ชีวิตที่พอเพียง : ๑๙๕๘. AAR การเดินทางไปเยอรมันนี



          ระหว่างวันที่ ๘ - ๑๕ มิ.ย. ๕๖ ผมไปเยอรมันนีกับคณะดูงาน DFC 3 จัดโดยสถาบันคลังสมองของชาติ เป็นคณะใหญ่ ๒๒ คน  เดินทางโดยการบินไทย  ขาไปนั่งเครื่องบิน A380-800 ซึ่งที่นั่งนอนราบได้  และมีความทันสมัยหลายอย่าง  ทำให้ขากลับนั่งเครื่อง A340 รู้สึกว่ามันเก่าล้าสมัยไปทันที 

          ผมไปมีประสบการณ์ของหายเป็นครั้งแรก  โดยลืมเก็บคอมพิวเตอร์ MacBook Air เข้ากระเป๋า ตอนผ่าน security check  โชคดีที่มีไกด์เยอรมันช่วยติดตามให้จากการท่าอากาศยาน แฟรงค์เฟิร์ต  แล้วไปรับคืนในวันกลับ โดยเสียค่าบริการให้แก่การท่าฯ ไป ๕๐ ยูโร (๒,๐๐๐ บาท)  ทำให้ผมได้ฝึกทำงานและจดบันทึกด้วย iPad mini อย่างเดียว  ไม่มี MacBook Air เข้าคู่อย่างการเดินทางครั้งก่อนๆ  แม้จะไม่ดีเท่า แต่ก็ใช้ได้ และดีที่ลดน้ำหนักของลงไป ๑ กก.

          ได้ประสบการณ์บันทึกเสียงด้วยเครื่องบันทึกเสียงใหม่ คือ iPod nano  ซึ่งต้องซื้อหูฟังแบบมีไมค์ในตัวมาเสียบ  สะดวกมากตอนไปทัวร์เดินเท้า (ที่ไฮเดลเบิร์ก)  ใช้บันทึกเสียงของไกด์ เอามาประกอบการเขียนบันทึกลง บล็อก ได้ดีมาก  เสียงชัด และเบาดีมาก  แต่ราคาก็สูงด้วย (๕,๕๐๐ + ๑,๐๙๐ บาท)

          ผมไม่ได้ไปประเทศเยอรมันนีนานแล้ว ไปครั้งนี้ประทับใจในการส่งเสริมการใช้จักรยาน  ที่ส่งเสริมจริงจังมาก  ลู่จักรยานได้รับลำดับความสำคัญบนถนนและบนทางเท้า  บนทางเท้าที่กว้างเขาจะมี เลนจักรยานที่ปูกระเบื้องคนละสี (มักเป็นสีแสดคล้ำ) และเรียงกระเบื้องทะแยงให้สังเกตง่ายว่าไม่ใช่ทางเท้า  แม้ถนนที่แคบและไม่มีทางเท้าให้แบ่งเป็นเลนจักรยาน เขาก็ยังขีดเส้นแบ่งบนถนนให้เป็นทางจักรยาน

          การส่งเสริมการใช้จักรยานของเยอรมันนี จริงจังยิ่งกว่าที่สวิตเซอร์แลนด์  

          ได้ไปเห็นกับตา ว่าน้ำท่วมใหญ่ของยุโรปคราวนี้มันหนักทีเดียว  แต่เมื่อไปเห็นระดับน้ำของแม่น้ำ Neckar ที่ตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อกว่าสองร้อยปีมาแล้ว สูงกว่าระดับถนนใกล้แม่น้ำกว่า ๓ เมตร   ก็ตระหนักว่า เรื่องน้ำท่วมเป็นเรื่องของธรรมชาติ  คนต่างหากที่ไม่เคารพธรรมชาติ ไปสร้างสิ่งก็สร้างขวางทางน้ำ  แล้วไปสมมติเรียกน้ำหลากด้วยวิธีคิดที่เอาตนเองเป็นศูนย์กลางว่าน้ำท่วม

          ได้ไปเห็นว่าเศรษฐกิจของเยอรมันดีมาก  เมืองต่างๆ ของเยอรมันยังมีการก่อสร้างอาคารมากอย่างน่าแปลกใจ  ยิ่งที่เบอร์ลิน ยิ่งมีส่วนที่กลายเป็นเมืองใหม่  และยังมีการก่อสร้างอีกมากมาย 

          ไปเห็นสถานีรถไฟกลางของเบอร์ลิน แล้วสะท้อนใจในความล้าหลังของระบบรถไฟไทย   ยิ่งได้กินอาหารบนรถไฟ ก็แปลกใจว่าอาหารอร่อยและบริการดีมากอย่างไม่น่าเชื่อ  รวมทั้งราคาก็เหมือนตามร้านทั่วไป

          การเดินทางครั้งนี้ ผมออกค่าใช้จ่ายเอง  รู้สึกสบายใจว่า ไม่เป็นภาระของหน่วยงานใดๆ ที่ผมเกี่ยวข้องด้วย รวมทั้งสถาบันคลังสมองฯ  ผมมีความเชื่อว่า คนที่เป็นผู้ใหญ่ต้องระมัดระวัง ไม่ไปเป็นภาระหรือเบียดเบียนหน่วยงาน หรือราชการ  ผมสังเกตเห็นว่า คนบางคนรู้สึกภูมิใจเมื่อได้อะไรๆ ฟรี  ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไรฟรี  มีผู้รับภาระไม่ทางตรงก็ทางอ้อม  หากเป็นราชการออก หรือใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน ก็แปลว่าใช้ภาษีที่มาจากชาวบ้านและพวกเรานั่นเอง

          ไม่ทราบว่าผมคิดไปเองหรือเปล่า  ว่าบุคลิกของมหาวิทยาลัยของเยอรมัน กับของไทยแตกต่างกัน  ที่เราบอกว่ามหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องหาจุดเน้นหรือจุดเด่นของตนเอง  และมหาวิทยาลัยไทยที่เพิ่งเปลี่ยนมาจากวิทยาลัย ต่างก็พยายามทำตัวให้เหมือนมหาวิทยาลัยเก่าแก่  เพื่อให้มีศักดิ์ศรี นั้น  ผมสังเกตว่าผมไม่เห็นกระบวนทัศน์นั้นในเยอรมัน  คือเขามั่นใจในตัวเอง ว่าเขาเป็นทหาวิทยาลัยแบบที่เขาเป็น  และสร้างจุดเด่น จุดที่สามารถแข่งขันได้ จากจุดแข็งที่มี  แม้แต่มหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งเสียเปรียบในด้านเก็บที่ค่าเล่าเรียน (ในราคาที่นับว่าสูง) ในขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐไม่เก็บค่าเล่าเรียน  แต่มหาวิทยาลัยเอกชนก็สร้างจุดแข็ง (และจุดขาย) จนเขาอยู่ได้   


วิจารณ์ พานิช

๑๗ มิ.ย. ๕๖




 


หมายเลขบันทึก: 543461เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อ.จัน บอกว่าท่านอาจารย์ใช้ Ipad Mini ได้คล่องมากครับ

"การศึกษาของประเทศเยอรมัน..มี..รากฐาน..มาจาก..คำว่าเรียน..รู้..ตลอดชีพ"..การศึกษาที่มีรากฐาน..จาก..ความเป็นจริงในสังคม..การรักษากฏระเบียบของสังคมต่อความเป็นอยู่ร่วม..เป็นต้น"...ซึ่งประเทศอย่างเราๆ..ให้คุณค่าแค่..ประกาศณียบัตรที่ให้มาโดยมีคะแนนและเงินตราเป็นสิ่งแรกเปลี่ยน(ค่านิยม)..ตรงนี้คือความแตกต่าง..ซึ่งขณะนี้..ก็..กำลังจะเปลี่ยนไป..(เยอรมัน..กำลังเปลี่ยน..รูป..โฉมการศึกษาให้เข้ากับ..อาเชี่ยนและอเมริกัน..กับคำว่า..Bachelor..(และเมื่อใช้..คำนี้..ค่าเล่าเรียน..จึง"แพง"ขึ้น..)

"การศึกษาของประเทศนี้.(เคย).มีเป้าหมาย..ต่อทุกแขนงวิชา.."..ผู้ที่ได้ัรับการศึกษา..คือแรงงานของประเทศ..คือจบแล้ว..มีงานทำ..เสียภาษี..อันเป็นระบบหมุนเวียน..การบริหารประเทศ.."เพราะ..ภาษี..คือระบบกลางที่มีขึ้นเพื่อประชาชนอันเป็นสังคมเพื่อความเป็นอยู่..โดย..รัฐเป็นส่วนกลางของการบริหารและบริการ..ประเทศ..(ตรงนี้..ประเทศเรา..ยังไม่เกิด..และเกิด..ยาก..)...."แอบคิด..ตามประสา..คนแก่..ที่อยู่ประเทศนี้..มานาน..จนลืมเวลา..อ้ะะๆๆสี่สิบปี..เข้าไปแล้ว...(เคยเรียน..เสียค่าเรียน..เพียงห้าเหรียญเยอรมันสมัยก่อน..ค่าอุปกรณ์การเรียนทุกอย่างฟรีหมด...มีบัตรนักเรียนอณุญาติให้ทำงานได้..มีสิทธิ..เท่าเทียมกัน..หมด..กับนักศึกษาเยอรมัน..การประกันสังคม..ว่างงานหรือเจ็บป่วย..ระยะเวลาการเรียน..มีการนับเวลาให้..เมื่อ..รับเงินบำนาญ..เมื่อชราภาพ)..ครั้งนั้น..ได้เลือกเรียนในสาขาจิตรกรรมและปฏิมากรรมซึ่ง..ทางมหาวิทยาลัยให้เซ็นรับรองตนเองว่า..เรียนวิชานี้..ทางรัฐไม่มีงานให้ทำ..(ขำดี)..สวัสดีค่ะ.."ยายธี"

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท