ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป.3 มหาสารคาม_14 : เวทีครู "ดูธรรมชาติการเรียนรู้"


วันที่ 11-13 กรกฎาคม 2556 ทีมขับเคลื่อน PLC มหาสารคาม จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมรมเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ มีครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา มหาสารคาม เขต 3 จำนวน 138 ท่าน จาก 14 โรงเรียน บันทึกนี้เขียนต่อจากบันทึกแรกที่นี่ และบันทึกที่สองที่นี่ และบันทึกที่ 3 ที่นี่ครับ 

หลังจากรับประทานอาหารเย็น  เราจัดสถานที่เป็น "วงกลมลานกลาง" เคลื่อนย้ายโต๊ะออกให้มีที่ว่าง สำหรับกิจกรรมกึ่งจิตศึกษา พัฒนาภายในเป็นหลัก  แล้วเริ่มด้วยการให้เดิน .....


  • ผมบอกครูให้เดินด้วยความเร็วที่พอดี พอประมาณ เหมือนการเดินเล่นพักผ่อน ตอนเย็นในสวนสาธารณะ  เพียงแค่เริ่มเดิน เสียงทักทายพูดคุยแบบผ่อนคลาย ทำให้ทุกคนเริ่มเพลินพอสมควร
  • สักครู่ ให้สัญญาณหยุด แล้วก็เชิญให้พูดคุยกับเพื่อนที่อยู่ใกล้ที่สุด สักครูแล้วก็เดินต่อไป
  • คราวนี้ให้เดินไปหาคนที่ตนไว้ใจและวางใจที่สุด เพื่อนสนิท จับคู่ยืนหันหน้าหามิตรแท้คนนั้น  แล้วเราก็เริ่มกิจกรรมทดสอบ "ความไว้ใจ" ด้วยการ "หลับตา ล้มตัวทั้งยืน โดยให้เพื่อนยืนรับอยู่ด้านหลัง"  โดยคนที่ล้มต้องเกร็งตัวแข็งเป็นแท่งดินสอน เข่าไม่งอ เท้าชิด  หากใครขยับท้าวออกก่อนถูกจับ แสดงว่ายังไม่ไว้ใจคู่ที่คอยรับเพียงพอ .... กิจกรรมนี้มุ่งให้ รู้สึกถึงความไว้ใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีในการทำงานเป็นทีม

  • แล้วสักครู่ ก็พาเดินต่อ เดินไปแบบไร้จุดหมาย เดินไปแบบผ่อนคลาย วางใจ ก่อนจะให้จับคู่ทำกิจกรรม "เมื่อดอกไม้บาน"
  • เหมือนดอกไม้กำลังบานกลีบดอกออกจากกัน  ครูแต่ละคนเป็นเหมือนกลีบดอก ที่ค่อยๆ บานออกด้วยการจับมือกันยืดแขนให้ตัวออกห่างกัน โดยขณะนั้นท้าวต้องชิดติดเหมือนตอนเริ่มที่ยืนปลายเท้าชิดกัน 
  • จากนั้นก็เดินต่อ คราวนี้จับกลุ่ม 3 คน ทำเหมือน ดอกไม้ 1 ช่อดอก 3 กลีบ  จากนั้นเป็น  5 คน 5 กลีบดอก ต่อไปก็จับ 8 คน ก่อนจะหยุดแล้วให้บางคนลองสะท้อนกิจกรรม ..... 

  • การให้ยืดเส้นยืดสาย หลังจากที่ได้อิ่มข้าวมาจากมื้อเย็น เห็นผลพอสมควร ครูตื่นตัว ผ่อนคลาย พร้อมเรียนรู้
  • ประเด็นสำคัญ คือ เราอยากให้ครู "เห็น" กระบวนการ การออกแบบกิจกรรม และหวังให้ครู นำกลับไปทำกับเด็กๆ ที่โรงเรียน
  • กิจกรรมการเรียนรู้ ไม่ใช่เฉพาะนั่งอยู่กับที่ กับเก้าอี้ที่หลังโต๊ะเรียน แล้วก็ขีดเขียน ฟังอ่าน ทำการบ้าน หรือเรียนผ่านสื่อการสอนเท่านั้น แต่ต้องได้ใช้ทั้ง ฐานกาย ฐานคิด และ ฐานใจ เหมือนกับที่เราฝึกให้ ความไว้ใจ ฝึกทำให้ใจผ่อนคลายให้พร้อมเรียนรู้ ดังกิจกรรมที่ "ครูเป็นดอกไม้บาน"

เมื่อครูพร้อมจะเรียนรับ ผมก็จับไมค์แทรกบรรยายเกี่ยวกับ BBL ด้วยกิจกรรมประเภท "จีบ" "แอว" ทันที ดังนี้ครับ

  • วิธีการฝึกสมองวันนั้น เป็นการแบ่งปันกันแบบพาทำ แต่วันนี้ขอนำสิ่งดีๆ เหล่านั้นมาให้ดูผ่าน คลิป Brain Gym ของเว็บไซต์หมอชาวบ้าน ด้านล่างครับ


  • หลังจากฝึก จีบแอล นับเลขด้วยมือ สลับมือแตะหู ฯลฯ  ผมแทรกด้วยทฤษฎี Brain Based Learning หรือ การจัดการเรียนรู้บนฐานสมอง ด้วยรูปด้านล่าง 

  • ผมเล่าให้ครูฟัง เกี่ยวกับผลการวิจัยของบริษัทเอกชน เจ้าของนมผงชื่อดังแห่งหนึ่ง ที่กล้าเสนออย่างกล้าหาญว่า คนเราใช้ศักยภาพของสมองเพียง 1 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด สิ่งที่ยังขาดมากๆ คือ การใช้สมองสองซีกประสานงานกัน ไม่ใช่ใช้ซ้ายที ขวาที ดังนั้นการที่ครูรู้ว่า สมองส่วนใด ใช้เมื่อไหร่ กับกิจกรรมใด จะทำให้การออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอน "คมกริบ"
  • พิจารณาเป็นคู่ๆ ของสิ่งซีกซ้าย-ซีกขวาทำ เพื่อให้ง่ายต่อการจำ ได้ดังนี้  คำ-สี (ภาษา-ศิลปะ) ตรรกะ-จังหวะ (เหตุผล-ดนตรี) ตัวเลข-สัญลักษณ์ (คำนวณ-ใคร่ครวญ) แยะแยะ-เชื่อมโยง (วิเคราะห์-สังเคราะห์) แยกส่วน-องค์รวม (วิเคราะห์-องค์รวม) ในกรอบ-นอกกรอบ (รอบคอบ-สร้างสรรค์)  ประสบการณ์-จินตนาการ (อดีต-อนาคต) ฯลฯ
  • ผมยังเล่าเรื่องสมอง 3 ชั้น กับปัญญา 3 ฐาน ให้ครูฟังอีกว่า เราอาจแบ่งสมองได้เป็น 3 ชั้น แบ่งที่มาของปัญญา ว่าได้มาจาก 3 ฐาน  เราเรียกสั้นๆ ว่า "สมอง 3 ชั้น" กับ "ปัญญา 3 ฐาน" 
  • สมองชั้นใน ทำให้อยู่รอด กิน ขี้ ปี้ (ผสมพันธุ์) นอน สัญชาตญาณ  สมองชั้นนี้ แม้แต่ "ตะกวด" ก็มี  ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านเรียกว่า "สมองตะกวด"
  • สมองชั้นกลาง (บริเวณสีเทา) ทำงานด้านรับรู้อารมณ์ ความรู้สึก รัก ชอบ เกลียด
    สมองชั้นนี้เจริญดีในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ตั้งแต่แมว หมา จนมาถึง "คน" หมอประเวศเรียกสมองส่วนนี้ว่า "สมองแมว"
  • สมองชั้นนอก ทำหน้าที่บ่งบอกความเป็น "มนุษย์" เรียนรู้ คุณธรรม ความดี ศีลธรรม จริยธรรม วัฒนธรรม เป็นส่วนสมองที่มีเฉพาะมนุษย์ หมอท่านจึงเรียกว่า "สมองมนุษย์"


  • ธรรมชาติของการเรียนรู้ให้เกิดปัญญา มาได้จาก 3 ทาง หรือ 3 ฐาน ได้แก่ ฐานกาย หมายถึง "ฟัง/อ่าน" ผ่านเครื่องมือทั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย (สุตมยปัญญา) ฐานคิด ที่จิตทำงานผ่านสมอง เป็นปัญญาที่ได้จากการคิด พิจารณาอย่างเป็นเหตุเป็นผล หรือเรียกว่าคิดอย่างมีวิจารญาณ (จินตมยปัญญา) และ "ฐานใจ" ที่จะเข้าใจก็ต้องผ่านการลงมือปฏิบัติภาวนา (ภาวนามยปัญญา) 

เรา "จบวัน" ด้วยกิจกรรม "scan body"  กิจกรรมทำสมาธินำใจกลับสู่กาย ซึ่งเป็นเหตุเบื้องต้นของการที่คนจะ "ตื่น" ขึ้นมาได้  ซึ่งรายละเอียดอธิบายมาก ไม่น่าจะเข้าใจได้จากการอ่านจากตัวเขียน  จึงขออนุญาตนำเรียนด้วยคลิปวันหลังนะครับ 

ดูรูปท้งหมดได้ที่นี่ครับ

หมายเลขบันทึก: 544564เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2013 05:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2013 22:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

ขอบคุณทั้งเนื้อหาและสาระจากบันทึกนี้จ้ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท