แพทย์กับคนไข้ ความเข้าใจที่แตกต่างกัน


สิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อเกิดความผิดพลาดหรือภาวะแทรกซ้อนต่อผู้ป่วยแล้วอย่ามัวโทษหรือมัวเอาผิด ฟ้องร้องกัน ควรต้องรีบดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าใครจะผิดก็ตาม ต้องช่วยกันให้คนไข้ปลอดภัยก่อน
ในสังคมไทยยุคปัจจุบันที่เป็นสังคมทุนนิยมอย่างเต็มรูปแบบ ยุคบริโภคนิยมที่มีแต่ความเร่งรีบ ผู้คนต่างมีชีวิตที่ต้องแก่งแย่งแข่งขันกัน กอบโกยเข้าหาตัวเองมากที่สุด แข่งกับเวลาในโลกยุคดิจิตัล ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยเงินตราทำให้น้ำเงินมีความสำคัญกว่าน้ำใจ จากการแข่งขันอย่างเร่งรีบทำให้คนฟังกันน้อยลงแต่ฟังสื่อมากขึ้น ไม่มีเวลามากพอที่จะวิเคราะห์สื่อ จึงเชื่อและเห็นคล้อยตามสื่อได้ง่าย  ในเรื่องสุขภาพจะพบว่ามีข่าวในทางไม่ดีของวงการสุขภาพปรากฏอยู่บนสื่อหลายครั้งและในมุมมองของสังคมต่อสิ่งเหล่านี้มักจะพบว่าแพทย์และโรงพยาบาลกลายเป็นจำเลยสังคมอยู่บ่อยครั้งภายใต้การตัดสินใจในข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนของสื่อและผู้คนเพราะเมื่อเกิดข้อผิดพลาดทางการแพทย์เกิดขึ้นนั้นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือผลเสียได้ตกอยู่กับคนไข้ไปแล้ว เมื่อมองที่ผลลัพธ์ดังกล่าวจึงกลายเป็นหมอชุ่ยบ้าง โรงพยาบาลห่วยบ้างหรือเป็นโรงฆ่าสัตว์บ้างแล้วแต่จะขนานนามกัน เมื่อเกิดความผิดพลาดแก่ผู้ป่วยนั้นเราต้องเยียวยารักษาผู้ป่วยก่อนไม่ว่าความผิดพลาดนั้นจะเกิดจากอะไร แต่ไม่ควรใช้การตัดสินกันด้วยกฎหมายเพราะเป็นเรื่องของการเอาชนะกัน ควรมีกองทุนรวมที่คอยช่วยผู้ป่วยที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนทางการรักษาก่อนโดย ในทางการแพทย์หมอมักจะถูกสอนมาจากอาจารย์แพทย์อยู่เสมอว่าไม่มีอะไร100 % ในทางการแพทย์ นั่นคือให้พยายามเผื่อใจและหาทางป้องกันว่าในการรักษาทุกชนิดไม่มีอะไรที่ปลอดภัยอย่างเต็มร้อยแม้เราจะพยายามทำตามแนวทางปฏิบัติอย่างเต็มที่และรอบคอบแล้ว  คำพูดเหล่านี้ ประโยคเหล่านี้ จึงมักจะได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ เช่น

                ฉันป่วยแทบแย่แต่หมอบอกว่าฉันไม่เป็นอะไร

                หมอไม่เห็นตรวจอะไรแล้วบอกว่าฉันเป็นโน่นเป็นนี่

                อาการที่ฉันเป็นเหมือนคนข้างบ้านที่ตายด้วยโรคมะเร็งเลย หมอได้แต่ถามๆแล้วบอกว่าไม่ใช่

                ฉันปวดท้องมาหลายเดือนขอเอ๊กซ์เรย์หมอก็ไม่ทำให้ บอกว่าไม่จำเป็น จะให้ตายก่อนแล้วค่อยจำเป็นหรือ

                ตอนโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคเข้ามาใหม่ๆเด็กวัยรุ่นเขาพูดกันว่าดีจังเลยตีหัวคนก็เสียแค่ 30 บาท แต่พอยุคนี้เริ่มมีคนพูดกันว่าถ้าจะตายก็พยายามลากไปตายที่โรงพยาบาลให้ได้จะได้ร้องเรียนว่าโรงพยาบาลทำไม่ดีทางสปสช.จะได้จ่ายค่าทำศพให้

                หมอเถื่อนหมอชาวบ้าน ฉีดยาให้แล้วแพ้ยาแม้จะฉีดยาที่อันตรายที่มักไม่ให้ใช้ในโรงพยาบาลแล้วเกิดแพ้ยาหรือตายชาวบ้านจะไม้ฟ้องร้องหมอเถื่อนแล้วคิดว่าถึงที่ตายหรือถึงคราวตาย แต่ถ้าฉีดยากับคลินิกหรือโรงพยาบาลจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทางหน้าหนังสือพิมพ์แม้จะทำถูกหลักวิชาการ แต่ก็ถูกสังคมที่ชักนำโดยสื่อวินิจฉัยไปแล้วว่าห่วย

                การวินิจฉัยโรคจากผลตรวจทางห้องปฏิบัติการนั้นผู้ป่วยมองว่าถ้าพบก็คือป่วย ถ้าไม่พบก็คือไม่ป่วย และคิดว่าการตรวจเหล่านั้นจับตัวโรคได้เลย ซึ่งในทางการแพทย์แล้วไม่ใช่หลายโรคเราไม่สามารถตรวจจับตัวเชื้อโรคหรือตัวโรคได้ ตรวจได้แต่เพียงซากหรือร่องรอยของมันเท่านั้น  และวิธีการตรวจเองก็มีความเกี่ยวข้องอยู่กับ 2 เรื่องคือวิธีการตรวจนั้นมีความไว(Sensitivity)และความจำเพาะ(Specificity) ไม่ได้ถึง 100 % โดยความไวก็คือถ้าป่วยแล้วตรวจพบได้ว่าป่วย กับความจำเพาะคือถ้าป่วยเป็นโรคนั้นแล้วตรวจพบว่าเป็นโรคนั้น  จากการมีความไวและความจำเพาะที่ไม่ได้ 100 % นั้นทำให้เวลาตรวจอาจพบว่าคนที่ไม่ได้ป่วยแต่ตรวจผลว่าป่วยกลายเป็นผลบวกลวง หรือคนที่ป่วยแต่ตรวจไม่พบว่าป่วย เป็นผลลบลวง  คำว่าลวงก็คือไม่จริง  ดังนั้นการจะเชื่อผลตรวจจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างเดียวจึงเป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยการตรวจร่างกายและซักถามประวัติด้วย  เราจึงพบว่าการตรวจหลายอย่างอาจสร้างปัญหาทั้งกับแพทย์และผู้ป่วยได้ เช่นการตรวจปัสสาวะหายาบ้า ถ้ากินยาบางอย่างที่ไม่ใช่ยาบ้าการตรวจก็ให้ผลบวกได้(ผลบวกลวง) หรือกินยาบ้ามาแต่ตรวจไม่พบ(ผลลบลวง) หรือ การตรวจโรคซาร์ส ที่เคยมีปัญหาว่าตรวจไม่พบแล้วมากักตัวไว้ทำไม  ที่จะเป็นปัญหามากอีกอย่างคือการตรวจโรคเอดส์ ซึ่งการให้ผลลบคงไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดให้ผลบวกออกมาทั้งที่ไม่เป็นจริง จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ทั้งที่สามารถเกิดขึ้นได้จากการเป็นผลบวกลวง ในทางปฏิบัติองค์การอนามัยโรคจึงแนะนำให้ตรวจ 2 วิธี ถ้าเกิดผลบวกทั้ง 2 วิธี จึงจะบอกผู้ป่วยว่าติดเชื้อเอดส์ แต่ถ้าไม่บวกทั้งสองวิธีก็ง่าย  หากเกิดบวก 1 วิธี ลบ 1 วิธี ทางโรงพยาบาลจะต้องส่งตรวจพิสูจน์ยืนยันเพิ่มเติมที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ และก็พบว่าหลายรายผลออกมาว่าแปลผลไม่ได้  ทีนี้เมื่อเจอแบบนี้คนตรวจ(Technician)ก็ไม่ยุ่งยากอะไรแต่ผู้ให้การรักษา(Physician)จะลำบากใจเพราะจะต้องบอกผู้ป่วยว่าแปลผลไม่ได้ ผลไม่แน่นอน ถ้าบอกอย่างนี้คนไข้จะไม่มาหาโรงพยาบาลเราอีกแล้วเพราะไม่เก่ง ตรวจไปแล้วยังบอกผลไม่ได้  เมื่อไปที่อื่นที่บางทีตรวจวิธีเดียวไปเลยเป็นผลลบเขาก็จะเชื่อที่นั่นและมองว่าโรงพยาบาลที่ตรวจหลายวิธีซึ่งดีกว่ากลายเป็นไม่ดี ไม่เก่งไปเลย  ซึ่งที่ทางโรงพยาบาลพยายามทำเพราะว่าตามแนวทางถ้าแปลผลไม่ได้ต้องนัดมาตรวจอีก 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือนและ 1 ปี ซึ่งจะดูยุ่งยากไป  ทีนี้ในคนทั่วไปก็คงไม่มีปัญหาอะไร แม้จะเป็นแต่ตรวจไม่เจออีกสักพักก็จะตรวจเจอได้ แต่ถ้าเป็นคนท้อง ถ้าเป็นแล้วตรวจไม่เจอ ตีความว่าไม่เป็นเด็กในท้องจะเสียโอกาสในการได้รับยาป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกไปทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงขึ้น  จากตัวอย่างที่ยกมาจะเห็นว่าการรักษาคนของแพทย์ไม่เหมือนการซ่อมของช่างยนต์ ช่างคอมพิวเตอร์ที่สามารถแกะ ถอดออกมาตรวจดูได้ว่าเสียตรงไหนแล้วประกอบเข้าไปใหม่ แต่ในคนเราทำอย่างนั้นไม่ได้ 

                ในการวินิจฉัยโรคของแพทย์คนส่วนใหญ่จะมองว่าถ้าตรวจทางห้องปฏิบัติการมากๆ ตรวจด้วยเครื่องไม้เครื่องมือเยอะๆจะดี  ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะในทางการแพทย์เราจะวินิจฉัยโรคจากประวัติอาการเจ็บป่วยถึง 70 % จากการตรวจร่างกาย 20 % และจากการตรวจด้วยเครื่องมือแค่ 10 % เท่านั้นจากข้อจำกัดของการตรวจที่ได้กล่าวมาแล้ว ดังนั้นหลายโรคจึงสามารถวินิจฉัยได้จากการฟังอาการ และการตรวจร่างกายเป็นการตรวจเพื่อกันเอาโรคอื่นออกไปเท่านั้น ยกตัวอย่างโรคแผลในกระเพาะอาหารซึ่งจะมีอาการได้หลายลักษณะ หลายแบบ และพบบ่อยว่าจะเป็นๆหายๆมานาน เพราะเวลารักษามักจะได้ยาไม่ครบพออาการหายก็หยุดกินยา แล้วก็ปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องเช่นความเครียดวิตกกังวล หรือกินอาหารผิดเวลา ก็ทำให้เป็นใหม่ได้เรื่อยๆ  พอไปตรวจบ่อยๆได้รับการบอกว่าเป็นโรคกระเพาะก็เริ่มจะไม่เชื่อหมอ อยากจะตรวจโน่นตรวจนี่เพื่อให้รู้สึกสบายใจ เมื่อไม่ได้ตรวจจากหมอคนนี้ ก็ไปขอตรวจกับหมออีกคนหนึ่ง สุดท้ายพอได้เอ๊กซ์เรย์ ดูแล้วก็มักจะปกติ พอหมอบอกว่าเป็นโรคกระเพาะก็เชื่อเพราะคิดว่าหมอดูฟิล์มแล้วเห็นว่าเป็นโรคกระเพาะซึ่งที่จริงไม่ใช่หมอดูว่าปกติแล้ววินิจฉัยจากอาการว่าเป็นโรคกระเพาะ คนไข้ก็คิดว่าวินิจฉัยจากเอกซ์เรย์

                ในเรื่องของความเจ็บป่วยนั้นโรคต่างๆจะแบ่งอกได้เป็น 3 กลุ่มคือโรคที่รักษาก็หายไม่รักษาก็หาย  โรคที่รักษาก็หายไม่รักษาก็ตาย  และรักษาก็ตายไม่รักษาก็ตาย และมีหลายโรคที่เกิดอาการแล้วเป็นเฉียบพลันมีโอกาสตายสูงไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือที่โรงพยาบาล เช่นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน  ซึ่งโรคเหล่านี้อาจไม่มีอะไรนำมาก่อน เรามักพบบ่อยๆว่าญาติบอกว่าไม่เคยป่วย ไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเลย พอมาครั้งแรกก็หนักละตาย  คนที่ไม่เคยตรวจ ไม่เคยเข้าโรงพยาบาลนั้นไม่ได้หมายความว่าไม่เคยป่วยเพียงแต่ถ้าป่วยแล้วมักรักษาตัวเอง พอเป็นหนักมาโรงพยาบาลก็เลยไม่ค่อยทัน  ถ้านอนอยู่บ้านแล้วตายก็จะเป็นเรื่องปกติ แต่อยู่ดีๆมาโรงพยาบาลแล้วตายก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่เลยและหนีไม่พ้นหมอห่วย โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น

                ความผิดพลาดหรือความบกพร่องทางการแพทย์นั้น สามารถเกิดได้จากสาเหตุ 4 กลุ่มคือ

  1. จากความผิดพลาดของแพทย์และผู้ให้การดูแลรักษา ซึ่งอาจเกิดจากขาดความรู้ความสามารถหรือมีความรู้ความสามารถแต่ขาดความสนใจใส่ใจผู้ป่วย หรือมีความใส่ใจแต่งานมากจนต้องเร่งรีบทำ ไม่มีเวลาหรือเหนื่อยอ่อนจากงานหนักจนล้าหรือตัดสินใจผิดพลาด ถ้าเกิดจากการขาดความรู้ความสามารถหรือไม่เอาใจใส่ก็ถือว่าแพทย์บกพร่อง แต่หากเกิดจากการมีงานหนักเกินไป การให้อยู่เวรทำงานจนไม่มีเวลาพักผ่อนเต็มที่แล้วทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้น ก็น่าจะให้อภัยแพทย์ผู้นั้น แล้วมาช่วยกันวิเคราะห์แก้ไขระบบที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้นมากกว่าจะมาคอยโทษกัน
  2. จากตัวโรคที่ผู้ป่วยเป็น ที่สามารถทำให้ผู้ป่วยเกิดอันตรายหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนจนพิการหรือเสียชีวิตได้ แม้จะรักษาอย่างดี อย่างถูกต้องแค่ไหนก็ตามเช่นไข้เลือดออก อาจมีช็อคและตายได้แม้อยู่ในสถานที่รักษาที่ดีพร้อมก็ตาม
  3. จากวิธีการรักษา เครื่องมือและยาที่ให้ผู้ป่วย ทุกชนิดถือว่ามีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ทั้งหมด แม้จะเป็นหัตถการง่ายๆอย่างฉีดยา ก็อาจแพ้ยารุนแรงได้แม้จะถามประวัติแล้วไม่เคยแพ้ยาตัวนั้นมาก่อนก็ตาม
  4. จากตัวผู้ป่วยเอง ไม่ได้ปฏิบัติตัวอย่างถูกต้องหรือกินยาไม่เหมาะสม ไม่ครบ เช่นถ้าพรุ่งนี้จะผ่าตัดให้งดน้ำและอาหาร 8-12 ชั่วโมง แต่ผู้ป่วยแอบกินอาหารแล้วไม่บอกพอไปดมยาสลบทำให้เกิดการสำลักเข้าปอดเกิดภาวะระบบหายใจล้มเหลวและเกิดอันตรายตามมา หรือเป็นโรคคออักเสบจากเชื้อแบคทีเรียให้กินยาปฏิชีวนะ 5-10 วัน แต่กินแค่ 1-2 วัน ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนเป็นโรคหัวใจรูมาติกส์หรือเป็นโรคหน่วยไตอักเสบเฉียบพลัน เป็นต้น
                ในการรักษาโรคทุกวิธี ยาทุกอย่างมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงได้ทุกอย่าง อาจารย์แพทย์จึงมักสอนกันมาว่าไม่มีอะไรแน่นอน100%ในวงการแพทย์(Medicine) ถ้าฉีดยา กินยาก็มีโอกาสแพ้ยา แม้จะถามประวัติอย่างดี หรือไม่เคยแพ้มาก่อนก็ตาม  แม้จะฉีดในขนาดที่เหมาะสม ฉีดอย่างถูกต้องก็เกิดขึ้นได้ ถ้าเป็นยากินก็จะรุนแรงน้อยหน่อย ถ้าเป็นยาฉีดก็จะเกิดปฏิกริยารุนแรงได้มากกว่า และส่วนใหญ่พบว่าถ้าถามว่าเคยแพ้ยาไหมก็มักจะพบคำตอบว่าไม่เคยแพ้ จริงๆแล้วอาจจำไม่ได้หรือไม่ได้รู้ว่าอาการที่เกิดนั้นเป็นการแพ้ยาหรือไม่  ในเรื่องยานี้มีอีกอย่างคือผลข้างเคียง(side effects)ซึ่งไม่ใช่การแพ้ยา แต่ยาอาจมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ เช่น การกินยาขยายหลอดลมอาจทำให้ใจสั่นได้  การกินยาแก้ปวดท้องบางอย่างอาจทำให้ปากแห้งคอแห้งร้อนวูบวาบตามตัว  การใช้ยาบางอย่างอาจทำให้หูตึงหรือการทำงานของไตบกพร่อง เป็นต้น  ในด้านการผ่าตัดหรือหัตถการต่างๆก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้โดยที่ไม่ได้เกิดจากความชุ่ยของหมอ เช่นการเกิดไส้เลื่อนหน้าท้องหลังผ่าตัด,การเกิดเสียงแหบหลังผ่าตัดไทรอยด์ เป็นต้น ยิ่งคนไข้คลอดซึ่งถือเป็นการรักษาที่ไม่ยากแต่เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้และหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ภาวะน้ำคร่ำอุดตันในเส้นเลือด รกค้าง ตกเลือด เป็นต้น

                จากสิ่งที่เล่าให้ฟังจึงมีผลให้แพทย์ไม่ค่อยมาอยู่ตามโรงพยาบาลอำเภอเพราะต้องคอยระวังความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในสภาพที่พร้อมบ้างไม่พร้อมบ้างของทรัพยากร หมอ2-3 คน ต้องรับผิดชอบตลอดเวลาทั้งอำเภอ ต้องเจอปัญหาทั้งเงินไม่พอ ยาไม่มี เครื่องมือไม่พร้อม ความต้องการของประชาชนที่มากขึ้น บางครั้งเกินพอดี ต้องการพบแพทย์เฉพาะทางในโรคง่ายๆที่สามารถรักษาได้ในโรงำยาบาลอำเภอ พอไม่ได้ก็หาช่องหาทางร้องเรียน  แพทย์หลายคนมีความตั้งใจดีที่จะมาอยู่ชนบทแต่พอมาอยู่แล้วต้องเผชิญกับภาระที่หนักอึ้งจนเกิดความเครียดมาก ต้องกินยาคลายเครียด  ยานอนหลับ  อยู่โรงพยาบาลเล็กมีปัญหาอะไรหน่อยก็ถึงตัวทันที บางที่ก็ดูเหมือนไร้ศักดิ์ศรีเพราะคนไข้ไม่เชื่อถือ หมอคนเดียวกันอยู่โรงพยาบาลใหญ่ตอนเป็นแพทย์ฝึกหัดพูดแนะนำคนไข้เชื่อ พอย้ายออกมาอยู่โรงพยาบาลเล็กพูดไปคนไข้ไม่ค่อยเชื่อจะขอไปรักษาในเมืองอย่างเดียวกลายเป็นต้องมาทำหน้าที่นายไปรษณีย์เขียนใบส่งตัวเพื่อให้คนไข้ใช้สิทธิ์ฟรีได้  อยู่เวรตอนกลางคืนอาจไม่ได้นอนทั้งคืนก็ไม่ได้พักเช้าก็มาตรวจอีก ไม่ได้พักผ่อน พออ่อนล้าผิดพลาดก็โดนร้องเรียน โดนฟ้อง ที่เห็นๆฟ้องกันแล้วก็ตกใจเพราะเป็นหมอบ้านนอก หมอภาครัฐ หาเงินอีก 10 ชาติก็คงจะไม่พอจ่าย อยู่ๆไปก็ต้องอดทน ทนไปจนครบภาระใช้ทุนก็รีบไปเรียนต่อเพื่อจะได้เป็นแพทย์เฉพาะทางอยู่ในเมือง แม้จะรักชนบทก็อยู่ไม่ไหวเพราะความเครียดมันมากจนไร้ความสุข แต่หมอในโรงพยาบาลใหญ่เองก็ใช่จะสบายบางคนต้องอยู่เวรวันเว้นวันหรืออยู่ทุกวันก็มีเช่นแพทย์ผ่าตัดสมอง  ศัลยแพทย์

                สิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อเกิดความผิดพลาดหรือภาวะแทรกซ้อนต่อผู้ป่วยแล้วอย่ามัวโทษหรือมัวเอาผิด ฟ้องร้องกัน ควรต้องรีบดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยก่อนเป็นอันดับแรก ไม่ว่าใครจะผิดก็ตาม ต้องช่วยกันให้คนไข้ปลอดภัยก่อน ทั้งหมอและญาติต้องหันหน้าเข้าหากัน ปรึกษากันว่าจะเอาอย่างไรดี ทำให้เกิดบรรยากาศทางบวกต่อกัน ร่วมมือกัน จะได้ทุ่มเท ความคิด ความสามารถและแรงกายในการช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่ เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัย ส่วนใครผิดใครถูกค่อยมาเจรจากันทีหลัง หลังจากช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มที่แล้ว หากมามัวฟ้องร้องกัน ต่างคนก็ต่างเครียด เกิดความโกรธใส่กัน หมอก็มัวแต่จะพยายามหาวิธีว่าตนเองไม่ผิด ญาติก็มัวไปวุ่นวายกับการหาทนาย หาทางจะเอาเรื่อง คนเจ็บก็อาจจะถูกละเลยได้  ในเรื่องของการพิจาราความผิดถูกนั้นต้องพิจารณาข้อจำกัดต่างๆด้วยจะได้ไม่ตัดสินใจกันตามกระแส ต้องให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เพราะทั้งสองฝ่ายก็ทุกข์ด้วยกันทั้งคู่
                สิ่งที่ได้เขียนมานี้ไม่ได้จะตำหนิใคร ไม่ได้จะแก้ตัวแทนแพทย์แต่ได้พยายามสื่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นออกสู่สาธารณชน จะได้หันมามองหลายๆมุม มองให้กว้างขึ้น เพื่อให้เกิดความเข้าใจกันมากขึ้น เพราะคนไข้ก็ทุกข์ หมอก็ทุกข์ จะได้ช่วยกันลดความทุกข์ของทั้งสองฝ่าย ให้เกิดความสมานฉันท์สานสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วยขึ้นมาใหม่ ประเภทยาขอ หมอวาน แม้จะยังไม่ได้ แต่ก็อย่าให้ถึงกับต่างก็จ้องจะเอาประโยชน์จากกัน  หมอคิดค่ารักษาแพง พอพลาดมาคนไข้ก็จ้องจะฟ้อง  อีกหน่อยหมอก็ต้องทำประกันการฟ้องก็ไปเรียกเอากับคนไข้วนเวียนไปเป็นวงจรชั่วร้ายไม่จบสิ้น  สังคมที่มีพื้นฐานจากความไม่เข้าใจกัน คงไม่มีใครได้ประโยชน์ที่แท้จริงอย่างแน่นอน  อีกทั้งเพื่อให้ทุกคนหันกลับมาดูแลตนเองอย่าให้เจ็บป่วยเพราะเมื่อป่วยแล้วโอกาสจะรักษาไม่ไดหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายก็มีอยู่แม้จะรักษากับหมอที่เก่งที่สุดก็ตาม ดังนั้นถ้าไม่ป่วยเลยจะดีกว่า ซึ่งก็ไม่ต้องใช้เงินก็ทำได้ สุขภาพจึงไม่สามารถซื้อได้ด้วยเงินอย่างที่มีการโฆษณาขายสารพัดยาอาหารเสริม เพราะ สุขภาพดีไม่มีขาย    ถ้าอยากได้ต้องลงมือทำเอง

ปล. บทความนี้ตั้งใจเขียนมาเป็นปีแล้ว เขียนๆหยุดๆ จนวันนี้ 16 ตุลาคม 2548 ก็เรียบเรียงจนสำเร็จขึ้นมาได้

หมายเลขบันทึก: 5443เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2005 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
น่าเห็นใจหมอจริงๆค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท