ขับเคลื่อน PLC ที่ สพป.3 มหาสารคาม_11 : เวทีครู "มองเด็กรายบุคคล"


วันที่ 11-13 กรกฎาคม 2556 ทีมขับเคลื่อน PLC มหาสารคาม จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ชุมรมเรียนรู้ครูเพื่อศิษย์ มีครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา มหาสารคาม เขต 3 จำนวน 138 ท่าน จาก 14 โรงเรียน เป้าหมายสำคัญ คือ สร้างแรงบันดาลใจ ปลุกพลัง "เพื่อศิษย์" ในตัวครู  เพื่อให้พันธกิจ ทำ 2 ช่วยครูเปลี่ยน 3 ของเรา ให้ขยับขับไปต่อไป 

ดูภาพทั้งหมดได้ที่นี่ครับ

เรา เริ่มการประชุมด้วย การทำ BAR เดี่ยว ด้วยกระดาษ "เป-อิน" (ศน.ไชยยา ใช้คำนี้ครับ ผมเรียกว่ากระดาษ post-it) ทุกคนเขียนความคาดหวังของตนเอง ก่อนจะนำไปติดรวมกันให้อ่านของกันและกัน 

ผม สังเกตว่า ความคาดหวังส่วนใหญ่ เป็นคำถามประเภท "อะไร" และ "อย่างไร" เกี่ยวกับ PLC มีบ้างที่เป็นคำถาม "หน้างาน" เช่น จะแก้ปัญหาเด็กอ่านไม่ออกได้อย่างไร ฯลฯ  ส่วนคำถามประเภท "ทำไม" เกือบทั้งหมด  ไม่ค่อยเกี่ยวกับ "ศิษย์" ที่ถามกันเยอะที่สุดคือ "ทำไมต้องมาไกลขนาดนี้"  นอกจากนี้ยังมีคำถามความคาดหมายที่ต่างๆ ออกไปเกี่ยวกับ Coaching และ Mentoring  ผมคิดว่า คำถามเหล่านั้นเป็นเพียงผลสะท้อน หรืออิทธิพลจากชื่อของงานมากกว่า ..... ผมกล่าวตอนกล่าวปิดเวทีว่า หลังจากที่ได้อ่าน BAR แล้ว ผมรู้สึกหนักใจมาก  เพราะหลายๆ อย่าง ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดได้ในเวทีนี้  ส่วนสิ่งที่จะเกิดในเวทีนี้ ถึงแม้ว่าจะมีอยู่แล้วในตัวในใจครู แต่ก็คงอยู่ "ลึก" เข้าใปไม่น้อยทีเดียว  ภารกิจของเราจึงต้อง "ขุด" ให้สิ่งนั้น "ผุด" ออกมาให้เห็น "เห็นตนเอง" 

 ผอ.สมุทร สมปอง ไม่ใช่ "ผอ. รอเปิด" เหมือนกับ ผอ.เขต ทั่วไป ที่ผมเห็น  ท่านอยู่เรียนรู้กับเราด้วยตั้งแต่ต้น จนจบ เราเชิญท่านกล่าวปิดวงด้วยความสุขในตอนท้าย..... ขอบพระคุณท่านมากครับ 

หลัง พิธีเปิด ผมนำเสนอภาพรวมของกิจกรรมทั้งหมด ที่จะเกิดขึ้นใน 3 วันนี้ คำสำคัญของงานนี้ คือ  "มองเด็กรายบุคคล มองตนอย่างเป็นกลาง และ ร่วมกันกำหนดแนวทาง "กระบวนการ" อย่างกัลยาณมิตร เพื่อ พัฒนาทักษะการคิดและปฏิบัติ ในศตวรรษที่ 21" 

เรา "มองเด็กรายบุคคล"  ด้วยกิจกรรม "กระดาษ 4 พับ จับจุด"  ใช้กระดาษ A4 พับแนวขวาง 2 ครั้ง จะได้ 4 คอลัมน์ แล้วพับแนวตั้งเป็น 3 แถว จะได้ตาราง 12 ช่อง แล้วให้พิจารณาเติมตามเป้าหมายแต่ละช่อง ดังรูป 

เริ่มเติมจาก 

  • คอลัมน์ ที่ 2  โดยให้ "ครู" จินตนาการถึง "ศิษย์" แบบรายบุคคล ก่อนที่จะเขียนชื่อ (สมมติ) ของนักเรียนในชั้นที่รับผิดชอบที่อยากจะมอบรางวัล "การอ่าน" "การเขียน" และ "การคิด" ให้ 
  • คอลัมน์ที่ 3 ให้เขียนถึงปัจจัยสำคัญอะไร ที่ทำให้นักเรียนคนนั้นๆ ควรจะได้รับรางวัล 
  • แล้วกลับ มาเขียนคอลัมน์ที่ 1 เล่าประสบการณ์ของความสำเร็จของตนเองในการสร้างหรือช่วยให้นักเรียนใน คอลัมน์ที่ 2 มีลักษณะดังเขียนในคอลัมน์ที่ 3 
  • ส่วนคอลัมน์ที่ 4 ให้เป็นมุมมองของเพื่อน ที่อาจมีวิธีใหม่ๆ ดีๆ ที่จะแลกเปลี่ยน หลังจากที่เวียนขวาไปยังเพื่อนๆ แต่ละคน 

 ในขณะ ที่เราทำกิจกรรมนี้ ผู้อำนวยการโรงเรียนและศึกษานิเทศน์ ได้แยกออกไปพูดคุยกับ ดร.สุมลวรรณ ในการทำบทบาทหน้าที่ Coach หรือครูฝึก และ Mentor เป็นพี่เลี้ยง หรือเป็นคุณอำนวยให้เกิดการพูดคุยกันต่อไป ในกรณีที่แยกกลุ่มย่อย ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นงาน ผลปรากฎว่าได้ผลค่อนข้างน้อยกว่าที่คาดไว้ 

(เดี่ยวมาต่อบันทึกหน้านะครับ )


หมายเลขบันทึก: 543209เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2013 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 สิงหาคม 2013 22:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ใช้วิธีฉายหรือบอกภาพความสำเร็จของตนเอง สิ อ.ต๋อย

แล้วให้คุยกัน  แล้วค่อยบอกว่า วงPLC เกิดขึ้นแล้ว

เห็นครูที่บ้าน(ป้ากับสามี) คุยกัน มันคืออีหยั่ง เป็นหยั่งต้องPLC จักสิเฮ็ดจังได๋

พอพูดอย่างนี้ ครูทั้งสอง อ้อ พร้อมกัน

เป็นอีกทางเลือกที่จะส่งเสริมทักษะการคิดวิเคาระห์ของผู้เรียน ด้วยกิจกรรม "กระดาษ 4 พับ..ขอบคุณนะคะท่านวิทยากร..

            

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท