Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

อะไรล่ะคือความในใจของผู้วิจัยเรื่องการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทยมา ๑๐ ปีแล้ว ??


รายงานวิจัยเรื่องการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในประเทศไทย  

: ความในใจของผู้วิจัย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๓

ปรับปรุงครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖

------------------------

เมื่อราววันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๕ ก็คือ ๑๐ ปีกว่ามาแล้ว ผู้วิจัยได้ยกร่างเค้าโครงเบื้องต้นของงานวิจัยเรื่องการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในสังคมไทยประมาณหนึ่ง แต่ผู้วิจัยก็ตอบให้ชัดลงไปไม่ได้ว่า แนวคิดอย่างนี้ถูกคิดขึ้นในหัวสมองของผู้วิจัยเมื่อไหร่กัน แต่ผู้วิจัยจำได้แน่ว่า ในขณะที่คิดสงสัยเรื่องคนไร้รัฐคนไร้สัญชาตินั้น ผู้ทำวิจัยก็ร่ายรำอยู่ในงานวิจัยเกี่ยวกับคนอพยพ แรงงานต่างด้าวและบุคคลบนพื้นที่สูงมาได้ระยะหนึ่งแล้ว รัฐไทยมักเรียกคนกลุ่มนี้ว่า “คนสัญชาติจีน” “คนสัญชาติเวียดนาม” “คนสัญชาติพม่า” “คนสัญชาติลาว” แต่ในความเป็นจริง พวกเขามิได้มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐเจ้าของสัญชาติ จึงไม่อาจมีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ออกโดยรัฐเจ้าของสัญชาตินั้นแต่อย่างใด ที่สำคัญไปกว่านั้น ผู้วิจัยพบคำว่า  “คนสัญชาติมูเซอ” หรือ “คนสัญชาติกะเหรี่ยง” ในเอกสารต่างๆ ของรัฐไทย ทั้งที่ไม่มีรัฐชื่อดังกล่าวนี้ในประชาคมรัฐบนโลกใบนี้ โดยความเป็นนักกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้วิจัยเริ่มตระหนักว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่กับปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยที่คนในสังคมไทยมิได้ตระหนักในธรรมชาติของปัญหานี้

โดยประวัติศาสตร์ความคิดของผู้วิจัย ใน พ.ศ.๒๕๓๒ ผู้วิจัยเริ่มต้นงานคิดเรื่องการจัดสรรเอกชนระหว่างประเทศขึ้นก่อน ด้วยว่าเป็นผู้รับผิดชอบการสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล และจุดที่กระตุ้นความสนใจในเรื่องคนไร้สัญชาติอย่างยิ่ง ก็เมื่อได้รับมอบหมายจาก รศ.สุดา วิศุรตพิชญ์  ให้ทำงานฎีกาวิเคราะห์เกี่ยวกับสัญชาติไทยของบุตรที่เกิดในประเทศไทยของคนเชื้อสายญวนที่อพยพเข้ามาอาศัยในประเทศไทย โดยไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของประเทศเวียดนาม[1] ในยุคนี้ของผู้วิจัยนั้น ผู้วิจัยไม่ได้ตระหนักเลยว่า พรศรีใน ฎ.๙๘๙/๒๕๓๓[2] ก็คือบุตรของคนอพยพจากประเทศเวียดนามที่มากลายเป็นคนไร้สัญชาติในประเทศไทย  ผู้วิจัยมาเรียนรู้ต่อมา เมื่อได้ทบทวนประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของรัฐในเอเซียตะวันตกเฉียงใต้ว่า คนอพยพจากประเทศเวียดนาม ดังบุพการีของพรศรี ซึ่งมักถูกเรียกในประเทศไทยว่า “ญวนอพยพ” นั้น น่าจะเป็นคนที่เกิดในประเทศเวียดนามและน่าจะออกจากประเทศนี้ก่อนที่จะมีการก่อตั้งรัฐชาติสมัยใหม่ (Modern Nation State) อันทำให้ต้องมีระบบทะเบียนราษฎรในประเทศนี้ ในยุคที่มนุษย์ต้องมี “รัฐเจ้าของตัวบุคคล” ญวนอพยพจึงยังไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐเวียดนาม หากต่อมา พวกเขายังคงอาศัยอยู่ในเวียดนาม รัฐเวียดนามก็คงยอมรับพวกเขาในสถานะ “คนสัญชาติ (National)” เพราะพวกเขาเกิดในประเทศเวียดนาม พวกเขาก็น่าจะมีสัญชาติเวียดนามโดยหลักดินแดน และเพราะพวกเขาก็มีบุพการีเชื้อสายเวียดนามและน่าจะเกิดในประเทศเวียดนาม อันทำให้เกิดความสัมพันธ์กับรัฐเวียดนามโดยหลักสืบสายโลหิต อันน่าจะทำให้มีสัญชาติเวียดนามโดยหลักสืบสายโลหิตอีกด้วย แต่เมื่อพวกเขาอพยพออกมาจากเวียดนามก่อนที่จะถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรเวียดนาม พวกเขาจึงไม่ได้รับการรับรองจากประเทศเวียดนามในสถานะประชากรของเวียดนาม และเมื่อพวกเขามาปรากฏตัวในประเทศไทย ซึ่งไม่ได้มีจุดเกาะเกี่ยวโดยการเกิดกับพวกเขาเลย ก็เป็นธรรมดาที่รัฐไทยสมัยใหม่ก็จะมองพวกเขาเป็น “คนต่างด้าว (Alien)” กล่าวคือ เป็นธรรมดาที่รัฐไทยจะจำแนกพวกเขาในสถานะ “คนที่ไม่มีสัญชาติไทย (non thai national)” 

รัฐไทยสมัยใหม่เริ่มปรากฏตัวขึ้นในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ ดังจะเห็นจากการเกิดขึ้นของแนวคิดในการจัดการประชากรที่มีลมหายใจบนแผ่นดินไทย เราค้นพบว่า ในยุคสมัยนี้ ก็ปรากฏมีคนต่างด้าวจำนวนไม่น้อย และนับแต่ พ.ศ.๒๔๕๒ เราก็เห็นการเริ่มต้นของระบบทะเบียนราษฎรของรัฐไทย เพื่อที่จะบอกว่า มนุษย์ผู้ใดเป็น “คนในบังคับ (subject) ของรัฐไทย”[3]  เราอาจเชื่อได้ว่า  รัฐไทยน่าจะประสบผลสำเร็จที่จะประกาศใช้บทกฎหมายทั่วไปว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเพื่อสำรวจและทำทะเบียนบุคคลให้แก่มนุษย์ที่อาศัยในสังคมไทยใน พ.ศ.๒๔๙๙ ทั้งนี้ โดยการปรากฏตัวของ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๔๙๙[4] ซึ่งมนุษย์ที่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยนั้นมีทั้งที่ถูกบันทึกว่า เป็น “คนสัญชาติไทย” และเป็น “คนต่างด้าว”[5] 

ด้วยงานวิจัยเกี่ยวกับบุคคลบนพื้นที่สูงที่ผู้วิจัยศึกษาตั้งแต่ช่วง พ.ศ.๒๕๓๙ เป็นต้นมา ผู้วิจัยพบว่า สังคมไทยเข้าใจผิดว่า ราษฎรไทยหมายถึงคนสัญชาติไทยเท่านั้น และสังคมไทยแยกความแตกต่างระหว่าง “คนไร้รัฐ” และ “คนไร้สัญชาติ” ไม่ออก 

ข้อค้นพบดังกล่าวทำให้ผู้วิจัยยื่นขอทุนการวิจัยจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจ ต่อปัญหาดังกล่าว โดยตั้งชื่อโครงการวิจัยนี้ว่า “การปรากฏตัวของคนไร้สัญชาติและคนไร้รัฐในประเทศไทย : แนวคิดและมาตรการในการจัดการปัญหาที่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ” ซึ่งต่อไปจะเรียกเพียงย่อๆ ว่า โครงการวิจัยการปรากฏตัวของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติฯ

โครงการวิจัยนี้ได้รับการอนุมัติตามมติที่ประชุมคณะกรรมการวิจัยและบริการทางวิชาการ ครั้งที่ ๙/๒๕๔๕ เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๕ และกว่าจะเริ่มต้นทำงานด้วยเงินทุนวิจัยนี้ ก็ตกมาในราวต้นปี พ.ศ.๒๕๔๖  จะเห็นว่า จนถึงปัจจุบัน ก็เป็นเวลาเกือบ ๑๐ ปีกว่า แต่ตลอดเวลาที่ผ่านไป ก็มีการทำงานวิจัยเพื่อการพัฒนาที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีปัญหาสุขภาพของผู้วิจัยแทรกเข้ามาบ้าง แต่กิจกรรมการวิจัยก็ดำเนินไปอย่างไม่ขาดตอน งานในช่วงปีแรกนั้น เป็นงานเพื่อวางรากฐานของประชาคมวิจัยเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านนิติศาสตร์ในการจัดการปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ในขณะที่งานในปีที่สองจนถึงปีที่สิบ จะเป็นกิจกรรมเพื่อการทดลองแนวคิดในการจัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติประเภทต่างๆ ในประเทศไทย และข้อเสนอแนะในการจัดการปัญหาจากผู้วิจัยมักได้รับการยอมรับจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จนทำให้รายงานวิจัยมิอาจปิดเล่มได้ ด้วยความที่ผู้วิจัยอยากจะบันทึกทุกเรื่องที่ทำลงในรายงานวิจัยฉบับให้สมบูรณ์ที่สุด บันทึกทุกสิ่งที่คิด บันทึกทุกสิ่งที่ทำ บันทึกทุกความสำเร็จ และบันทึกทุกความผิดพลาด ความล่าช้าในการจัดทำรายงานการวิจัยฉบับนี้จึงมาจากแนวคิดดังกล่าวของผู้วิจัย

แม้รายงานผลการวิจัยที่เป็นกระดาษจะไม่ปรากฏตัวในรูปแบบของกระดาษเป็นฉบับสมบูรณ์เสียที แต่งานเขียนอันเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยก็ปรากฏตัวอย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านไป และคณะนักวิจัยก็ได้นำเสนอผลการวิจัยตลอดมาในหลายเวทีวิชาการ และการนำผลการวิจัยไปปฏิบัติจริงก็เป็นไปในหลายรูปแบบ แต่ที่น่าจะเป็นรูปธรรมที่สุดของผลการวิจัย ก็คือ การปรากฏตัวของ “บางกอกคลินิก”[6] เพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทำงานของเหล่านักศึกษาที่อาสามาทดลองใช้องค์ความรู้เพื่อจัดการสิทธิให้แก่เหล่าคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ยื่นเรื่องราวร้องทุกข์เข้ามาหาเรา และในวันนี้ ก็มีเรื่องราวร้องทุกข์เข้ามาหาเราอย่างไม่ขาดสาย และมีการสร้างคลินิกกฎหมายเพื่อพัฒนาสิทธิให้แก่คนไร้รัฐไร้สัญชาติตามมาอีกหลายคลินิก อาทิ คลินิกกฎหมายอุ้มผาง[7]

แต่อย่างไรก็ตาม ในปีที่ ๑๐ ของการทำงานรายงานผลวิจัยเกี่ยวกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติฉบับนี้ กล่าวคือ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ผู้บริหารคณะนิติศาสตร์ก็ขอให้ผู้วิจัยปิดเล่มการเขียนรายงานฉบับนี้เสียที ซึ่งผู้วิจัยก็เห็นชอบด้วย ดังนั้น รายงานผลการวิจัยฉบับนี้จึงปรากฏตัวขึ้นในรูปของกระดาษเสียที ดังปรากฏต่อการอ่านของท่านทั้งหลายในขณะนี้

อีกเหตุผลหนึ่งที่การทำงานงานวิจัยเพื่อพัฒนาสิทธิของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยควรจะปิดฉากลง ก็เพราะว่า การมาถึงของกฎบัตรอาเซียนและประชาคมอาเซียนย่อมนำ “ทัศนคติใหม่” ของรัฐไทยต่อ “มนุษย์ในสังคมไทย”และเมื่อ “มนุษย์บนแผ่นดินอาเซียน” มีสถานะเป็น “ประชาชนอาเซียน (ASEAN People)” ซึ่งมีสถานะเป็นผู้ทรงสิทธิตามกฎบัตรอาเซียนอย่างชัดเจน ไม่ว่าพวกเขาจะมีสัญชาติหรือไม่ หรือมีสัญชาติอะไร ? หรือถูกบันทึกในทะเบียนบุคคลของรัฐหรือไม่ ?  บริบทการจัดการมนุษย์ไม่เพียงตกอยู่ภายใต้กฎบัตรอาเซียน ค.ศ.๒๐๐๗/พ.ศ.๒๕๕๐ แต่กฎบัตรนี้ยังประกาศยอมรับอย่างชัดแจ้งต่อกฎบัตรสหประชาชาติ ค.ศ.๑๙๔๕/พ.ศ.๒๔๘๘ และปฏิญญาสากลแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ ตลอดจนปฎิญญาอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๒๐๑๒/พ.ศ.๒๕๕๕ ซึ่งเป็นก้าวที่สำคัญของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights or AICHR) ซึ่งถูกคาดหวังโดยภาคประชาสังคมให้ทำหน้าที่ของ “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอาเซียน” ดังนั้น การปิดงานวิจัย ๑๐ ปีเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยมาสู่การเปิดหน้าใหม่ของงานวิจัยว่าด้วย “ประชาชนอาเซียน” ก็น่าจะเป็นวินาทีที่เหมาะสมมิใช่หรือ



[1] ซึ่งในยุคนั้น เวียดนามก็ถูกแบ่งแยกเป็น ๒ ประเทศ ด้วยความขัดแย้งของความคิดทางการเมือง ฝ่ายเหนือเชื่อในลัทธิสังคมนิยม และฝ่ายใต้เชื่อในลัทธิเสรีนิยม

[2] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, ฎีกาวิเคราะห์ : คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๘๙/๒๕๓๓ : สัญชาติไทยของบุตรของบุคคลผู้ถูกถอนสัญชาติไทยโดย ปว. ๓๓๗ (นางพรศรี เฉลิมพร กับพวก โจทก์ พ.ต.ท.เติมศักดิ์ ช้างแก้ว จำเลย) ใน: วารสารนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์, ๒๑ (๒๕๓๔) ๒, ๒๘๔-๒๙๓

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=41&d_id=41 <วันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖>

[3] ในวันนี้ เราเรียกว่า มนุษย์ที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยว่า เป็น “ราษฎร (civilian) หรือประชาชน (people) หรือประชากร (population) ของรัฐไทย” แล้วแต่ความนิยมของเหล่านักวิชาการที่เข้ามาศึกษา แต่ผู้วิจัยปรารถนาที่จะเรียนมนุษย์ดังกล่าวว่า “ราษฎรไทย” ทั้งนี้  ตามชื่อของกฎหมายที่มุ่งจะสำรวจและทำทะเบียนให้แก่มนุษย์ดังกล่าว

[4] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, พ.ศ.๒๔๙๙ : รัฐไทยเริ่มต้นระบบการจดทะเบียนการเกิดทั่วไปสำหรับมนุษย์ในสังคมไทย, บทความเพื่อรายงานการตรวจสอบสถานการณ์เรื่องการจดทะเบียนการเกิดในประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อเด็ก เยาวชน และครอบครัวที่ประสบปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติในประเทศไทย, เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=342&d_id=341 <วันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖>

http://gotoknow.org/blog/my-work-on-birth-registration/56490 <วันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖>

[5] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร,ราษฎรไทยคือใครกัน ? ..แล้วคนไม่มีสัญชาติไทยอาจมีสถานะเป็นราษฎรไทยได้ไหม ?, งานเพื่อหนังสือรพีประจำปี พ.ศ.๒๕๔๙ ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร, เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๙

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=312&d_id=311 <วันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖>

[6] พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร, บางกอกคลินิกคืออะไร ? ใช้ต้นทุนทางความรู้ใดเพื่อทำงานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย ?, เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕, ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/490066 <วันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖>;

มองผ่าน "บางกอกคลินิก" ไปสู่ “ศาสตร์ที่ใช้ในการจัดการความยุติธรรม” ให้แก่มนุษย์ที่บากบั่นมาร้องทุกข์, บทคัดย่อบทความเรื่องงานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย, เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ http://www.gotoknow.org/posts/545065 <วันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖>;

งานให้ความช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย : มองผ่านประสบการณ์บางกอกคลินิก, เอกสารประกอบการเสวนาเรื่อง “สังคมวิทยาข้ามพรมแดน ข้ามสาขาวิชา” ซึ่งทำในเวทีเสวนาย่อยอันเป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมที่มีชื่อว่า “การประชุมสังคมวิทยาระดับชาติครั้งที่ ๔ “แผ่นดินเดียวกัน แต่เหมือนอยู่คนละโลก: วาระการวิจัยเพื่ออนาคต” ซึ่งจัดในวันที่ ๑๘ – ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กรุงเทพมหานคร, เขียนเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕, ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๕

http://www.gotoknow.org/posts/545106 <วันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖>;

[7] จันทราภา จินดาทอง, จุดกำเนิดและการทำงานของคลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน, เอกสารประกอบเวทีแสวงหาองค์ความรู้ในการจัดการประชากรในประเทศไทย, ภายใต้บริบทนิติศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ : ตอนประเด็นศึกษาเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการบริหารความเป็นธรรมทางสาธารณสุขแก่มนุษย์โดยกฎหมายและนโยบายของรัฐไทยและประชาคมอาเซียน, ณ ห้องประชุม ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์, ในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖, เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖

http://www.gotoknow.org/posts/545072<วันศุกร์ที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖>


หมายเลขบันทึก: 545111เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 22:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 สิงหาคม 2013 22:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท