ต้อหินปัจจัยสู่ตาบอดโดย อ.นพ.วสุ ศุภกรธรสาร


ต้อหินปัจจัยสู่ตาบอด



  "  ต้อหิน เป็นหนึ่งโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านอายุ โดยคนที่อายุ 70 ปีขึ้นไปจะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นโรคต้อหินได้มากราว 6 ถึง 7 เท่าของคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป และจากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันคนไทยเป็นโรคต้อหินและโรคตาบอดที่เกิดจากต้อหินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน

 นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคต้อหิน 9 จาก 10 ราย มักไม่มีอาการ ทำให้กว่าที่จะรู้ตัวและมาพบแพทย์ ประสาทตาก็ถูกทำลายไปแล้ว นั่นทำให้ ต้อหิน เป็นสาเหตุที่นำไปสู่ตาบอดเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย

ต้อหินเป็นโรคเรื้อรัง ไม่ค่อยมีการแสดงอาการ บางรายอาจมีอาการตามัวบ้าง แต่ส่วนใหญ่สามารถใช้สายตาได้อย่างปกติ เนื่องจากต้อหินเป็นการสูญเสียลานสายตารอบนอก แคบเข้ามาจนถึงตรงกลาง จนกระทั่งบอดในที่สุด โดยมีวิธีการสังเกตคือ ให้ปิดตาทีละข้าง เพื่อเปรียบเทียบการมองเห็น ดูว่าตาทั้งสองข้าง เห็นชัดและเห็นได้กว้างเท่ากันหรือไม่ และแม้จะขึ้นชื่อว่าต้อเหมือนกัน

แต่ต้อกระจกสามารถผ่าตัดเปลี่ยนเลนส์แก้วตาได้ ส่วนต้อหินถ้าปล่อยทิ้งไว้ หากไม่ทำการรักษา ประสาทตาจะเสื่อมไปเรื่อย ๆ ส่วนที่เสียไปแล้วก็จะไม่สามารถทำการรักษาให้ดีเหมือนเดิม และไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนประสาทตาได้เหมือนต้อกระจก แต่หากตรวจพบได้เร็ว ก็สามารถทำการรักษาเพื่อไม่ให้ตาบอดได้ โดยการรักษามีทั้งการใช้ยา การยิงเลเซอร์ และการผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและโรคที่เป็น

ต้อหินบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น ต้อหินชนิดมุมปิดเฉียบพลัน ต้อหินที่เกิดจากการฟุ้งกระจายของเม็ดสี และต้อหินที่มีสาเหตุจากเลนส์แก้วตา การจะทราบว่าเป็นต้อหินชนิดใดนั้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจจากจักษุแพทย์ และทำการรักษาอย่างทันท่วงที




มักมีคำถามบ่อย ๆ ว่าจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นต้อหิน

จักษุแพทย์ จะทำการตรวจสภาพลูกตาส่วนหน้าด้วยเครื่องตรวจ slit lamp (สลิท แลมป์) วัดความดันลูกตา ตรวจความกว้างของมุมตา ตรวจสภาพของขั้วประสาทตา และเส้นใยประสาทตา นอกจากนี้ในรายที่สงสัยว่าอาจเป็นต้อหิน แพทย์จะส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อตรวจสภาพลานสายตา และวัดความหนาของเส้นใยประสาทตา

ซึ่งในรายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นต้อหิน จักษุแพทย์จะให้การรักษา และจะต้องได้รับการตรวจติดตามเป็นระยะเพื่อดูว่าโรคยังมีลักษณะของการลุกลามต่อเนื่องอยู่หรือไม่ เพื่อจะได้รับการรักษาให้สามารถควบคุมโรคไม่ให้เกิดการลุกลามมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถคงสภาพการมองเห็นเป็นปกติอยู่ได้

ในคนปกติทั่วไปจึงแนะนำให้ตรวจสุขภาพตาอย่างน้อยหนึ่งครั้งในช่วงอายุ 25-40 ปี และรับการตรวจทุก 2-4 ปีในช่วงอายุ 40-64 ปี หลังจากนี้ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ในผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต้อหินอยู่แล้วจึงควรได้รับการตรวจสุขภาพตาถี่ขึ้น โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาถึงความถี่ห่างในการเข้ารับการตรวจในครั้งต่อไปตามสภาพของลูกตาและปัจจัยเสี่ยงในแต่ละบุคคล "

อ.นพ.วสุ ศุภกรธรสาร ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล


 (  ขอบคุณ ต้อหิน ปัจจัย....สู่ตาบอด จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์คอลัมน์หมอรามาไขปัญหาสุขภาพ

        และภาพตาจากอินเทอร์เน็ต )


ด้วยความปรารถนาดี    กานดา แสนมณี

   วันพฤหัสที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ ๒๕๕๖


หมายเลขบันทึก: 544294เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2013 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 สิงหาคม 2013 09:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท