องค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยไทย เป็น potential conflict of interest



          สภามหาวิทยาลัยไทย มีองค์ประกอบเป็นไตรภาคี  คือมีฝ่ายคณาจารย์หรือบุคลากร  ฝ่ายบริหาร  และฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก  ฝ่ายละเท่าๆ กัน

          ที่จริง ไม่ว่ากรรมการจากสภามหาวิทยาลัยจากฝ่ายไหน ต่างก็มี potential conflict of interest ทั้งสิ้น  เช่นกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก อาจมี potential conflict of interest ที่ต้องการดึงมหาวิทยาลัยไปทำประโยชน์ให้แก่กิจการที่ตนสนใจ หรือตนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง  หรือต้องการเอาพรรคพวกของตนเข้าทำงานในมหาวิทยาลัย  หรือต้องการให้มหาวิทยาลัยเปิดสอนสาขาที่พวกตนต้องการ  

          สภาพตามย่อหน้าบน อาจเป็น conflict of interest หรือไม่ก็ได้  ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมที่เกิดขึ้น และเจตนาของผู้นั้น   เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ไม่มีเส้นแบ่งชัดเจน  นี่คือความยากในเรื่องเชิงจริยธรรม

          หลักการที่ง่ายที่สุด ในการดูแลไม่ให้เกิด conflict of interest คือ กรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกคน ต้องเข้ามาทำหน้าที่โดยยึดถือผลประโยชน์ของมหาวิทยาลัยนั้นๆ เป็นที่ตั้ง  ไม่เข้ามาเอาตำแหน่งกรรมการสภาฯ เป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์อย่างอื่น   นี่คือหลักการ ที่ฟังดูง่าย  แต่ในทางปฏิบัติ ทุกคนที่เป็นปุถุชน ก็เบี่ยงเบนได้ง่าย  ต้องมีการเตือนสติ มีกลไกให้ระมัดระวัง  และหากมีสัญญาณว่าเกิดพฤติกรรมที่ส่อว่า กรรมการท่านใดท่านหนึ่งกำลังทำสิ่งที่เน้นประโยชน์ตนเหนือประโยชน์ขององค์กร  ก็ต้องมีคนเตือน โดยเพื่อนกรรมการสภาฯ ด้วยกันช่วยเตือน  และบุคคลที่สำคัญที่สุดคือนายกสภาฯ

          จริงๆ แล้ว potential conflict of interest สูงที่สุดในคนที่ทำงานในมหาวิทยาลัยนั่นเอง  คือทั้งกรรมการสภาฯ ผู้แทนฝ่ายบริหาร  ผู้แทนคณาจารย์  และผู้แทนบุคลากรสายสนับสนุน ต่างก็มีโอกาสเกิด “ผลประโยชน์ขัดกัน” ได้ง่าย  และที่ร้ายที่สุดคือ ตอนตัดสินเลือกผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดขององค์กร

          จึงเกิดความรวนเร ไม่สงบ ทะเลาะเบาะแว้ง ได้บ่อย ในการสรรหาอธิการบดี  ในสภาพปัจจุบัน มหาวิทยาลัยที่มีวัฒนธรรมความดีงามเข้มแข็ง ผู้ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยเคารพเชื่อถือกรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ  โอกาสที่ความขัดแย้งจะสงบโดยเร็วก็สูง  แต่ยังมีมหาวิทยาลัยอีกจำนวนมากในประเทศไทย ที่สภาพไม่เป็นเช่นนั้น  โอกาสที่ความขัดแย้งลุกลามจึงสูง

          ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า  องค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยไทยแบบไตรภาคี อย่างในปัจจุบัน ยังจะต้องมีวิวัฒนาการต่อไปอีก  และเดาว่า ต่อไปจะต้องเป็นสภาฯ ที่องค์ประกอบเป็นกรรมการภายนอกทั้งหมด หรือเกือบทั้งหมด  โดยที่คนเหล่านี้ต้องเสียสละทำงานให้แก่สังคม และต้องรู้และมีทักษะด้านการกำกับดูแลสถาบันอุดมศึกษา


วิจารณ์ พานิช

๗ ก.ค. ๕๖



หมายเลขบันทึก: 543565เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 10:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท