การบรรยายการจัดการความรู้แบบบูรณาการ : Bantak Model


จริงๆแล้วอาจารย์ก็บอกว่าบริษัทก็เสี่ยงเหมือนกันที่เชิญผม แต่อาจารย์ก็บอกว่าถ้าเขียนได้อย่างนี้ก็น่าจะพูดได้ก็เลยเชิญ

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีนิทรรศการหนังสือแห่งชาติที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีบริษัทหนังสือไปร่วมเปิดบู๊ตแนะนำและขายหนังสือกันมาก รวมทั้งมีนักเขียนหลายๆคนไปร่วมกิจกรรมและเซนต์ชื่อให้กับผู้ที่ซื้อหนังสือของตนเอง ผมเองได้ไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา เพราะทางบริษัทเอกซ์เปอร์เน็ตบุ๊คส์ได้จัดกิจกรรมให้กับสมาชิกของบริษัทโดยจัดให้มีบรรยายและสัมมนาในเรื่องการจัดการความรู้แบบบูรณาการ : Bantak Model โดยผมเป็นวิทยากรบรรยาย 6 ชั่วโมงเต็ม ทำให้ผมไม่ได้ไปเดินดูหนังสือแต่ภรรยาผม(น้องเอ้)ได้มีโอกาสไปเดินดูหนังสือก็เลยได้หนังสือสำหรับลูกๆมาหลายเล่ม 

             การบรรยายในครั้งนี้ถือว่าเป็นการบรรยายการจัดการความรู้ที่ละเอียดและครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่ผมได้เคยบรรยายมาเพราะมีเวลาให้เยอะ และก็ผมมีเวลาในการเตรียมตัวเกือบสองเดือนที่จัดทำโครงร่างบรรยายและรายละเอียดในแต่ละประเด็น อีกทั้งเป็นการบรรยายแบบOpenครั้งแรกของผม รวมทั้งไม่อยากให้เสียชื่อบริษัทผู้เชิญด้วย ทำให้ผมได้ใช้เวลานึกทบทวนมองย้อนอดีต(Retrospect)ว่าโรงพยาบาลบ้านตากได้มีกิจกรรม หลักการ แนวคิดอะไรบ้างที่นำมาใช้ในการพัฒนาโรงพยาบาล และผมใช้เวลาทำสไลด์เพาเวอร์พ๊อยท์ถึง 1 สัปดาห์และก่อนบรรยายต้องทบทวนอีกหลายครั้ง ในวันที่ 11 ตุลาคมช่วงบ่ายก็ได้ไปบรรยายที่ รพ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีพี่ดิเรก ภาคกุล เป็นผู้อำนวยการ เราสนิทสนมกันมากตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ตอนพี่เขาอยู่ปี 3 ผมอยู่ปี 2 ก็ได้ร่วมเป็นทีมงานค่ายอาสาที่พี่เขาเป็นประธานอยู่และถัดมาอีก 1 ปี ผมก็ได้รับช่วงเป็นประธานต่อ ใช้เวลาบรรยาย 2 ชั่วโมงครึ่งและให้น้องเอ้ซึ่งเป็นKM Facilitators ได้พูดในบทบาทของFaciด้วยโรงพยาบาลบางคล้าเป็นขนาด 30 เตียงแต่มีจุดเด่นสำคัญมากก็คือมีการให้บริการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม 3 เครื่องและกำลังจะได้รับบริจาคเป็น 4 เครื่อง  ในการรับบรรยายของผมถ้าจะให้พูดเรื่องKM ถ้าเวลาน้อยกว่า 1 ชั่วโมงผมจะไม่รับบรรยายเพราะไม่รู้ว่าผู้ฟังจะได้ประโยชน์ได้อย่างไร น่าจะเป็นการพูดพอเป็นพิธีมากกว่า เสียเวลาเดินทาง เสียค่าใช้จ่ายโดยเปล่าประโยชน์ ส่วนใหญ่จะพูดในเวลา 2-3 ชั่วโมง พอใช้เวลาเป็นวันอย่างนี้ก็เลยกังวลแต่ก็สามารถใช้เวลาได้คุ้มค่า โดยผมพูดประมาณ 5 ชั่วโมง มีการซักถามพูดคุยแลกเปลี่ยนกันอีกเกือบชั่วโมง ประเด็นสำคัญๆที่ผมพูดก็เป็นเรื่องของแนวคิดสำคัญๆ การจัดการให้เกิดการเรียนรู้ การจัดการให้เกิดความรู้ การจัดการให้เกิดการใช้ความรู้ การจัดการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดการให้เกิดคลังความรู้ และสรุปประเด็นที่สำคัญๆจากการจัดการความรู้

              หลังจบบรรยายผมได้เชิญอาจารย์วีรวุฒิ มาฆะศิรานนท์ ประธานบริษัทได้ช่วยเสริมประเด็นสำคัญๆในเรื่องการจัดการความรู้ซึ่งผมเองก็ได้ชื่นชมอาจารย์มากเพราะได้ซื้อหนังสือของอาจารย์มาอ่านหลายเล่มโดยเฉพาะเรื่องการสร้างวิสัยทัศน์และการบริหารจัดการความรู้ ที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย พอได้รู้จักตังจริงก็ยิ่งประทับใจมาก ได้พูดคุยกับอาจารย์และได้ข้อแนะนำที่มีประโยชน์ ในเรื่องการจัดการความรู้นี่อาจารย์เห็นตรงกับผมว่าจะไปจับKMอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองเรื่องLO ไปพร้อมๆกันด้วย อาจารย์ได้พูดถึงเรื่องของPersonal Mastery ซึ่งเป็นข้อแรกของFifth DisciplinesของPeter M. Senge เป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จในKMและLO ซึ่งในข้อนี้ยังมีรายละเอียดเป็นข้อย่อยๆอีกหลายข้อโดยเฉพาะข้อที่บอกว่าทำดีจนเป็นจิตใต้สำนึกซึ่งจะผลักดันให้เกิดผลดีต่อองค์กรได้มาก

                อาจารย์วีรวุฒิ เรียนจบเทคนิคการแพทย์และต่อมาไปเรียนทางด้านสารสนเทศแล้วไปทำงานอยู่ในธนาคารแล้วก็ลาออกมาทำบริษัทของตนเอง ที่ไม่มุ่งแต่ผลกำไรแต่มุ่งเพื่อประโยชน์ทางสังคมด้วย จะมีหนังสือเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรหลายเล่ม โดยเฉพาะลิขสิทธิ์ของHarvard on point ที่ผมเองก็ซื้อมาอ่านหลายเล่มและก็ได้ประโยชน์มากเป็นเล่มเล็กๆอ่านง่าย และอาจารย์จัดอบรมในครั้งนี้เพื่อให้สมาชิกของบริษัทได้มีโอกาสได้รับความรู้แนวทางใหม่ๆแม้จะลงทะเบียนแต่ก็ประมาณ 1,500 บาท แจกหนังสืออีก 2-3 เล่มแค่ค่าหนังสือ ค่าอาหารกลางวันก็แทบไม่เหลือกำไรแล้ว แต่อาจารย์ถือว่าเป็นการตอบแทนสมาชิกและตอบแทนสังคม ส่วนคนที่ติดต่อผมก็คือคุณสุนีย์รัตน์หรือน้องยุ้ยซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการอบรมโดยตรง เป็นคนที่คล่องแคล่วมาก ทราบว่าจบโททางด้านสื่อสารมวลชนมาช่วยแปลและเรียบเรียงหนังสือได้ด้วย ดูท่าทางแล้วเป็นคนที่มีความสามารถมาก การไปบรรยายครั้งนี้ก็ทำให้ผมได้พบอาจารย์วีรวุฒิที่ถือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาองค์กรและบริหารจัดการองค์กรที่เป็นประโยชน์ต่อตัวผมเองด้วย
                  สำหรับผู้ที่เข้าร่วมฟังในครั้งนี้ก็มีทั้งสายสุขภาพและไม่ใช่สายสุขภาพ มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน หลังบรรยายก็มีการพูดคุยซักถามและก็แลกนามบัตรกันเพื่อจะได้ติดต่อพูดคุยกันได้อีก ผมถามอาจารย์วีรวุฒิว่า ทำไมเลือกผมมาบรรยายเพราะผมเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ อาจารย์บอกว่าได้ไปบรรยายให้กรมสุขภาพจิตแล้วก็ได้อ่านเอกสารบทความที่ผมเขียนไว้เรื่องการจัดการความรู้สู่องค์การคุณภาพ และให้ไว้เมื่อคราวผมไปบรรยายให้ผู้บริหารของกรมสุขภาพจิต 2 รุ่นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  จริงๆแล้วอาจารย์ก็บอกว่าบริษัทก็เสี่ยงเหมือนกันที่เชิญผม แต่อาจารย์ก็บอกว่าถ้าเขียนได้อย่างนี้ก็น่าจะพูดได้ก็เลยเชิญผม ซึ่งหลังจากได้พูดคุยกับผู้ที่เข้าฟังแล้วก็คิดว่าน่าจะบรรลุวัตถุประสงค์ของผู้เชิญและผู้ฟังได้ ซึ่งในครั้งนี้ผมลงทุนไปซื้อเครื่องMP3มาอัดเสียงไว้เลยเพื่อจะเอามาถอดเป็นบทบรรยาย ถ้าไปคนเดียวก็คงไม่ได้ซื้อ พอดีภรรยา(น้องเอ้)ไปด้วยก็เลยซื้อได้เพราะส่วนใหญ่เวลาจะซื้อของใช้อะไรภรรยาจะเป็นคนจัดการให้หมดแทบทุกเรื่อง (ลึกๆในใจที่ขอให้ภรรยาไปด้วยก็เพราะต้องการกำลังใจเนื่องจากเป็นการพูดในเวทีเปิดแบบนี้และพูดทั้งวันก็เกร็งๆอยู่เหมือนกัน พอภรรยาไปด้วยก็มีกำลังใจทำให้มั่นใจมากขึ้น)
หมายเลขบันทึก: 5422เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2005 23:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท