั้งในและนอกห้องเรียนให้สะดวกต่อการเคลื่อนไหวของเด็กขณะทำกิจกรรม สิ่งสำคัญคือสร้างบรรยากาศในห้องเรียนให้อบอุ่น เป็นมิตร และเต็มไปด้วยความรักความเมตตา

ที่มา

http://www.learners.in.th/blogs/posts/390296 (12 สิงหาคม 2556)  

http://www.nareumon.com/index.php?option=com_content&task=view&id=24&Itemid=46&limit=1&limitstart=2  (12สิงหาคม 2556)



หมายเลขบันทึก: 545262เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2013 00:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 สิงหาคม 2013 00:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท