วันสำคัญทางศาสนา


ประเพณีทอดกฐินและทอดผ้าป่า

 ประเพณีทอดกฐินและทอดผ้าป่า

               หลังจากวันออกพรรษาเป็นเวลา ๑ เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒  หรือจำง่าย ๆ ว่าตั้งแต่วันตักบาตรเทโวจนถึงวันลอยกระทง  เป็นช่วงเวลาที่เรียกว่า "เทศกาลกฐิน"  ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ ๘ ตุลาคม –  ๕ พฤศจิกายน ๒๕๔๙  เพื่อให้ทราบว่า  "กฐิน" คืออะไร มีความหมายเช่นไรต่อพุทธศาสนิกชน กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอนำเรื่องราวของ “กฐิน” มาเสนอเพื่อเป็นความรู้ ดังนี้
ความหมาย
               คำว่า “กฐิน” มีความหมาย ๔ ประการคือ
               ๑.  เป็นชื่อของกรอบไม้  อันเป็นแม่แบบสำหรับทำจีวรที่อาจเรียกว่า "สะดึง" ก็ได้  เนื่องจากสมัยพุทธกาลการทำจีวรให้มีลักษณะตามกำหนดกระทำได้โดยยาก  จึงต้องทำกรอบไม้สำเร็จรูปไว้ให้เป็นอุปกรณ์ในการทำผ้านุ่ง/ผ้าห่ม/ผ้าห่มซ้อนที่รวมเรียกว่า จีวร  ผืนใดผืนหนึ่งก็ได้  (ผ้านุ่งพระเรียกสบง/ผ้าห่มเรียกจีวร/ผ้าห่มซ้อนเรียกสังฆาฎิ)  โดยพระสงฆ์จะช่วยกันทำโดยอาศัยแม่แบบนี้  เมื่อทำเสร็จและพ้นกำหนดกาลแล้ว  ก็จะรื้อไม้แม่แบบเก็บไว้ใช้ในปีต่อ ๆ ไป การรื้อไม้แม่แบบเพื่อเก็บไว้ใช้ในโอกาสหน้านี้เรียกว่า "เดาะ" หรือ "กฐินเดาะ" (เดาะกฐินก็เรียก)
               ๒.  เป็นชื่อของผ้า  ที่ถวายแก่สงฆ์เพื่อทำจีวรตามแบบหรือกรอบไม้นั้น  และต้องถวายตามกำหนดเวลา ๑ เดือนดังกล่าว  ซึ่งผ้านี้จะเป็นผ้าใหม่  ผ้าเก่าฟอกสะอาดหรือผ้าบังสุกุล (ผ้าที่เขาทิ้งแล้ว) ก็ได้  ผู้ถวายจะเป็นคฤหัสถ์หรือภิกษุสามเณรก็ได้ ถวายแก่สงฆ์แล้วเป็นอันใช้ได้
               ๓.  เป็นชื่อของบุญกิริยา  คือ การทำบุญถวายผ้ากฐินเพื่อให้สงฆ์ทำเป็นจีวร  ซึ่งต้องเป็นพระสงฆ์ผู้จำพรรษาอยู่ในวัดใดวัดหนึ่งครบ ๓ เดือน  ทั้งนี้ เพื่อสงเคราะห์ผู้ประพฤติชอบให้มีผ้านุ่งหรือผ้าใหม่ผลัดเปลี่ยนของเก่าที่จะขาดหรือชำรุด  การทำบุญถวายผ้ากฐินหรือที่เรียกกันติดปากว่า "ทอดกฐิน"  ก็คือการทอดหรือวางผ้าลงไปแล้วกล่าวคำถวายในท่ามกลางสงฆ์ และต้องทำในเวลาที่กำหนด ๑ เดือนที่ว่า ถ้าทำก่อนหรือหลังไม่ถือว่าเป็นกฐิน
               ๔.  เป็นชื่อของสังฆกรรม  คือ  กิจกรรมของสงฆ์ที่จะต้องมีการสวดประกาศขอรับความเห็นชอบจากที่ประชุมสงฆ์ในการมอบผ้ากฐินให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง
ความเป็นมา
               การที่มี "กฐิน"    เกิดขึ้นมีตำนานเล่าว่าในครั้งพุทธกาล   ครั้งหนึ่งภิกษุชาวเมืองปาฐาประมาณ ๓๐ รูป  ถือธุงดงควัตรอย่างยิ่งยวด มีความประสงค์จะเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งขณะนั้นประทับอยู่กรุงสาวัตถี จึงพากันเดินทางไป พอไปถึงเมืองสาเกตก็เป็นวันเข้าพรรษาพอดีจึงต้องจำพรรษาอยู่ที่นั่นตามพระวินัย  ครั้นออกพรรษาปวารณาแล้วก็รีบเดินทางไปเฝ้า  ระหว่างทางฝนตกหนทางเป็นโคลนตม  ต้องบุกลุยไปจนถึงกรุงสาวัตถีได้รับความลำบากมาก  ครั้งได้เฝ้าพระพุทธองค์ทรงมีปฏิสันถารถึงเรื่องจำพรรษาและการเดินทาง  ภิกษุเหล่านั้นก็ได้ทูลถึงความตั้งใจที่จะมาเฝ้าและความยากลำบากในการเดินทางให้ทรงทราบ  พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระพุทธานุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบถ้วนแล้วกรานกฐินได้  และจะได้รับอานิสงส์จากพระวินัยบางข้อ    (กรานกฐินเป็นพิธีฝ่ายภิกษุที่ได้รับมอบผ้ากฐิน    แล้วนำผ้าที่ได้ไปตัดเย็บย้อมทำเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่ง)
ประเภทของกฐิน
กฐิน  แยกได้เป็น   ๒ ประเภทใหญ่  คือ   ๑.  กฐินหลวง   ๒.  กฐินราษฎร์
               ๑.  กฐินหลวง  ยังแบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้
               ๑.๑  กฐินที่กำหนดเป็นพระราชพิธี  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐินด้วยพระองค์เอง  หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระบรมวงศานุวงศ์หรือองคมนตรีเป็นผู้แทนพระองค์ไปถวายเป็นประจำ  ณ  วัดสำคัญ ๆ ปัจจุบันมี ๑๖ วัด เช่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  วัดสุทัศน์เทพวราราม  วัดบวรนิเวศวิหาร  เป็นต้น
               ๑.๒  กฐินต้น   หมายถึง  กฐินที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จพระราชดำเนินไปถวายผ้าพระกฐิน  ณ วัดที่มิใช่วัดหลวงและมิได้เสด็จไปอย่างเป็นทางการหรืออย่างเป็นพระราชพิธี  แต่เป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลส่วนพระองค์
               ๑.๓  กฐินพระราชทาน  เป็นกฐินที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานผ้าของหลวงแก่ผู้ที่กราบบังคมทูลขอพระราชทานไปถวายยังวัดหลวง ที่นอกเหนือไปจากวัดสำคัญ ๑๖ วัดที่กำหนดไว้  เหตุที่มีกฐินพระราชทาน ก็เพราะปัจจุบันวัดหลวงมีจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ตลอดจนคณะบุคคลต่าง ๆ ที่สมควรขอพระราชทานผ้าพระกฐินไปถวายได้  ซึ่งกฐินดังกล่าวส่วนใหญ่ก็คือกฐินที่หน่วยงานราชการต่าง ๆ นำไปถวายนั่นเอง  ทั้งนี้ ผู้ที่จะรับพระราชทานผ้ากฐินไปถวาย ณ วัดหลวงวัดใดต้องติดต่อไปยังกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ตามระเบียบเพื่อเป็นการจองไว้ก่อนด้วย
               ๒.  กฐินราษฎร์  หมายถึง กฐินที่ราษฎรหรือประชาชนผู้มีศรัทธานำผ้ากฐินของตนไปถวายตามวัดต่าง ๆ ยกเว้นวัดหลวง ๑๖ วัดที่กล่าวไว้แล้ว  ซึ่งจะมีชื่อเรียกต่าง ๆ ตามลักษณะของการทอด คือ
               ๒.๑  กฐินหรือมหากฐิน  เป็นกฐินที่ราษฎรนำไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งที่ตนศรัทธาเป็นการเฉพาะ  ผ้าที่เป็นองค์กฐินจะเป็นผืนเดียวหรือหลายผืนก็ได้ จะเย็บแล้วหรือไม่ก็ได้  แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นผ้าสำเร็จรูปแล้ว  และนิยมถวายของอื่น ๆ ที่เรียกว่า บริวารกฐิน ไปพร้อมกับองค์กฐินด้วย เช่น เครื่องอุปโภคบริโภคของพระภิกษุสงฆ์ อย่างหมอน โอ่งน้ำ เตา ไม้กวาด จอบ เสียบ อาหาร ยาต่าง ๆ เป็นต้น
               ๒.๒  จุลกฐิน  เป็นกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบเร่ง  เดิมเรียกแบบไทย ๆ ว่า กฐินแล่น เจ้าภาพที่จะทอดกฐินเช่นนี้ได้ต้องมีพวกและกำลังมากเพราะต้องเริ่มตั้งแต่ปั่นฝ้ายเป็นด้าย ทอด้ายให้เป็นผ้า ตัดผ้าและเย็บผ้าเป็นจีวร  ย้อมสี และต้องทอดภายในวันนั้น และพระสงฆ์ก็ต้องกรานและอนุโมทนาในวันนั้น ๆ ด้วย  เรียกว่าเป็นกฐินที่ต้องทำทุกอย่างให้เสร็จภายในวันเดียว
               ๒.๓  กฐินสามัคคี เป็นกฐินที่มีเจ้าภาพหลายคนร่วมกัน  ไม่จำเป็นว่าใครบริจาคมากน้อย  แต่มักตั้งเป็นคณะทำงานขึ้นมาดำเนินการและมีหนังสือบอกบุญไปยังผู้อื่น  เมื่อได้ปัจจัยมาเท่าไรก็จัดผ้าอันเป็นองค์กฐินรวมทั้งบริวารไปทอด ณ วัดใดวัดหนึ่งที่จองไว้  ซึ่งกฐินชนิดนี้เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน  เพราะนอกจากทำบุญกฐินแล้ว ยังนำปัจจัยที่เหลือไปช่วยทำนุบำรุงวัด เช่น ก่อสร้างศาสนสถาน บูรณะปฎิสังขรณ์โบสถ์ เจดีย์  เป็นต้น
               ๒.๔  กฐินตกค้าง หรือ กฐินโจร  กล่าวคือในท้องถิ่นที่มีวัดมาก ๆ อาจจะมีวัดตกค้างไม่มีใครไปทอด  จึงมีผู้มีจิตศรัทธาเสาะหาวัดอย่างนี้ แล้วนำกฐินไปทอด  ซึ่งมักจะเป็นวันใกล้สิ้นเทศกาลกฐินหรือวันสุดท้าย จึงเรียกว่า กฐินตกค้าง หรืออาจเรียกว่า กฐินโจร  เพราะกิริยาอาการที่ไปทอดอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัวจู่ ๆ  ก็ไปทอด  ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าให้วัดรู้เพื่อเตรียมตัวคล้ายโจรบุก   ซึ่งกฐินแบบนี้ต่างกับกฐินอื่นคือ  ไม่มีการจองล่วงหน้า และจะทอดเฉพาะวัดที่ยังไม่มีใครทอด  จะทอดหลายวัดก็ได้ และสามารถเอาของไทยธรรมที่เหลือจากวัดที่ไม่ได้ทอด  (กรณีไปหลายวัด) ไปจัดเป็นผ้าป่า เรียกว่า "ผ้าป่าแถมกฐิน" ก็ได้
               การทอดกฐินถือเป็นการทำบุญพิเศษที่ทำได้เพียงปีละครั้ง และต้องอยู่ภายในกำหนดเวลาหนึ่งเดือนตามพุทธบัญญัติ  ดังนั้น  อานิสงส์หรือผลดีจึงมีหลายประการ กล่าวคือ ได้สงเคราะห์พระสงฆ์ผู้จำพรรษาให้ได้ผ้านุ่งห่มใหม่  ได้ชื่อว่าทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา สร้างกุศลจิตแก่ผู้ทำบุญเพราะทำด้วยความเลื่อมใสศรัทธา  อีกทั้งการทอดกฐินยังก่อให้เกิดความสามัคคี เป็นการร่วมมือกันทำคุณงามความดี  และหากการถวายกฐินนั้นมีส่วนในการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามด้วย ก็จะมีส่วนช่วยรักษาศาสนสถานและศาสนวัตถุให้ยั่งยืนต่อไป
ความเป็นของการทอดผ้าป่า     
               ในสมัยพุทธกาล ผ้าที่พระภิกษุจะนุ่งห่มได้นั้น  ต้องมาจากผ้าบังสุกุลเท่านั้น  เมื่อเป็นเช่นนี้ การหาผ้ามาทำจีวรจึงลำบากมาก ต้องไปเที่ยวหาเศษผ้าที่เขาตัดเศษทิ้ง หรือผ้าเก่าๆตามกองขยะ หรือผ้าห่อศพที่เขามาทิ้งไว้ที่ป่าช้ามาใช้ทำจีวร   กว่ารวบรวมหรือหาได้ครบทำจีวรสักผืนบางทีก็เกิน ๑๐ วัน ก็ทำไม่ได้อีก เพราะผิดวินัย อีกทั้งการตัดเย็บสมัยก่อนพระต้องเย็บและย้อมผ้าด้วยตนเอง (ดังนั้น ในบริขารที่ถวายพระ แม้ในปัจจุบัน เราจึงเห็นมีด้ายและเข็มอยู่ด้วย)  เมื่อพุทธศาสนิกชนครั้งกระโน้น เห็นความยากลำบากของพระในเรื่องนี้  และได้พิจารณาเห็นว่าหากช่วยพระให้หมดความยากลำบากดังกล่าว น่าจะได้บุญมากทีเดียว  แต่เมื่อช่วยโดยตรงคือไปถวายตรงๆไม่ได้เพราะผิดวินัย  ก็เลยสังเกตดูว่าพระท่านเดินไปทางไหนเป็นปกติ  ก็เอาผ้าไปหมกดิน หมกฝุ่น หรือหมกขยะหรือในป่าช้าให้ชายโผล่ออกมาให้ท่านสังเกตเห็น แต่ต้องทำเหมือนว่าเจ้าของทิ้งหรือไม่มีเจ้าของแล้ว  เมื่อพระท่านเห็นและเข้าใจเช่นนั้น ท่านก็จะชักบังสุกุล นำไปใช้ตัดจีวรต่อไป   ซึ่งกิริยาที่ต้องเอาผ้าไปทิ้งไว้ที่กองขยะหรือในป่าช้าเช่นนี้  เราจึงเรียกว่า “ทอดผ้าป่า” ครั้นต่อมาหมอชีวกได้ทูลขอพระพุทธานุญาตให้ภิกษุรับคหบดีจีวรได้  ก็ทรงอนุญาต  ตั้งแต่นั้นมา คนใจบุญทั้งหลายก็สามารถวายจีวรแก่พระสงฆ์ได้โดยตรง  อย่างไรก็ดี  พระพุทธองค์ก็ยังทรงสรรเสริญภิกษุที่ทรงผ้าบังสุกุล  และยังมีพระภิกษุที่ประสงค์จะทรงผ้าบังสุกุลอยู่  การทอดผ้าป่าจึงมีอยู่และได้สืบทอดเป็นประเพณีมาจนปัจจุบัน   โดยหลักใหญ่การทอดผ้าป่า ต้องมีผ้าขาวทั้งผืน เพื่อทำจีวร หรือจะเป็นผ้าจีวรสำเร็จรูปตัวเดียวหรือหลายตัว  ไตรเดียวหรือหลายไตรก็ได้  นอกจากนี้ ก็ยังมีบริวารผ้าป่า เช่น ผลไม้ต่างๆ   อาหาร  ยารักษาโรค ฯลฯ   สมัยก่อนถ้าทอดในป่า ก็จะนำผ้าไปพาดไว้ตามต้นไม้กิ่งไม้ ถ้าไม่มีก็หักกิ่งไม้อื่นมาปักสำหรับทอดผ้า  เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผ้าป่า  แล้วไปวางไว้ตามทางที่พระผ่าน  แต่ในปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนมาโดยลำดับ  ที่เราเห็นในขณะนี้ ก็มักจะเป็นถัง มีต้นไม้ปักอยู่กลางมีผ้าจีวรพาดอยู่  พร้อมมีบริขารบางอย่าง โดยเฉพาะธนบัตรปักอยู่ตามกิ่งไม้ และมักจะมีรูปชะนีเกาะอยู่ เพื่อแทนสัญลักษณ์ป่า 
               เป็นที่น่าสังเกตว่าปัจจุบันการทอดกฐินหรือผ้าป่าได้มีการเบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์เดิม และก่อให้เกิดความลำบากใจแก่ผู้ร่วมทำบุญเป็นอย่างมาก  เพราะมักมีการเรี่ยไรกันอย่างพร่ำเพรื่อ   และหลายแห่งหลายคนถูกขอร้องแกมบังคับให้ร่วมทำบุญ    ทำให้เทศกาลกฐินหรือการทอดผ้าป่ากลายเป็นการทำบุญที่หลายคนเบือนหน้าหนี  ทั้ง ๆ ที่เป็นการสร้างบุญกุศลที่ดี  ดังนั้น  พุทธศาสนิกชน ไม่ว่าจะเป็นบุคคล  หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจึงควรพิจารณาและจัดทอดกฐินและผ้าป่าให้ถูกต้องตามประเพณี  และให้เป็นไปตามกำลังศรัทธาของผู้บริจาค และมีเหตุอันสมควร เช่นทอดเพื่อหาปัจจัยมาซ่อมแซมวัดที่ทรุดโทรมให้มั่นคงขึ้น   แต่มิใช่เพื่อสร้างวัดให้ใหญ่โต หรูหรา เพราะศาสนสถานควรเป็นที่ที่คนเข้าไปแล้วเกิดความสุข สงบ ร่มเย็น  มิใช่แหล่งเพาะเชื้อกิเลสให้พอกพูนขึ้น และการฉลองกฐินหรือผ้าป่า ไม่ควรมุ่งความสนุกสนาน หรือความฟุ่มเฟือย เพราะมิใช่วัตถุประสงค์  ข้อสำคัญควรงดการเลี้ยงสุราเมรัยระหว่างเดินทางหรือในระหว่างมีงานเพื่อความปลอดภัยทั้งตนเองและผู้อื่นด้วย 


ที่มา: บทความของ  อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์  สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ  กระทรวงวัฒนธรรม

หมายเลขบันทึก: 54348เขียนเมื่อ 12 ตุลาคม 2006 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 00:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท