สาระที่ 13 เทคนิคและวิทยาการจัดการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้


เทคนิคและวิทยาการจัดการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้

  เทคนิคและวิทยาการจัดการเรียนรู้ หมายถึง วิธีการ มาตรการในการจัดการเกี่ยวกับการเรียนการสอนซึ่งมีหลากหลายวิธีด้วยกัน ผู้สอนสามารถคิดค้น พัฒนา สรรหา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สืบเสาะเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งมีอยู่มากมายสามารถเลือกใช้ตามความเหมาะสม มีหลายรูปแบบดังนี้

1. การจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน (Inquiry Method)การจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวนเป็นการฝึกให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยกระบวนการคิดหาเหตุผลหรือแนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องด้วยตนเองโดยผู้สอนตั้งคำถามกระตุ้นให้  นักเรียนใช้ความคิดหาวิธีแก้ปัญหาได้เองและสามารถนำการแก้ปัญหานั้นมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้

ความมุ่งหมายของการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน 1.เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสืบสวนสอบสวนความรู้หรือข้อเท็จจริงด้วยตนเอง  2.เพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักคิดหาเหตุผล  3.เพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง

ขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน

ขั้นที่1การสังเกต(Observation)หลังจากที่กำหนดประเด็นปัญหาแล้ว ให้นักเรียนสังเกตสภาพการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดปัญหา พยายามนำความคิดรวบยอดเดิมมาแก้ปัญหาคิดหาเหตุผล จัดลำดับความคิดในรูปแบบต่างๆ ให้สอดคล้องสัมพันธ์กับสภาพการณ์อันเป็นปัญหานั้น
ขั้นที่
2การอธิบาย(Explanation)นักเรียนจัดระบบความคิด ตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายความคิดรูปแบบต่าง ๆในการแก้ปัญหา ทบทวนความคิด และทำความเข้าใจปัญหานั้นๆ ให้ชัดเจน
ขั้นที่3การทำนาย(Prediction)เมื่ออธิบายความคิดรูปแบบต่างๆ ในการแก้ปัญหา 
แล้วให้นักเรียนทำนายหรือพยากรณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อีกว่าเมื่อเกิดแล้วจะเกิดผล
และ  แก้ไขอย่างไร
ขั้นที่4การนำไปใช้และสร้างสรรค์(Control and Creativity)นักเรียนสามารถนำเหตุผลและความเข้าใจในการแก้ปัญหาไปใช้ประโยชน์ให้กว้างไกลในชีวิตประจำวันได้ มีความคิดสร้างสรรค์และนำไปใช้ในสภาพการณ์อื่นๆ

ข้อดีของการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน  1.นักเรียนสามารถใช้ความคิด สติปัญญาและประสบการณ์เดิมของตนเองอย่างมีอิสระ  2.ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเป็นคนช่างสังเกต มีเหตุผลไม่เชื่ออะไรง่ายๆ โดยไม่ตรวจสอบ  3.นักเรียนเกิดความเชื่อมั่น กล้าแสดงความคิดเห็น

ข้อสังเกตของการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน1.ครูมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน เนื่องจากครูต้องป้อนคำถามให้กับนักเรียนเพื่อนำไปสู่การคิดค้นคว้า
2.ครูต้องให้โอกาสนักเรียนทุกคนอภิปราย วางแผน และกำหนดวิธีการแก้ปัญหาเอง
3.ปัญหาที่กำหนดเพื่อสืบสวนสอบสวนไม่ควรยากเกินความสามารถของนักเรียนถ้าปัญหายากเกินไป ครูต้องเตรียมการสำหรับการร่วมแก้ปัญหาไว้ด้วย

2. การจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน (Committee Work Method)

การจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ครูมอบหมายให้นักเรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มร่วมมือกันศึกษาค้นคว้าหาวิธีการแก้ปัญหาหรือปฏิบัติกิจกรรมตามความสามารถ ความถนัด หรือความสนใจ เป็นการฝึกให้นักเรียนทำงานร่วมกันตามวิถีแห่งประชาธิปไตย

ความมุ่งหมายของการจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน  1.เพื่อให้นักเรียนมีความรับผิดชอบร่วมกันในการทำงานนั่นคือส่งเสริมการทำงานเป็นทีม  2.เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกันอย่างมีระบบและมีระเบียบวินัย รู้จักทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี 3.เพื่อฝึกทักษะในการแก้ปัญหาตามวิธีการวิทยาศาสตร์ มีการศึกษาค้นคว้าและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยปฏิบัติงานทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม  4.เพื่อให้นักเรียนได้ทำงานตามความสนใจ ความถนัด และความสามารถ  5.เพื่อให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ตรงในการทำงาน

ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน  1.ครูและนักเรียนร่วมกันกำหนดความมุ่งหมายของการทำงานในแต่ละกลุ่ม ขั้นตอนนี้เป็นขั้นที่กำหนดความมุ่งหมายและวิธีการทำงานอย่างละเอียด  2.ครูเสนอแนะแหล่งวิทยาการที่จะใช้ค้นคว้าหาความรู้ ได้แก่ บอกรายละเอียดของหนังสือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้านักเรียนร่วมกันวางแผนและปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย  3.ครูและนักเรียนประเมินผลการทำงาน ในกรณีที่เป็นครูให้สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในการปฏิบัติงานในกรณีที่เป็นนักเรียนให้ร่วมกันประเมินผลการปฏิบัติงานในกลุ่มตนเอง โดยบอกขั้นตอนการปฏิบัติงาน ผลที่ได้รับ และการพัฒนางานในโอกาสต่อไป

ข้อดีของการจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน  1.นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างเต็มที่  2.นักเรียนได้ทำงานตามความถนัด ความสามารถ และความสนใจของตนเอง

ข้อสังเกตของการจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน  1.ถ้าครูเพิ่งเริ่มจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงานเป็นครั้งแรก ครูควรดูแลนักเรียนใกล้ชิด เช่น ต้องดูแลให้นักเรียนทุกคนทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย นักเรียนผู้ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสมาชิกในกลุ่มและนอกกลุ่ม รวมทั้งประสานงานกับครู 2.หน้าที่การเป็นหัวหน้ากลุ่ม ควรหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันตามโอกาส เพื่อฝึกการเป็นผู้นำ และการเป็นผู้ตามที่ดี  3.การปฏิบัติกิจกรรมในกลุ่มควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด

3.การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย(Inductive Method) การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัยเป็นการจัดการเรียนรู้จากรายละเอียดปลีกย่อยไปหากฎเกณฑ์หรือจากตัวอย่างไปหากฎเกณฑ์ นั่นคือ นักเรียนได้เรียนรู้ในรายละเอียดก่อนแล้วจึงสรุป ตัวอย่างของการจัดการเรียนรู้แบบนี้ ได้แก่ ให้โอกาสนักเรียนในการศึกษาค้นคว้า สังเกต ทดลอง เปรียบเทียบแล้วพิจารณาค้นหาองค์ประกอบที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันจากตัวอย่างต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นข้อสรุป

ความมุ่งหมายของการจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย  1.เพื่อให้นักเรียนได้ค้นพบกฎเกณฑ์หรือความจริงที่สำคัญๆ ด้วยตนเอง โดยการทำความเข้าใจความหมายแล้วจึงสร้างความสัมพันธ์ของความคิดให้แจ่มแจ้งก่อนที่จะนำมาสรุปกฎเกณฑ์ ครูผู้สอนมีหน้าที่ในการกระตุ้นและให้แนวทางการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองของนักเรียน   2.เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการสรุปหลักเกณฑ์จากรายละเอียดอย่างมีระบบ

ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย  1.ขั้นเตรียมนักเรียน เป็นการเตรียมความรู้และแนวทางในการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียนด้วยการทบทวนความรู้เดิม กำหนดจุดมุ่งหมาย และอธิบายความมุ่งหมายให้เข้าใจ 2.ขั้นเสนอตัวอย่างหรือกรณีศึกษาต่าง ๆ ให้นักเรียนพิจารณาเปรียบเทียบสรุปกฎเกณฑ์ได้ การเสนอตัวอย่างควรเสนอหลาย ๆ ตัวอย่างให้มากพอที่จะสรุปกฎเกณฑ์ได้  3.ขั้นหาองค์ประกอบรวม คือ การให้นักเรียนมีโอกาสพิจารณาความคล้ายคลึงกันขององค์ประกอบจากตัวอย่างเพื่อเตรียมสรุปกฎเกณฑ์  4.ขั้นสรุปข้อสังเกตต่าง ๆ จากตัวอย่างเป็นกฎเกณฑ์ นิยาม หลักการ ด้วยตัวของนักเรียนเอง  5.ขั้นนำข้อสรุปหรือกฎเกณฑ์สิ่งที่ได้จากการทดลองหรือสิ่งที่เข้าใจไปใช้ในสถานการณ์อื่น

ข้อดีของการจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย 1.นักเรียนสามารถเข้าใจรายละเอียดและหาข้อสรุปได้อย่างแจ่มแจ้ง ทำให้จดจำได้นาน  2.นักเรียนได้รับการฝึกทักษะการคิดตามหลักการเหตุผล และหลักวิทยาศาสตร์  3.นักเรียนเข้าใจวิธีการในการแก้ปัญหาและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี

ข้อสังเกตของการจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย  1.ในการสอนแต่ละขั้น ครูไม่ควรเร่งรัดเวลาในการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียน ควรให้โอกาสในการคิดอย่างอิสระ 2.ครูควรสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอนที่ไม่เป็นทางการบ้างเพื่อลดความเครียดและความเบื่อหน่าย   3.การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัยจะให้ผลสัมฤทธิ์สูง ถ้าครูทำความเข้าใจทุกขั้นตอนอย่างดีก่อนจัดการเรียนรู้

สิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้

  ครูไม่สามารถขยายโครงสร้างทางปัญญาให้แก่ผู้เรียนได้ ผู้เรียนต้องเป็นผู้สร้างและขยายโครงสร้างทางปัญญาด้วยตนเอง โดยครูเป็นผู้จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้หรือสร้างความรู้ของผู้เรียน ด้วยการนำวิธีการ เทคโนโลยีและนวัตกรรมหรือสื่อ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ร่วมกันเพื่อประสิทธิภาพในการเรียนรู้ ดังนั้น ในการจัดสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน จึงเป็นสิ่งสำคัญในสภาพของสังคมปัจจุบัน

  สำหรับแนวทางการจัดการเรียนรู้มีหลากหลายแนวทางในที่นี้จะขอเสนอ 3 แนวทาง ดังนี้

1. หลักการของสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้แบบเปิด (Open Learning Environments (OLEs))

  หลักการของสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้แบบเปิด OLEs เน้นเกี่ยวกับการคิดแบบอเนกนัย (Divergent Thinking) ซึ่งเป็นความสามารถทางสติปัญญาของมนุษย์ที่จะตอบสนองต่อสิ่งเร้าสามารถแสดงออกได้หลายวิธีและมีแนวคิดที่หลากหลาย (Multiple Perspective) ซึ่งเหมาะสมกับการเรียนรู้แบบการแก้ปัญหา โดยเฉพาะเป็นปัญหาที่มีโครงสร้างซับซ้อน ออกแบบและพัฒนาโดย Michael Hannafin (1999)

  การจัดสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ OLEs ประกอบด้วยองค์ประกอบ 4 ประการ คือ

  1.1 การเข้าสู่บริบท (Enabling contexts) จะเป็นการแนะแนวผู้เรียน หรือกำหนดปัญหาและสร้างกรอบความต้องการในการเรียนรู้ ผู้เรียนจะได้รับแนวคิดและบริบทที่เป็นทางเลือกที่จะช่วยกระตุ้นความรู้เดิมที่เกี่ยวข้อง ประสบการณ์ที่มีมาก่อนและทักษะที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ซึ่งช่วยผู้เรียนในการสร้างกลยุทธ์ที่มีศักยภาพ

  1.2 แหล่งทรัพยากร (Resources) เป็นแหล่งรวมความรู้ที่จะช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ แบ่งเป็นแหล่งทรัพยากรที่คงที่ (Static) หมายถึง แหล่งความรู้ในด้านทฤษฎีที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลง และแหล่งทรัพยากรที่เป็นพลวัตร (Dynamic) หมายถึง แหล่งความรู้ที่เปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งผู้สอนควรจัดแหล่งทรัพยากรเป็น Links เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ต่างๆ

  1.3 เครื่องมือ (Tools) ต้องมีเครื่องมือให้ผู้เรียนได้จัดหมวดหมู่ความรู้และจัดทำเป็นแผนที่ความคิด (Concept Map) ที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน มีเครื่องมือสำหรับค้นคว้า เช่น Search Engine สามารถติดต่อสื่อสารได้ผ่าน E-mail, Chat นอกจากนี้ ต้องมีเครื่องมือให้ผู้เรียนสามารถสร้างชิ้นงานได้

  1.4 ฐานการช่วยเหลือ (Scaffolding) นำเสนอแผนที่โครงสร้างและต้นไม้ความรู้อาจมีระบบการทำงานแบบ Tutor และนำเสนอแบบ "Popup" ช่วยในการให้ความหมายและการอธิบายลักษณะของระบบ นอกจากนี้ต้องมีคำแนะนำในการวิเคราะห์และวิธีการเรียนรู้ภารกิจและปัญหาจากผู้เชี่ยวชาญ

2. หลักการของสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ (Constructivist Learning Environments (CLEs))

  หลักการของสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ CLEs มุ่งส่งเสริมความสามารถในการแก้ปัญหาและพัฒนาความคิดรวบยอดที่เกิดจากสถานการณ์ที่มีความยุ่งยากซับซ้อน โดยการเรียนรู้เกิดจากปัญหา คำถาม กรณี หรือโครงงานที่มีความซับซ้อน ปัญหาหรือจุดประสงค์การเรียนรู้เกิดจากตัวผู้เรียนเอง มุ่งเน้นการพัฒนา การสร้างความรู้แต่ละบุคคลและความรู้จากการสร้างความรู้โดยการร่วมมือกันแก้ปัญหา

  2.1 คำถาม กรณี ปัญหา หรือโครงงาน เป็นปัญหาที่ไม่ได้ระบุจุดมุ่งหมายที่แน่นอนมีกระบวนการหาคำตอบที่หลากหลายให้ผู้เรียนได้ทำการตัดสินปัญหาและยืนยันคำตอบของตนเองโดยการแสดงความคิดของตนเอง

  2.2 จัดให้มีการเข้าถึงประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ซึ่งผู้เรียนสามารถนำมาอ้างอิง เชื่อมโยง นำประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องมาใช้เพื่อค้นหาคำตอบ

  2.3 แหล่งข้อมูล ควรมีการจัดการกับข้อมูลที่สะดวกต่อการสืบค้น เพื่อช่วยให้สนับสนุนการแก้ปัญหาของผู้เรียน.

  2.4 เครื่องมือสนับสนุนการสร้างความรู้ ได้แก่ การนำเสนอปัญหาด้วยสถานการณ์จำลอง และจัดให้มีแหล่งความรู้ในรูปแบบของฐานข้อมูลความรู้ Spreadsheet และมีตัวช่วยสืบค้นข้อมูล

  2.5 เครื่องมือในการสนทนาและการร่วมมือกันแก้ปัญหา ได้แก่ Chat, Webboard, Blog และ Wiki

3. หลักการของสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ Situated Learning Environments

  ส่วนสำคัญของ Situated Learning กับการสนับสนุนกิจกรรมแบบ On-Line มีองค์ประกอบการเรียนรู้ (Learning Elements) และลักษณะของระบบ (System Features) ดังนี้

  3.1 บริบทสภาพจริง  (Authentic Contexts) ปัญหาจะต้องมีความเกี่ยวข้องและมีความหมายต่อการเรียนวิชานั้นๆ

  3.2 กิจกรรมการเรียนรู้ตามสภาพจริง (Authentic Activities) นำเสนอด้วยปัญหาที่เป็นจริง เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ไม่มีโครงสร้าง

  3.3 การกระทำอย่างผู้เชี่ยวชาญ (Expert Performances) โดยการเสนอตัวอย่างการแก้ปัญหาเพื่อเป็นแนวทางในกระบวนการแก้ปัญหาของผู้เรียน มีการเข้าสู่ Web Site ของผู้เชี่ยวชาญและแหล่งข้อมูลอื่นๆ

  3.4 มุมมองที่หลากหลาย (Multiple Perspectives) สืบค้นข้อมูลจาก Web Site  ต่างๆ

  3.5 การร่วมมือ (Collaboration) ส่งเสริมการร่วมมือกันแก้ปัญหา เรียนเป็นกลุ่ม

  3.6 การคิดไตร่ตรอง (Reflection) คำถามต้องมีการอธิบาย และมีการประเมินโดยกลุ่ม

  3.7 การอธิบายความรู้ที่ตนเองสร้างขึ้น (Articulation) ต้องแก้ปัญหาโดยใช้กลุ่มผู้เรียน และต้องอธิบายความรู้ที่ตนเองสร้างขึ้นออกมาให้ผู้อื่นรู้ได้

  3.8 การฝึกสอนและการช่วยเหลือ (Coaching and Scaffolding) ผู้เรียนจะได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนในกลุ่ม จะได้รับข้อมูลเพื่อนำมาสู่กระบวนการแก้ปัญหาให้มี e-mail เพื่อสนับสนุนผู้เรียนให้เข้าถึง Tutor หรือผู้เชี่ยวชาญ

  3.9 การประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) ควรประเมินทั้งกระบวนการของการเรียนรู้และผลผลิต ให้มีประเมินผลงานด้วยตนเองและโดยกลุ่มเพื่อน


อ้างอิง : http://www.sahavicha.com/?name=article&file=readarticle&id=158

หมายเลขบันทึก: 544726เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 15:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 สิงหาคม 2013 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท