การเรียนรู้บูรณาการพลังสาม : หัวใจอุดมศึกษา : ๑๖. การหลอมรวมระหว่างการเรียนวิชากับการเรียนรู้จากกิจกรรมนักศึกษา



          บันทึก ๒๐ ตอนนี้ ได้จากการตีความหนังสือ  The Heart of Higher Education : A Call to Renewalเขียนโดยผู้มีชื่อเสียง ๒ ท่านคือ Parker J. Palmer และ Arthur Zajonc  ซึ่งเมื่อผมอ่านคร่าวๆ แล้ว ก็บอกตัวเองว่า  นี่คือข้อเสนอสู่การเรียนรู้เพื่อเป็นคนเต็มคน ที่มี “พลังสาม” เข้มแข็ง คือ สมอง ใจ และวิญญาณ (head, heart, spirit)  หรือพูดด้วยคำที่ฮิตในปัจจุบันคือ การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในตน (Transformative Learning)

          แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะเน้นเสนอการเปลี่ยนแปลงในระดับอุดมศึกษา  แต่ผมมีความเชื่อว่าต้องใช้กับการศึกษาทุกระดับ  รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต  และตัวผมเองก็ต้องการนำมาใช้ฝึกปฏิบัติเองด้วย

          ผมตั้งเป้าหมายในการอ่านและตีความหนังสือเล่มนี้  ออกบันทึกลง บล็อก ชุด เรียนรู้บูรณาการพลังสาม ว่า ต้องการเจาะหาแนวทางทำให้จิตตปัญญาศึกษา เข้าสู่การศึกษากระแสหลัก  เพื่อให้คนไทยมีทักษะจิตตภาวนาบูรณาการอยู่ในทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะชีวิต

          การเรียนรู้บูรณาการ (สมอง ใจ และวิญญาณ) พัฒนา ๓ ด้านไปพร้อมๆ กัน  และส่งเสริมเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Integrative Learning  ในบางที่เรียกว่า Transformative Learning ซึ่งแปลเป็นไทยได้ ๒ แบบ ว่า (๑) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐาน  คือเปลี่ยนจากติดสัญชาตญาณสัตว์ เป็นมีจิตใจสูง ซึ่งมนุษย์ทุกคนบรรลุได้   บรรลุได้ในฐานะบุคคลทางโลก ไม่ต้องเข้าวัด หรือไม่ต้องบวช  (๒) เป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง หรืองอกงาม ภายในตน  ตรงกันข้ามกับการเรียนรู้แบบรับถ่ายทอดความรู้มาจากภายนอก

          ผมได้ตีความเขียนบันทึกจากบทหลักในหนังสือจบแล้ว  แต่ยังมีส่วนเพิ่มเติม เพื่อบอกวิธีปฏิบัติอีกหลายตอน  ที่ผมคิดว่ามีประโยชน์ต่ออาจารย์ที่ต้องการจัดการเรียนรู้แบบ Integrative/Transformative Learning อย่างจริงจัง 

          บันทึกตอนที่ ๑๖ นี้ ตีความจากส่วนหนึ่งของ Appendix B : Beyond the Classroom  เรื่อง Philadelphia University : Where Physical Education Makes a Play for Civic Education  เขียนโดย Tom Schrand, Interim Dean, School of Liberal Arts, and Aurelio Valenta, Assistant Dean, Student Development, Philadelphia  University  เล่าเรื่องการจัดการเรียนรู้ด้านพลศึกษาเพื่อการเรียนรู้บูรณาการ นำไปสู่การจัดการเรียนรู้พลเมืองศึกษา หรือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสำนึกพลเมือง  ในมหาวิทยาลัยฟิลาเดลเฟีย

          มหาวิทยาลัยฟิลาเดลเฟีย ต้องการเคลื่อนจัดการเรียนรู้บูรณาการ ไปครอบคลุมการพัฒนาสำนึกพลเมืองของ นศ.  และเพื่อสร้างความใกล้ชิดกับชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น  หลังจากทำโครงการ ๓ ปี ที่ได้รับทุนจาก  Carnegie Foundation for the Advancement of Teaching และจาก AAC&U (Association of American Colleges and Universities) ชื่อ Integrative Learning Project จบ  มหาวิทยาลัยก็ดำเนินการ ขับเคลื่อนหลักสูตรที่เรียนในห้องเรียน ออกสู่ชุมชน  โดยจัดให้มีความร่วมมือกันระหว่างฝ่ายวิชาการ กับฝ่ายกิจการนักศึกษา

          ขั้นตอนแรกคือพาอาจารย์ และเจ้าหน้าที่หน่วยพัฒนา นศ. ไปฝึก civic engagement & service learning ที่ AAC&U Greater Expectation Institute  โดยดึงผู้บริหารหลายฝ่าย รวมทั้งรองคณบดีฝ่ายกิจการ นศ.  และบริษัทเอกชนที่จะช่วยงานในชุมชนได้ ในระหว่างการฝึก ได้มีการพูดคุยกันระหว่างเจ้าหน้าที่พัฒนา นศ.  รองคณบดีฝ่ายกิจการ นศ.  และ ผอ. การกีฬา ว่าน่าจะเพิ่มการฝึกกิจกรรมชุมชน (civic engagement) เข้ากับวิชาพลศึกษาอย่างเป็นทางการ   ซึ่งในที่สุดก็เกิดรายวิชา SERVE-101 ที่มีเป้าหมายให้ นศ. ได้เข้าใจความเกื้อกูลช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกของสังคมกับสังคมส่วนรวม  โดยให้ นศ. ได้ลงมือทำ และได้ทบทวนไตร่ตรองในภายหลังอย่างจริงจัง 

          ในรายวิชานี้ นศ. ได้มีโอกาสเลือกทำงานตามที่ตนสนใจและรัก ในประเด็นตัวอย่าง เช่น (๑) การขับเคลื่อนสังคมด้านสิทธิมนุษยชน  (๒) เด็กและเยาวชน  (๓) การพัฒนาชุมชน  (๔) การศึกษา  (๕) ความหิวโหยและการไร้บ้าน  (๖) เป็นต้น

          ในการปฏิบัติงานนี้ นศ. จะได้ทำความเข้าใจผลกระทบและความหมายของกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม  กระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ร่วมกับการใคร่ครวญไตร่ตรองหลังการปฏิบัติ  จะช่วยให้ นศ. เรียนรู้จากภายในตน เปลี่ยนแปลงสภาพของตนเองจาก “อาสาสมัคร” (บุคคลที่มีเจตนาดี แต่ไม่เข้าใจความซับซ้อนของปัญหาสังคม)  ไปสู่ “พลเมืองที่รับผิดชอบต่อประเด็นเชิงจริยธรรมในสังคม”   คือเป็นพลเมืองที่เข้าไปร่วมแก้ปัญหาสังคม 

          เมื่อนำเสนอร่างหลักสูตรผ่านกระบวนการอนุมัติของมหาวิทยาลัย  ก็ได้รับคำแนะนำให้จัดรายวิชานี้แบบ 3+1  คือให้ นศ. เลือกเรียนวิชานี้ต่อเนื่องได้ทั้งหมด ๔ ครั้ง   เพื่อให้ นศ. ที่สนใจจริงจัง มีโอกาสทำกิจกรรมต่อเนื่อง  เพื่อการเรียนรู้บูรณาการ สู่ความเป็นพลเมือง



วิจารณ์ พานิช

๑๐ ก.พ. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 544172เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2013 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2013 09:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์คล้ายกับของหนู พลัง 3  H คือ

Heart  Head and Hand on Activity.

เป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการค่าย การวิจ้ยของคณุหยินเอง

ใช้ความรักเป็นแรงผลักดัน

ใช้ความคิดเป็นพลังที่สร้างสรรค์

ให้เขาได้กระทำเพื่อยืนยืนความสำเร็จ

เรียนด้วยรัก เน้นทักษะ และวิชาการ

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ ดิฉันเป็นศิษย์เก่าป.โท คณะสาธารณสุขศาสตร์ ม.มหิดลมีโอกาสไปออกค่ายกิจกรรมในหมู่บ้านร่วมกับนศ.สาขาวิชาอื่นๆในคณะได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมาย ตอนเรียนป.เอกได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆน้องๆหลายสาขา โดยเป็นประธานสภานักศึกษาบัณฑิต ขณะเรียนได้ร่วมเป็นนักวิจัยในโครงการฯของอาจารย์ที่สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ได้จดจำสิ่งดีดีตั้งใจอยากนำมาพัฒนาหลักสูตรครูยุคใหม่ แต่ก้อไม่มีโอกาสได้ทำในสิ่งที่ต้องการเท่าที่อยากจะทำค่ะ รู้สึกประทับใจกิจกรรมนั้นมากๆ คิดว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นส่วนหนึ่งที่กล่อมเกลาให้เรามีสิ่งดีดีในวันนี้ค่ะ ขอบคุณมหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท