Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

อะไรคือสัมพันธภาพระหว่างการจัดการประชากร/ประชาชน/พลเมืองและการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย ??


หกประเด็นสำคัญที่ต้องเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการประชากร/ประชาชน/พลเมืองโดยกฎหมาย

โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=506028452801911

------------------------------------------------

ในการศึกษาการจัดการประชากร/ประชาชน/พลเมืองโดยกฎหมายนั้น มี ๖ ประเด็นสำคัญที่ควรจะทำความเข้าใจ กล่าวคือ

ในประการแรก เราควรจะต้องตระหนักว่า การรับรองสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่มนุษย์/บุคคลธรรมดา น่าจะมี ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชน และ (๒) การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน และ (๒) การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชน

ในประการที่สอง การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่มนุษย์นั้น น่าจะต้องมีเพื่อนิติบุคคลตามกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นเช่นกัน นิติบุคคลดังกล่าวอาจถูกสร้างขึ้นเพื่อประสงค์กำไรหรือไม่ก็ได้ ข้ามชาติหรือไม่ ก็ได้ 

ในประการที่สาม การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายเอกชนย่อมเกิดขึ้นโดยพลันแก่มนุษย์ทุกคนที่ปรากฏตัวขึ้นบนโลกใบนี้ตราบเท่าที่สิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ปรากฏตัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ อันทำให้การเอามนุษย์ลงเป็นทาสหรือทรัพย์สินตกเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และแนวคิดดังกล่าวนี้ย่อมมีผลให้นานารัฐยอมรับหน้าที่ในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนให้แก่มนุษย์และนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น การรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนให้แก่มนุษย์ในสถานการณ์ทั่วไปที่ยอมรับในทางปฏิบัติของนานารัฐเกิดขึ้นใน ๓ สถานการณ์ กล่าวคือ (๑) การรับรองสถานะบุคคลโดยกฎหมายการทะเบียนราษฎร (๒) การรับรองสถานะคนสัญชาติโดยกฎหมายสัญชาติ และ (๓) การรับรองสถานะบุคคลโดยกฎหมายการเข้าเมือง

ในประการที่สี่ การรับรองสถานะบุคคลโดยกฎหมายการทะเบียนราษฎรให้แก่มนุษย์ย่อมทำให้มนุษย์มีสถานะเป็น “คนมีรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)” หรือ “คนมีรัฐ”ในขณะที่มนุษย์ที่ไร้รัฐรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายย่อมไร้รัฐเจ้าของตัวบุคคล จึงถูกเรียกว่า “คนไร้รัฐ (Stateless Person)” เราตระหนักอีกว่า คนไร้รัฐย่อมไร้สัญชาติเสมอ

ในประการที่ห้า การรับรองสถานะบุคคลโดยกฎหมายสัญชาติให้แก่มนุษย์ย่อมทำให้มนุษย์มีสถานะเป็น “คนมีรัฐเจ้าของสัญชาติ (State of Nationality)” หรือ “คนมีสัญชาติ” ในขณะที่มนุษย์ที่ไร้รัฐรับรองสถานะคนสัญชาติย่อมไร้รัฐเจ้าของสัญชาติ จึงถูกเรียกว่า “คนไร้สัญชาติ (Nationality - less Person)” เราตระหนักต่อไปว่า คนไร้สัญชาติอาจมีรัฐหรือไร้รัฐก็ได้ นอกจากนั้น ความไร้สัญชาติของมนุษย์อาจเกิดขึ้นโดยข้อเท็จจริงหรือโดยข้อกฎหมายก็ได้

ในประการที่หก การรับรองสถานะบุคคลโดยกฎหมายการเข้าเมืองให้แก่มนุษย์ย่อมทำให้มนุษย์มีสถานะเป็น “คนเข้าเมืองถูกกฎหมาย” ซึ่งสถานะดังกล่าวย่อมเกิดแก่คนสัญชาติของรัฐเจ้าของดินแดนที่ทำการเข้าเมือง และคนต่างด้าวที่รัฐเจ้าของดินแดนได้อนุญาตให้มีสิทธิเข้าเมือง นอกจากนั้น โดยหลักกฎหมายการเข้าเมืองสากล คนสัญชาติย่อมมีสิทธิอาศัยอย่างถาวรบนดินแดนของรัฐเจ้าของสัญชาติของตน ในขณะที่คนต่างด้าวนั้นอาจมีสิทธิอาศัยถาวรหรือชั่วคราว ทั้งนี้ เป็นไปตามการอนุญาตของรัฐเจ้าของดินแดน 


หมายเลขบันทึก: 541722เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2013 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กรกฎาคม 2013 22:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท