ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๕๙. ยุครุ่งโรจน์รอบใหม่ของสหรัฐอเมริกา



          ระหว่างนั่งเครื่องบิน Airbus A380-800 ไปแฟรงค์เฟิร์ต คืนวันที่ ๘ มิ.ย. ๕๖  ผมได้อ่านคอลัมน์ Book Review ของ นสพ. The Wall Street Journal ฉบับวันที่ ๗-๙ มิ.ย. ๕๖ อย่างอิ่มใจ

          เรื่องแรกคือเรื่อง The New Prometheus  review หนังสือ Comebackเขียนโดย Charles R. Morris  เป็นการทำนายว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะกลับมารุ่งโรจน์อีกครั้งหนึ่ง  จากการค้นพบหินแก๊ส (shale gas) มากมายมหาศาล  ซึ่งจะทำให้สหรัฐอเมริกามีพลังงานราคาถูก  และมีการจ้างงานเพิ่ม ๑.๗ ล้านคนในปัจจุบัน  และคาดว่าจะเพิ่มเป็น ๔ ล้านคนในปี ค.ศ. ๒๐๒๐

          Promethius เป็นเทพในนิยายโบราณ ที่เป็นผู้ขโมยไฟจากพระเจ้า เอามาให้มนุษย์  ทำไมพระเจ้าจึงใจแคบอย่างนั้นก็ไม่รู้ 

          สภาพดังกล่าว ผสมกับการเปลี่ยนแปลงในประเทศที่เคยรับ outsource การผลิตสินค้า high tech จากอเมริกา  จะดึงให้ต้นทุนการผลิตสินค้าในสหรัฐอเมริกาต่ำลงเมื่อเทียบกับการจ้างผลิตในต่างประเทศ  และบริษัทต่างๆ ก็จะหันกลับมาใช้ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นฐานการผลิต 

          ผู้ review หนังสือเล่มนี้คือ Daniel Yergin รองประธานของบริษัทวิจัยและที่ปรึกษา ชื่อ IHS ผู้เขียนหนังสือ The Quest : Energy, Security, and the Remaking of the Modern World

          ตอนนี้เริ่มมีข่าวความหวังของยุคอุตสาหกรรมใหม่ในสหรัฐอเมริกา หนาหูขึ้นเรื่อยๆ  ผู้เขียนบอกว่า ในไม่ช้าเรื่องการขาดดุลการเงินของรัฐบาลสหรัฐก็จะกลายเป็นอดีต และประเด็นการเมืองก็จะเปลี่ยนไป 

          ผู้เขียนหนังสือบอกว่า สหรัฐต้องเตรียมตัวรับยุครุ่งโรจน์รอบใหม่  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน  เพื่อความสะดวกในการสื่อสารคมนาคม และกิจการอื่นๆ 

          เขาบอกว่า การค้นพบแหล่งพลังงานมหาศาลเมื่อปี 2008 นี้ มีทั้ง shale gas และ tight oil ซึ่งใช้เทคโนโลยีเดียวกันในการสะกัดออกมา  ของ shale gas เขาใช้วิธีฉีดน้ำผสมทรายและสารเคมี ฉีดเข้าไปในชั้นหินแก๊ส ให้เกิดรอยแยก ให้แก๊สไหลไปรวมตัวกันที่รูที่เจาะเอาแก๊สออกมา

          กระบวนการเช่นนั้น รบกวนสภาพแวดล้อมอย่างแน่นอน  ตอนแรกประมาณกันว่าจะมีก๊าสมีเธนปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศมหาศาล  เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีฤทธิ์สูงกว่าคาร์บอนไดอ็อกไซด์ถึง ๒๕ เท่า  แต่ตอนนี้ผลการวิจัยบอกว่า จะมีก๊าซมีเธนปลดปล่อยออกไปในปริมาณที่น้อยกว่าเดิมมาก

          คุณสุเมธ ตันธุวณิชย์ อดีตกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ที่เพิ่งพ้นวาระไป บอกผมเมื่อตอนต้นปีว่า  การค้นพบ shale gas ค้นพบทั่วโลก  แต่เทคโนโลยีการจัดการ shale gas ของสหรัฐก้าวหน้ากว่าประเทศอื่นๆ มาก  เขาจะเปลี่ยนแก๊สเป็นกระแสไฟฟ้าราคาถูก  การขนส่งไฟฟ้าราคาถูกกว่าขนน้ำมันหรือแก๊สมาก  ดังนั้นต่อไปนี้จะเป็นยุคใช้กระแสไฟฟ้า  ในไม่ช้ารถยนต์จะเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด  ผมเดาว่าโลกใน 20 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนไปมากทีเดียว  ความท้าทายร่วมกันของคนทั้งโลกคือ ภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศวิปริตจะทุเลาลงหรือรุนแรงยิ่งขึ้น

           ยุครุ่งโรจน์ กับยุคหายนะ อาจเป็นสิ่งคู่กัน  หากไม่เอาใจใส่ด้านลบของความรุ่งโรจน์นั้น  ไม่ว่าจะเป็นความรุ่งโรจน์ระดับโลก ระดับประเทศ ระดับองค์กร และระดับบุคคล

          วันที่ ๑๓ มิ.ย. ๕๖ อ่าน Financial Times พบโฆษณา The FT Global Shale Energy Summit www.ft-live.com/shalesummit ๒๑ ต.ค. ๕๖ ที่ลอนดอน


วิจารณ์ พานิช

๙ มิ.ย. ๕๖  ปรับปรุง ๑๘ มิ.ย. ๕๖

บนเครื่องบิน Airbus A380-800 บินไปแฟรงค์เฟิร์ต



หมายเลขบันทึก: 543564เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 10:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2013 14:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ตามมาอ่าน ครับ

ขอแสดงความยินดีกับเรื่องนี้ด้วยครับ

http://www.wu.ac.th/th/news/3276

อ่านแล้วได้ความรู้ดีครับ

แต่ขอความกรุณาอาจารย์แก้ข้อความย่อหน้าที่10

ความท้าทายนืวมกันของคนทั้งโลกคือ "

ด้วยครับ จะได้สมบูรณ์แบบ.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท