หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : เมื่อสถาปัตย์ฯ บูรณาการศาสตร์ในพื้นที่เดียวกัน (บ้านดอนหน่องฯ)


การมุ่งสื่อสารโดยตรงกับกลุ่ม “ผู้นำ” เพื่อให้ผู้นำได้ทำหน้าที่ “แจ้งข่าว” ตามครรลองของชุมชน ซึ่งมองดูก็มีจุดเปราะบางเรื่องการสื่อสารสร้างความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมต่อคนส่วนใหญ่อยู่มากไม่ใช่ย่อย แต่การไม่รีรอให้ “นิสิต” เป็นเสมือน “กระบอกเสียง” หรือ “สะพานใจ” ลงชุมชนโดยทันทีนั้น ย่อมถือเป็นกลยุทธหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายประเด็นข้างต้นได้เหมือนกัน

การทำงานแบบ “บูรณาการศาสตร์ในพื้นที่เดียวกัน”  ถือเป็นประเด็นสำคัญที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการขับเคลื่อนโครงการ “หนึ่งหลักสูตร หนึ่งชุมชน”  การบูรณาศาสตร์ที่ว่านั้น  ครอบคลุมทั้งศาสตร์ในคณะเดียวกัน หรือแม้แต่ศาสตร์ข้ามคณะ

กรณีดังกล่าวสะท้อนภาพที่น่าสนใจในการทำงานของสองหลักสูตรจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ผังเมืองและนฤมิตศิลป์  ซึ่งลงพื้นที่ ณ บ้านดอนหน่อง ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2556





เก็บข้อมูลชุมชนร่วมกัน : ชุมชนไม่ต้องถูกระทำซ้ำแบบไม่รู้จบ


ชุมชนบ้านดอนหน่อง เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่กลายเป็นฐานการเรียนรู้เนื่องในโครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน โดยปีงบประมาณ 2556 มีหลักสูตรจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ จำนวน 2 หลักสูตรลงปฏิบัติการ “เรียนรู้คู่บริการ” ในพื้นที่ดังกล่าว นั่นคือ หลักสูตรการจัดการการก่อสร้าง วท.บ. 4 ปี (โครงการจัดทำแผนที่วัฒนธรรมเพื่อการประกอบอาชีพ) และหลักสูตร สถาปัตยกรรม (โครงการศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์พื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น) โดยอาจารย์รัชนูพรรณ  คำสิงห์ศรี และอาจารย์นิลปัทม์  ศรีโสภาพ เป็นผู้รับผิดชอบหลักของแต่ละโครงการตามลำดับ

ทั้งสองหลักสูตรมีการออกแบบกระบวนการจัดการเรียนรู้ร่วมกันอย่างน่าสนใจ  กล่าวคือนำนิสิตลงชุมชนแบบเป็น “ทีม”  เน้นศึกษาสภาพทั่วไปของชุมชน  (Context)  หรือการสำรวจข้อมูลอันเป็นทรัพยากรโดยรอบชุมชน  (Natural  Resources)  ร่วมกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างไป ต่างคนต่างเก็บข้อมูลซ้ำแล้วซ้ำอีกในประเด็นเดียวกัน  เพราะทั้งสองโครงการนั้น จะเห็นได้ชัดว่าใช้ข้อมูลอันเป็น “ทุนทางสังคม”  เดียวกันล้วนๆ เลยก็ว่าได้  ซึ่งวิธีการเช่นนี้  จะช่วยให้ชาวบ้านไม่รู้สึกเหนื่อยและระอากับกระบวนการเรียนรู้ที่ดูเหมือนจะ “ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก” อย่างไม่รู้จบในเรื่องเดิมๆ



ประเด็นดังกล่าวนี้  ผมถือว่าสำคัญมาก  เพราะหากแยกกันเก็บข้อมูล โดยไม่มีการแบ่งหมวดหมู่ประเด็นคำถาม หรือข้อมูลที่ต้องการอย่างชัดเจน ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการเก็บข้อมูลซ้ำซ้อน  ชะตากรรมย่อมตกอยู่กับชุมชน เพราะชุมชนเสี่ยงไม่ได้ต่อการให้ข้อมูลซ้ำแล้วซ้ำอีก  ซึ่งความเป็นจริงที่ผ่านมา ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีหลายโครงการลงปฏิบัติการที่บ้านดอนหน่อง  แต่กลับไม่สามารถคืนข้อมูลให้กับชุมชน หรือไม่สามารถนำข้อมูลดังกล่าวใช้ประโยชน์ในระดับมหาวิทยาลัยร่วมกันได้  พอลงพื้นที่แต่ละครั้ง  จึงยังต้องมาเก็บข้อมูลในเรื่องเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก




นิสิต : เป็นสะพานใจ และกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์กิจกรรม


การดำเนินงานโครงการจัดทำแผนที่วัฒนธรรมเพื่อการประกอบอาชีพและโครงการศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์พื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่น  ใช้วิชาเรียนเข้ามาขับเคลื่อนหลายวิชา แต่หลักๆ แล้วคือ 2 รายวิชาที่ว่าด้วย “การออกแบบสถาปัตยกรรม 4” และรายวิชา “คอมพิวเตอร์เพื่อการออกแบบและเขียนแบบเบื้องต้น”  ด้วยเหตุนี้ในระยะแรกของการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาชุมชน  ทั้งสองโครงการจึงมุ่งใช้เครื่องมือการสัมภาษณ์  (Interview) เป็นหัวใจหลัก  โดยเริ่มจากการชี้แจงภาพรวมโครงการต่อกลุ่มผู้นำ  ซึ่งหมายถึงผู้ใหญ่บ้านและผู้อำนวยการโรงเรียน  ถัดจากนั้นจึงแบ่งนิสิตออกเป็น 7 กลุ่มๆ ละ 10 คนเพื่อ “เดินเท้าเข้าหมู่บ้าน”  ทำหน้าที่เก็บข้อมูลและประชาสัมพันธ์กิจกรรมไปในตัว


วิธีการดังกล่าว  ถึงแม้จะไม่ได้ใช้  “เวทีร่วม”  ในระดับชุมชนที่ประกอบด้วย “ผู้นำ” และ ”ชาวบ้าน” อย่างหลากหลาย  เนื่องเพราะเป็นการมุ่งสื่อสารโดยตรงกับกลุ่ม “ผู้นำ”  เพื่อให้ผู้นำได้ทำหน้าที่ “แจ้งข่าว” ตามครรลองของชุมชน  ซึ่งมองดูก็มีจุดเปราะบางเรื่องการสื่อสารสร้างความเข้าใจและสร้างการมีส่วนร่วมต่อคนส่วนใหญ่อยู่มากไม่ใช่ย่อ แต่การไม่รีรอให้ “นิสิต” เป็นเสมือน “กระบอกเสียง” หรือ “สะพานใจ”  ลงชุมชนโดยทันทีนั้น  ย่อมถือเป็นกลยุทธหนึ่งที่ช่วยคลี่คลายประเด็นข้างต้นได้เหมือนกัน  



กลับสู่ชุมชน (อีกครั้ง) : ผนึกภาคีชาวบ้าน สื่อสารโครงการและสะท้อนข้อมูล



อย่างไรก็ดี การลงชุมชนในวันที่ 11 กรกฎาคม 2556  ถือเป็นกระบวนการอันสำคัญของทั้งสองหลักสูตรอย่างมาก  เนื่องจากเป็นการหวนกลับสู่ชุมชนในสองสถานะหลัก (1)  ประชาสัมพันธ์โครงการให้ชาวบ้านหมู่มากได้ร่วมรับรู้อย่างเป็นทางการ (2) สะท้อนข้อมูลเบื้องต้นหลังจากเก็บข้อมูลมาระยะหนึ่ง

กระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นจากทั้งสองหลักสูตรประสานภาคีนักวิจัยชาวบ้าน (Community  Researcher) หรือที่เรียกโดยทั่วไปว่า “กลุ่มฮักแพง เบิ่งแญงขามเรียง”  ให้เป็นสื่อกลางของการประสานชุมชนเข้ามาจัด “เวทีร่วม” อย่างเป็นทางการร่วมกัน  โดยใช้ “ศาลาวัดบ้านดอนหน่อง” เป็นพื้นที่การพบปะ โสเหล่

การประสานตรงต่อกลุ่ม “ฮักแพง เบิ่งแญงขามเรียง”  ถือเป็นกลไกสำคัญในการนำพาลงสู่ชุมชน  เพราะกลุ่มนักวิจัยดังกล่าว เป็น “นักวิจัยไทบ้าน” ที่รวมกลุ่มกันขึ้นมาเพื่อเชื่อมประสานการทำงานระหว่างชุมชนขามเรียงกับภาคส่วนต่างๆ ให้เป็นระบบระเบียบมากขึ้น ซึ่งกลุ่มฮักแพงฯ เป็นกลุ่มคนในพื้นที่  จึงย่อมเข้าใจ “หัวอก” คนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดีว่าควรได้รับการปฏิบัติเช่นใดจากบุคคลภายนอกที่ตบเท้าเข้ามาเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ –ซ้ำแล้วซ้ำอีก





ในเวทีของค่ำคืนนั้น  ประกอบด้วยกิจกรรมสำคัญๆ เช่น  การชี้แจงวัตถุประสงค์และแนวทางการดำเนินงานโครงการทั้งสองโครงการให้กับชาวบ้านได้ร่วมรับรู้และทำความเข้าใจ  เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยสะท้อนถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน ท้องถิ่นและมหาวิทยาลัย  เช่น 

·  มีระบบข้อมูลสารสนเทศของชุมชนที่เป็นปัจจุบันสามารถสืบค้นและเผยแพร่ได้หลากหลายรูปแบบ
·  มีแผนที่วัฒนธรรมของหมู่บ้านที่แสดงตำแหน่งอาชีพ/ภูมิปัญญา/สถานที่สำคัญๆ ของหมู่บ้าน ซึ่งสามารถใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ชุมชน หรือใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ชุมชนทั้งระดับหมู่บ้าน และโรงเรียน
·  มีต้นแบบของศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นในชุมชน ที่สามารถใช้เป็นข้อมูลในการเสนอเป็นแผนพัฒนาให้กับเทศบาลตำบลขามเรียง เพื่อจัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนในอนาคน
·  เกิดกระบวนการเรียนรู้เรื่องสำนึกรักษ์บ้านเกิดร่วมกันระหว่างนิสิตกับชุมชน




นอกจากนั้นผู้แทนจากกลุ่มฮักแพงเบิ่งแญงขามเรียง รวมถึงผู้แทนผู้ชุมชนบ้านดอนหน่อง ยังได้สะท้อนข้อมูลอันเป็นสภาพทั่วไป หรือบริบทของชุมชนให้ร่วมรับรู้เบื้องต้น  เช่น  ประวัติความเป็นมาของชุมชน  ประเพณีวัฒนธรรมสำคัญๆ ในชุมชน  การรวมกลุ่มในด้านอาชีพของชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม “ทอเสื่อกก”  ซึ่งถือเป็นการรวมกลุ่มที่มีความโดดเด่นและเข้มแข็งที่สุดของหมู่บ้าน  ตลอดจนการแนะนำให้รู้จักกับปราชญ์ชาวบ้านในด้านต่างๆ  เช่น 

·  ด้านดนตรี ขับร้อง
·  ด้านจักสาน
·  ด้านพลุโบราณ
·  ด้านศาสนาและพิธีกรรม
·  ด้านหมอยาสมุนไพร
·  ด้านการทอเสื่อกก
·  ด้านเกษตรกรรม


และในช่วงท้ายของการจัดเวที  ตัวแทนนิสิตจากทั้งสองหลักสูตร ได้สะท้อนผลการเรียนรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการจัดทำแผนที่วัฒนธรรมเพื่อการประกอบอาชีพ และตัวอย่างของศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์พื้นบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นบ้านดอนหน่อง  ซึ่งเป็นการนำเอาข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการลงพื้นที่มาวิเคราะห์และสังเคราะห์สู่การออกแบบโดยสังเขป ก่อนจะเปิดเวทีให้ชาวบ้านได้มีเสนอแนะและร่วมอภิปราย หรือแม้แต่การออกแบบแผนการดำเนินงานในส่วนที่เหลือร่วมกัน





วางแผนใหม่ : ขับเคลื่อนแบบมีส่วนร่วม


การออกแบบแผนการดำเนินงานในส่วนที่เหลือร่วมกัน เป็นเสมือนการวางแผนใหม่ (spiraling of steps) อีกครั้ง หากแต่ครั้งนี้เป็นการวางแผนแบบมีส่วนร่วมในมิติของ “มหาวิทยาลัยกับชุมชน” ที่ประกอบด้วยอาจารย์ นิสิต ชาวบ้าน และกลุ่มฮักแพง เบิ่งแญงขามเรียง นั่นเอง


การวางแผนใหม่ ถูกขับเคลื่อนไปสู่การกำหนดประเด็นศึกษา (issue Scoping) เชิงลึก โดยเฉพาะการมุ่งศึกษาทุนทางสังคมผ่านบุคคลสำคัญๆ ของชุมชน เสมือนการศึกษาจาก “ปากคำชาวบ้าน” เป็นที่ตั้ง  ซึ่งในเวทีร่วมของค่ำคืนนั้น ได้กลายเป็นเวทีแรกที่ทำให้อาจารย์และนิสิตได้พบหน้ากับเหล่าบรรดาแกนนำ หรือปราชญ์ชาวบ้านอย่างเสร็จสรรพ หลังจากลงชุมชนแบบลองผิดถูกมาแล้วระยะหนึ่ง

ผมถือว่านี่คือกระบวนการอันสำคัญในการขับเคลื่อนในเชิงบูรณาการ  และที่สำคัญคือมีการประเมินสถานการณ์การดำเนินงานเป็นห้วงๆ  โดยถัดจากนี้ระบบข้อมูลจะถูกเก็บรวบรวม สังเคราะห์ใหม่ร่วมกันอีกรอบ  เพื่อนำมาออกแบบเป็น “แผนที่วัฒนธรรม”  และ “ศูนย์แสดงผลิตภัณฑ์”  ภายใต้กระบวนการที่ชาวบ้าน หรือชุมชน มีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจอย่างแท้จริง

และผลผลิตดังกล่าว  จะถูกนำเสนอต่อมหาวิทยาลัยและองค์กรท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง  เพื่อเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ หรือหนึ่งในฐานข้อมูลในการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนต่อไป



11  กรกฎาคม 2556
บ้านดอนหน่อง


หมายเลขบันทึก: 543457เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2013 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

       

         ....ชื่นชมวิธีการทำงาน นะคะ .... ขอบคุณเรื่องราวดีดีนี้ค่ะ .... 

ชอบมากค่ะ แถวบ้านป่าของพี่หากมีมหาวิทยาลัยนำทางเช่นนี้ก็ดี

ขอบคุณค่ะ

มาชื่นชมการทำงานบูณาการได้เยอะมากๆๆ

"อ่านแล้ว..เหนื่อย..อ้ะ..เหมือน..พายเรือ..ไม่เห็น..ฝั่ง..อิอิ"...ชาวบ้านคงเหนื่อย..เพิ่มขึ้น..เหมือนเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม..อิอิ..ยายธี

ชอบหลักการบูรณาการแบบนี้จังเลยจ้ะ  ทำอย่างไรจึงจะได้แนวทางแบบนี้

บ้างจ๊ะ  คุณมะเดื่ออยากลองนำไปประยุกต์ใช้กับงานสอนประถมดูบ้าง

(แบบง่าย ๆ แต่...ใช่เลยจ้ะ)

ชื่นชมแนวทางการเรียนรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท