ทฤษฎีหลักสูตร


หลังจากที่ได้เรียนวิชา การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ ซึ่งผู้สอนคือ รศ.ดร.รสสุคนธ์ มกรมณี แล้ว ท่านก็ได้เสนอแนะในเรื่องของการจัดทำ Learning Blog ซึ่งก็กำลังอยากทำอยู่เหมือนกัน แต่ยังไม่มีเวลาเสียที พออาจารย์ท่านแนะนำช่อทางนี้มาในการรวบรวมความรู้ต่างๆ ก็เหมือนมีคนมาบังคับให้ทำ ในที่สุดจึงได้จัดทำ Blog ออกมาได้จนสำเร็จ ต้องขอขอบคุณอาจารย์รสสุคนธ์มา ณ ที่นี้


สำหรับอาทิตย์แรกนั้นเป็นการปฐมนิเทศ และอาทิตย์ที่ 2 ซึ่งก็คือวันนี้นั้น ได้เรียนเกี่ยวกับเรื่องของทฤษฎีหลักสูตร ซึ่งอันที่จริงต้องค้นคว้ามาล่วงหน้า เนื่องด้ายภารกิจครูประจำชั้น จึงทำให้วันธรรมดาทั้ง 5 วันของข้าพเจ้าต้องหมดไปกับนักเรียนที่น่ารักทุกๆคนไปเสียทุกวันไป จึงมีเวลาค้นคว้าน้อยและยังมิได้อัพ Blog แต่ประการใด วันนี้อาจารย์ท่านเลยทวงถามด้วยความเป็นห่วงว่า สำหรับคนที่ยังไม่ได้อัพ Blog มานั้นจะค้นคว้าไปถึงไหนแล้ว วันนี้เลยตั้งใจจะจัดตารางชีวิตตัวเองใหม่ หาเวลามาอัพ Blog ให้ได้ ฟังแนวคิดที่อาจารย์พูดแล้ว เลยพยามปรับเจตคติมาว่า อย่าคิดว่าการอัพ Blog นี้เป็นงาน แต่เป็นการนำความรู้ที่ได้ค้นคว้ามาพูดคุยกัน พอนึกอย่างนั้นแล้วก็น่าสนุกดี จึงได้ฤกษ์งามยามดีอัพ Blog ในเรื่องของทฤษฎีหลักสูตรในวันนี้เป็นครั้งแรก


สำหรับสิ่งแรกที่จะค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่อง "ทฤษฎีหลักสูตร" ผมคิดว่าผมคงจะเริ่มเหมือนกับเวลาที่เริ่มเรียนวิชาใหม่ๆ อย่างตอนเรียนชีววิทยาครั้งแรก อาจารย์ก็จะสอนว่ามันมาจากคำว่า Bio + Logos หรือตอนที่เรียนจิตวิทยาครั้งแรก อาจารย์ก็สอนว่ามาจาก Psyche + Logos ดังนั้น ผมก็จะแยกคำว่า "ทฤษฎีหลักสูตร" ออกเป็นคำว่า "ทฤษฎี" กับ "หลักสูตร"

ความหมายของทฤษฎีหลักสูตร

สำหรับคำว่า ทฤษฎี (Theory) นั้น ด้วยความที่ผมเรียนทางสายวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่ ม.ปลาย ก็จะได้ยินคำนี้บ่อยๆ มีผู้ให้นิยามมากมายเกินกว่าจะมาลงได้หมด ผมขอสรุปเองว่า ทฤษฎี ก็คือ ความรู้ต่างๆที่ได้จากการพิสูจน์มาแล้ว ซึ่งความรู้เหล่านั้นก็นำมาใช้ในการอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ นั่นเอง

ส่วนคำว่าหลักสูตร (Curriculum) นั้น จากประสบการณ์ของผมในโรงเรียน ผนวกกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนวันนี้ ผมจึงสรุปว่า หลักสูตร คือ แนวทางการจัดการศึกษา ซึ่งจะประกอบไปด้วย เนื้อหา วัตถุประสงค์ และวิธีการประเมิน 

ดังนั้น คำว่า "ทฤษฎีหลักสูตร" เมื่อนำคำว่า ทฤษฎี กับ หลักสูตร มาผสมกันแล้ว ก็คงจะพอรวมความได้ว่า ทฤษฎีหลักสูตร (Curriculum Theory) คือ ความรู้เกี่ยวกับการจัดการศึกษา ซึ่งความรู้เหล่านี้ได้รับการพิสูจน์มาเป็นที่ยอมรับแล้ว นั่นเอง

ทฤษฎีหลักสูตร

ลำดับต่อมา ก็คงต้องมาดูกันว่า ทฤษฎีหลักสูตรมีทฤษฎีอะไรบ้าง และมีใจความว่าอย่างไร ซึ่งจากการค้นคว้าของผม อันดับแรก พบว่า สุนารี บุญรัตน์ (ไม่ระบุปีที่พิมพ์) ได้กล่าวว่า ทฤษฎีหลักสูตรนั้นแบ่งเป็น 4 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่
1. ทฤษฎีแม่บท ซึ่งจะกล่าวเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ทั่วๆไป และโครงสร้างของหลักสูตร
2. ทฤษฎีเนื้อหา ก็จะกล่าวเกี่ยวกับเนื้อหา และความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่างๆของหลักสูตร
3. ทฤษฎีจุดประสงค์ ก็จะกล่าวถึงจุดประสงค์ของหลักสูตร
4. ทฤษฎีดำเนินการ ซึ่งจะกล่าวถึงวิธีการดำเนินการ ว่าจะดำเนินการอย่างไรให้ไปถึงจุดหมายให้ได้

และเมื่อค้นคว้าจากอีกแหล่งข้อมูลหนึ่ง ก็พบว่า กีรติ สุขเกษม (2556) ได้แบ่งทฤษฎีหลักสูตรออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่
1. ทฤษฎีการออกแบบ (Design Theories) ซึ่งกลุ่มนี้จะกล่าวถึงการวางแผนองค์ประกอบของหลักสูตร หรือการออกแบบหลักสูตรนั่นเอง
2. ทฤษฏีวิศวกรรม (Engineering Theories) ซึ่งกลุ่มนี้จะเน้นอธิบาย พรรณนา คาดการณ์ หรือบ่งบอกถึงกิจกรรมการพัฒนาหลักสูตร 
ซึ่งการแบ่งทฤษฎีหลักสูตรออกเป็น 2 ชนิดนี้ ก็ตรงกันกับที่ ศันสนีย์ ทรัพย์เจริญ (2556) ได้กล่าวไว้ด้วย ดังรูปตาม Url ด้านล่างนี้

http://3.bp.blogspot.com/-y44Cm21cMpE/UTQ88HgZMoI/AAAAAAAAAI4/-5Ol5n59lZc/s1600/3.jpg 

รูปในลิงก์นั้นได้ทำเป็นแผนภาพ ทำให้เห็นที่มาที่ไปของทฤษฎีหลักสูตรได้อย่างชัดเจน และทำให้เห็นอีกด้วยว่าที่มาของทฤษฎีหลักสูตรนั้น มันแตกแขนงเป็นอะไรได้อีก

ส่วนทฤษฎีหลักสูตรที่ย่อยลงไปแต่ละทฤษฎีนั้นมีอะไรบ้าง และมีใจความว่าอย่างไร ต้องขอเวลาไปค้นคว้าเพิ่มเติมก่อนนะครับ ดังนั้น สำหรับหัวข้อ "ทฤษฎีหลักสูตร" ของวันนี้จะขอจบแต่เพียงเท่านี้ก่อน ถ้ามีข้อผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ล่วงหน้าด้วยนะครับ ขอบคุณที่เข้ามาอ่านครับ


บรรณานุกรม

กีรติ สุขเกษม. (2556). ทฤษฎีหลักสูตร. (ออนไลน์).  แหล่งที่มา : http://curriculum-by-keerati.blogspot.com/2013/03/curriculum-theory_6306.html. 6 กรกฎาคม 2556.

ศันสนีย์ ทรัพย์เจริญ. (2556). ทฤษฎีหลักสูตร. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://curriculum-by-sunsanee.blogspot.com/2013/03/curriculum-theory.html. 6 กรกฎาคม 2556.

สุนารี บุญรัตน์. (ไม่ระบุปีที่พิมพ์). แนวคิดทฤษฎีและปรัชญาของหลักสูตร. (ออนไลน์). แหล่งที่มา : http://sunareebr.blogspot.com/p/blog-page_4948.html. 6 กรกฎาคม 2556.

หมายเลขบันทึก: 541621เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กรกฎาคม 2013 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เขียนได้กระชับ สาระตรงประเด็น และน่าอ่านค่ะ สามารถสัมผัสความสุขของคุณในการทำงานท่ามกลางเด็กๆ ได้

ขอบคุณความเห็นอาจารย์มากๆครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท