กฎหมายโทรคมนาคม 4


๔.๒.๒ การจัดโครงสร้างการบริหารจัดการกิจการโทรคมนาคมภายใต้คำแนะนำของ

องค์กรการค้าโลก (WTO)

          องค์กรการค้าโลก (WTO) ได้เสนอแนะรูปแบบของการจัดองค์กรสำหรับการบริหารจัดการกิจการโทรคมนาคมภายใต้บริบทการแข่งขันเสรี (การบริหารจัดการรูปแบบดังกล่าวนี้จะถูกนำมาปรับกับประเทศที่ใช้ระบบตลาดในการบริหารจัดการกิจการโทรคมนาคม มิใช่ในประเทศที่มีการบริหารจัดการกิจการโทรคมนาคมโดยการผูกขาดจากรัฐ)

ตารางจำแนกองค์กรพร้อมภารกิจหน้าที่สำหรับการบริหารจัดการโดยระบบตลาด

องค์กรที่รับผิดชอบ

หน้าที่ในการบริหารจัดการกิจการโทรคมนาคม

รัฐบาล/ หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย

องค์กรกำกับดูแลที่เป็นองค์กรเฉพาะ

ทำหน้าที่เฉพาะการกำกับดูแล

ผู้ให้บริการ/หน่วยงานอื่นที่ทำหน้าที่ในการสนับสนุนทางอ้อม

การให้บริการโทรคมนาคม/การให้บริการที่เป็นการสนับสนุน

  การจัดโครงสร้างตามรูปแบบข้างต้น ((((((9((ตามตาราง มีข้อดีหลายประการ ดังนี้

๏   รัฐบาลสามารถกำหนดนโยบายที่เห็นว่าเป็นประโยชน์สูงสุดของประเทศได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องคำนึงถึงบทบาทที่ทับซ้อนหรือขัดแย้งกันระหว่างการทำหน้าที่ในฐานะผู้กำหนดนโยบายกับการทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่ผู้ประกอบกิจการที่มีสถานะเข้มแข็งที่สุดในตลาดโทรคมนาคมเป็นเอกชน รัฐก็สามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการแข่งขันกันได้อย่างเต็มที่

  การแยกองค์กรกำกับดูแลออกจากหน่วยงานอื่นของรัฐมีผลให้องค์กรกำกับดูแลสามารถดำเนินการตามนโยบายการกำกับดูแลได้ตรงตามวัตถุประสงค์ อีกทั้งยังสามารถบริหารจัดการตลาดโทรคมนาคมได้อย่างโปร่งใสและเสมอภาคสำหรับผู้ประกอบกิจการทุกรายในตลาดโทรคมนาคมโดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ประกอบกิจการเป็นของรัฐหรือเป็นของเอกชน

  คำวินิจฉัยหรือคำสั่งใด ๆ ขององค์กรกำกับดูแลที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงความเป็นอิสระจากกลุ่มผู้ประกอบกิจการและจากรัฐบาลจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นในตลาดโทรคมนาคมและจะเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญให้มีการลงทุนจากในประเทศและจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในขณะเดียวกัน

  ผู้ประกอบกิจการที่เป็นเอกชนสามารถตัดสินใจในทางการค้า การลงทุนได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องกังวลถึงเรื่องความขัดแย้งกับผลประโยชน์ของผู้ประกอบกิจการที่เป็นของรัฐในเรื่องการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ให้บริการด้วยกัน

๏   การบริหารจัดการกิจการโทรคมนาคมโดยผ่านกลไกตลาดและมีการจัดโครงสร้างองค์กรตามรูปแบบข้างต้นจะมีผลให้ปริมาณผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเพิ่มมากขึ้นและมีการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบกิจการเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการมีค่าใช้จ่ายลดลงและได้รับการบริการที่ดีขึ้นโดยปริยาย อีกทั้ง รัฐไม่สามารถเข้าแทรกแซงการดำเนินงานของผู้ประกอบกิจการที่เป็นของรัฐได้โดยง่าย (กรณีที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดการให้บริการโทรคมนาคมจะทำให้การดำเนินงานของผู้ประกอบกิจการมักจะเป็นการดำเนินการตามนโยบายทางการเมืองหรือนโยบายอื่นที่มิใช่นโยบายทางเศรษฐกิจซึ่งการกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้การบริหารจัดการขาดประสิทธิภาพ)

                    บางหน่วยงาน แม้ว่าจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม แต่อาจจะมีบทบาทที่สำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้ เช่น  กระทรวงการคลัง กรมผังเมือง เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้จะมีบทบาทที่สำคัญในระยะเริ่มแรกของการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารจัดการโทรคมนาคม แต่เมื่อการเปลี่ยนผ่านระบบเรียบร้อยแล้วบทบาทของหน่วยงานดังกล่าวก็จะลดความสำคัญลงตามลำดับ

                     แม้ว่า จะมีความกังวลที่ว่าการดำเนินงานของผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐและของผู้ให้บริการอื่นๆ ที่อยู่ในตลาดโทรคมนาคมอาจจะไม่สามารถตอบสนองตามนโยบายของรัฐได้โดยตรง ทว่าองค์กรกำกับดูแลจะต้องสร้างกรอบและสร้างแนวทางเพื่อให้มีการดำเนินการเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งหลักเกณฑ์ขององค์กรกำกับดูแลจะต้องใช้บังคับกับผู้ให้บริการทุกรายในตลาดโทรคมนาคมอย่างเสมอภาคกัน (โดยมิได้เลือกว่าเป็นผู้ให้บริการที่เป็นของรัฐหรือผู้ให้บริการเอกชน) 

                   ทางปฏิบัติปรากฏว่า เมื่อมีการแยกบทบาทและการทำหน้าที่ขั้นพื้นฐานออกจากกันอย่างเด็ดขาดและชัดแจ้งจะมีผลโดยตรงต่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ หากการแยกบทบาทและการทำหน้าที่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากเท่าไร บรรยากาศในการลงทุนก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และแต่ละภาคส่วนที่แยกออกไปนั้น ก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างชัดเจน และสามารถสร้างความเชื่อมั่น ให้กับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว และท้ายที่สุดก็สามารถตอบสนองต่อนโยบายทางด้านเศรษฐกิจและทางด้านสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   

๔.๓ รูปแบบขององค์กรกำกับดูแล

๔.๓.๑ รูปแบบขององค์กรกำกับดูแล (รูปแบบองค์กรเดี่ยว/รูปแบบคณะกรรมการ)

              การที่รัฐทำหน้าที่เป็นผู้กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของเอกชนมีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดาซึ่งโครงสร้างดั้งเดิมขององค์กรกำกับดูแลดังกล่าวมีการจัดรูปแบบเป็นลักษณะของคณะกรรมการที่มีอำนาจในการบริหารจัดการองค์กรและยังมีอำนาจในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมโดยใช้วิธีพิจารณาที่คล้ายกับองค์กรตุลาการอีกด้วยและการดำเนินงานขององค์กรก็เป็นไปในรูปแบบของการลงมติโดยใช้มติเอกฉันท์หรือมติเสียงข้างมากแล้วแต่เรื่องและแล้วแต่กรณี

            เมื่อกิจการโทรคมนาคมมีเทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้น ความยากลำบากในการกำกับดูแลก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วยจึงมีความจำเป็นในการว่าจ้างบุคคลากรจากภายนอกที่มีความรู้และประสบการณ์ในการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ซึ่งการว่าจ้างบุคคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นวิวัฒนาการอีกระดับหนึ่งกำจัดข้อบกพร่องแต่เดิมที่เกิดขึ้นในกระบวนวิธีพิจารณาคดีที่คล้ายกับขององค์กรตุลาการและต่อมาแนวความคิดในเรื่ององค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมได้แพร่หลายไปทั่วโลกและมีแนวคิดในการจัดรูปแบบองค์กรให้เป็นรูปแบบองค์กรเดี่ยวโดยใช้วิธีการจัดโครงสร้างขององค์กรคล้ายกับโครงสร้างของหน่วยงานประเภทอื่นของรัฐ เช่น กระทรวง ทบวง กรม เป็นต้น โดยมีผู้บริหารสูงสุดเพียงคนเดียว

              เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๔ สหราชอาณาจักรได้แปรรูปบริษัท British Telecom (BT) ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่รัฐเป็นเจ้าของและได้มีการจัดตั้งองค์กร OFTEL ขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและการจัดโครงสร้างขององค์กรดังกล่าวก็เป็นไปในรูปแบบของคณะกรรมการโดยมีประธานองค์กร OFTEL เป็นผู้บริหารสูงสุด ขณะที่การทำงานในระยะเริ่มแรกก็มีการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิค ผู้ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญในภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคมทั้งที่อยู่ในภาครัฐและภาคเอกชนมาร่วมงานจำนวนมาก

                จากรายงานของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) แสดงให้เห็นว่าในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๙๐-๑๙๙๙ การจัดองค์กรในรูปแบบคณะกรรมการได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๙๘ ถึงเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๙ ปรากฏข้อมูลทางสถิติว่ามีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลขึ้นจำนวน ๙ องค์กรและมีจำนวนถึง ๖ องค์กรที่จัดโครงสร้างในรูปแบบของคณะกรรมการโดยจำนวนของคณะกรรมการจะอยู่ระหว่าง ๕-๑๑ คน เช่น องค์กรกำกับดูแลในประเทศอัลบาเนีย ประเทศบัลแกเรีย ประเทศอียิปต์ ประเทศกรีซ ประเทศเคนยา และประเทศมาเลเซีย เป็นต้น

                 ตารางเปรียบเทียบการกำกับดูแลของการจัดองค์กรตามรูปแบบองค์กรเดี่ยวและตามรูปแบบคณะกรรมการ

รูปแบบองค์กรเดี่ยว

รูปแบบคณะกรรมการ

การดำเนินงานหรือการตัดสินใจสามารทำได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาด

คำวินิจฉัยหรือการตัดสินใจขององค์กรมีการตรวจสอบ ถ่วงดุล ระหว่างคณะกรรมการด้วยกันซึ่งคณะกรรมการเหล่านั้นล้วนเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจและต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจ ดังนั้น การพิจารณาหรือการวินิจฉัยในแต่ละครั้งย่อมจะต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและรอบคอบ

การจัดโครงสร้างขององค์กรเดี่ยวสามารถทำได้ง่ายกว่าและมีความเป็นเอกภาพมากกว่า

การจัดโครงสร้างที่มีขนาดใหญ่เกินไปจะมีความเอกภาพขององค์กรน้อยกว่าการจัดโครงสร้างที่เป็นรูปแบบองค์กรเดี่ยว

เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานประจำ

กรรมการบางท่านอาจจะไม่ได้เป็นพนักงานประจำองค์กร ดังนั้น กรรมการท่านนั้นอาจจะไม่เท่าทันต่อประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเนื่องจากการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงในตลาดโทรคมนาคมที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

ความเป็นไปได้ที่จะถูกชักจูงด้วยผลประโยชน์จากผู้ประกอบกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลมากกว่าการจัดโครงสร้างองค์กรในรูปแบบคณะกรรมการ

ความเป็นไปได้ที่จะถูกชักจูงด้วยผลประโยชน์จากผู้ประกอบกิจการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลน้อยกว่าการจัดโครงสร้างองค์กรในรูปแบบองค์กรเดี่ยว

            อย่างไรก็ดี ในประเทศหนึ่ง ๆ ไม่ว่าจะจัดรูปแบบขององค์กรกำกับดูแลเป็นรูปแบบใดก็ตามก็มักจะมีการว่าจ้างทีมงานผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาที่มีความรู้ ความสามารถเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งบุคลากรที่มีความสามารถดังกล่าวก็มักจะเป็นบุคคลคนเดียวกันหรือกลุ่มเดียวกัน ดังนั้นสามารถกล่าวได้ว่าความแตกต่างของการจัดรูปแบบขององค์กรที่แตกต่างกันมิได้ทำให้คำวินิจฉัยหรือกระบวนการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญเพราะบุคลากรที่คิดหรือตัดสินใจก็เป็นกลุ่มเดียวกันอยู่ดี

๔.๓.๒ การกำกับดูแลแบบเฉพาะภาคส่วน/การกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วน

(ข้อดีและข้อเสียของการกำกับดูแลแบบเฉพาะภาคส่วน/การกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วน)  

          สำหรับกิจการโทรคมนาคม โดยส่วนใหญ่จะมีการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลเฉพาะกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น แต่บางกรณีมีการกำหนดให้องค์กรกำกับดูแลดังกล่าวมีภาระหน้าที่ในการกำกับดูแลภาคส่วนอื่นด้วยซึ่งโดยส่วนใหญ่จะต้องเป็นภาคส่วนที่มีลักษณะทางเศรษฐกิจและทางกฎหมายและรูปแบบการบริหารจัดการที่คล้ายคลึงกัน เช่น กิจการกระจายเสียง การผลิตและการจ่ายไฟฟ้า การจ่ายน้ำมัน กิจการท่อก๊าซ บริการไปรษณีย์ การขนส่ง การให้บริการที่เกี่ยวกับการจ่ายน้ำ เป็นต้น บางประเทศเรียกองค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนว่า “คณะกรรมการการจัดทำบริการสาธารณะ” (Public Service Commissions) ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำบริการสาธารณะประเภทที่จะต้องมีการจัดทำโดยผ่านโครงข่ายเป็นหลัก ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวปรากฏในประเทศแคนาดา ระดับมลรัฐของในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศโบลิเวีย ประเทศเอลซัลวาดอร์ ประเทศจาเมกาและประเทศปานามา เป็นต้น

           การกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนมีลักษณะที่น่าสนใจที่จะการศึกษาเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากการปฏิรูปหรือการแปรรูปในแต่ละกิจการไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกันหรือเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน เช่น การปฏิรูปกิจการโทรคมนาคมเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่แตกต่างกันกับการปฏิรูปกิจการพลังงานหรือการปฏิรูปกิจการน้ำ  ดังนั้น ซึ่งการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศที่มีการปฏิรูปกิจการโทรคมนาคมแล้วเสร็จ แต่ไม่ได้ปฏิรูปกิจการพลังงานหรือกิจการน้ำ หรือกล่าวอย่างสรุปได้ว่า การจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนจะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปกิจการที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอย่างพร้อมเพรียงกันและขอบเขตในการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนจะมีลักษณะที่หลากหลายตามแต่บริบทของแต่ละประเทศที่มีการปฏิรูปกิจการบริการสาธารณะประเภทโครงข่ายและขอบเขตของอำนาจในการกำกับดูแลอาจแปรผันไปตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจของประเทศด้วย เช่น อำนาจหน้าที่แต่เดิมขององค์กร CRTC ในประเทศแคนาดาที่มีอำนาจกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กิจการการเดินอากาศและกิจการขนส่งทางรถไฟ แต่อำนาจหน้าที่ในปัจจุบันมีเพียงการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงเท่านั้น

ข้อดีและข้อเสียของการกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วน

ข้อดี

ข้อเสีย

การครอบงำองค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนโดยอุตสาหกรรมประเภทใดประเภทหนึ่งทำได้ยาก เนื่องจาก องค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนมีหน้าที่กำกับดูแลหลายภาคส่วนในเวลาเดียวกันและการออกกฎ ระเบียบใด ๆ จึงต้องทำเพื่อหลายภาคส่วน  ดังนั้น การออก กฎ ระเบียบใด ๆ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ภาคส่วนใดเป็นการเฉพาะจึงทำได้ยาก

แม้ว่าการครอบงำองค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนโดยกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทใดประเภทหนึ่งจะทำได้ยาก แต่หากองค์กรกำกับดูแลดังกล่าวถูกครอบงำได้แล้วย่อมหมายถึงการครอบงำทุกภาคส่วนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรเลยที่เดียว มิใช่เป็นการครอบงำเพียงภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งเท่านั้น

การครอบงำองค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนโดยกลุ่มการเมืองทำได้ยาก เนื่องจากองค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนมีหน้าที่กำกับดูแลหลายภาคส่วนในเวลาเดียวกัน ดังนั้น ความสัมพันธ์กับภาคการเมืองจึงเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง หลายหน่วยงานจึงทำให้การครอบงำโดยกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งหรือหน่วยงานใด หน่วยงานหนึ่งทำได้ยาก

แม้ว่าการครอบงำองค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนโดยกลุ่มการเมืองจะทำได้ยาก แต่หากองค์กรดังกล่าวถูกครอบงำได้แล้วย่อมหมายถึงการครอบงำทุกภาคส่วนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กร มิใช่เป็นการครอบงำเพียงภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งเท่านั้น

การออกกฎ ระเบียบหรือการมีคำวินิจฉัยในภาคส่วนใด ภาคส่วนหนึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานกับทุกภาคส่วนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กร  ดังนั้น จึงเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับผู้ประกอบกิจการหรือนักลงทุนในภาคส่วนอื่นด้วยโดยปริยาย เนื่องจากผู้ประกอบกิจการหรือนักลงทุนในภาคส่วนอื่นไม่จำเป็นจะต้องรอให้มีคำวินิจฉัยโดยตรงกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับตน

การออกกฎ ระเบียบหรือการมีคำวินิจฉัยในภาคส่วนใด ภาคส่วนหนึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานกับทุกภาคส่วนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กร ดังนั้น บางกรณี กฎ ระเบียบหรือคำวินิจฉัยในอุตสาหกรรมประเภทหนึ่งอาจจะไม่เหมาะสมกับอุตสาหกรรมประเภทอื่น

องค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนสามารถเลือกใช้ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีประสบการณ์กลุ่มเดียวกันกับภาคส่วนอื่นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในระยะเริ่มแรกของการเปิดให้มีการแข่งขันเสรีซึ่งองค์กรกำกับดูแลมักจะประสบปัญหาการขาดแคลนผู้มีความรู้หรือผู้มีประสบการณ์ในการกำกับดูแล

ความเชี่ยวชาญทางเทคนิคที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับอุตสาหกรรมบางประเภทอาจจะไม่เหมาะสมที่จะนำมาปรับใช้กับอุตสาหกรรมประเภทอื่น ดังนั้น หากการปรับใช้เทคนิคดังกล่าวอย่างขาดความรอบคอบและความระมัดระวังย่อมอาจจะก่อให้เกิดผลเสียกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้

การบริหารจัดการขององค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนสามารถประหยัดเวลาและประหยัดค่าใช้จ่ายในการทำงานบางประเภทได้ เช่น การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ การใช้พื้นที่สำนักงาน จำนวนเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน เป็นต้น อีกทั้ง ยังสามารถทราบค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดเฉพาะในการกำกับดูแลของแต่ละภาคส่วนได้ (โดยไม่คำนวณรวมกับค่าใช้จ่ายในงานธุรการ)

การกำกับดูแลที่ประสบความล้มเหลวในภาคส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเหตุให้การกำกับดูแลในภาคส่วนอื่นล้มเหลวตามไปด้วย

การบริหารจัดการงานบางประเภทสามารถทำได้ง่ายเนื่องจากเป็นงานที่มีลักษณะเหมือนกันในทุก ๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การบริหารจัดการงานที่จะต้องทำในช่วงเวลาเดียวกันของปี เช่น การควบคุมและการตรวจสอบราคาที่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวสามารถทำงานได้พร้อม ๆ กันสำหรับหลายอุตสาหกรรม

การจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนทำได้ยาก เนื่องจากองค์กรกำกับดูแลดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวงและหลายหน่วยงาน จึงทำให้การจัดตั้งองค์กรจำเป็นต้องได้รับการยอมรับจากหลายหน่วยงาน และยิ่งไปกว่านั้นอำนาจขององค์กรกำกับดูแลมักจะทับซ้อนกับหน่วยงานอื่นของรัฐ ดังนั้น กรอบทางกฎหมายที่แบ่งแยกภาระหน้าที่ที่ทับซ้อนกันอยู่ควรจะต้องมีความชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้อำนาจที่ซ้ำซ้อนกัน

การสร้างหลักเกณฑ์บางประเภทสามารถใช้ร่วมกันสำหรับทุกภาคส่วนอุตสาหกรรมได้ เช่น ขั้นตอนในการออกใบอนุญาตหรือขั้นตอนในกระบวนการระงับข้อพิพาท เป็นต้น ดังนั้น จึงเป็นการประหยัดขั้นตอนในการสร้างกระบวนการและในการดำเนินงานของหน่วยงานกำกับดูแล

องค์กรกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนสามารถถ่ายโอนองค์ความรู้ระหว่างอุตสาหกรรมได้ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับประเทศที่มีทรัพยากรบุคคลจำกัด

การกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนมีความเหมาะสมกับการบริการที่จะต้องทำร่วมกัน  (Converging sectors) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้นเทคนิคการบริการมักจะเป็นไปในรูปแบบควบรวมระหว่างเทคโนโลยี เช่น กรณีของ video on demand (การผสมผสานกันระหว่างกิจการโทรคมนาคมกับกิจการกระจายเสียง) หรือ อีเมล์และโทรสาร (การผสมผสานกันระหว่างกิจการโทรคมนาคมกับกิจการไปรษณีย์) เป็นต้น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ มักจะมีการถกเถียงกันว่าการบริการประเภทดังกล่าวจะจัดให้อยู่ในการกำกับดูแลขององค์กรกำกับดูแลประเภทใด

การกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนมีความเหมาะสมกับการการบริการประเภทที่ใช้โครงข่ายร่วมกันระหว่างอุตสาหกรรมได้ (The bundled provision of services) เช่น กิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถใช้โครงข่ายโทรคมนาคมและใช้โครงข่ายสายส่งของการไฟฟ้าได้หรือการดำเนินการวางโครงข่ายโดยการขุดหรือเจาะถนนซึ่งหากแต่ละอุตสาหกรรมต่างทำการขุดหรือเจาะอย่างไม่พร้อมเพรียงกันย่อมอาจจะสร้างปัญหาในทางปฏิบัติได้ ดังนั้น จะไม่มีปัญหาทางด้านการบริหารจัดการที่มีลักษณะจะต้องประสานงานระหว่างภาคส่วนอุตสาหกรรม หากการกำกับดูแลภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์กรเดียวกัน

การบิดเบือนตลาดอันเนื่องมาจากการบังคับใช้หลักเกณฑ์การกำกับดูแลที่แตกต่างกันระหว่างอุตสาหกรรมเกิดขึ้นได้ยาก กล่าวคือ กิจการบางประเภทที่สามารถแข่งขันระหว่างกันได้ หากองค์กรกำกับดูแลใช้หลักเกณฑ์อย่างหนึ่งกับกิจการประเภทหนึ่งแต่ในกิจการอีกประเภทหนึ่งก็ใช้หลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันออกไปย่อมไม่เป็นธรรมสำหรับการแข่งขันระหว่างทั้งสองกิจการ เช่น  อุตสาหกรรมการขนส่งอาจจะมีการแข่งขันกันระหว่างการขนส่งทางถนนกับการขนส่งทางรถไฟ หรือ ในกิจการพลังงานที่มีการแข่งขันกันระหว่างพลังงานไฟฟ้าและพลังงานก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่สามารถแข่งขันกันได้ควรจะต้องใช้หลักเกณฑ์เดียวกันสำหรับการแข่งขัน ดังนั้น การกำกับดูแลแบบหลายภาคส่วนจึงมีโอกาสที่ตลาดจะบิดเบือนน้อยกว่าเนื่องจากการบังคับใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน


หมายเลขบันทึก: 541847เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 07:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กรกฎาคม 2013 14:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท