การพัฒนาความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนโดยใช้ facebook


ห้ามไม่ได้ ให้ใช้เสียเลย "รู้ทันเฟสบุ๊ค"

 

1. ความสำคัญของผลงานหรือนวัตกรรมที่นำเสนอ

       ในสังคมโลกปัจจุบันการเรียนรู้ภาษาอังกฤษมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน  เนื่องจากเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสาร  การศึกษา การแสวงหาความรู้ การประกอบอาชีพ  การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมและวิสัยทัศน์ของชุมชนโลก 
และตระหนักถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมุมมองของสังคมโลกนำมาซึ่งมิตรไมตรีและความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ช่วยให้มีความเข้าใจตนเองและผู้อื่นดีขึ้น เรียนรู้และเข้าใจความแตกต่างของภาษาและวัฒนธรรมขนบธรรมเนียม ประเพณี  การคิด สังคม  เศรษฐกิจ  และการเมืองการปกครองได้ดีขึ้น  สามารถสื่อสารและเข้าถึงองค์ความรู้ต่าง ๆ  ได้ง่ายและกว้างขึ้น และมีวิสัยทัศน์ในการดำเนินชีวิต  (กระทรวงศึกษาธิการ.
2551 :
210) 

        การที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปีพ.ศ. 2558  กฎบัตรอาเซียนข้อ 34 ได้บัญญัติว่า
“The working language of ASEAN shall be English.”  “ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน  คือ ภาษาอังกฤษ”  หมายความว่า  ประชาชนพลเมืองใน 10 ประเทศอาเซียน  ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย จะต้องใช้ภาษาอังกฤษกันมากขึ้นนอกเหนือจากภาษาประจำชาติ ภาษาอังกฤษจึงเป็นภาษาที่สำคัญของประเทศในอาเซียนที่รัฐบาล  นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว และพลเมืองของอาเซียนในแต่ละประเทศจะต้องใช้ในการร่วมประชุปรึกษาหารือและสื่อสารกัน
ทำความรู้จักคุ้นเคย
เรียนรู้ซึ่งกันและกันและที่สำคัญภาษาอังกฤษยังมีความสำคัญและความจำเป็นต่อการหางานทำและแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิตดังนั้นภาษาอังกฤษจึงเป็นเครื่องมืออันดับหนึ่งสำหรับพลเมืองอาเซียน
(กระทรวงศึกษาธิการ.  2554 : 18-22)

        หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ
ได้กำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นสาระการเรียนรู้พื้นฐาน ให้นักเรียนทุกคนต้องได้เรียนรู้ในทุกระดับชั้น
ประกอบด้วยสาระสำคัญคือ  ภาษาเพื่อการสื่อสารภาษาและวัฒนธรรม  ภาษากับความสัมพันธ์กับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น  และภาษากับความสัมพันธ์กับชุมชนและโลก โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร
สืบค้น  ค้นคว้า รวบรวมและสรุปความรู้  ข้อมูลต่าง ๆ  จากสื่อและแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ ในการศึกษาต่อและประกอบอาชีพ  สามารถเผยแพร่  ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารของโรงเรียนชุมชนและท้องถิ่น และมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ (กระทรวงศึกษาธิการ. 2551 : 210-216) 

         การเรียนภาษาต่างประเทศ  แตกต่างจากการเรียนสาระการเรียนรู้อื่น เนื่องจากผู้เรียนไม่ได้เรียนภาษาเพื่อความรู้เกี่ยวกับภาษาเท่านั้น  แต่เรียนเพื่อให้สามารถใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้ตามความต้องการในสถานการณ์ต่าง ๆ  ทั้งในชีวิตประจำวันและการงานอาชีพ  การที่ผู้เรียนจะใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องคล่องแคล่วและเหมาะสมนั้น  ขึ้นอยู่กับทักษะการใช้ภาษา  ดังนั้น การจัดการเรียนการสอนภาษาที่ดี ผู้เรียนจะต้องมีโอกาสได้ฝึกทักษะการใช้ภาษาให้มากที่สุดทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน การจัดกระบวนการเรียนการสอนต้องสอดคล้องกับธรรมชาติและลักษณะเฉพาะของภาษา  การจัดการเรียนการสอนภาษา จึงควรจัดกิจกรรมให้หลากหลาย ทั้งกิจกรรมการฝึกทางภาษาและกิจกรรมการฝึกผู้เรียนให้รู้วิธีการเรียนภาษาด้วยตนเองควบคู่ไปด้วย
(กรมวิชาการ.
  2545: 2)  การที่ผู้เรียนจะมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษได้ดีนั้น  ผู้เรียนต้องมีทักษะในการสื่อสารทั้ง 4 ทักษะ คือ ทักษะการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน (สุมิตรา อังวัฒนกุล.  2539 : 73)  ซึ่งการพูด  เป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นมาก  เพราะผู้พูดได้ย่อมสามารถฟังผู้อื่นพูดได้อย่างเข้าใจและจะช่วยในการอ่านและการเขียนง่ายขึ้นด้วยอย่างไรก็ตามทักษะทางการพูดเป็นทักษะทางภาษาที่ซับซ้อน  และเกิดจากการฝึกฝนเป็นเวลานาน  ไม่ใช่เกิดจากการเข้าใจและจดจำ  (สุมิตรา อังวัฒนกุล.  2537 : 167)  ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ผู้สอนมักหนักใจเมื่อนำกิจกรรมเพื่อการสื่อสารไปใช้ในห้องเรียน  คือ ผู้เรียนไม่ใคร่ให้ความร่วมมือและผู้เรียนเกิดความอายไม่กล้าจะใช้ภาษาอังกฤษ  (สุมิตรา อังวัฒนกุล. 2539 : 53)  และถึงแม้ผู้เรียนทุกคน จะได้เรียนภาษาอังกฤษในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานในทุกระดับชั้น  แต่ก็ยังพบว่า นักเรียนไม่สามารถพูดสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้  (ฟาฏินา  วงศ์เลขา.เดลินิวส์ : 7 ธ.ค. 53)  การที่ผู้เรียนจะสามารถใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารได้นั้นผู้เรียนต้องทำกิจกรรมการใช้ภาษาในรูปแบบต่างๆอย่างหลากหลาย กิจกรรมที่เป็นงานคู่ หรืองานกลุ่มเช่น การแสดงบทบาทสมมุติเป็นกิจกรรมที่มีบทบาทสำคัญที่สุดกิจกรรมหนึ่ง (ธูปทอง กว้างสวาสดิ์.  2549 : 19)

         ในปัจจุบัน เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ได้มีบทบาทอย่างมากในสังคม จนเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตประจำวัน  เครือข่ายสังคมออนไลน์  Facebook  เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ประเภทหนึ่งในระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่น  Facebook (เฟซบุ๊ค) คือ บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ผู้ใช้สามารถสร้างข้อมูลส่วนตัว
เพิ่มรายชื่อผู้ใช้อื่นในฐานะเพื่อนและแลกเปลี่ยนข้อความ ติดต่อสื่อสาร ตั้งประเด็นถามตอบในเรื่องที่สนใจ
โพสต์รูปภาพ โพสต์คลิปวิดีโอ เขียนบทความหรือบล็อก สนทนาแบบโต้ตอบทันที นอกจากนั้นผู้ใช้ยังสามารถร่วมกลุ่มความสนใจส่วนตัวจัดระบบตาม สถานที่ทำงาน โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรืออื่นๆ และสามารถทำกิจกรรมต่างๆ
ผ่านแอพลิเคชั่นเสริม (Applications) ที่มีอยู่มากมาย ในเฟซบุ๊ค มีการแบ่งปันเรื่องราว ความรู้ แง่คิด ประสบการณ์
ทำให้เราเรียนรู้เรื่องราวชีวิตของผู้อื่น สามารถนำสิ่งที่ได้มาปรับใช้ได้ การเรียนรู้ร่วมกันผ่านเฟซบุ๊ค 
ทำได้โดยสร้างกลุ่มเพื่อการเรียนรู้เรื่องที่สนใจร่วมกัน และสามารถนำเฟซบุ๊คไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนโดยใช้เป็นกิจกรรมหลัก หรือการเสริมบทเรียนโดยการสร้างเป็นกลุ่มเรียนแล้วนำเสนอสื่อการสอนในรูปแบบของเนื้อหา บทความ
สื่อมัลติมีเดีย การนำเสนองาน ผลงาน ฯลฯ ทำให้เกิดความน่าสนใจ เรียนรู้ได้ตลอดเวลาครูและนักเรียนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ผ่านการพูดคุย แสดงความคิดเห็นการสอบถาม การให้คำแนะนำและคำปรึกษา
ได้โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง การเรียนรู้เกิดขึ้นตลอดเวลาผู้ที่มีโอกาสเรียนรู้มากย่อมได้เปรียบจะเห็นได้ว่าเฟซบุ๊คสามารถสร้างประโยชน์โดยเป็นแหล่งเรียนรู้ได้อีกช่องทางหนึ่งhttp://facebook.kapook.com/about_facebook.php

         ผู้วิจัยปฏิบัติการสอนที่โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา  จังหวัดกาฬสินธุ์  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 24  พบปัญหาในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาภาษาอังกฤษ  คือ  ปัญหาด้านการพูดภาษาอังกฤษ  จากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน  เวลาพูดภาษาอังกฤษจะขาดความมั่นใจ  เช่น  มีความวิตกกังวล  ไม่กล้าแสดงออก  การออกเสียงพูดผิดหลักไวยากรณ์ พูดติดขัดเพราะไม่รู้คำศัพท์และสำนวนที่จะใช้ในการพูดพฤติกรรมเหล่านี้แสดงให้เห็นว่านักเรียนขาดความมั่นใจในการพูดภาษาอังกฤษทำให้เป็นปัญหาอย่างยิ่งในการสื่อสารการจัดการเรียนรู้ยังไม่สามารถทำให้นักเรียนพูดภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น  นอกจากนั้น นักเรียนมีโอกาสได้ฝึกภาษาอังกฤษเฉพาะในห้องเรียน  ทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร  จากปัญหาดังกล่าว  จึงทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษค่อนข้างต่ำ ค่าเฉลี่ยวิชาภาษาอังกฤษระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ปีการศึกษา 2554  เท่ากับ 2.49 (วิชาการ.  2554 : 10) ผู้วิจัย จึงมีความสนใจในการนำเอาวิธีการพัฒนาทักษะการพูดภาษาอังกฤษ  โดยใช้ Facebook  มาใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ให้สูงขึ้น

2.  จุดประสงค์และเป้าหมายของการดำเนินงาน
       2.1  เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการพูดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  โดยใช้ Facebook ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์  75/75

       2.2  เพื่อเปรียบเทียบความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  โดยใช้
Facebook ระหว่างก่อนและหลังเรียน

       2.3  เพื่อเปรียบเทียบความเชื่อมั่นในตนเองของนักเรียนที่เรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการพูดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่  5  โดยใช้ Facebook ระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน

3. กระบวนการผลิตผลงาน หรือขั้นตอนการดำเนินงาน 

     3.1  กลุ่มตัวอย่าง   กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าครั้งนี้  ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 
โรงเรียนสหัสขันธ์ศึกษา  จังหวัดกาฬสินธุ์  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 24  ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 1  ปีการศึกษา 2555  จำนวน 23  คน  ที่ได้มาโดยการสุ่มแบบเฉพาะเจาะจง 

    3.2 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา  เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าแบ่งออกเป็น  3  ชนิด  ดังนี้

         1) แผนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้
Facebook  จำนวน  5 แผน  แผนละ 2 ชั่วโมง  รวม  8  ชั่วโมง ดังนี้  1. Geeting  2. Shopping  3. Directions  4. Welcome to Sirindhorn Museum (famous for dinosuars) พร้อมทั้งแบบประเมินความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษแบบสังเกตพฤติกรรม และแบบทดสอบย่อย โดยปฐมนิเทศ (รู้ทันเฟสบุ๊ค) ก่อนเรียน จำนวน  2 ชั่วโมง รวม 10 ชั่วโมง

        2) แบบทดสอบวัดความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษ 

        3) แบบสอบถามวัดความเชื่อมั่นในตนเองเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 20 ข้อ

    3.3 ขั้นตอนการสอน

        3.3.1 ขั้นเตรียมการ   (Plan)
                 1) นักเรียนทำกิจกรรม Warm up Activities  โดยครูใช้สื่อกระตุ้นความสนใจนักเรียน  เช่น  รูปภาพ    คลิป  วีดีโอ เกม เพลง ฯลฯ

                 2) ครูบอกจุดประสงค์การเรียนรู้

        3.3.2  ขั้นลงมือปฏิบัติ  (Do)

                 1) ขั้นเริ่มบทเรียน

                      1.1) ครูนำเสนอบทสนทนา คำศัพท์ใหม่ โครงสร้างประโยคหรือสำนวน  เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน  โดยการใช้คำถามหรือสื่อประเภทต่าง ๆ  ที่เป็นการนำเสนอข้อมูลที่จำเป็นต่อการแสดง  เช่น เกม  นิทาน  บทกวี บทเพลง วีดีทัศน์  บทสัมภาษณ์  ข่าวสาร ภาพจำลอง  แผนผัง  เป็นต้น ตามความเหมาะสม  ในขั้นตอนนี้  เน้นความถูกต้องของการใช้ภาษา (Accuracy)

                      1.2) นักเรียนฝึกพูดบทสนทนาที่ครูให้มา (Controlled Practice)  โดยจับกลุ่มฝึกกันเอง ในขั้นนี้ครูไม่ขัดจังหวะการฝึกของผู้เรียน ถึงแม้จะพบว่ามีข้อผิดพลาดแต่เมื่อฝึกแล้วจึงจะแก้ไขภายหลังเพราะระยะเวลานี้ต้องการความคล่องแคล่วในการพูด (Fluency)

                       1.3) ครูสุ่มให้นักเรียนพูดและแสดงบทบาทสมมติ 2-3  กลุ่ม  ในขั้นนี้ครูให้คำชี้แนะและแก้ไขข้อบกพร่อง 
               2) ขั้นเลือกผู้แสดง  มีขั้นตอนย่อยๆ  ดังนี้

                       2.1) การเขียนบทสนทนา (Plot)  ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันแต่งบทสนทนาตามสถานการณ์ที่เรียนมา โดยประยุกต์ได้ตามความต้องการและความเหมาะสม  จากนั้นให้ผู้เรียนเลือกบทบาทหน้าที่ (Role) ที่จะแสดงภายในกลุ่มของตน

                       2.2) การฝึกซ้อมก่อนการแสดง หลังจากที่นักเรียนเลือกบทของตนแล้ว ให้นักเรียนฝึกซ้อมเพื่อเตรียมความพร้อมภายในกลุ่ม  ก่อนการแสดง

                       2.3) การจัดฉากและเตรียมการแสดง (Props) นักเรียนจัดฉากและเตรียมอุปกรณ์ประกอบการแสดง

               3) การกำหนดตัวผู้สังเกตการณ์หรือผู้ชม  เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการประเมินผลงานเพื่อให้เกิดการปรับปรุงแก้ไข

               4) ขั้นแสดง  ผู้เรียนแสดงบทบาทสมมติตามบทบาทที่ได้รับโดยการถ่ายทำคลิปวีดีโอ  อัพโหลดเพื่อนำเสนอใน Facebook

           3.3.3  ขั้นตรวจสอบ (Check)

               1) ขั้นวิเคราะห์และอภิปรายผลการแสดง เพื่อสะท้อนผลการแสดงบทบาทสมมติการพูดภาษาอังกฤษ  ผู้แสดงและผู้สังเกตการณ์แสดงความรู้สึก  และอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทการแสดงและการพูดภาษาอังกฤษจากคลิป วีดีโอทาง Facebook   

            3.3.4  ขั้นแก้ไขปรับปรุง (Act)

               1) ขั้นสรุป  ผู้เรียนร่วมกันสรุปบทเรียนและองค์ความรู้ที่ได้  ผู้สอนอธิบายเพิ่มเติมและแก้ไขถ้อยคeสำนวนของผู้แสดงให้ถูกต้องบางกลุ่มอาจแสดงและถ่ายคลิปวีดีโอใหม่เพื่อปรับปรุงแก้ไข

               2) ทดสอบหลังเรียน  (Post-test)  ด้วยแบบทดสอบวัดความสามารถด้านการพูดของนักเรียนโดยใช้
Facebook และแบบสอบถามวัดความเชื่อมั่นในตนเองของนักเรียนชุดเดิมและเก็บบันทึกคะแนนไว้

4. การจัดกระทำข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล

          1) หาประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้ตามเกณฑ์  75/75 

               การหาเกณฑ์  75  ตัวแรก ดำเนินการ  ดังนี้

               1.1) รวมคะแนนการทดสอบประเมินทักษะการพูดภาษาอังกฤษโดยใช้บทบาท  Facebook 
พฤติกรรมการเรียนระหว่างเรียน และแบบทดสอบย่อย ของนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง

               1.2) หาค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมระหว่างเรียน การประเมินความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษโดยใช้ Facebook และแบบทดสอบย่อย คิดหาค่าเฉลี่ยที่หาได้เป็นร้อยละ

              การหาเกณฑ์ 75  ตัวหลัง  ดำเนินการ ดังนี้

               1.3) รวมคะแนนของการทดสอบวัดความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษหาค่าเฉลี่ยของคะแนนรวมของการทดสอบหลังเรียน

           2) การเปรียบเทียบผลการทดสอบวัดความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษโดยใช้ Facebook ก่อนเรียนและหลังเรียน  นำผลการวัดก่อนเรียนและหลังเรียนมาเปรียบเทียบกันโดยใช้ค่าสถิติ ที (t-test) แบบ Dependent Samples

          3) การเปรียบเทียบความเชื่อมั่นในตนเอง วิเคราะห์ค่าเฉลี่ยของแบบสอบถามวัดความเชื่อมั่นในตนเองของนักเรียน  นำผลการสอบถามก่อนเรียนและหลังเรียนมาเปรียบเทียบกันโดยใช้ค่าสถิติ ที (t-test) แบบ Dependent Samples

5.  ผลการดำเนินการ / ผลสัมฤทธิ์ / ประโยชน์ที่ได้รับ

      1) แผนการจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้านการพูดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  โดยใช้Facebook  มีประสิทธิภาพ  87.42 / 84.11  ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด  75/75

      2) ความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ที่เรียนโดยใช้ Facebook มีคะแนนเฉลี่ยจากการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ  .05

      3) ความเชื่อมั่นในตนเองของนักเรียนที่เรียนภาษาอังกฤษด้านการพูดของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ที่เรียนโดยใช้ Facebook มีคะแนนเฉลี่ยจากการทดสอบหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่  .05

6. ปัจจัยความสำเร็จ

     1) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนที่สร้างขึ้น ได้ผ่านวิธีสร้างและพัฒนาอย่างเป็นระบบมีขั้นตอน  และมีการปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่องตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ  เพื่อให้ได้เครื่องมือที่มีความถูกต้องเหมาะสม  สามารถนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     2) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่
5  โดยใช้ Facebook  ได้นำเอาจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารมาเป็นแนวทางการจัดการเรียนการสอน
และนำเอาขั้นตอนการสอนบทบาทสมมติมาผนวกเข้าเพื่อให้นักเรียนมีโอกาสนำเอาบทเรียนไปประยุกต์ใช้ในการนำเสนอการพูดทาง
Facebook  ซึ่งเป็นขั้นตอนและวิธีการที่ช่วยเตรียมความพร้อม  ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมโดยให้นักเรียนทำกิจกรรมคู่  และกิจกรรมกลุ่ม การแสดงบทบาทสมมติ ซึ่งนักเรียนได้ช่วยกันประยุกต์บทสนทนาที่เรียนมาให้สอดคล้องกับความสนใจและใกล้เคียงกับชีวิตประจำวันให้มากที่สุด โดยครูคอยให้คำแนะนำและให้การช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด  ในการทำงานกลุ่ม  นักเรียนมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น  ร่วมกันวางแผนการแสดง  การจัดฉาก การฝึกซ้อมการสวมบทบาทของผู้แสดงให้เหมาะสม  ส่งผลให้นักเรียนเกิดการคิดวิเคราะห์  กล้าแสดงออกอย่างสร้างสรรค์และรู้จักแสวงหาความรู้และสรุปองค์ความรู้ด้วยตนเองนอกจากนั้นการทำงานร่วมกันยังช่วยให้นักเรียนเกิดความสนุกสนานมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษมีความกระตือรือร้น  และสนใจเรียนมากขึ้นสอดคล้องกับข้อเสนอของสุมิตรา  อังวัฒนากุล (2547 : 143)

    3) การนำสื่อสังคมออนไลน์ Facebook มาใช้ในการเรียนการสอน ช่วยกระตุ้นความสนใจของนักเรียนได้เป็นอย่างดี  ในขั้นตอนการประยุกต์ใช้ ผู้วิจัยได้ให้นักเรียนแต่ละกลุ่มแต่งบทสนทนา  ฝึกซ้อมและแสดงบทบาทสมมติ
ซึ่งในการประเมินความสามารถในการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้  ได้ให้อิสระแก่นักเรียนในการคิดวางแผนการออกแบบฉาก  การแต่งกาย  การสวมบทบาทของผู้แสดงแต่ละคน ตลอดจนวิธีการนำเสนอบทบทสมมติซึ่งนักเรียนมีมติร่วมกันในการนำเสนอในรูปแบบคลิปวีดิโอส่งครูทางเฟสบุ๊คโดยสร้างห้องส่วนตัวเอาไว้เฉพาะนักเรียนในห้องเรียนเท่านั้นที่เป็นสมาชิกการส่งงานในรูปแบบคลิปวีดิโอ เป็นการยืดหยุ่นการทดสอบ
ช่วยให้นักเรียนผ่อนคลาย ไม่เครียดและไม่ตื่นเต้นและเขินอาย นักเรียนมีเวลาในการฝึกซ้อมจนมีความพร้อมโดยครูคอยให้ความช่วยเหลือในการออกเสียงให้ถูกต้อง  และสามารถปรับปรุงผลงานได้ใหม่จนเลือกชิ้นที่พอใจที่สุดส่งครู  ซึ่งเมื่อมีการเปิดชมในห้องเรียน  เพื่อนๆจะทำหน้าที่เป็นผู้วิเคราะห์และประเมินผลอภิปรายผลงานของเพื่อน  เพื่อชมเชยและนำไปปรับปรุงแก้ไขการประเมินผลความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนในลักษณะนี้  ส่งผลให้นักเรียนสามารถสื่อสารได้ดีขึ้น  มีความกล้าแสดงออกและมีความมั่นใจในการพูด  เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง  อีกทั้งยังได้พัฒนาความสามารถทางการเรียนของตนให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่งด้วย 

 7. บทเรียนที่ได้รับ (Lesson Learned)

     1) ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ถ้าหากนักเรียนทำงานช้าหรือไม่ทันเวลา  ครูควรเข้าไปให้คำปรึกษา และพยายามกระตุ้นให้นักเรียนทำงานให้เสร็จให้ทันเวลาครั้งต่อไป

     2) ครูควรกระตุ้นให้นักเรียนแต่ละคนมีอิสระในการคิด  เสนอความคิดเห็น  รวมทั้งร่วมมือและช่วยเหลือกันเพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ

     3) การจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนโดยใช้  Facebook  ช่วยประหยัดเวลาในการทดสอบได้เป็นอย่างดี  เนื่องจากมีการประเมินผลนักเรียนเป็นรายคู่และรายกลุ่มต้องใช้เวลามากนักเรียนได้มีเวลาในการฝึกซ้อมและเตรียมการมากขึ้น  ครูสามารถตรวจงานได้ตลอดเวลา  ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงแก้ไขได้อย่างรวดเร็วควรนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาทักษะอื่น ๆ ต่อไป 

    4)  ชุมชนเห็นความสำคัญและต้องการนักเรียนนำเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น  โดยใช้ภาษาอังกฤษ

8.  การเผยแพร่/ การได้รับการยอมรับ / รางวัลที่ได้รับ

      จากผลการพัฒนาความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียน ทำให้นักเรียนสามารถพูดสื่อสารภาษาอังกฤษได้มากขึ้น  มีความเชื่อมั่นในตนเองสูงขึ้น  และได้มีโอกาสนำไปใช้พูดแนะนำสถานที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นให้แก่นักท่องเที่ยวใน  ASEAN มีผลงาน ดังนี้

      - นำเที่ยวคณะผู้บริหารและครูจากประเทศกัมพูชา เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สิรินธร (ไดโนเสาร์)  15 สิงหาคม  2555 
ในโอกาสมาเยือน จังหวัดกาฬสินธุ์

     - นำเที่ยวคณะผู้บริหารและครู  โรงเรียนก๊อกฮ็อก เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สิรินธร
(ไดโนเสาร์)
  25 สิงหาคม  2555 ในโอกาสมาเยือนโรงเรียนกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์

    -  นำเที่ยวคณะผู้บริหารและครู  โรงเรียนเหวียนเหว่ เมืองดานัง ประเทศเวียดนามเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สิรินธร (ไดโนเสาร์) 15 กันยายน  2555  ในโอกาสมาเยือนโรงเรียนกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์

    - นำเที่ยวคณะนักเรียนจากวิทยาลัยสุขสวัสดิ์  เมืองเวียงจันทน์  ประเทศลาว เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์สิรินธร(ไดโนเสาร์)  3 ธันวาคม 2555  ในโอกาสมาและเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม  ณ โรงเรียนกมลาไสย  จังหวัดกาฬสินธุ์

    - นำเที่ยวคณะนักเรียนจากโรงเรียนต่างในประชาคมอาเซียน  จำนวน 9 ประเทศ  ได้แก่  ไทย  ลาว  เวียดนาม 
มาเลเซีย  สิงคโปร์  ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย พม่า และ ฟิลิปปินส์  เที่ยวชม  พิพิธภัณฑ์สิรินธร (ไดโนเสาร์)
  และร่วมจัดค่ายฐานความรู้เรื่อง  Dino Key-Rings  ในระหว่างวันที่21-25 กุมภาพันธ์ 2556  ในโอกาสมาเข้าค่ายอาเซียน Kalasin ASEAN Youth Camp (KAYC) ณ โรงเรียนกมลาไสย  และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
วิทยาเขตกาฬสินธุ์  จังหวัดกาฬสินธุ์

     - นายจุมพล  ภูโคกเนิน  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1  ได้รับรางวัลระดับเหรียญทองในระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ในการประกวดการเล่านิทานภาษาอังกฤษ  ระดับชั้น ม.ปลาย  ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ 62  ณ จังหวัดชัยภูมิ 

     - นางสาวพรพชร  คุณอุดม  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 สอบชิงทุนการศึกษาเต็มจำนวนเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม (AFS)  เป็นระยะเวลา  1  ปี  ณ  ประเทศจีน

    - นางสาวเรืองแสน  เรืองรื่น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/1 สอบชิงทุนการศึกษาเต็มจำนวนเพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม (AFS) 

    - โรงพยาบาลสหัสขันธ์ ขอความร่วมมือนักเรียนนำเที่ยวพิพิธภัณฑ์สิรินธร  นายแพทย์จากสหรัฐอเมริกา 

    - ผู้วิจัย ได้รับทุนไปศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม (AFS) ณ ประเทศสาธารณรัฐลัตเวีย 14-24  เมษายน  2556

ภาพกิจกรรมการพัฒนาความสามารถด้านการพูดภาษาอังกฤษของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  โดยใช้  Facebook

รางวัลที่ได้รับ

1. นางสาวพรพชร  คุณอุดม นักเรียนชั้น ม.5/1  ได้รับทุน  AFS  เต็มจำนวน ไปศึกษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
ณ ประเทศจีน  1  ปี

2. นายจุมพล  ภูโคกเนิน นักเรียนชั้น ม.5/1  ได้รับรางวัลระดับเหรียญทองในระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ในการประกวดการเล่านิทานภาษาอังกฤษ  ระดับชั้น ม.ปลาย  ในงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนครั้งที่ 62  ณ 
จังหวัดชัยภูมิ 

3. ผู้วิจัย ได้รับทุนไปศึกษาแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม (AFS)  ณ ประเทศสาธารณรัฐลัตเวีย  14-24  เมษายน  2556





















หมายเลขบันทึก: 542896เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2013 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กรกฎาคม 2013 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อยากศึกษา ประยุกต์ใช้ กับลูกศิษย์มากเลยนะครับ

ขอขอบคุณมาก ๆ เลยนะครับ

ชื่นชม และเป็นกำลังใจนะครับ

น่าสนใจมากครับพี่ มีนักเรียนเก่งๆหลายคน พี่หายไปนานมากๆครับ

อาจารย์เก่งจังเลยค่ะ

อาจารย์ชยพร

ขอบคุณมากค่ะ  สื่อสังคมอนไลน์ ก็สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ค่ะ  ลองดูนะคะ

อาจารย์น้องขจิต  

   เวลาที่สอนพี่ก็จะปิ๊งไอเดียทำวิจัยแบบ action research ไปด้วย  ตอนนี้ก็มีที่ทำเอาไว้ และยังไม่ได้เผยแพร่อีกหลายเรื่องค่ะ  พี่หายหน้าหายตาไปเรียนจบมาแล้วค่ะ  คิดถึงบ้านหลังนี้มากค่ะ  ตอนนี้คงมีเวลามากขึ้นแล้ว  ขอบคุณที่มาให้กำลังใจพี่นะคะ

คุณ Bright Lily

      ขอบคุณมากค่ะ  กำลังเรียนรู้และศึกษาค่ะ  ยินดีรับคำแนะนำและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมนะคะ

เยี่ยมครับ......ครูไทยทำได้เสมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท